เสรีภาพไม่มี คนตาดีไม่ปรากฎ (นอก)ดินแดนคนตาบอด - Decode
Reading Time: 3 minutes

ตาสว่างครั้งสุดท้ายอาจอธิบายไม่ได้เป๊ะ แต่อาการ “มองไม่เห็น” เสรีภาพในประเทศไทยนั้นชัดเจน จาก ‘Freedom House’ หน่วยงานจับตาสถานการณ์สิทธิเสรีภาพทั่วโลก จัดอันดับปี 2564 “ประเทศไทยเป็นประเทศที่ไม่มีเสรีภาพ” คะแนนเต็ม 100 ประเทศไทยได้แค่ 30 (สิทธิทางการเมือง 5 คะแนน และเสรีภาพของพลเมือง 25 คะแนน) ผลลัพธ์จึงเป็นอย่างที่ “เห็น”

ถ้าการมองเห็น และถูกมองเห็นมันสลักสำคัญ จะตาบอดหรือตาดีก็มีความหมายในสถานการณ์ที่แหลมคมระหว่างการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยของไทย คงไม่มีใครอยากมีจุดจบแบบ “หุบเขาคนตาบอด”

แล้วหุบเขาก็ถึงวาระสุดท้าย การถล่มและแรงกระแทกเกือบทำให้สิ้นสติ

หมอกควันเคืองตาจนมองไม่เห็นสิ่งใด ความเงียบโรยตัวปกคลุมโลกอีกครั้ง

หุบเขาของ “คนตาบอด” ถูกซ่อนเร้นจากตัวเขาไปตลอดกาล นาฏกรรมชีวิตที่ยากต่อการตีความกลายเป็นฉากจบใหม่ที่บีบหัวใจกว่าเดิมของ “ดินแดนคนตาบอด” The country of the blind ฉบับแก้ไขที่ เอช.จี.เวลส์ เขียน มโนราห์ แปล แรงบันดาลใจจากสุภาษิตโบราณ “ดินแดนคนตาบอด คนตาเดียวคือพระราชา” มีนัยบาดลึก ย้อนแย้ง ตะแคงอ่าน เวลส์ได้เขียนเพิ่มเนื้อเรื่องในฉากจบแบบใหม่เข้าไปใหม่อย่างน้อย 2,000 คำ ปรับเปลี่ยนบทสนทนาในบางช่วงตอน ในพล็อตเดิมจบลงที่ความโดดเดี่ยวของปัจเจก“ตาดี” ที่ชื่อ นูเนซ ตัวละครนักปีนเขา เลือกพาตัวออกจากดินแดนคนตาบอดที่ไม่เข้าใจความสามารถในการ “มองเห็น” ของเขา ผิดคาดหลังเขาพลัดหลงเข้าไปในหุบเขาที่ถูกตัดขาดจากโลกภายนอกแล้วพบว่า ผู้คนทั้งหมดในหุบเขาล้วนตาบอดสนิท จึงนึกคิดไปว่าจะ “รัฐประหาร” ฉวยโอกาสขึ้นเป็นใหญ่ในหมู่ชนคนตาบอดอย่างง่ายดาย

ไม่กี่อึดใจเรื่องกลับตาลปัตร เขากลายเป็นฝ่ายเพลี้ยงพล้ำ จนตรอกชนิดไม่เหลือความเป็นตัวของตัวเอง เพราะในโลกของคนตาบอด คนตาดีอย่างนูเนซมีค่าเท่ากับ คนพิการ โง่ ปัญญาอ่อน เสียสติ เพ้อเจ้อ ทำอะไรผิดพลาดบกพร่องตลอดเวลา ไม่ใช่คนปกติที่ควรแก่การนับว่า “เป็นคนเต็มคน” จุดจบของพล็อตเดิมจึงจบลงที่การจำนนล้มลงไปกองอยู่บนพื้นอย่างโดดเดี่ยว

ปล่อยให้โลกของ “คนตาบอด” ดำเนินต่อไปอย่าง “ผู้ชนะ”

กลับหัวกลับหางอ่าน ย้อนแย้งอย่างคน “แพ้”

ไม่กี่ปีให้หลัง เวลส์เขียนพล็อตใหม่ในจุดจบที่ยากจะคาดเดา โดยใช้ศักยภาพของการมองเห็นของ “คนตาดี” นูเนซ มองเห็นรอยแตกทอดตัวยาวออกไปและอาจเป็นหายนะที่กวาดล้างหุบเขาของ “คนตาบอด” เขาใช้ความพยายาม(อีกครั้ง)อธิบายสิ่งที่มองเห็น “…ขอให้เชื่อในการมองเห็นของฉัน บางครั้งคนโง่อย่างฉันก็มองเห็น” จากความล้มเหลวของนูเนซ (ดินแดนคนตาบอด ฉบับเดิม) ไม่เคยพิสูจน์ศักยภาพของการมองเห็นได้สำเร็จเพราะพูดพร่ำแต่การมองเห็นความงามรอบตัวของท้องฟ้า ดวงดาว ท้องทะเลมากกว่าจะพูดถึงการมองเห็นในด้านที่ก่อให้ประโยชน์ต่อผู้อื่น

ผิดกับคนตาบอดที่แม้จะมองไม่เห็น แต่กลับทำงานและใช้ชีวิตได้อย่างเหลือเชื่อจากการพัฒนาศักยภาพของการประสาทสัมผัสส่วนอื่น ๆ จริงอยู่ว่า อาการ “ตาบอด” อาจเป็นข้อจำกัดในการรับรู้โลก แต่อีกด้านหนึ่ง ดูเหมือนว่า เวลส์ก็ไม่เชื่อว่าคนตาดีทุกคนจะเหนือกว่าคนตาบอดเสมอไป

แต่ก็ไม่เชื่อว่าคนตาบอดจะเหนือกว่าคนตาดีในทุกเรื่อง สังเกตุจากบทสนทนาคลั่งศาสนาในหมู่คนตาบอดที่ถูกเติมเข้ามาในเนื้อเรื่องให้ชัดขึ้นในฉากจบแบบใหม่ ตอนที่ผู้เฒ่าคนตาบอดขับไล่นูเนซให้ออกไปจากดินแดนคนตาบอด กระทั่งเรื่องราวพามาถึงฉากตอนที่ นูเนซ พา เมดินาซาโรส คนรักของเขาไต่เขารอดชีวิตจากภัยพิบัติ ปิดฉากดินแดนคนตาบอด ชี้นำให้ฉันเห็นความเขลาและการปิดรับของคนตาบอด อย่าง “ผู้แพ้” ราบคาบ ไม่เป็นชิ้นอัน

ไม่ว่าคุณจะคล้อยตามเหตุผลของ “ผู้ชนะ” ในจุดจบแบบเก่าหรือแบบใหม่ ถ้าได้ลองอ่านกลับหัวกลับหาง จาก เก่า-ใหม่ และสลับกลับไปอ่านจาก ใหม่-เก่า (เป็นอันว่าอ่านไปสองรอบครึ่ง) ย่อมมีผลต่อประสบการณ์การรับรู้โลกและตีความของฉันที่ต่างออกไป

อย่างแรก ไม่ว่าจะเป็นคนตาดี หรือคนตาบอด มันไม่ใช่เรื่องของ “การเห็น” แต่เป็นเรื่องของ “การมองเห็น” บาดลึกถึงแก่นสารของความเป็นมนุษย์ที่ผิดแผกแตกต่าง เมื่อนูเนซตกหลุมรักหญิงสาวตาบอด วิธีเดียวที่มวลมหาประชาบอดจะยอมรับคนนอกกลุ่มให้เป็นสมาชิกหมู่ชนคนตาบอดได้ คือ กระบวนการทำให้ “ความเป็นอื่น” เป็น “พวกเดียวกัน” โดยกำจัดอวัยวะผิดปกติ ที่เรียกว่า นัยน์ตา ซึ่งสรุปเองว่า มันเป็นต้นตอของความพิการทางกาย และการมองเห็นคือความผิดปกติทางจิต จึงเป็นอีกครั้งที่ “ความรักทำให้คนตาบอด” ถูกเล่นตลกจากความผิดแผกแตกต่าง

อย่างหลัง ถ้าการมองเห็นมันไม่ได้สลักสำคัญอะไร การตาบอดหรือตาดีก็อาจจะไม่มีความหมาย มันจึงสมเหตุสมผลที่ไม่มีใครในหมู่คนตาดีหรือคนตาบอดที่จะผูกขาดความถูกต้อง ชอบธรรมไว้แต่ฝ่ายเดียว เว้นแต่…เราจะถูกทำให้ “มองไม่เห็น”  

ประสบการณ์ของการ“มองเห็น” ที่ไร้ค่า สายตาไม่ใช่ทั้งหมด

เป็นเวลาสายของวันธรรมดาที่อาจารย์ยุกติรับนัด ฉันเริ่มบทสนทนาจากประสบการณ์ของการมองไม่เห็นเพราะ “ความรักทำให้เราตาบอด” อาจารย์นิ่งไปชั่วครู่และเริ่มต้นเปรียบเทียบการรับรู้ภายใต้คอนเซปต์ของการมองเห็นและมองไม่เห็นด้วยอาการทางสังคมว่า เราทั้งคู่ ต่างทั้งมองเห็นและได้ยิน ถ้าตัดเสียงออก เราก็จะ “มองเห็น” โลกในอีกแบบหนึ่ง อาจารย์ยุกติ เล่าถึงประสบการณ์ครั้งหนึ่งที่เคยเข้าไปอยู่ในโลกของ “การมองไม่เห็น” ในรูปของสถานการณ์จำลอง เราจะรู้เลยว่า เราจัดการอะไรไม่ได้เลย การมองเห็นของเรามันไร้ค่า ถึงจุดนั้นเราจะมีชีวิตอย่างไร เราต้องเรียนรู้ใหม่หมด

เวลาที่เราบอกว่า ความรักทำให้คนตาบอด ?

ในแง่หนึ่งอาจเป็นการดูแคลนความพิกลพิการหรือการรับรู้โลกที่แตกต่างไปจากเรา หรือบางทีเราต้องคิดใหม่ หรือบางทีความรักของ “คนตาบอด” มันเป็นอย่างไร แม้แต่นิยายของคนตาบอดก็น่าสนใจอีกแบบ (หัวเราะ)

คำถามหนึ่งของนักปรัชญาความรู้ซึ่งพูดคุยกันตั้งแต่ศตวรรษที่16 “คนที่ตาบอดมาตลอดชีวิตเขารับรู้วัตถุทรงกลมกับสี่เหลี่ยม พอให้เขาเห็นโดยไม่สัมผัสเลย เขาจะรู้ไหมว่า มันคือวัตถุเดียวกันกับที่เขาเคยสัมผัส”

เป็นไปได้ว่า “เขาจะไม่รู้”

คำถามที่ใหญ่กว่านั้นคือ การรับรู้จากประสาทสัมผัสอย่างหนึ่งสามารถถ่ายโอนไปสู่ประสาทสัมผัสอีกอย่างหนึ่งได้หรือไม่ หนังสือเล่มนี้ บางช่วงตอนอาจให้คุณค่ากับ “การมองเห็น” แต่บางครั้งการมองเห็นก็อาจจะไม่จริงเสมอไป อย่างในช่วงศตวรรษที่ 20 ศิลปินชาวฝรั่งเศส  มาร์แซล ดูชองป์ (Marcel Duchamp) ผู้มีอิทธิพลทางความคิดต่อวงการศิลปะสมัยใหม่เคยทำผลงานชิ้นหนึ่งที่ใช้หินอ่อนแกะสลักรูปเล็ก ๆ ทำให้รู้สึกว่ามันเบามาก แต่ในความเป็นจริงแล้วเป็นวัตถุที่หนักมาก สายตาและการมองเห็นมันบอกเราไม่ได้ทุกอย่าง

“ตาสว่าง” หรือ “ถูกครอบงำ”ลวงตา แล้วใครตาบอดใครตาดี

ถ้าเราจะใช้อุปลักษณ์ระหว่าง “ตาสว่าง” กับ “ถูกครอบงำ” ประเด็นอยู่ตรงที่ “การรับรู้ที่ไม่เท่ากัน” อาจเป็นปัญหาในการแบ่งแยกทำให้ยังไงคนที่อยู่ในการรับรู้ของโลกที่แตกต่างกันสามารถที่จะอยู่ร่วมกันได้ ผมคิดว่าตรงนี้ต่างหากที่เราจะต้องคุยกัน ในด้านหนึ่งของ “คนที่มองไม่เห็น” ก็น่าจะยอมรับเหมือนกันว่า เขามีขีดจำกัดในการรับรู้ และโลกที่เขาอยู่มันคนละโลกกับ “คนที่มองเห็น” แต่หลายครั้งคนที่มองเห็นมักจะตัดสินคนที่มองไม่เห็น ดังนั้นจะทำอย่างไรให้ต่อรองกันและอยู่ร่วมกันได้

จุดที่อันตรายคือการไม่ฟังกันหรือแม้แต่การยอมรับการมีอยู่ของกันและกัน คนที่อยู่อีกโลกหนึ่งยอมรับไหมว่ามันมีอีกโลกหนึ่งด้วย โลกทางสังคม หรือโลกที่เรารับรู้ ไม่ว่าจะเป็นความคิด ความหวัง ความปราถนา ความใฝ่ฝัน มันมีมากไปกว่าการรับรู้แค่ว่า นี่คือแสง นั่นคือสี มันมีความซับซ้อนมากไปกว่านั้น มันยิ่งต้องคุยกันให้มากขึ้น

มากกว่า การตัดสินว่า ใครตาบอด ใครตาสว่าง ถึงที่สุดมีรายละเอียดที่มากกว่านั้นโดยเฉพาะรายละเอียดของการออกแบบชีวิต สร้างโลกของความเข้าใจ และอยู่ร่วมกันได้

ถาม : แล้วจุดเริ่มและจุดร่วมควรจะอยู่ตรงไหนถึงจะพอดี

ตอบ : มันอาจจะเริ่มต้นจากการยอมรับก่อนว่า เราจะต้องมาร่วมกันสร้างไม่ใช่เรื่องที่ใครควรจะเป็นคนกำหนดว่า ต้องเป็นแบบนี้เท่านั้น ผมคิดว่าจุดร่วมคือการหาระบอบของคนที่มองเห็นกับคนมองไม่เห็น สามารถพูดคุยกันได้อย่างเท่าเทียมกัน

ระบอบของคนตาบอดและคนตาดี…ยังต้องมีประชาธิปไตย

คนตาบอดอยู่ในระบอบของคนตาดีมากเกินไป หรือคนตาดีตัดสินชีวิตคนตาบอด คนที่มองเห็นโลกแบบหนึ่งไม่ยอมรับการมองเห็นโลกอีกแบบหนึ่ง และบังคับให้คนมองเห็นโลกแบบเดียวกัน

ดังนั้นสิ่งที่ต้องสร้างก่อนคือ ระบอบที่ยอมรับให้ “คนที่มองอะไรไม่เหมือนกัน” สามารถแลกเปลี่ยนกันได้ แล้วค่อยมาว่ากันว่าจะอยู่กันแบบไหน ระบอบแบบนั้นควรเป็นระบอบแบบไหนผมคิดว่า ใกล้เคียงที่สุดคือ ระบอบประชาธิปไตย ดังนั้นระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่ทางเลือก แต่มันคือเงื่อนไขเบื้องต้นในการสร้างทางเลือกต่าง ๆ ถ้าคุณไม่มีระบอบแบบนี้ คุณไม่มีทางเลือกตั้งแต่แรก

บทสนทนาสุดท้ายดำเนินมาถึงใจกลางของ“ระบอบ”

นักข่าว : ในโลกของคนส่วนใหญ่ที่เป็นคนตาดีเองก็ยังรับรู้โลกของคนตาดีด้วยกันต่างกันออกไปด้วย ปลายทางของการรับรู้ที่ต่างกันนี้จะนำไปสู่อะไรคะ  

อาจารย์ยุกติ : การที่เราเห็นอะไรที่ต่างกัน จะทำอย่างไรที่จะไม่ทำให้มุมมองใดมุมมองหนึ่งอยู่เหนือมุมมองใดมุมมองหนึ่งหรือยอมรับมุมมองที่ต่างออกไปได้

นักข่าว : แล้วจะทำอย่างไรให้การแสดงความเห็นต่างเกิดขึ้นได้และยอมรับมุมมองที่ต่างออกไป

อาจารย์ยุกติ : เรื่องใหญ่ยังอยู่ที่ว่า เรายังไม่ได้สร้างระบอบที่ทำให้คนแสดงความคิดเห็น หรือมุมมองต่าง ๆ ได้อย่างเท่าเทียมกันมากพอ เรายังปิดกั้นการแสดงออก การแสดงความคิดเห็น แค่คนที่แสดงความคิดเห็นที่แตกต่างก็ถูกจับเข้าคุก กลายเป็นอาชญากร อย่างกรณีนักศึกษาถูกจับในกุมในสถานะ “ผู้ต้องสงสัย” แต่ได้รับการปฏิบัติในแบบเดียวกับ “นักโทษ”ที่ถูกศาลตัดสินลงโทษ นี่คือระบบยุติธรรมไทยที่ไม่ยุติธรรมตั้งแต่ต้น

เราต้องสร้างระบอบประชาธิปไตย เปิดกว้างให้กับทุกมุมมองและโลกทัศน์ที่หลากหลาย

นั่นไม่ใช่ทางเลือก แต่ควรจะเป็น

หนังสือ: ดินแดนคนตาบอด The country of the blind (ฉบับแก้ไข)
นักเขียน: เอช.จี.เวลส์
นักแปล: มโนราห์
สำนักพิมพ์: สมมติ

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน) ขึ้นไว้บนเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี