ถ้าวันหนึ่งฉันตาย? สิ่งสมมุติในไดอารี่ - Decode
Reading Time: 2 minutes

“ถ้าวันหนึ่งนั้น…ฉันตาย
ความตายจะมีความหมายอย่างไรกัน”

 ประโยคแรกของไดอารี่ของเจจุน โปรยไว้ด้วยคำถาม

ปัจจุบัน

ปัจจุบันเรากำลังอ่านนิยายเกาหลีที่ขายไปกว่า 400,000 เล่ม

แค่พอเห็นชื่อเรื่องก็คิดอยู่นานว่าควรหยิบอ่านในช่วงเวลาไหนของชีวิตดี เพราะแค่ชื่อเรื่องก็เต็มไปด้วยคำถามเชิงลบ ความเศร้า ความหวัง ความกลัว หากจะลองคิดทบทวนเล่น ๆ ตั้งแต่ชื่อเรื่อง ตัวคุณเองรู้สึกอย่างไร ถ้าต้องเปิดหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอ่าน…

นิยายเกาหลีเรื่องนี้ผู้เขียน (อีกยองเฮ)ได้แรงบันดาลใจจากเหตุการณ์จริงของผู้เขียนที่ฟังข่าวการตายของเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่เสียชีวิตอย่างกะทันหัน เธอไม่ได้รู้จักเด็กหนุ่มคนนั้นเป็นการส่วนตัว แต่ความเศร้านั้นคาใจอยู่หลายวันจึงเริ่มต้นเขียนนิยายเรื่องนี้ นี่คือจุดเริ่มต้นของนิยายที่เริ่มต้นจากจุดจบ…

“การตายของเด็กหนุ่มวัย 16 ปี ที่ชื่อ เจจุน ถูกเล่าเรื่องผ่านการใช้ชีวิตของยูมีที่เป็นเพื่อนสนิท หลังจากการตายของเจจุนผ่านไป 2 เดือน แม่ของเจจุนไปพบไดอารี่ของลูกชายที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางมอเตอร์ไซค์ แต่กลับไม่กล้าเปิดอ่าน หน้าแรกของไดอารี่เขียนว่า

ถ้าวันหนึ่งนั้นฉันตาย
ความตายของฉันจะมีความหมายอย่างไรกัน

มันคงสะเทือนใจคนเป็นแม่อย่างมาก…แม่ของเจจุนจึงติดต่อยูมีเพื่อให้ช่วยอ่านไดอารี่เล่มนี้แทน และเรื่องราวต่าง ๆ ที่อยู่ในจิตใจของเจจุนที่ไม่เคยเปิดเผยก็ถูกเปิดเผยให้เพื่อนสนิทได้รับรู้ผ่านทางไดอารี่

หนังสือเล่มนี้ค่อนข้างไปทางหม่นหมอง ความคิดถึง ความระลึกในการใช้ชีวิตอยู่ในแต่ละวัน บรรยากาศของวัยรุ่นที่ควรใช้ชีวิตอย่างสนุกสนาน เนื้อเรื่องจะโฟกัสที่ตัวของยูมี ครอบครัวที่หย่าร้าง แม่มีสามีใหม่ มีน้องชายที่อายุห่างกันเป็นรอบ ต้องย้ายโรงเรียนกลายเป็นคนโดดเดี่ยว เพราะบุคลิกลักษณะนิสัยเข้ากับสังคมใหม่ไม่ค่อยได้ มีเพียงแค่เจจุนที่พยายามเป็นเพื่อนกับยูมี และกลายเป็นเพื่อนสนิทเพียงคนเดียวของยูมี

จากวันแรกที่รู้จักจนถึงวันสุดท้ายที่จากกัน เลยกลายเป็นจุดเริ่มต้นการเรียนรู้จากความตายของเพื่อนสนิทคนหนึ่ง หรือการที่เคยมีคนที่มีส่วนสำคัญในชีวิตหายไป เรื่องนี้เล่าเรื่องผ่านไดอารี่แบบค่อนข้างเรียบง่าย แต่เต็มไปด้วยความหมายของชีวิต

อดีต

อดีตของชีวิตหนึ่งผ่านอีกชีวิตหนึ่ง
“เด็กหนุ่มต้องตายก่อนถึงจะเป็นผู้ชายได้”

ประโยคนี้มาจากเนื้อเพลงของพ่อเลี้ยงของยูมี ที่ทำให้เราเองก็สะดุดกับประโยคนี้มากเหมือนกัน

“…แค่ฆ่าเด็กหนุ่มในตัวลงนายก็เป็นผู้ชายแล้ว” ยูมีบอกกับเจจุน

อ่านแล้วก็นิ่งคิดไปเหมือนกันราวกับว่าเหมือนเราย้อนอดีตมาทบทวนในแต่ละวันที่ก้าวผ่านไป ว่าเราเองก็ค่อย ๆ ฆ่าตัวเองในส่วนที่จะทำให้เราเติบโตขึ้น ความเป็นเด็กถูกแทนที่ด้วยความเป็นเหตุเป็นผลในการดิ้นรนมีชีวิตอยู่ในแต่ละวัน ในทุก ๆ วัน เราต่างเติบโตเป็นผู้ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ และความเจ็บปวดในวัยเด็กที่ไม่เคยจางหายไปอาจจะกลายเป็นแผลเป็น หรือถูกฆาตกรรมทำให้ลืมด้วยกาลเวลาและความทรงจำก็ได้เช่นกัน

ในไดอารี่ของเจจุนบอกว่าเจจุนเริ่มสนุกกับการใช้ชีวิตจากการเล่นเป็นศพ
เขาเลยจะลองมองทุกอย่างผ่านสายตาของคนตายดู จะได้รู้ว่าชีวิตมีคุณค่ามากแค่ไหน

เขาจะแกล้งตายในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ทำให้เขาเข้าใจตัวเองในการใช้ชีวิตอย่างถ่องแท้
แค่คิดว่าตัวเองตาย การไปโรงเรียนก็เป็นเรื่องที่อยากทำขึ้นมาทันที

น้องชายขโมยรองเท้าไปใส่จากที่เคยโกรธ แต่เขาตายไปแล้ว…รองเท้าจะสำคัญได้อย่างไร
และตอนนั้นเขาก็คิดได้ว่า วันสำคัญที่เขาเคยทำมันอย่างส่ง ๆ ไปมีค่ามากแค่ไหน ถ้าหากวันที่เขาตายแล้ว เขาจะย้อนกลับมาทำมันอีกไม่ได้ เลยทำให้ทุกช่วงเวลาชีวิตในช่วงนั้นของเขา ค่อนข้างเป็นไปอย่างการเห็นคุณค่าของการมีชีวิตอยู่ของตัวเอง

เจจุนมีความฝันอยากเป็นเหมือนชาร์ลี แชปลิน

ประโยคหนึ่งในไดอารี่วันครูของเจจุนที่เราเองก็รู้สึกประทับใจ เป็นประโยคที่เขาเขียนให้ครูที่เขาเคารพ ผู้ชื่นชอบแชปลินเหมือนกัน คือประโยคที่แฟรงก์ ฮาร์ริส เขียนถึงแชปลินว่า “คนที่ทำให้ผู้อื่นขำได้น่าเคารพกว่าคนที่ทำให้ผู้อื่นร้องไห้”
อื้มมมมมม เราครุ่นคิดตามอยู่พักใหญ่ มันไม่ง่ายเลยนะที่จะทำให้คนอื่นขำได้ตลอดเวลา ในขณะที่บางทีจิตใจเราอาจจะว้าวุ่นอยู่ 

อนาคต

อนาคตเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ยังมาไม่ถึง และไม่สามารถคาดการณ์ได้
ความตายเป็นเรื่องของอนาคตเพราะหากคุณกำลังอ่านอยู่ถึงตรงนี้แสดงว่าความตายยังมาไม่ถึง

วันหนึ่งทุกคนต้องตายแต่ไม่รู้ว่าเมื่อไร อาจจะตายตอนหกสิบ หรือสิบหกเหมือนเจจุนก็ได้

โดยส่วนตัวเราไม่ค่อยเชื่อโลกหลังความตาย ไม่รู้เหมือนกันว่าตายแล้วไปไหน ส่วนใหญ่จะบอกให้ไปที่ชอบ ๆ แล้วจะไปได้จริง ๆ เหรอ แต่ถ้าตามวิทยาศาสตร์ เมื่อร่างกายตาย วิญญาณเราคือสสาร เป็นพลังงานรูปแบบหนึ่งเท่านั้น แต่ความตายของใครบางคนก็มักทำให้เราหลอกตัวเองอยู่บ่อยครั้ง เพียงเพราะแค่อยากหลุดพ้นจากความเจ็บปวด

“แม่เชื่อเรื่องการกลับชาติมาเกิดไหม” เจจูถาม แม่ตอบว่า “เรื่องนั้นไม่มีจริงหรอก ถ้าตายแล้วทุกอย่างก็จบ ฉะนั้นตอนที่มีชีวิตอยู่ถึงต้องพยายามให้เต็มที่ยังไงล่ะ

 ตอนหนึ่งในนิยายบอกไว้
“ถ้าใจเราไม่ลืม คนคนนั้นก็จะไม่มีวันตายจากไป
เขาจะอยู่ในใจของเราเสมอ…พวกเราสร้างคำโกหกขึ้นมามากมายเพื่อเยียวยาหัวใจตัวเอง”

การต้องอยู่กับการจากลาไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แม้จะเป็นวัยผู้ใหญ่แล้วก็ตาม การที่เราต้องเจอกับการสูญเสียมันเป็นเรื่องยาก แต่การที่เรารับมือกับการสูญเสียนั้นได้ ก็มอบพลังให้กับเราได้มากอีกเช่นกัน

ทุกช่วงตอนในไดอารี่ที่เจจุนบันทึกไว้นั้น เป็นชีวิตที่แสนจะธรรมดา แต่กลับมอบความหมายของชีวิตคืนกลับมาให้ยูมีอีกครั้ง ยูมีตัดสินใจที่จะไปพบแม่ของเจจุนในวันรุ่งขึ้น และมอบไดอารี่เล่มนี้ให้ท่านได้อ่าน แม้บางตอนจะสะเทือนใจคนเป็นแม่ไปบ้าง แต่การยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วอาจจะเป็นการเผชิญสิ่งที่เจ็บปวด แต่ก็จะทำให้ชีวิตดำเนินต่อไปได้โดยไม่มีอะไรติดค้าง แม้กระทั่งเราที่เป็นผู้อ่านนิยายเรื่องนี้เอง การระลึกถึงอดีตในบางเรื่องกลับมีความหมายขึ้นมา ให้ความสำคัญในทุกวินาทีที่ผ่านไป ปัจจุบันของเราอยู่แค่ทุกวินาที เมื่อผ่านวินาทีนั้นไปแล้ววินาทีนั้นก็กลายเป็นเพียงอดีต

นิยายเล่มนี้อาจจะพูดถึงช่วงวัยรุ่นที่ผู้ใหญ่บางคนอาจจะมองเป็นเรื่องไร้สาระในช่วงวัยนั้น แต่เด็กหนุ่มที่ตายก่อนวัยอันควรในวัย 16 ปี น่าจะมีความหมายกับชีวิตของใครบางคนบ้างก็ได้ และเราจะเริ่มทบทวนตัวเองด้วยการบันทึกไดอารี่อีกครั้ง

แด่วัยรุ่นทั้งหลาย
ที่หายไปเหมือนกลีบดอกไม้ปลิดปลิว
ในช่วงวัยที่ยังไม่ควรจากลา

อีกยองเฮ เขียน
วิทิยา จันทร์พันธ์ แปล
Kid Mai Death Awareness Café สถานที่ภาพประกอบบทความ

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน) ขึ้นไว้บนเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี