การทรงตัวเมื่อต้องเผชิญหน้ากับการจากลา​ Last Night's Curry, Tomorrow’s Bread - Decode
Reading Time: 2 minutes

ขนมปังของวันพรุ่งนี้ แกงกะหรี่ของเมื่อวานนี้ Last Night’s Curry, Tomorrow’s Bread นี่ไม่ใช่หนังสือชักชวนให้ ง่วนกับการทำอาหาร แต่เป็นเรื่องราวความพยายามที่จะโอบกอดความจริงตรงหน้า – ยอมรับการจากลาและความตาย จากนั้นจงร้องไห้ให้พอใจก่อนทิ้งน้ำตาไว้ในเสี้ยวหนึ่งของความทรงจำ 3 ความหมายระหว่างบรรทัดที่ดึงดูดตัวละครในเรื่องให้มาเชื่อมโยงกันอย่างแนบแน่น และแน่นอนมันดึงดูดใครก็ตามที่หัวใจ…ยังไม่เข้มแข็งพอ

เป็นหนังสือที่เขียนเรื่องสลับไปมา ให้เราได้มีพื้นที่ปะติดปะต่อเรื่องราวและคิดถึงเหตุผลที่มาของแต่ละตัวละค​ร วินาทีที่เรานั่งบรรจงกวาดสายตากับตัวอักษรในหน้ากระดาษของหนังสือเล่มนี้ เหมือนกับว่าเรากำลังไล่ตามหารสชาติอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของแกงกระหรี่สักถ้วยที่เคยเลยล่วงมาแตะที่ปลายลิ้น หรือบางห่วงเวลาหนังสือเล่นนี้ก็พาเราออกเดินทางตามกลิ่นขนมปังที่หอมอบอวล ลัดเลาะไปตามแนวถนนในตรอกเล็กๆยามเช้าตรู่เพื่อมูฟออน ​

Q : ก่อนอ่านหนังสือเล่มนี้ เราอยากให้คุณถามตัวเองก่อนว่า หากวันหนึ่งต้องสูญเสียคนที่รักไปตลอดกาล วันนั้นคุณจะเป็นอย่างไร…?

A : สำหรับเราการสูญเสียและจากลาในโลกความจริง อาจไม่ได้อ้างอิงถึงการจากลาในโลกแห่งความทรงจำ เพียงแต่เราเปลี่ยนมิติการสัมผัสและการคิดถึงกันก็เท่านั้นเอง

เรื่องราวหลังความตายของชายที่ชื่อ คาซึกิ

คาซึกิ เป็นชื่อตัวละครลับของเรื่อง เราไม่มีทางรู้ว่าเขาเป็นคนอย่างไร หรือ หล่อเหลาแค่ไหน ตราบใดที่ยังอ่านไม่ถึงหน้ากระดาษสุดท้าย เขาเป็นเด็กหนุ่มที่มีผู้คนล้อมรอบมากมาย คาซึกิเสียชีวิตหลังแต่งงานทั้ง ๆ ที่อายุยังน้อย ส่วนใหญ่เราได้รู้จักกับคาซึกิผ่านความทรงจำของตัวละครหลักในเรื่อง นั่นคือ ป๊า (พ่อของคาซึกิ) และ เท็ตสึโกะ (ภรรยาของคาซึกิ) ความน่าค้นหาของหนังสือเล่มนี้ คือการไม่บอกว่าทุกข์หรือสุข ด้วยถ้อยคำอันดาดดื่น แต่ปล่อยให้เราซึมซับวันวานของความทุกข์ ความสับสน หรือ ความต้องการที่ซ้อนภายใน และสายใยที่บางเบาของความสุข ผ่านบทสนทนาตามประสาภูมิปัญญาที่ทั้งสุขุมและลึกซึ้งแบบณี่ปุ่น ๆ

ขณะนั่งอ่านราวกับว่าเรากำลังย้อนเวลาไปในยุคที่ญี่ปุ่นยังไม่พบปะความเร่งรีบ อาจเป็นช่วงต้น ๆของยุคทุนนิยมที่ผู้คนยังคงใช้ชีวิตเนิบช้า ​

ในความอบอุ่นของ ป๊า มีความทรงจำซ่อนอยู่

หลังคาซึกิจากไป ป๊า หรือ คุณพ่อของคาซึกิ ยังคงใช้ชีวิตเหมือนเดิมในบ้านหลังเดิมกับเท็ตสึโกะซึ่งมีศักดิ์เป็นลูกสะใภ้ ตั้งแต่เปิดเรื่องจนจบมันมีกลิ่นอายและความพยายามอาจเริ่มต้นชีวิตใหม่ของทั้งคู่ แต่คู่ขนานชีวิตในแบบฉบับวันวานก็ยังวนเวียน เราถามตัวเองตลอดเวลาที่จดจ้องอยู่กับหนังสือเล่มนี้ว่า ใครไม่ยอมไปจากใครกันแน่ ​เป็นสถานะหรือ…? ที่ทำให้ทั้งสองคนยังอยู่ด้วยกันแม้ขาดตัวกลาง เพราะถ้าความสัมพันธ์ของครอบครัวนี้เป็นสามเหลี่ยมด้านเท่า วันที่คาซึกิจากไป มุมหนึ่งของสามเหลี่ยมก็หายไปด้วย แต่ทำไมคนที่อยู่ทั้งคู่ซึ่งดูเหมือนอยากไปข้างหน้า กลับยังใช้ชีวิตราวกับว่ามุมหนึ่งของสามเหลี่ยมไม่ได้หายไปไหน หรือแท้จริงแล้วไม่มีใครอยากลืม และขอแค่ได้อยู่ตรงนั้น แบบนั้น เพื่อหวนคิดจดจำถึงวันที่แสงแดดอุ่นปะทะผิวกายในตอนเช้าของทุกวันใหม่ก็เท่านั้นเอง

กลางเรื่องผู้เขียนเล่าว่า ป๊า อยากให้เท็ตสึโกะ(ลูกสะใภ้) เริ่มต้นชีวิตใหม่กับใครสักคน ส่วนป๊าชายสูงวัยที่ดูอบอุ่น ก็พยายามเริ่มต้นตามหารสชาติใหม่ในชีวิต ทั้งที่อายุมากแล้วและไม่ถนัดเรื่องเดินป่า ปีนเขา แต่ป๊าพยายามพบปะสาวนักไต่เขา จากนั้นก็มีบทสนทนาและความรู้สึกที่ทำให้เราสัมผัสได้ถึงความตื่นเต้นในความสัมพันธ์รักใคร่แบบหนุ่มสาว ​ความพยายามที่ว่าดูไม่เป็นผลเพราะสุดท้ายป๊าก็กลับมาอยู่ที่สถานะเดิม ตรงความสัมผัสเดิม และทิ้งระยะห่างของความสัมพันธ์บนเขาเอาไว้แค่นั้น

กลัวความเปลี่ยนแปลง หรือ กลัวที่จะลืมเมื่อวา

กลับตัวก็ไม่ได้ ให้เดินต่อไปก็ไปไม่ถึง เหมือนมีอะไรที่ดึง ไม่ให้เราเลือกทางใด ท่อนเพลงนี้เหมาะกับที่จะอธิบายถึง เท็ตสึโกะ หญิงสาวพนักงานออฟฟิศที่ง่วนและมีความสุขกับการทำงานบ้าน บ้านหลังเก่าที่เต็มไปด้วยต้นแปะก๊วยและความทรงจำในวันที่มีคาซึกิ  

แม้ชีวิตของเธอจะมีความยืดหยุ่นสูง พ่อสามีไม่เคยห้ามปราบกลับหนุนเธอให้เริ่มต้นกับชายคนใหม่ แต่เท็ตสึโกะก็ยังเป็นคนคนเดิม เธอคบหาดูใจกับชายอีกคนหลังสามีจากไปสักพักใหญ่ คบกันไปโดยไม่เปิดทางให้อีกฝ่ายเริ่มบทสนทนาถึงความสัมผัสระยะยาว จนวันหนึ่งที่ฝ่ายตรงข้ามเอ่ยปากเรื่องการแต่งงาน เท็ตสึโกะปฏิเสธอย่างหนักแน่น แต่เพราะอะไรในวันนั้นเธอยังไม่มีคำตอบ เพราะคาซึกิ ? เพราะคุณพ่อสามี ? หรือ เพราะตัวเธอเอง ?

สำหรับเราเมื่ออ่านจบ กลับพบคำตอบว่า เท็ตสึโกะกลัวการเปลี่ยนแปลง กลัวการเผชิญหน้ากับปัจจุบัน และกลัวว่าการเริ่มต้นใหม่กับใครสักคนจะทำให้เธอลืมสัมพันธ์ในอดีตที่เต็มไปด้วยความรู้สึกดี ๆ

สปอยก่อนเลยว่า จุดคลี่คลายของเรื่องคงอยู่ตรงตอนที่เท็ตสึโกะ ยอมรับความจริงว่า แอบเก็บกระดูกชิ้นเล็กๆ ของคาซึกิไว้ในกล่อง ​แอบเก็บไว้ให้ใกล้ตัวที่สุด มุมหนึ่งนั่นหมายถึงเธอไม่ยอมปล่อยวาง ไม่ยอมปล่อยคาซึกิไป มันคือการผูกมัดพันธนาการเธอเอาไว้ แต่แล้ววันหนึ่งเมื่อเวลาล่วงเลยมาไกล เมื่อเธอได้เห็นผลลัพธ์จากการยึดติดจากอดีตของลูกพี่ลูกน้องคาซึกิ เธอคงหวนคิดถึงเรื่องของตัวเอง และตัดสินใจยอมเปิดปากพูดถึงเรื่องนี้ เธอเริ่มต้นจัดเรียงความสัมพันธ์และเธอและคาซึกิด้วยการ ปล่อยมือจากกระดูกชิ้นน้อยของคาซึกิ เธอออกเดินทางเพื่อนำกระดูกที่ว่ากลับไปเก็บไว้ในหลุดฝังศพด้วยมือของเธอเอง เธอมองวันจนถึงวินาทีสุดท้ายที่จากลาและพบว่าไม่ได้เจ็บปวด ตรงข้ามกลับโล่งใจที่ได้ทำในสิ่งที่ควรจะเป็น นับเป็นจุดพีคของเรื่องที่เราเองในฐานะคนอ่านก็คาดไม่ถึง​

แต่ก็นั่นแหล่ะ ถึงตรงนี้คงพอทำให้เข้าใจได้ว่า การก้าวข้ามความสัมพันธ์ในวันที่ไม่มีกัน มันยากยิ่ง แต่สิ่งที่ยากกว่าคือการยอมรับความจริงตรงหน้า และการจัดเรียงความสัมพันธ์ในชีวิตของเราซะใหม่ เพราะเราทุกคนต่างมีส่วนที่เว้าแหว่งเมื่อเรายอมรับความรู้สึกเว้าแหว่งนั้นได้ เราถึงจะไปต่อได้ ความรักก็เช่นกัน

ความทรงจำที่[ถูก]เลือกสรรแล้ว

แม้ในวันเบาๆ แต่อาจเป็นวันที่มีความหมายของใครบางคน ในชั่วชีวิตและลมหายใจของเราทุกคนคงมีเรื่องมากมายที่ถูกฝั่งไว้ในดินแดนแห่งความทรงจำ บางเรื่องงอกงามเกินลืม บางเรื่องคล้ายกับเผือก มัน ที่ค่อยๆ เติบโตใต้ดิน รอวันที่จะมีเหตุการณ์อะไรแปลงร่างกลายเป็นจอบเสียมขุดหัวพืชเหล่านั้นขึ้นมาให้ได้ปวดใจ แต่หนังสือเล่มนี้กำลังบอกเราว่า เราควรเลือกสรรความทรงจำเก็บไว้เท่าที่จำเป็น อย่ากอดและยึดติดกับข้าวของที่เป็นสะพานเชื่อมความทรงจำจนมากเกิน

เมื่อเราต้องสูญเสียคนที่รักไป และอยากจะก้าวผ่าน…

การเคลื่อนไหวคือการมีชีวิตอยู่ การมีชีวิตอยู่คือการเคลื่อนไหว คำพูดในความทรงจำของคาซึกิที่ผุดขึ้นมาในวันที่แม่ของเขาเสียชีวิต​ เป็นคำพูดที่ช่วยพยุงให้คาซึกิซึ่งตอนนั้นยังเป็นหนุ่มน้อย ดึงเขาให้ผุดขึ้นมาจากหลุมดำแห่งความเสียใจ และมองการเคลื่อนไหวรอบตัว จนได้พบกับความทรงจำใหม่ เป็นเรื่องราวของเด็กสาวอุ้มหมาตากฝน เด็กสาวที่สุดท้ายกลายเป็นคนรักและความทรงจำในวาระสุดท้ายของคาซึกิ

แม้เป็นเพียงการจากลาในช่วงเวลาสั้น ๆ หรือการจากกันชั่วนิรันดร์ในห่วงเวลาอันยาวนาน การวางความรู้สึกและเว้นระยะของปัจจุบันกับความสัมพันธ์ คงไม่ใช่เรื่องง่าย เพียงแต่หนังสือเล่มนี้กำลังชวนเรา กลับไปนั่งจัดการและจัดวางตัวเองในความสัมพันธ์ใหม่ ในวันที่องค์ประกอบรอบตัวเปลี่ยนแปลง

เราเลือกหยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาเล่าให้ฟัง ในช่วงเริ่มต้นเดือนแห่งความรัก เพราะตระหนักรู้ดีว่า ทุกความสัมพันธ์ไม่ได้ Landing จบลงตรงความสวยงามเพียงอย่างเดียว อย่างน้อย ๆก็เชื่อว่าบางตัวอักษรจากงานของเราจะช่วยปลอบประโลมผู้อ่านบางท่านที่กำลังจับจ้องความเหงา และหากเป็นเช่นนั้น บทสนทนาของป๊าและสาวนักปีนเขาในบทที่ 3 คงช่วยประคับประคองใจของผู้อ่านได้

สาวนักปีนเขา : ฉันบอกว่าเขาตายไป ฉันโกหกแบบนั้นได้ยังไง
ป๊า   : แต่เขาหายวับไปต่อหน้าต่อตาเราใช่ไหมครับ ถ้าอย่างนั้นก็เหมือนตายจากกันไปนั่นแหละ
ป๊า   : ก็แบบนั้นแหละครับ
สาวนักปีนเขา : งั้นถือว่าตายไปแล้วก็แล้วกัน ฉันหมายถึงผู้ชายที่ทิ้งฉันค่ะ

จากส่วนเรกของหนังสือซึ่งเล่าถึงรอยยิ้มที่หายไปของเพื่อนบ้านสาวอดีตแอร์โฮสเตส หรือเรื่องราวการวิ่งหนีสุดชีวิตของยามะเกิร์ล สาวหนักไต่เขาที่พยายามหนีบางส่วนของชีวิตแต่สุดท้ายพบว่าเขาตายจากเธอไปตั้งนานแล้ว รวมทั้งมุมชีวิตของชายหนุ่มที่คิดว่าการแต่งงานคือความสำเร็จ และการผจญภัยระหว่างวัยของเด็กหนุ่มร่างสูงที่ฝันจะมีเซ็กซ์ในรถสักครั้ง ผู้อ่านจะตีความอย่างไรต่อเรื่องสั้นทั้งหมดเป็นเรื่องที่ชวนอยากรู้

แต่เชื่อว่า เมื่อหยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา คุณอาจเผลอลืมเวลาปัจจุบันไปชั่วขณะ แต่เมื่อทอดสายตาสู่อักษรตัวสุดท้าย คุณอาจพบความจริงที่ว่า ความสุขของวันนี้อยู่ตรงนี้ ตอนนี้ มันเรียบง่ายแค่นี้เอง เราคงไม่อาจบันทึกทุกความทรงจำในวันที่จากลา แต่เชื่อเถอะว่าท้ายที่สุดเราสามารถคัดเลือกความทรงจำอันล้ำค่าที่สุดไว้ในห้องแห่งความลับของตัวเราเอง มันอาจยึดโยงด้วยสิ่งของ สถานที่ หรือใด ๆ บนโลกใบนี้ และเมื่อเราหวนคิดถึง หรือมองมันทุกครั้ง การจากลาก็ไม่ใช่เรื่องน่าเศร้าอีกต่อไป

ขอบคุณที่ทำให้ฉันได้สำรวจความเว้าแหว่งในตัวเอง และค้นพบว่าการจากลาไม่ได้มีเพียงความเศร้า ขนมปังของวันพรุ่งนี้ แกงกะหรี่ของเมื่อวานนี้ Last Night’s Curry , Tomorrow’s Bread อิศเรศ ทองปัส แปล

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน) ขึ้นไว้บนเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี