แรงงานเพื่อนบ้านหลังลวดหนามความมั่นคง ครั้งสุดท้ายของการมี(สถานะ)แรงงานในไทย - Decode
Reading Time: 3 minutes

“ดีก็ต้องอยู่ ไม่ดีก็ต้องอยู่ ถอยหลังไม่ได้แล้ว

ที่นู่นทหารเขายิงกันอยู่ บ้านปิดไฟหมดแล้ว หาเงินไม่ได้ เลยออกมาหางานที่นี่”

เสียงเล่าสำเนียงติดขัดจากออง ธาน วิน หรือตุน แรงงานข้ามชาติสัญชาติเมียนมาร์ อายุ 26 ปี ผู้มาจากรัฐยะไข่ ดินแดนที่ยังไม่สงบจากการสู้รบภายในประเทศ เพราะที่นู่น ไม่มีงานแล้ว โอกาสและปากท้องถูกปิดไฟมืดเหมือนไฟเมืองที่ดับลงเพราะสงคราม มุ่งหน้ามา ที่นี่ คือประเทศไทยหวังโอกาสการงานอาชีพและชีวิตที่ดีกว่า

ในช่วงโควิดชีวิตตุนพลิกผันงานที่เคยทำถูกเลิกจ้าง ห้องที่เคยอยู่จ่ายไม่ไหว เงินที่ส่งกลับบ้านเพื่อสร้างบ้านและส่งเสียพ่อแม่ชะงักงัน ตุนถอยหลังไม่ได้ ดีหรือร้ายยังไงก็ต้องอยู่ เขาบอกกับฉันด้วยภาษาไทยที่ไม่ชัดนัก แต่น้ำเสียงและแววตาชัดในความหมายที่ต้องไปต่อแม้สถานการณ์ยากกว่าเดิม เรานัดคุยกับตุนช่วงดึกคืนหนึ่งหลังเลิกงานผ่านวิดีโอคอล ตุนนั่งคุยกับฉันมีพื้นหลังเป็นห้องเช่าที่หารร่วมกับเพื่อนอีกคน ห้องเช่าใหม่หลังตุนย้ายงาน ย้ายที่อาศัยมาอยู่ร่วมกันเพื่อลดค่าใช้จ่าย

ตุนตกงานหลังการระบาดรอบแรกก่อนได้งานใหม่เป็นแรงงานในโรงงานอุปกรณ์อะไหล่ยนต์แห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรปราการ จากรายได้เดิมรวมค่าทำงานล่วงเวลา (OT) รวมเดือนละ 10,000 กว่าบาท แบ่งใช้จ่ายส่วนตัวและส่งกลับให้พ่อแม่ที่ยะไข่ เขาพอตั้งตัวได้ เมื่อเกิดการระบาดขึ้นอีกครั้งในพื้นที่จ.สมุทรสาคร แรงงานข้ามชาติที่รัฐบาลเรียกว่าแรงงานต่างด้าวตกเป็นต้นเหตุและผู้ร้ายส่งผลต่อการปิดตัวของโรงงาน การเลิกจ้างและตกงานจึงตามมาเป็นลำดับ

ตุนกล่าวว่า ตนโชคดีที่ในสภาวการณ์นี้ยังมีงานทำแม้รายได้ลดลงต้องหยิบยืมจากเพื่อน ความสามารถที่จะจุนเจือครอบครัวและโครงการสร้างบ้านที่ใกล้เสร็จต้องพับเก็บลง เพราะค่าใช้จ่ายประทังชีวิตแต่ละวันก็ยากลำบาก อีกทั้งนโยบายการต่อสัญญาหนังสือเดินทาง (Passport) และบัตรประจำแรงงานต่างด้าวหรือบัตรสีชมพูมีค่าใช้จ่ายที่มากขึ้นจากปีก่อนทำให้ตุนต้องวางแผนการเงินเพื่อต่อสถานะการเป็นแรงงานถูกกฎหมายในรัฐไทยให้ถูกต้อง ค่าดำเนินการตามนโยบายรัฐ คนละ 9,000 บาท บวกเพิ่มค่านายหน้าดำเนินการรวมแล้วอาจสูงถึง 12,000-15,000 บาท ขั้นตอนแรกเริ่มตั้งแต่ 15 ม.ค. 64 สิ้นสุดขั้นตอนสุดท้ายภายใน 12 พ.ย.64 แต่นายหน้าของตุนเรียกเก็บภายในสิ้นเดือนมีนาคมนี้ ตุนต้องหามาจ่ายและยืนยันตัวให้ได้เพื่อสถานะแรงงานถูกกฎหมายของไทย

“กลับบ้านดีกว่า ปีนี้พาสปอร์ตหมด ผมจะกลับบ้านแล้ว” 

คำบอกเล่าสุดท้ายก่อนวางสายตุนบอกฉันว่าคิดถึงบ้าน ปีนี้คือครั้งสุดท้ายของการยื่นเอกสารเป็นแรงงานในไทย ตุนตั้งใจเก็บเงินหลักหมื่นกลับบ้านไปสร้างตัวกับพ่อแม่ สามปีแล้วที่ไม่ได้กลับบ้านนับจากการทำงานที่ไทยมาตั้งแต่วัย 23 โควิดทำให้คิดถึงบ้าน ยามที่ท้องหิวและความไกลห่างเป็นอื่นจากบ้านเดิมที่จากมา

สืบเนื่องจากการปิดตัวของธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดทำให้แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ต้องออกจากงาน ขาดรายได้ ไม่มีนายจ้างและกลายเป็นแรงงานนอกระบบ เป็นแรงงานผิดกฎหมาย บางส่วนทำเรื่องเดินทางกลับประเทศต้นทาง ทำให้จำนวนแรงงานข้ามชาติที่ออกนอกระบบเป็นแรงงานผิดกฎหมายเพิ่มขึ้นเพราะตกงาน ไม่มีนายจ้างรับรองสถานะการทำงาน

นอกจากนี้พบว่ากระบวนการเข้าสู่ระบบแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมายตามมติคณะรัฐมนตรี มีหลายขั้นตอนที่ซับซ้อน กำแพงทางภาษา ความล่าช้าเรื่องการดำเนินการ และสถานการณ์ปิดชายแดนในช่วงโควิดทำให้แรงงานมีความกังวลและไม่สามารถดำเนินการเองได้ ระบบนายหน้าที่มีมานานจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในการอำนวยความสะดวกต่อแรงงานข้ามชาติและนายจ้าง  ตามมาซึ่งค่าดำเนินการที่เพิ่มขึ้นจากเดิม 9,000 บาท/คน กลายเป็น 12,000-15,000 บาท/คน นับเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมากในช่วงโรคระบาดที่หลายคนตกงาน ขาดรายได้และไม่รู้จะไปต่อยังไงในชีวิตต่างแดน

“เราเป็นเหมือน ATM เขาคิดว่าแรงงานต่างด้าวมีเงินเยอะ เราจะเรียกเท่าไหร่ก็ได้ ในสภาวะปัจจุบันค่าดำเนินการเกิน 5,000 บาท เขาไม่มีทางจ่ายไหว เราไม่มีก็หาไม่ได้ ถ้าไม่กลับเราก็ถูกจับ มันผิดกฎหมาย ”

คายง์ มิน หลุ่ย หรือ ธี แรงงานข้ามชาติสัญชาติเมียนมาทำงานในไทยกว่า 10 ปี ปัจจุบันทำงานประเด็นแรงงานในมูลนิธิรักษ์ไทย จ.สมุทรปราการกล่าวถึงค่าดำเนินการนำแรงงานเข้าระบบถูกกฎหมายที่แพงเกินไปในช่วงนี้ แม้ทางกฎหมายระบุว่าค่าใช้จ่ายดังกล่าวนายจ้างเป็นผู้รับผิดชอบ แต่ในทางปฎิบัติแรงงานคือผู้แบกรับ แรงงาน 1 คนที่เข้ามาทำงานไม่ได้มาคนเดียว พวกเขามีครอบครัวตามมาด้วย ค่าใช้จ่ายต่อครอบครัวเมื่อคิดเป็นเงินเมียนมาร์อาจสูงถึงล้านจ๊าต (30,000 บาทไทย) พวกเขาจึงเลือกกลับบ้านหรืออยู่อย่างผิดกฎหมายแทน

“ผมน้อยใจว่าทำไมรัฐบาลเมียนมาไม่ทำ บางครั้งผมเกรงใจพี่ๆ คนไทยที่ต้องทำเอกสารและช่วยเรา ผมไม่โทษรัฐบาลไทยหรอกเพราะมันเป็นหน้าที่ของเขาที่ต้องดูแลความมั่นคง ความปลอดภัย แต่หน้าที่ของรัฐบาลเมียนมา ประชาชนของเขาที่เข้ามาทำงาน เราไม่ได้มาฟรี ไม่มีอะไรที่เราได้มาฟรีทั้งหมด เพราะเราก็จ่ายให้ทางรัฐบาลเมียนมาเหมือนกัน แต่ไม่มีการช่วยเหลือที่แก้ปัญหาไม่ตรงโจทย์” คายง์ มิน หลุ่ยกล่าว

ต่างด้าว ข้ามชาติ และความเป็นอื่นในความมั่นคง

ต่างด้าวคือนิยามทางกฎหมายไทยที่ใช้เรียกชนชาติอื่นนอกเหนือจากสัญชาติไทย เป็นคำอธิบายที่ใช้มานานจนบางคนไม่เห็นนัยยะความแบ่งแยก อดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) หนึ่งในคนทำงานด้านสิทธิแรงงานข้ามชาติให้ทัศนะต่อการนิยามชนชาติอื่นเป็นต่างด้าวและความเข้าใจผิดที่รัฐไม่ใส่ใจ

“ผมคิดว่าเกิดจากการไม่ได้ใส่ใจของรัฐบาลในการให้ข้อมูล เช่น ช่วงแรกที่ระบาดเพิ่ม รัฐบาลพยายามมุ่งเป้าไปที่แรงงานข้ามชาติ เกิดความไม่เข้าใจ ซึ่งคนในพื้นที่ไม่ได้มีปัญหากับแรงงานข้ามชาติเพราะต่างคนต่างพึ่งพากัน ในขณะที่คนที่ใช้โซเชียลก็ตัดสินไปก่อนว่าแรงงานข้ามชาติส่งผลกระทบ

ตัวอย่างในจังหวัดสมุทรสาครแรงงานข้ามชาติเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจให้กระเตื้องขึ้นอย่างมาก เช่น ธุรกิจบ้านเช่า มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ธุรกิจขายของเล็กๆ น้อยๆ ก็ได้ประโยชน์จากแรงงานข้ามชาติค่อนข้างมาก ไม่นับเศรษฐกิจภาพใหญ่ที่สมุทรสาครไม่มีแรงงานข้ามชาติไม่ได้ เพราะแรงงานข้ามชาติเป็นแรงงานหลักในการผลิตอาหารทะเลและการส่งออก เพราะฉะนั้นการอยู่ร่วมกันมีมานานแล้ว พออยู่ในภาวะแบบนี้คนก็ยังมีฐานจากอคติเดิมซึ่งเกิดจากหลายอย่างทั้งการเข้าใจประวัติศาสตร์ที่ไม่ถูกต้อง เกิดจากมาตรการของรัฐที่หาคนผิดเป็นปัจจัยร่วมกัน”

(สถานะ)ผิดกฎหมาย จากนโยบายรัฐไทย

อดิศรกล่าวว่า ปัจจุบันแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาในไทยอย่างถูกกฎหมาย ได้รับผลกระทบจากภาวะตกงาน ขาดรายได้ ไม่มีนายจ้างจากโรงงานปิดตัว พวกเขากำลังกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมายถ้าหานายจ้างไม่ได้ภายใน 15 วันตามกฎหมายกำหนด และแรงงานอีกล้านกว่าคนวีซ่ากำลังหมดอายุซ้ำเติมจากการตกงาน แรงงานเหล่านี้กำลังเผชิญหน้ากับความอดยากและสถานะผิดกฎหมายจากนโยบายของรัฐไทยที่ไม่เอื้อต่อสถานการณ์โควิด นโยบายที่ไม่นับ พวกเขา เป็นหนึ่งใน เรา ที่ได้รับผลกระทบ

ปัจจุบันมีแรงงานที่ต่อวีซ่าไม่ทันจำนวน 1.5 ล้านคน กลุ่มนี้ต้องตรวจโควิดที่โรงพยาบาลก่อนดำเนินการเรื่องวีซ่า แต่บางโรงพยาบาลไม่ตรวจให้เนื่องจากความหนาแน่นของผู้ป่วย ความพร้อมหรือปัญหาอื่นใดที่ไม่สะดวกบริการแรงงานข้ามชาติ

อีกกลุ่มคือแรงงานที่หนังสือเดินทางกำลังจะหมดอายุในเดือนเมษายน จำนวน 4 แสนคน รัฐบาลแก้ไขปัญหาด้วยการขยายเวลาการลงทะเบียน แต่ชายแดนปิด ศูนย์ทำหนังสือเดินทางพม่าที่ตลาดทะเลไทย จ.สมุทรสาครยังปิดอยู่ตามประกาศกรมควบคุมโรค จึงไม่รู้ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อ เดิมทีมีกลุ่มที่ดำเนินการไม่ทันกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมายตกค้างอยู่ในรอบแรกปลายปี 63 จึงต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จในรอบสอง หลายคนจ่ายค่าวีซ่าไปแล้วในรอบแรกจำนวน 1900 บาท แต่ดำเนินการไม่ได้ด้วยข้อจำกัดเรื่องนายจ้าง สถานการณ์โควิด และการปิดชายแดน

“เราเคยเสนอช่วงโควิดขอให้ยกเว้นเงื่อนไขการมี นายจ้างภายใน 30 วัน เพื่อดำเนินการเรื่องวีซ่าและเอกสารอื่น ๆ ต่อได้ ในสถานการณ์แบบนี้การมีงานก็แทบจะเป็นไปไม่ได้แล้ว” อดิศรกล่าว

เคสล่าสุดที่อดิศรดำเนินการช่วยเหลือคือแรงงานที่เคยทำงานอยู่จ.สมุทรปราการแล้วถูกเลิกจ้าง ทำให้ต้องย้ายถิ่นฐานไป จ.นครปฐม ภายหลังพบว่าแรงงานคนนั้นติดเชื้อโควิดจากโรงงานที่ออกมา ทำให้ที่พักและโรงงานใหม่ที่ย้ายไปต้องปิดทำความสะอาด กักตัวและได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง ซึ่งเกิดจากรัฐไม่สามารถจัดการให้แรงงานเคลื่อนย้ายอย่างเป็นระบบ

(ก่อน)รัฐประหารเมียนมา 1.6 แสนคนรอ “สถานะ”

ก่อนรัฐประหารมีแรงงานรอเข้าระบบอย่างถูกกฎหมายแต่เข้าไม่ได้จำนวน 1.6 แสนคน ปัจจุบันมีคนจำนวนหนึ่งที่กลายเป็นแรงงานผิดกฎหมายไปแล้ว เราเชื่อว่ายิ่งมีรัฐประหารเศรษฐกิจจะยิ่งตกลง คนจำนวนหนึ่งเริ่มกักตุนอาหาร ถอนเงินออกจากธนาคาร ถ้าภายในอาทิตย์นี้ หรืออาทิตย์หน้าสถานการณ์พม่ายังไม่ดี ผมเชื่อว่าจะมีแรงงานจำนวนหนึ่งลักลอบผ่านเข้ามาทางชายแดนแน่ๆ ต่อให้มีการปิดชายแดนก็ตาม เพราะฉะนั้นความกังวลใจก่อนโควิดว่าจะมีแรงงานลักลอบเข้ามา พอเกิดรัฐประหาร ผมคิดว่าแม้จะไม่เข้ามาทีเดียวเยอะๆ แต่จะลักลอบทยอยเข้ามา อดิศรกล่าว

หมดหวังครับ อดิศรตอบคำถามความเป็นไปได้ของการส่งคนมาดำเนินการเรื่องเอกสารและนโยบายแรงงานข้ามชาติในไทยจากประเทศต้นทางอย่างเมียนมาร์

“หลังรัฐประหาร (1 ก.พ. 64) สถานทูตพม่าในไทยปิดชั่วคราว ไม่ได้ปิดเพราะกลัวม็อบแต่ปิดเพราะรอคำสั่งจากรัฐบาลกลาง

พอคณะรัฐประหารประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน 1 ปี ก็ต้องเปลี่ยนนโยบายต่างๆ ทำให้ตอนนี้หลายอย่างเริ่มชะงัก รอฟังรัฐบาลกลางอย่างเดียว เรื่องแรงงานก็เหมือนกัน ดังนั้นเรื่องการส่งคนมาทำเอกสารที่ไทยจึงแทบจะเป็นไปไม่ได้ เพราะติดเรื่องโควิด และการเกลี่ยอำนาจทาง การเมืองภายใน”

ลงทะเทียนแพง 4-5 แสนคนเสี่ยงหลุดออกจากระบบ

เรื่องการจัดการแรงงานข้ามชาติ ผมคิดว่ากระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องประชุมกำหนดทิศทางการทำงาน โดยเฉพาะ 4 แสนคนที่วีซ่ากำลังจะหมดอายุภายในเดือนเมษายน 2564 นี้

ถ้าเลยเมษายนไปจะมากกว่า 4 แสน ดังนั้นรัฐต้องกำหนดทิศทางว่าจะทำอย่างไรให้กลุ่มนี้ทำงานต่อได้อย่างถูกกฎหมาย แม้วีซ่าจะหมดและไม่สามารถเดือนทางกลับประเทศเพื่อดำเนินการได้ ยึดเอกสารทางการไทยเป็นหลักและค่อยกำหนดมาตรการใหม่เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น เพราะผมเองยังประเมินไม่ได้ว่าสถานการณ์ที่สมุทรสาครจะเป็นแบบไหน

แม้กระทรวงสาธารณสุขจะบอกว่าทุกอย่างจะจบในเดือนกุมภาพันธ์ แต่เท่าที่ดูการดำเนินการตรวจเชิงรุกทำได้เพียง 1 แสนคน จาก 4 แสนคน มันค่อนข้างน้อยกว่าที่วางไว้พอสมควร ยิ่งเราไม่สามารถจัดการเรื่องคนตกงาน โดยเฉพาะในจ.สมุทรสงคราม คนมีปัญหาเรื่องรายได้จึงเริ่มย้ายถิ่นฐานไปหางาน ซึ่งเป็นสิ่งที่เรากังวลว่าจะเกิดการแพร่ระบาดมากขึ้น ถ้าคุมไม่ได้ผมคิดว่ามันจะกระจาย ถ้าเราปิดควบคุมสมุทรสาครไม่ได้ภายในเดือนก.พ.ผมคิดว่ามันจะลากยาว

เรื่องการลงทะเบียนรอบนี้แพงจริงอย่างที่แรงงานบอก แม้จะลดค่าตรวจโควิดเหลือ 2,300 บาท แต่มีตัวเลขที่น่าสนใจว่าแรงงานจะหลุดออกจากระบบกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมายเพิ่มอีก 2 แสนกว่าคน ซึ่งเป็นไปได้ที่จะสูงถึง 5 แสนคนตามที่ประเมินไว้  อดิศรกล่าว

ผ่าทางตันแรงงานเพื่อนบ้าน

สิ่งที่รัฐต้องทำในสถานการณ์นี้ตามทัศนะของอดิศรคือ

หนึ่ง ป้องกันคนหลุดจากระบบ กลุ่มใดที่เสี่ยงหลุดจากระบบจากที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น รัฐต้องให้ความช่วยเหลือเขา และดึงให้เข้าสู่ระบบให้มากที่สุด

สอง พวกที่ตกงาน รัฐจะทำอย่างไรไม่ให้เขาตกงาน หรือตกงานแต่ยังมีรายได้อยู่

สาม สร้างแรงจูงใจให้เขาอยากเข้าสู่ระบบ เป็นแรงงานถูกกฎหมาย

สี่ เราจะทำอย่างไรให้คนที่แอบเข้าทางชายแดนมามีน้อยที่สุด และเข้ามาอย่างถูกกฎหมายให้มากที่สุด ซึ่งผมคิดว่าค่อนข้างยากในเมื่อสถานการณ์ของพม่ายังเป็นแบบนี้อยู่

ชะตากรรมของแรงงานข้ามชาติใรไทยจะเป็นอย่างไรในภาวะเศรษฐกิจ สังคมในยุคโควิด บ้านที่กลับไม่ได้จากการรัฐประหารและความไม่แน่นอน ความเสี่ยงสถานะผิดกฎหมาย กลับไม่ได้ และไปไม่ถึง