ลดความรุนแรงก่อนคุยสันติภาพ ? - Decode
Reading Time: < 1 minute

ขยายประเด็น

นวลน้อย ธรรมเสถียร

การพูดคุยสันติภาพหนหลังสุดระหว่างรัฐบาลและกลุ่มบีอาร์เอ็นเมื่อ 11-12 มกราคมที่ผ่านมาดูเหมือนจะมีความคืบหน้าที่น่าสนใจ ถ้อยแถลงของทุกฝ่ายบ่งชี้ว่าการพูดคุยสันติภาพหรือสันติสุขนี้กำลังจะเข้าสู่ขั้นตอนสำคัญ นั่นคือจะเริ่มคุยกันในเรื่องของเนื้อหาที่จะนำไปสู่การคลี่คลายความขัดแย้ง ทั้งนี้หลังจากที่ใช้เวลากับการสร้างความไว้ใจระหว่างคนร่วมโต๊ะพูดคุยมาพักใหญ่ บวกกับความแน่นิ่งอันเป็นผลกระทบจากภาวะการระบาดของโควิดที่ทำให้กระบวนการแช่แข็งไปหลายเดือน

สองประเด็นใหญ่ที่ทั้งสองฝ่ายบอกว่าจะมีการศึกษาเพื่อกำหนดวิธีการนำเข้าสู่การพูดคุยก็คือเรื่องของการลดความรุนแรงกับเรื่องของการแสวงหาทางออกทางการเมือง

ถ้าดูตามกระบวนการของการพูดคุยสันติภาพบางแห่งเราจะพบว่า การก้าวไปสู่การเจรจาอย่างจริงจังมักจะเริ่มต้นที่การยุติความรุนแรงด้วยการประกาศหยุดยิงร่วมกัน แล้วจึงเริ่มเจรจาในเรื่องเนื้อหาหรือที่เรียกว่าสารัตถะ ถือว่าเป็นการเข้าสู่กระบวนการต่อรองกันทางการเมืองอย่างเป็นทางการ ที่ผ่านมากระบวนการพูดคุยสันติภาพของไทยกับขบวนการในสามจังหวัดภาคใต้ก็เคยมีการแตะในเรื่องของการลดความรุนแรงกันมาบ้างแล้ว กล่าวคือในช่วงของการพูดคุยกันภายใต้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีการตกลงให้สองฝ่ายลดความรุนแรงในช่วงเดือนรอมฎอนหรือเดือนถือศีลอดของปี 2556 อันถือเป็นการทดสอบเจตนารมณ์ทางการเมืองในขณะเดียวกันก็เป็นการทดสอบ “ความสามารถในการสั่งการ” ของคนร่วมโต๊ะพูดคุยฝ่ายขบวนการไปด้วยในตัวว่ากุมฝ่ายปฏิบัติการได้หรือไม่ ซึ่งในสายตาของหลายคนประการหลังมีความสำคัญเป็นอันดับแรกด้วยซ้ำ เพราะปราศจากความสามารถในการควบคุมการปฏิบัติการก็คงไม่มีใครต้องการร่วมโต๊ะคุยด้วย อย่างไรก็ตาม ในหนนั้นก็มีการละเมิดสิ่งที่ตกลงกันไว้ทำให้การหยุดยิงทำได้ไม่ทะลุเป้า

มาถึงการพูดคุยสันติสุข/สันติภาพในปัจจุบัน ก็มีสถานการณ์ที่เป็นการทดสอบเจตนารมณ์กันไปบ้างแล้ว ในช่วงของการระบาดของโควิดรอบแรก กลุ่มบีอาร์เอ็นได้ประกาศเมื่อเดือนเมษายน 2563 ยุติปฏิบัติการฝ่ายเดียวด้วยเหตุผลด้านมนุษยธรรม คือเพื่อเปิดโอกาสให้ชุมชนได้ร่วมมือกันในการรับมือโรคระบาดอย่างเต็มที่ เป็นการสนองตอบข้อเรียกร้องของเลขาธิการสหประชาชาติที่เสนอให้มีการยุติความรุนแรงทั่วโลกเพื่อให้ประชาคมต่าง ๆ จับมือกันรับมือโรคโควิดอย่างเต็มที่ ในหนนั้นอีกเช่นกันที่ปรากฏว่าการลดความรุนแรงนี้ไม่ได้รับการขานรับแต่อย่างใด ท่ามกลางกระแสวิเคราะห์ว่า บีอาร์เอ็นประกาศเรื่องนี้เจตนาที่แท้จริงเพียงต้องการยกระดับตนเองในทางสากล  อีกด้านเจ้าหน้าที่ยังคงเดินหน้า “บังคับใช้กฎหมาย” ด้วยการปิดล้อมจับกุม เชิญตัว ฯลฯ อย่างไม่หยุดยั้งด้วยเหตุผลว่าต้องการสร้างความสงบ ท้ายที่สุดฝ่ายบีอาร์เอ็นก็ออกมาตอบโต้ ทำให้การประการยุติการใช้ความรุนแรงฝ่ายเดียวนั้นแม้จะเป็นการสร้างโอกาสที่จะสานต่อเพื่อให้มีการลดความรุนแรงลงได้ แต่โอกาสนั้นไม่ได้รับการสานต่อแต่อย่างใด

ในหนล่าสุดนี้ สรุปความจากการแถลงข่าวที่ต่างฝ่ายต่างแถลง ทั้งสองฝ่ายตกลงกันว่าจะลดความรุนแรงเพื่อเป็นการปูทางสู่การพูดคุยในเนื้อหา ในการแถลงของฝ่ายคณะตัวแทนรัฐบาลนำโดยพล.อ.วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าทีมพูดคุยระบุว่า ทั้งสองฝ่ายตกลงกันว่าต่างฝ่ายต่างจะใช้วิธีสมัครใจลดความรุนแรงลงเพื่อสร้างบรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อการพูดคุย พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาค 4 ที่อยู่ร่วมในการแถลงข่าวยืนยันว่าฝ่ายความมั่นคงจะยึดมั่นในแนวทางที่ว่านี้ โดยแม่ทัพภาคสี่ใช้คำว่า เจ้าหน้าที่จะบังคับใช้กฎหมาย “เฉพาะในกรณีที่จำเป็น” เท่านั้น

มีคำถามว่าจะมีการลดความรุนแรงด้วยมาตรการที่ประชาชนสามารถเห็นได้อย่างเป็นรูปธรรมหรือไม่ดังเช่นในความพยายามหนก่อนที่มีข้อตกลงลดความรุนแรงในช่วงเดือนรอมฎอนหรือเดือนถือศีลอด ได้รับคำตอบว่า ในช่วงเดือนถือศีลอดของปีนี้ก็อาจจะมีมาตรการในทำนองคล้ายกับที่เคยมีออกมาอีกครั้ง แต่ผู้แถลงใช้คำว่าอาจจะเท่านั้น

มีข้อเท็จจริงประการหนึ่งที่ดูเหมือนจะยังไม่เป็นที่ยอมรับของฝ่ายเจ้าหน้าที่ นั่นคือเรื่องของการใช้ความรุนแรงในปัจจุบันที่มีแนวโน้มสูงขึ้น เป็นที่เข้าใจกันว่า ทิศทางของความรุนแรงในพื้นที่ในช่วงปีหลัง ๆนั้นลดลง แต่ในระหว่างการระบาดของโควิดคือ สองปีให้หลังนี้มีปรากฎการณ์ใหม่ที่ทำให้ตัวเลขเริ่มขยับขึ้น ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ให้ข้อมูลในเรื่องของตัวเลขความรุนแรงไว้อย่างน่าสนใจว่า ในช่วงสองปีภายใต้การระบาดของโควิด ความรุนแรงในพื้นที่เพิ่มขึ้น สวนทางกับแนวโน้มที่เป็นมาก่อนหน้า แต่ในที่แถลงข่าวของคณะพูดคุยฝ่ายไทย เมื่อมีผู้ส่งคำถามเรื่องแนวโน้มความรุนแรงที่เพิ่มขึ้น แม่ทัพภาคสี่แสดงอาการงุนงงเรื่องตัวเลข ทั้งยังยืนยันว่า ความรุนแรงไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างใด

จากการรวบรวมข้อมูลของสำนักข่าวอิศราพบว่า ในปี 2564 ตั้งแต่เดือนมีนาคมจนถึงปลายปี มีการปิดล้อมและยิงปะทะถึง 11 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิตรวม 22 ราย เหตุการณ์เกิดขึ้นรายเดือนและทุกเดือนตั้งแต่เดือนมีนาคม ยกเว้นเดือน พฤศจิกายนเท่านั้น ในจำนวนเหตุการณ์ทั้งหมด มีผู้ยอมมอบตัวเพียงหนึ่งราย เริ่มต้นปี 2565 เดือนมกราคมนี้ก็มีการปิดล้อมปะทะและมีผู้เสียชีวิตอีก วันที่ 20 มกราคมมีรายการการปิดล้อมและปะทะทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 รายที่สายบุรี ต่อมาวันที่ 28 มกราคมมีรายการการปิดล้อมและปะทะที่ระแงะ นราธิวาส มีผู้เสียชีวิตอีกสอง ทำให้เชื่อกันว่าเหตุการณ์วางระเบิดกว่าสิบจุดในยะลาในวันที่ 28-29 มกราคม คือการ “เอาคืน” ซึ่งถ้าใช่ก็ต้องถือว่าเป็นปฏิบัติการเอาคืนที่รวดเร็วอย่างยิ่ง

อย่างไรก็ตาม ในมิติของความรุนแรง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงปีที่แล้วจนมาถึงต้นปีนี้ถือว่าสวนทางกับแนวโน้มก่อนหน้านั้นที่พูดกันมากว่าความรุนแรงในพื้นที่กำลังลดลง

ผู้รู้ในเรื่องกระบวนการสันติภาพมักจะเตือนเราว่า ในระหว่างที่มีกระบวนการสันติภาพ ความรุนแรงนอกจากจะไม่ลดลงแล้วมักจะเพิ่มขึ้นและ ด้วยเหตุผลหลายประการ เช่นเป็นการแสดงตัวตนเพื่อให้เสียงของตนได้รับความสนใจ ในกรณีของขบวนการ อาจมีการตีความได้ว่า การใช้ความรุนแรงที่ไม่ได้เป็นกรณีของการตอบโต้คือการแสดงพลังเพื่อตอกย้ำข้อเรียกร้องหรือเพิ่มพื้นที่ของกลุ่มตนเองในการพูดคุย ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง การใช้ความรุนแรงก็อาจจะเป็นการบ่งบอกนัยของความต้องการทดทอนกำลังของอีกฝ่ายเพื่อลดน้ำหนักการต่อรองของพวกเขาไปในตัว

กรณีหลังนี้คือข้อสงสัยของหลายฝ่ายต่อการใช้กำลังที่กำลังเกิดขึ้นในระยะหลัง ผู้ติดตามการพูดคุยในพื้นที่รายหนึ่งให้ความเห็นว่า มองอย่างเป็นธรรมทั้งสองฝ่ายต่างใช้ความรุนแรง แต่กลุ่มบีอาร์เอ็นลดเป้าหมายที่เป็น Soft target หรือเป้าหมายที่เป็นพลเรือนลง แต่ก็ยังถือว่าตอบโต้ด้วยความรุนแรง ในฝ่ายเจ้าหน้าที่เอง การปิดล้อมตรวจค้นและการเชิญตัว ฯลฯ พิจารณาเผิน ๆ เหมือนกับว่าเป็นความไม่สอดรับกันระหว่างฝ่ายนโยบายกับฝ่ายปฏิบัติ แต่เอาเข้าจริงสร้างความสงสัยว่า นี่จะเป็นความพยายามลดทอนกำลังของฝ่ายขบวนการเพื่อลดอำนาจต่อรองของพวกเขาบนโต๊ะพูดคุย

แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอันใดก็ตาม ในสภาวะที่มีการพูดคุยสันติภาพ อาการเช่นนี้ส่งผลกระทบแน่นอน ในขณะที่คณะพูดคุยต้องการให้ประชาชนได้เห็นประโยชน์ของการเข้าสู่กระบวนการการพูดคุย ความรุนแรงที่ขยายต่อความรุนแรงเช่นนี้ไม่ทำให้คนทั่วไปรู้สึกถึงประโยชน์ที่จะได้รับ บรรยากาศที่ต้องการจะให้เอื้อต่อการพูดคุยไม่เกิดขึ้นจริง และประเด็นใหญ่คือเรื่องของการบังคับใช้กฎหมายของฝ่ายเจ้าหน้าที่ “สิ่งที่เกิดขึ้นมันขัดกับสิ่งที่พูด มันทำให้กระบวนการสันติภาพไม่น่าเชื่อถือ”

สภาวะของความรุนแรงเช่นนี้เกิดขึ้นในขณะที่มีข้อมูลบางประการของการพูดคุยสันติภาพที่ทำให้คนทั่วไปที่ได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารมองเห็นอาการกระอักกระอ่วนหลายอย่างที่ท้ายที่สุดแล้วสะท้อนภาพความง่อนแง่นของกระบวนการนี้ไปในตัว ไม่ว่าเรื่องราวของปัญหาระหว่างไทยกับผู้อำนวยความสะดวกคือมาเลเซียที่ไม่พอใจกับการที่ไทยหันไปใช้บริการเอ็นจีโอต่างประเทศให้เข้ามาช่วยจัดการดึงให้บีอาร์เอ็นมาคุยกับไทยโดยที่มาเลเซียไม่ล่วงรู้มาก่อน แม้ว่าในระยะหลังจะมีการโอนบทบาทนี้กลับไปให้มาเลเซียก็ตาม ผลพวงของเรื่องนี้จึงทำให้เกิดการกะเก็งกันทั่วไป เมื่อมีการส่งตัวผู้ต้องสงสัยเป็นแนวร่วมสามคนให้กับฝ่ายไทยซึ่งเวลาการส่งตัวกลับเป็นวันที่สองของการพูดคุยสันติภาพทำให้เกิดนัยของการ “ฉีกหน้า” ผู้เข้าร่วมโต๊ะพูดคุยโดยผู้ที่ทำหน้าที่ผู้อำนวยความสะดวกเอง นักวิเคราะห์มองกันว่าเรื่องนี้มีความเป็นไปได้หลายอย่าง ตั้งแต่เป็นเรื่องความผิดพลาดภายในของมาเลเซียที่ไม่ได้มีการประสานงานกันเองไปจนกระทั่งถึงการ “เล่นงาน” กันเองของหน่วยงานเพราะการเมืองภายใน แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ข้อมูลที่ออกมาล้วนแต่ชวนให้ผู้ที่ได้รับรู้ตีความกันไปหลายอย่าง ที่สำคัญ มันแสดงถึงพลังการควบคุมของมาเลเซียที่มีเหนือสมาชิกขบวนการที่อาศัยอยู่ในมาเลเซียและคำถามกับกระบวนการสันติภาพว่าจะออกมาในรูปโฉมที่สะท้อนเจตนาที่แท้จริงของผู้เข้าร่วมหรือไม่

ประการถัดมาอีกเรื่องคือเรื่องของการเข้าสู่กระบวนการพูดคุยหนนี้ของบีอาร์เอ็น ที่มีนักวิเคราะห์อย่างดอน ปาทานเขียนถึงไว้ว่า เกิดขึ้นก่อนที่จะมีการบอกเล่ากับปีกการทหารของกลุ่ม

นอกจากนี้การเข้าสู่โต๊ะพูดคุยหนนี้เป็นไปท่ามกลางความไม่ชัดเจนว่าบีอาร์เอ็นเป็นเอกภาพหรือไม่ว่าเป้าหมายสุดท้ายนั้นกลุ่มต้องการอะไรแน่ เนื่องจากไม่มีการเจรจาสันติภาพใดที่จะนำไปสู่การแยกตัวหรือแยกดินแดนได้ จึงเป็นธรรมดาที่การเข้าร่วมวงพูดคุยจะต้องมีการลดระดับเป้าหมายของขบวนการหรือกลุ่ม แม้ว่าบีอาร์เอ็นจะย้ำว่าการเข้าร่วมการพูดคุยไม่ได้หมายถึงการลดเป้าหมายการต่อสู้ แต่ข้อสงสัยในเรื่องนี้กับความไม่ชัดเจนภายในของบีอาร์เอ็นว่ามีการสื่อสารกันครบถ้วนและเป็นเอกภาพหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องที่ชวนให้ผู้คนวิตกกังวลว่าการพูดคุยหรือการตกลงใดๆกันจะไม่เป็นจริงในทางปฏิบัติ

อันที่จริงแล้ว ในเรื่องของการลดความรุนแรง ยังมีอีกปัจจัยหนึ่งที่น่าจะช่วยได้แต่กลับเป็นปัจจัยที่แน่นิ่ง นั่นคือเรื่องของกระบวนการยุติธรรม

ในการปิดล้อมและยิงปะทะจนมีการเสียชีวิตในแต่ละครั้งนั้น ข่าวมักจะระบุเสมอว่าทุกครั้งเจ้าหน้าที่ใช้ความพยายามอย่างมากในการเกลี้ยกล่อม ทั้งนำผู้นำชุมชน แม้แต่ญาติหรือครอบครัวเพื่อให้ไปช่วยเจรจาให้มอบตัว แต่น้อยรายนักที่จะประสบผล ส่วนใหญ่จะพบว่าพวกเขาสู้จนตาย บางรายมีการสั่งเสียญาติพี่น้องเอาไว้ และหลังจากที่เสียชีวิตก็จะมีการจัดงานและแห่ศพกันชนิดที่สำนักข่าวอิศราใช้คำว่า มีการร้อง “ปาตานีเมอร์เดกอ” หรือเอกราชปาตานี และแน่นอนว่าผู้ตายมักได้รับการทำพิธีศพอย่างชาฮีดหรือวีรบุรุษ

สิ่งที่ไม่ได้รับการกล่าวถึงมากพอคือสาเหตุที่ผู้คนไม่ยอมมอบตัว เรามักได้ยินจากเจ้าหน้าที่เสมอว่า พวกเขาเหล่านั้นไม่มอบตัวเพราะเชื่อว่าการตายในแนวทางเช่นนี้พวกเขาจะได้รับการตอบแทนอย่างมาก แต่อันที่จริงแล้วประเด็นเรื่องการมอบตัวไม่ได้เป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้คนหลายคนที่เดินในแนวนี้

นักสิทธิมนุษยชนที่ทำงานภาคใต้รวมทั้งทนายความคดีความมั่นคงพูดเหมือนกันอย่างหนึ่งก็คือ การที่หลายคนไม่เลือกที่จะมอบตัวเพราะทางเลือกอันนี้ไม่นำไปสู่กระบวนการยุติธรรมที่พวกเขายอมรับได้  นักสิทธิมนุษยชน อับดุลเลาะ เงาะ จากกลุ่มยาซัสหรือเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ (Jasad) พูดถึงประเด็นนี้ว่า การใช้กฎหมายพิเศษเป็นประเด็นสำคัญ “ผมเคยไปฟังผู้พิพากษาคณากร (เพียรชนะ) ตัดสินครั้งหนึ่ง  เขาอ่านคำพิพากษาว่า หลักฐานที่ได้จากกฎหมายพิเศษไม่ใช่หลักฐานที่จะรับฟังได้และเขาตัดสินใจยกฟ้อง” แต่คณากร เพียรชนะอำลาโลกไปด้วยการปลิดชีวิตตัวเองหลังจากที่เขาต้องต่อสู้กับแรงกดดันวงในให้ตัดสินสวนทางกับหลักการที่ตนเองยึดถือ คดีสุดท้ายของเขา คณากรตัดสินยกฟ้องเพราะหลักฐานไม่ดีพอ ในขณะที่แรงกดดันคือให้ลงโทษ ประเด็นที่ความตายของผู้พิพากษาคณากรดันขึ้นมาให้สังคมเห็นถึงความไม่อิสระของกลไกสำคัญของกระบวนการยุติธรรมหรือผู้พิพากษา กลับไม่ปรากฎว่ามีการสานต่อหรือขยายความ เพื่อให้เกิดการจัดการแต่อย่างใด

ผู้ก่ออาชญากรรมควรจะต้องถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและรับโทษ แต่การลงโทษจะต้องถูกคน ด้วยหลักฐานที่ชัดเจน กระบวนการโปร่งใสและการลงโทษได้สัดส่วน กระบวนการยุติธรรมนั้นดำรงอยู่ได้ด้วยความน่าเชื่อถือ ไม่เช่นนั้นคงไม่มีคำพูดที่ว่า ปล่อยคนทำผิดสิบ ดีกว่าลงโทษผู้บริสุทธิ์เพียงคนเดียว เพราะการลงโทษผิดคนหรือกระบวนการไม่ถูกต้องย่อมมีผลทำให้กระบวนการยุติธรรมมัวหมองทั้งขบวน และการติดตามคนทำผิดมาลงโทษต้องกระทำอย่างเสมอหน้า หากมีคนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดมีภาพลักษณ์ว่ามีอำนาจเหนือระบบและได้รับการยกเว้น กระบวนการยุติธรรมนั้นก็ไม่อาจเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาได้ เท่าที่ผู้เขียนได้พูดคุยกับทนายความคดีความมั่นคงในพื้นที่ตลอดจนนักสิทธิ พวกเขาเห็นว่ากระบวนการยุติธรรมที่ไม่เป็นที่เชื่อถือย่อมไม่เป็นทางเลือกที่เป็นจริง และจุดนี้เองกลายเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การปิดล้อมปะทะในสามจังหวัดภาคใต้มักลงเอยด้วยการสู้จนตัวตาย เพราะการมอบตัวอาจหมายถึงการลงเอยด้วยสภาพที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการตัดสินโทษด้วยกระบวนการที่โปร่งใสและตามสัดส่วน แต่อาจหมายถึงชะตากรรมมากกว่านั้นที่พวกเขาเห็นว่าเป็นการลงเอยที่ไร้ศักดิ์ศรี  ในที่นี้ผู้เขียนใช้คำว่า “ส่วนหนึ่ง” มิใช่ทั้งหมด แต่อับดุลเลาะยืนยันว่า การไม่กล้ามอบตัวเป็นสภาพที่เกิดขึ้นกับอีกหลาย ๆ คนที่รู้สึกว่าตัวเองไม่ผิดหรือผิดแต่ไม่มากเท่าที่ถูกสงสัย นี่คือสภาพที่บางคนเห็นว่าไร้ทางออกที่เอื้อต่อการลดความรุนแรง  กระบวนการยุติธรรมที่ได้รับการยอมรับอาจช่วยลดความรุนแรงได้มากกว่านี้

นอกจากนั้นความตายของพวกเขาสร้างทั้งความฮึกเหิมในขณะที่กลายเป็นการบ่มเพาะความเคียดแค้นไปด้วย สภาพเช่นนี้ทำให้ยากที่จะจินตนาการถึงสันติภาพได้ “ผมว่าบรรยากาศมันไม่ให้กับการพูดคุยเลย” อับดุลเลาะว่า เขารู้สึกว่า หนทางที่บีบแคบ การได้เห็นงานศพและความเคียดแค้นในหมู่คนรุ่นใหม่ เป็นสภาพที่ปัญหาความรุนแรงจะวนกลับมาอย่างไม่รู้จบ เขาไม่คิดว่าความรุนแรงจะลดลงและแน่นอนเขาเชื่อว่าจะกระเทือนถึงการพูดคุยด้วย “เมื่อก่อนผมเคยมีความหวังกับกระบวนการพูดคุย ตอนแรก ๆ แต่ตอนนี้ไม่ค่อยมีแล้ว”