เส้นบาง ๆ ระหว่าง “ปีศาจ” กับ “เชื้อโรค” ถอนพิษความกลัวด้วยประวัติศาสตร์การแพทย์ - Decode
Reading Time: 3 minutes

ย้อนกลับไปในเดือนมีนาคม 2563 วันหนึ่ง…รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีออกมาบอกประชาชนว่า เชิญชวนให้มาร่วมกันสวดมนต์เพื่อปัดเป่าโรคภัยไข้เจ็บ และเชื่อว่ากิจกรรมนี้จะสร้างขวัญกำลังใจแก่ประชาชน

แน่นอน! หัวเรือแป๊ะอย่างพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องเห็นชอบและบอกว่าเป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้ว

นี่คือหนึ่งในอีกหลาย ๆ ประจักษ์พยานที่ชี้ให้เห็นว่า รัฐไทยยังคงหวังพึ่งพิงอำนาจเหนือธรรมชาติ นอกหลักการวิทยาศาสตร์อยู่ แม้รัฐมนตรีฯ คนดังกล่าวจะออกมาย้ำซ้ำว่า การสวดมนต์ไม่ใช่การขับไล่โควิด-19 แต่เป็นการสร้างขวัญกำลังใจแก่ประชาชน

ทว่าการสร้างขวัญกำลังใจโดยใช้ความศักดิ์สิทธิ์เข้าช่วย เพื่อสร้างความรู้สึกดีให้แก่ประชาชน ไม่ต่างจากที่รัฐสมัยโบราณก็ใช้ความศักดิ์สิทธิ์เข้าปราบปีศาจที่มีนามว่าโรคระบาดเช่นกัน

เพื่อจะทำความเข้าใจต่อการจัดการกับโรคทางกายที่ตามมาด้วยโรคทางสังคมตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน Decode จึงชวน ผศ.ดร.ชาติชาย มุกสง อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผู้คร่ำหวอดศึกษาประวัติศาสตร์การแพทย์มายาวนาน และถือคติ “การแพทย์ไม่ใช่เรื่องไกลตัว” มาถอดรหัสด้วยเลนส์แบบนักประวัติศาสตร์ เพื่อทำความเข้าใจโรคระบาดในมิติของอารมณ์ความรู้สึก ตั้งแต่ยังเป็นปีศาจสู่การกลายสภาพเป็นเชื้อโรค

จะเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของประชาชนได้ ต้องเขียน “ประวัติศาสตร์การแพทย์ของประชาชน”

“เราต้องสร้างประวัติศาสตร์การแพทย์ของประชาชน ที่ประชาชนเป็นประธานของประวัติศาสตร์ให้ได้ ถึงจะเป็นประวัติศาสตร์การแพทย์ของชาติที่มีประชาชนเป็นผู้แสดงหลัก”

คำกล่าวด้วยน้ำเสียงอันหนักแน่นของชาติชาย สะท้อนจุดยืนต่อแนวทางการเขียนประวัติศาสตร์โดยไม่ต้องขยายอะไรให้มากความ ในมุมมองของเขา การจะเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของผู้ป่วยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ต้องเล่าผ่านมุมมองผู้ป่วย (ประชาชน) ให้ได้มากที่สุด ไม่ใช่ประวัติศาสตร์การแพทย์แนวมหาบุรุษ (great doctor) เหมือนอย่างในโลกตะวันตกช่วงศตวรรษที่ 19 ที่บรรดาแพทย์เขียนอวยแพทย์ผู้ยิ่งใหญ่ เช่น เอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์ และหลุยส์ ปาสเตอร์

และยิ่งต้องไม่ใช่ประวัติศาสตร์การแพทย์แนวราชาชาตินิยม เพราะการนำแพทย์ผู้ยิ่งใหญ่มาเป็นประธาน “ทำให้บุคลากรทางการแพทย์มี Historical consciousness ที่ไม่เชื่อในอำนาจของประชาชน แต่เชื่อในอำนาจของคนที่จะเป็นผู้อุปถัมภ์ทางการแพทย์ ฉะนั้น ก็จะมองหาผู้อุปภัมภ์ที่จะทำให้ตัวเองได้อำนาจในการที่จะเอาการแพทย์ไปบริการประชาชนอีกทีหนึ่ง

แต่การยึดวิธีการทางประวัติศาสตร์แบบเดียวอาจไม่เพียงพอ เพราะหลักฐานร่วมสมัยในอดีตส่วนใหญ่เป็นหลักฐานทางราชการ ถ้าอยากได้หลักฐานที่มาจากมุมมองชาวบ้าน จำต้องอาศัยบันทึกชาวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาในสยาม หนังสือพิมพ์เก่า หรืองานวรรณกรรม

“เราอาจจะไม่เห็นจากสายตาหรือการบันทึกของชาวบ้านจริงๆ เพราะมันเหลือมาถึงเราน้อยมาก ฉะนั้น อารมณ์ความรู้สึกของชาวบ้าน ผมคิดว่าเรารับรู้จากสื่อของยุคสมัย ไม่ได้เป็นอารมณ์ที่เป็นแบบบันทึกโดยตรง”

เพื่อจะให้เสียงของคนตัวเล็กตัวน้อยออกมาให้มากที่สุด ชาติชายจึงเลือกวิธีการแบบนักมานุษยวิทยามาปรับใช้ เพราะการทำความเข้าใจมุมมองของผู้คน ต้องอาศัยการอธิบายข้อมูลเชิงชาติพันธุ์วรรณา (Ethnography) ให้เห็นถึงภาวะของความเป็นมนุษย์เวลาเผชิญกับอะไรก็ตาม ตั้งแต่ความศักดิ์สิทธิ์ของศาสนา การทำมาหากิน หรือการเอาชีวิตรอดจากการเจ็บป่วย อันถือเป็นประเด็นใหญ่ที่มนุษย์เผชิญตลอดมาในประวัติศาสตร์

“แต่มานุษยวิทยาก็สนใจในปัจจุบัน เราในฐานะนักประวัติศาสตร์ ต้องกลับไปสำรวจว่า จากหลักฐานอะไรต่าง ๆ มีมนุษย์ต้องเผชิญกับการต่อสู้ดิ้นรนเอาตัวรอด โดยใช้วัฒนธรรมหรือการต่อรองยังไงในแต่ละช่วงเวลา และเราต้องเห็นภาวะของการต่อสู้ดิ้นรนตรงนี้เป็นภาวะปกติของมนุษย์ เพียงแต่มันมีความเปลี่ยนแปลงในทางประวัติศาสตร์”

เมื่อลองพลิกอ่านหนังสือของชาติชายเรื่อง จากปีศาจสู่เชื้อโรค: ประวัติศาสตร์การแพทย์กับโรคระบาดในสังคมไทย (2563) จะพบว่าได้ผสมผสานวิธีการทั้งประวัติศาสตร์และมานุษยวิทยาเข้ากันอย่างกลมกลืน ด้วยวิธีการเช่นนี้ อย่างน้อยก็ทำให้เราเข้าใกล้อารมณ์ความรู้สึกของผู้คนที่มีต่อโรคระบาดตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันไปอีกขั้น

จากสวดมนต์ไล่ “ปีศาจ” สู่จัดการ “เชื้อโรค” ด้วยการแพทย์สมัยใหม่

ขวัญกำลังใจเป็นสิ่งสำคัญที่หล่อเลี้ยงอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนให้ดำเนินชีวิตต่ออย่างไม่ย่อท้อต่อโชคชะตา แต่ยามเกิดโรคระบาดเช่นทุกวันนี้ ผู้คนต้องเผชิญกับภาวะที่ไม่มั่นคงในชีวิตหลายอย่าง กอปรกับนโยบายความช่วยเหลือของรัฐโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจที่ดูกระง่อนกระแง่น เหมือนอยู่ในรัฐสวัสดิการชิงโชคตลอดเวลา จึงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด ถ้าผู้คนจะหันไปพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้บรรเทาทุกข์ยากอันบังเกิดแก่ตน

ในสมัยโบราณ ยุคที่ความรู้ทางการแพทย์สัมพันธ์กับอำนาจเหนือธรรมชาติอย่างแยกไม่ออกจากกัน ผู้คนก็หาทางต่อสู้และต่อรองทุกอย่างเพื่อให้โรคระบาดหายไป เพราะเชื่อว่าโรคระบาดเกิดจากปีศาจที่อาจเป็นได้ทั้งผี เทวดา ยักษ์ หรือนาค ทำให้มีวิธีการจัดการหลายแบบ เช่น เอาใจปีศาจด้วยการเอาข้าวของเสื้อผ้า น้ำท่า อาหาร ไปวางไว้ตรงทางสามแพร่งให้ปีศาจได้กินได้ใช้, หลอกปีศาจด้วยการจุดไฟตอนกลางคืน หรือใช้เครื่องรางของขลัง เช่น ตระกรุด ผ้ายันต์ และน้ำมนต์ มาจัดการปีศาจ วิธีการเหล่านี้ถือเป็นภูมิปัญญาอย่างหนึ่งของชาวบ้านที่ใช้ในการเผชิญหน้ากับความหวาดกลัว

“นี่เป็นการต่อสู้แบบที่ชาวบ้านมีด้วยตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งพาคนอื่น” ชาติชายย้ำหลังจากพรรณนาความข้างต้น

ถ้าชาวบ้านจะต้องพึ่งพาคนอื่น ก็คือการพึ่งพาพระสงฆ์ให้สวดบทอาฏานาฏิยสูตร ที่มีอานุภาพป้องกันภัยจากภูตผี ปีศาจ ยักษ์ และคุณไสยต่าง ๆ หรือพึ่งพาราชสำนักซึ่งมีพราหมณ์เป็นผู้มีความรู้และอำนาจสู้ปีศาจ ประกอบพระราชพิธีอาพาธพินาศ เพื่อปัดรังควานโรคระบาดให้พ้นไป

เมื่อฟังถึงตรงนี้ก็เผลอนึกไปว่า นี่รัฐไทยโบราณหรือรัฐไทยปัจจุบัน…

เมื่อความรู้จากตะวันตกเข้าสู่สังคมไทย ความรู้ทางการแพทย์แรก ๆ ที่เข้ามา คือ สาเหตุของการเกิดโรคและความเจ็บป่วย หมอบรัดเลย์ (Dan Beach Bradley) ที่เดินทางเข้ามาในสยามสมัยรัชกาลที่ 3 ไม่เชื่อแล้วว่าโรคระบาดเกิดจากปีศาจกระทำ แต่เชื่อว่าเกิดจากความสกปรกของเมือง การกำจัดความสกปรกออกไปเพื่อให้เมืองสะอาดแล้วใช้ระบบสุขาภิบาล

ปีศาจตนเดิมอันเกิดจากความไม่รู้ของคนสมัยก่อน กำลังถูกชำระล้างออกไปด้วยการแพทย์สมัยใหม่ แล้วเผยให้เห็นเชื้อโรคอันเป็นร่างแท้จริงมากขึ้น แต่กระนั้นการแพทย์สมัยใหม่ก็ไม่ได้ศักดิ์สิทธิ์พอที่จะทำให้ปีศาจหายไป

“เชื้อโรค” เข้ามา แต่ “ปีศาจ” ไม่หายไป

“ในแง่ของความรู้และการรับรู้มันเปลี่ยน คนรู้ว่ามันไม่ได้เกิดจากปีศาจทำ ถามว่าถ้าให้เขาอธิบายก็คงอธิบายว่ามันเกิดจากเชื้อโรค แต่ในเชิงอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เป็นเหตุเป็นผลอย่างมาก เขายังอยากจะอธิบายหรือยอมรับคำอธิบายที่โรคนี้มันเป็นปีศาจ”

ชาติชายอธิบายให้ฟังถึงสัญญะของปีศาจที่เปลี่ยนไป มันไม่ใช่การมองปีศาจด้วยสายตาแบบคนในอดีต แต่สัญญะใหม่ของปีศาจคือความรู้สึกว่าตนโชคร้าย! เมื่อต้องเป็นผู้ป่วยจากการติดโรคระบาด

“คำถามในทางมานุษยวิทยา คือ Why me ? เช่น ‘ทำไมกูซวยจังวะ ? คนไปเที่ยวตั้งเยอะตั้งแยะทำไมเป็นกูวะ ? ทำไมไม่เป็นคนอื่น ?’ ฉะนั้น คำอธิบายในความไม่มีเหตุผล ปีศาจในแง่ความโชคร้ายอะไรแบบนี้ยังอยู่ในความรู้สึกของคนไทยพอสมควร คำอธิบายต่าง ๆ บางทีเป็นการอธิบายเพื่อความสบายใจของตัวเอง”

การจัดการกับความโชคร้าย เช่น การสวดมนต์ พึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือเข้าสู่วิถีแห่งโหราศาสตร์ สอดคล้องกับแนวคิดเรื่องพหุลักษณ์ทางการแพทย์ที่เสนอว่า ต้องมีระบบการแพทย์หลายระบบในการจัดการเพื่อให้บรรลุซึ่งการมีสุขภาพดี การใช้ความเชื่อจึงถือเป็นทางเลือกหนึ่งในการจัดการกับสุขภาพใจ

ครั้นมองในแง่ของรัฐ ถ้าเป็นสถาบันทางการแพทย์จะไม่มีพื้นที่ให้ปีศาจเหลืออยู่เลย แต่ในสถาบันทางการเมือง ด้วยเหตุที่รัฐไทยไม่เคยเปลี่ยนผ่านเป็นรัฐสมัยใหม่อย่างแท้จริง ดันเป็นรัฐกึ่งพุทธกึ่งพราหมณ์มาตลอด รัฐจึงไม่ปฏิเสธการใช้พิธีกรรมจัดการกับปีศาจ (โรคระบาด) เพื่อสร้างขวัญกำลังใจแก่ประชาชน กลบเกลื่อนอารมณ์ความรู้สึกที่โดนพิษโรคระบาดและพิษเศรษฐกิจบั่นทอนคุณภาพชีวิตไป

ความรู้สึกหวาดกลัวและไม่มั่นคงในชะตากรรม

คำถามสำคัญที่ชวนคิดคือว่า ยามเกิดโรคระบาดเช่นโควิด-19 ในปัจจุบัน คนเรากลัวเป็นโรคทางกายหรือโรคทางสังคมมากกว่ากัน ?

จริงอยู่ที่โรคทางกายเป็นแล้วส่งผลเสียทั้งต่อร่างกาย การทำงาน การเรียน จนถึงคนรอบข้าง แต่ใช่ว่าโรคทางสังคมที่ไม่ถูกจดบันทึกเป็นสถิติรายวันเช่นเดียวกับโรคทางกายจะไม่ส่งผลเสีย

บางคนเป็นแค่โรคทางกาย บางคนเป็นแค่โรคทางสังคม บางคนก็เป็นทั้งโรคทางกายและโรคทางสังคม

โรคทางสังคมที่ว่านี้เกี่ยวกับคำที่วิลเลียม เรดดี้ (William M. Reddy) เรียกว่า “ระบอบอารมณ์ความรู้สึก” (Emotional Regime) ที่ใช้อธิบายความรู้สึกหวาดกลัวและไม่มั่นคงในยามเกิดโรคระบาดได้ ความหวาดกลัวดังกล่าว มีทั้งกลัวคนอื่นจะนำโรคมาติด กลัวโรคที่จะทำให้ตาย และกลัวโรคที่เป็นแล้วจะถูกจัดการโดยรัฐ ความกลัวแบบหลังเป็นความกลัวใหม่ เพราะก่อนหน้ารัฐสมัยใหม่ รัฐไม่มีหน้าที่จัดการโรคระบาด ชาวบ้านจะจัดการกันเอง ผู้คนจะพาครอบครัวทิ้งหมู่บ้านหนีโรคระบาด หรือบางครั้งก็พากันหนีโรคระบาดไปด้วยกันทั้งหมู่บ้าน ฉะนั้น ความรู้สึกโดดเดี่ยวที่โดนกักตัวมันจะไม่เกิด

พอรัฐสมัยใหม่มาจัดการหน้าที่ตรงนี้แทนครอบครัว ความรู้สึกโดดเดี่ยวเมื่อตัวเองเป็นโรค ความรู้สึกแบบไร้ญาติขาดมิตร ไม่มีครอบครัวคอยอุ้มชู ก็เกิดขึ้นมา เหมือนผู้ป่วยโรคโควิด-19 หรือมีความเสี่ยงที่ต้องกักตัว

แต่กลุ่มคนที่ถูกตีตรา (stigma) ว่านำโรคเข้ามาแพร่เชื้อสู่คนอื่น เป็นกลุ่มคนที่ต้องเผชิญกับโรคทางสังคมอย่างหนักหน่วงที่สุด พิษจากโรคทางกายที่เกาะกินสุขภาพจนย่ำแย่ ยังเทียบไม่ได้กับบาดแผลของอารมณ์ความรู้สึกที่ถูกกรีดจากการด่าทอของคนในสังคม ทั้งที่บางคนไม่ได้ตั้งใจหรือไม่รู้ตัวว่าติดโรคระบาด

ยิ่งเมื่อต้องอยู่ในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำแม้กระทั่งมุมมองที่มีต่อฐานะทางสังคม ถ้าคุณเป็นกรรมกรแล้วติดโรคโควิด-19 คุณจะถูกด่าจนแทบไม่มีที่อยู่ที่ยืนในสังคม กลับกันถ้าเป็นอภิสิทธิ์ชนที่มีชื่อเสียง คุณจะได้รับกำลังใจอันล้นหลาม บางครั้งถึงกับถูกสรรเสริญให้เป็นคนดี เมื่อคุณยินดีเปิดเผยไทม์ไลน์ที่เป็นประโยชน์ต่อการสอบสวนโรค!

“ถ้าเราเข้าใจมนุษย์ในอดีต อารมณ์ความรู้สึก ความทุกข์ทรมานต่าง ๆ อย่างน้อยจะทำให้เราเข้าใจ ไม่ไปซ้ำเติมคนที่เป็นโรค ผมคิดว่าอาจจะเป็นประโยชน์สำคัญของการศึกษาประวัติศาสตร์การแพทย์ในมุมอารมณ์ความรู้สึกของประชาชนคนธรรมดาที่เป็นผู้ป่วย”

หายนะจากความเป็นอื่น และราชาชาตินิยมในโควิด-19 ระลอกใหม่

คราวเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ (ไม่ใช่ระลอกสองอย่างที่ ศบค. ว่าไว้) คลัสเตอร์ใหญ่ของการระบาดมาจากแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาร์ที่จังหวัดสมุทรสาคร สร้างความตื่นตระหนกตกใจกลัวแก่คนไทยหลายคน จนนำไปสู่การแสดงความเห็นในแง่ลบต่อพวกเขา ทั้งการเหยียดเชื้อชาติ การมองว่าเป็นพวกสกปรก ไม่มีความรู้ จนรุนแรงถึงขั้นอยากให้ถึงแก่ชีวิต ทั้งที่ชาวเมียนมาร์เหล่านี้เป็นแรงงานข้ามชาติคนสำคัญในการขับเคลื่อนฟันเฟืองเศรษฐกิจของไทย

และวาทกรรมเก่าแก่ที่ได้ยินจนน่าเบื่อหน่าย คือ การสร้างภาพให้พวกเขาเป็นศัตรูแห่งชาติในประวัติศาสตร์ไทย โดยเหตุการณ์ที่ยกมาเปรียบเทียบอย่างผิดฝาผิดตัวกับปัจจุบัน คือ เหตุการณ์เสียงกรุงฯ ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2310 ที่ป้อมมหาชัย โดนทหารกรุงอังวะขุดรากกำแพง เพื่อระเบิดเป็นช่องทางยกกองทัพบุกเข้ายึดในกรุงฯ บางคนเลือดชาตินิยมขึ้นหน้าถึงกับเอ่ยว่า มันเป็นการเสียกรุงฯ ครั้งที่ 3

“ปฏิเสธไม่ได้ว่าความรู้ของคนทั่วไปมันคือประวัติศาสตร์กระแสหลัก ถูกปลูกฝังประวัติศาสตร์ชาติอย่างเดียว ชุดความคิดเดียวในการใช้มองโลก การที่ประวัติศาสตร์กระแสหลักทำให้พม่าเป็นศัตรูแห่งชาติ จะมีความรู้สึกที่บางคนก็ไม่ได้แยกอดีต ปัจจุบัน อนาคต เสียด้วยซ้ำไป มันกลายเป็นเงื่อนไขทางวัฒนธรรมในการประกอบสร้างความเป็นแรงงานพม่า”

ชาติชายยังกล่าวถึงภาวะที่คนไทยเหมารวมความเป็นชาติพันธุ์พม่า ไม่ค่อยเรียกเขาเป็นเมียนมา เพราะความรู้สึกแบบชาตินิยมที่เรามีในการตัดสินพวกเขา ซ้ำยังมองคนที่มาจากประเทศเมียนมาต้องเป็นชาวพม่าเท่านั้น

“บางคนเป็นมอญด้วยซ้ำไปนะ แล้วก็ต้องมาแบ่งรับความเป็นพม่าของคนไทยด้วย เราไม่เคยแยกแยะเลย ผมว่าน้อยคนที่จะมองเห็นแรงงานที่มาจากเมียนมาร์มีความหลากหลาย บางทีเขาแต่งตัวออกโต้ง ๆ ในหมู่พวกเขา เขารู้กันนะ แต่ในหมู่คนไทยเนี่ยเหมารวมาก ๆ”

ปัญหาเหมารวมทางวัฒนธรรมแบบนี้ เชื่อมโยงไปสู่การขาดมุมมองแบบประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในไทย ทำให้คนกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่อาศัยในไทยกลายเป็นคนอื่นที่ไม่เท่าเทียมกับคนไทย

“ชาติพันธุ์ที่มีอำนาจน้อยก็ยิ่งถูกกดขี่ให้มีอำนาจต่ำลงไปอีก” ชาติชายย้ำ

สิ่งที่เกิดขึ้นกับแรงงานชาวเมียนมา เหมือนกับครั้งหนึ่งที่เกิดขึ้นกับชาวเฮติที่ตั้งถิ่นฐานในนิวยอร์ก ซึ่งถูกตีตราว่าเป็นผู้ที่นำโรคเอดส์มาระบาดในสหรัฐอเมริกา แม้ในทางระบาดวิทยาเป็นอย่างนั้นจริง แต่การตีตราที่เกิดขึ้นทำให้ชาวเฮติถูกรังเกียจจนแทบไม่มีที่อยู่ที่ยืน

“พอมีโรคมันจะ double มีการศึกษาในทางมานุษยวิทยาหลาย ๆ ที่ว่า ความรังเกียจเดียดฉันที่เคยมีอยู่ก่อนหน้า ถ้าโรคมันมาแสดงออกในหมู่คนที่ถูกมอง ถูกเหยียด หรือถูกตีตราอยู่แล้วว่าเป็นพวกที่สกปรก น่ารังเกียจ มันจะแสดงออกอย่างชัดเจน และการรังเกียจ การกีดกัน การไม่ยอมรับกัน การผลักไส จะยิ่งมากขึ้นกว่าเดิม มันก็เกิดการตีตราเหมารวมลงไปว่า คนเหล่านั้นมันเป็นโรค”

แล “ประวัติศาสตร์การแพทย์” ไปข้างหน้า

“ประวัติศาสตร์การแพทย์ก็เหมือนกับประวัติศาสตร์ทุกแขนงทุกสาขา เรารู้อดีตเพื่อเข้าใจปัจจุบันแล้วมองไปสู่อนาคต”

ในแง่มุมประวัติศาสตร์การแพทย์ยิ่งสำคัญ เพราะโควิดหรือโรคระบาดในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ที่เรียกว่า โรคอุบัติซ้ำหรือโรคอุบัติใหม่ มีแนวโน้มที่จะระบาดในระดับโลกรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ฉะนั้น การมีความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์การแพทย์โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ของโรคระบาด จะช่วยให้เราเข้าใจถึงรูปแบบของการสร้างวัฒนธรรมหรือภูมิปัญญา หรือการสร้างความรู้ในการเผชิญกับโรคแต่ละชนิดในแต่ละช่วงเวลาด้วย ถ้าเข้าใจประเด็นนี้ การจัดการทางสังคมจะไม่ทำให้ผู้ป่วยต้องมารับความทุกข์ทรมานจากการจัดการที่ไม่เข้าใจ และไม่ผลิตซ้ำวิธีการรับมือแบบผิด ๆ ต่อไป

ท้ายสุด ชาติชายเน้นย้ำถึงทิศทางของการศึกษาประวัติศาสตร์การแพทย์ในอนาคตว่า

“มีความจำเป็นที่ประวัติศาสตร์การแพทย์ยังต้องมีการศึกษากันอยู่ แต่ในสังคมไทยเท่าที่ผมเห็น ในภาครัฐไม่มีนโยบายในการส่งเสริม เท่าที่เรียนกันในโรงเรียนแพทย์ ก็พยายามเรียนเพื่อให้ครบหน่วยกิต หรือให้มันเป็นวิชาสังคมที่น่าเบื่อ ไม่ได้เรียนเพื่อความเข้าใจ ไม่ได้มีความจริงใจในการที่จะใช้ประวัติศาสตร์ในการเรียนรู้ความเป็นมนุษย์ของผู้ป่วยสักเท่าไรนัก

ประวัติศาสตร์การแพทย์ที่จะต้องทำมี 3 ระดับ ระดับบุคลากรทางการแพทย์ ระดับบุคคลทั่วไป ระดับของการสร้างองค์ความรู้ ถ้าบุคลากรทางการแพทย์ที่มีแต้มต่อความรู้เรื่องวิทยาศาสตร์และโรคระบาดดีกว่าคนทั่วไปหันมาสนใจ ก็อาจจะช่วยทำให้บางแง่มุมของโรคถูกขยายมาทำความเข้าใจให้กับคนในสังคมผ่านประวัติศาสตร์การแพทย์ได้”

แต่จะเป็นไปได้ขนาดไหน มันยากที่จะตอบ…