เป็นครั้งที่ 3 แล้วที่การยื่นขอ “ปล่อยตัวชั่วคราว” 4 แกนนำคณะราษฎร “ถูกยกคำร้อง”
กรณีการคุมขัง 4 แกนนำและแนวร่วมคณะราษฎร ได้แก่ นายอานนท์ นำภา, นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน, นายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือหมอลำแบงค์ และนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ในฐานความผิดตาม ป.อาญา ม.112, ยุยงปลุกปั่นฯ ม.116 และข้อหาอื่นๆ จากการชุมนุม “19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร”
วันนี้ (22 ก.พ.64) มีการยื่นประกันตัวอีกครั้ง ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมุนษยชนระบุว่าได้ยื่นประกันด้วยเงินสดคนละ 400,000 บาท เพิ่มขึ้นจากการยื่นประกันครั้งที่แล้วอีก 100,000 บาท แต่ศาลอาญาและศาลอุทธรณ์ก็ยังไม่ให้สิทธิประกันตัวทั้ง 4 คน
ศาลให้ความเห็นการไม่ให้ประกันตัวว่า หากศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยทั้งสี่ไป อาจจะไปก่อเหตุภยันตรายเดียวกันกับที่ถูกฟ้องอีก จึงยังไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่ง ยกคำร้อง คือยังไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราว ทั้ง 4 คน ต้องถูกขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ต่อไปจนกว่าคดีจะเสร็จ
การจับกุม และไม่ได้รับสิทธิประกันตัวของทั้ง 4 คน ทำไมนักวิชาการด้านไทยศึกษาในต่างประเทศ 25 มหาวิทยาลัยร่วมกันออกแถลงการณ์ในวันเดียวกัน ขอให้ศาลคืนสิทธินี้ให้ผู้ที่ถูกจับกุม แถลงการณ์มีใจความสำคัญ คือ การขอให้ศาลได้พึงพิจารณาทบทวนคำสั่งไม่ให้ประกันตัว ขอให้ศาลยึดหลักการสันนิษฐานก่อนว่าผู้ต้องหา และจำเลยนั้นเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด ขณะเดียวกันระหว่างที่ถูกคุมขัง หากศาลพบภายหลังจากไม่มีการกระทำผิด สิทธิเสรีภาพที่สูญเสียไปไม่สามารถเรียกกลับมาได้ พร้อมชี้ให้เห็นว่า ตอนนี้มีการฟ้องร้องคดีทางการเมืองจำนวนมาก สถาบันตุลาการจำเป็นต้องรักความเป็นอิสระและสมดุลการปกป้องสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ
แถลงการณ์นักวิชาการด้านไทยศึกษาในต่างประเทศจาก 25 มหาวิทยาลัย
ขอให้ศาลคืนสิทธิในการได้รับการประกันตัวระหว่างถูกดำเนินคดี
แก่ผู้ถูกสั่งฟ้องจากการชุมนุม
1.ขอให้ศาลพึงยึดหลัก “การสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจําเลยที่ถูกกล่าวหานั้นเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะมีคําพิพากษาถึงที่สุด” (the principle of presumption of innocence) อันเป็นหลักการทางกฎหมายพื้นฐานที่สําคัญในการดําเนินคดี อีกทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ก็ยังบัญญัติไว้ในมาตรา 29 วรรค 2 ว่า “ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจําเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคําพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทําความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทําความผิดมิได้”
นอกจากนี้ คำสั่งไม่ให้ประกันตัวที่วางอยู่บนการวินิจฉัยว่าจำเลยอาจไปก่อเหตุลักษณะเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหา จึงเป็นเสมือนการตัดสินล่วงหน้าว่าการกระทำของผู้ถูกสั่งฟ้องเป็นการกระทำผิด ทั้งๆ ที่ กระบวนการไต่สวนยังไมได้เริ่มต้นและยังไม่มีคำพิพากษา เป็นการขัดกับหลักการและบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญข้างต้น (รายละเอียดในประเด็นนี้ ปรากฏอยู่ในแถลงการณ์ของคณาจารย์สาขานิติศาสตร์ และนักกฎหมายลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2564
2.การไม่ให้ประกันตัวในระหว่างถูกดำเนินคดีหากภายหลังศาลมีคำพิพากษาว่าผู้ถูกสั่งฟ้องไม่ได้กระทำความผิดสิทธิและเสรีภาพที่ถูกพรากไปจากการถูกจองจำระหว่างดำเนินคดีก็ไม่อาจเรียกคืนกลับมาได้ โดยเฉพาะนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ ซึ่งเป็นนักศึกษาอยู่ การถูกจองจำจึงหมายถึงศาลได้ลิดรอนสิทธิในการศึกษาของนายพริษฐ์ไปด้วย
3.การฟ้องร้องดำเนินคดีที่เกิดขึ้นจำนวนมากต่อผู้ชุมนุมทางการเมืองในขณะนี้ รวมถึงที่มีนัดหมายสั่งฟ้องอีก 24 คนในวันพุธที่ 17 กุมภาพันธ์นี้ มีรัฐบาลเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรง จึงเป็นธรรมดาที่เจ้าหน้าที่รัฐจะใช้มาตรการทางกฎหมายในการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมอย่างเกินกว่าเหตุ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่สถาบันตุลาการจักต้องรักษาความเป็นอิสระและสมดุลของการปกป้องหลักสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ เพื่อเป็นที่พึ่งของประชาชน
4.การให้ประกันตัวผู้ชุมนุมในคดีทางการเมืองอย่างที่ผ่านมา ช่วยประคับประคองไม่ให้ความขัดแย้งลุกลามบานปลายได้ค่อนข้างดี ตรงกันข้าม การไม่ให้ประกันตัว มีแนวโน้มที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งที่ขยายตัวรุนแรงยิ่งขึ้น
พวกเราที่ลงชื่อแนบท้ายนี้จึงขอเรียกร้องให้สถาบันตุลาการพึงทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เพื่อรักษาเกียรติยศของตนและศรัทธาของประชาชน
ด้วยความเคารพต่อสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของประชาชน
- Alfred W. McCoy, Harrington Professor of History, University of Wisconsin-Madison
- Allen Hicken, University of Michigan
- Anne Hansen, Professor of History and Religious Studies, University of Wisconsin Madison
- Arjun Guneratne, Professor of Anthropology, Macalester College, St Paul, Minnesota, USA
- Arnika Fuhrmann, Associate Professor of Asian Studies and Comparative Literature, Cornell University
- Ashley Thompson, School of Oriental and African Studies, UK
- Claudio Sopranzetti, Assistant Professor, Central European University
- Dennis Arnold, Associate Professor, Dept. of Geography, Planning and International Development Studies, University of Amsterdam
- Eli Elinoff, Senior Lecturer of Cultural Anthropology, Victoria University of Wellington
- Eva Hansson, Senior lecturer in political science and Coordinator of the Forum for Asian Studies, Stockholm University
- Jim Glassman, Professor, Department of Geography, University of British Columbia
- Jinn-yuh Hsu, Distinguished Professor, National Taiwan University
- Justin McDaniel, Professor Religious Studies, University of Pennsylvania
- Karin Zackari, PhD, Human Rights Studies, Lund University
- Katharine Bjork, Professor of History, Hamline University, Saint Paul, Minnesota, USA
- Katherine Bowie, Professor of Anthropology, University of Wisconsin-Madison
- Kevin Hewison, Weldon E Thornton Distinguished Emeritus Professor, University of North Carolina at Chapel Hill
- Larry Ashmun, University of Wisconsin-Madison
- Nancy Eberhardt, Szold Distinguished Service Professor of Anthropology, Knox College
- Nick Cheeseman, Fellow, Australian National University
- Nicola Tannenbaum, Professor Emeritus of Anthropology, Lehigh University, Bethlehem, PA
- Penchan Phoborisut, Assistant Professor of Communications, California State University, Fullerton, USA
- Praopan Pratoomchat, Assistant Professor of Economics, University of Wisconsin-Superior
- Sinae Hyun, Research Professor, Institute for East Asian Studies at Sogang University
- Tamara Loos, Professor of History, Cornell University
- Tanadej Vechsuruck, Assistant Professor, University of Rhode Island, USA
- Taylor Easum, Assistant Professor of Asian History, Indiana State University
- Thak Chaloemtiarana, Emeritus Professor of Asian Studies, Cornell University
- Tyrell Haberkorn, Professor of Southeast Asian Studies, University of Wisconsin-Madison
- Woo-cheol Kim, PhD student, The University of British Columbia
- Wing-Shing Tang, Retired Professor, Hong Kong Baptist University
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นักวิชาการด้านต่าง ๆ ของประเทศไทยได้ร่วมกันลงรายชื่อ 255 รายชื่อ รวม 31 สถาบัน ออกแถลงการณ์เรียกร้องและขอให้ศาลคืนสิทธิในการได้รับการประกันตัวระหว่างถูกดำเนินคดีแก่ผู้ถูกสั่งฟ้องจากการชุมนุมเช่นกัน โดยมีเนื้อหาและใจความเหมือนกัน และได้มีการอ่านแถลงการณ์หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา นำโดยนักวิชาการ เช่น ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์, รศ.ดร. ยุกติ มุกดาวิจิตร ผศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีแถลงการณ์จากคณาจารย์นิติศาสตร์ 48 คน เรื่อง คำสั่งศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว เช่นกัน หนึ่งในใจความที่ต้องการย้ำถึงศาลคือ “สิทธิขั้นพื้นฐานดังกล่าวนี้ได้ถูกรับรองไว้อย่างชัดเจนในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) อันเป็นหนึ่งในกฎหมายระหว่างประเทศฉบับที่สำคัญที่สุด และไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 และสิทธิดังกล่าวยังได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 29 วรรค 2 และในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 227
แม้ว่ารัฐจะมีหน้าที่พื้นฐานอีกประการ คือหน้าที่ในการสอบสวนและนำตัวผู้กระทำความผิดอาญามาลงโทษ แต่รัฐต้องหาสมดุลระหว่างหน้าที่พื้นฐานนี้กับหลักการสันนิษฐานว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ เพื่อให้รัฐสามารถดำเนินการเพื่อค้นหาและลงโทษผู้กระทำความผิดได้ โดยผู้ที่ถูกกล่าวหาต้องไม่ถูกกระทบสิทธิเกินสมควร ด้วยเหตุนี้ แม้ว่าการควบคุมตัวจำเลยระหว่างการพิจารณาคดีจึงเป็นมาตรการทางกฎหมายที่ยอมรับกันโดยทั่วไป แต่การควบคุมตัวต้องทำอย่างได้สัดส่วนและด้วยความจำเป็นอย่างยิ่งเท่านั้น”
ภาพจาก: MediaStock ThaiPBS