ออกไปจากโมเดลแพลตฟอร์มกระแสหลัก สู่เศรษฐกิจใหม่ที่เป็นธรรม - Decode
Reading Time: 2 minutes

ก้อนอิฐในมือสามัญชน

ดร.เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร
สถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม

สำหรับคนที่เชื่อมั่นในหลักการเรื่องความเสมอภาคและความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ อาจไม่ต้องใช้เวลามากนักที่จะมองเห็นว่าปัญหาที่คนงานแพลตฟอร์มกำลังประสบในปัจจุบันนี้หยั่งรากลึกและกินความกว้างไปกว่าเรื่องการจ้างงาน แต่เป็นประเด็นของวัฒนธรรมของทุนและการเมืองเรื่องแรงงาน

ที่กล่าวว่าเป็นเรื่องวัฒนธรรม เพราะเกี่ยวข้องกับการสร้างความหมายใหม่ ไม่ว่าเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทและพนักงาน และการสร้างความหมายใหม่ให้กับสิ่งที่เรียกว่า “งาน” ส่วนที่เป็นประเด็นการเมืองของทุน-แรงงาน เพราะการเติบโตของการจ้างงานแบบกิ๊กนั้นกำลังทำลายสัญญาประชาคม (social contract) ของระบบทุนนิยมหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งสิ่งที่เรียกว่างานที่ได้รับค่าจ้างแบบเต็มเวลา (full-time waged work) เป็นกลไกสำคัญสำหรับกลุ่มคนใช้แรงงานเพื่อเป็นกลไกเลื่อนชั้นทางสังคม สัญญาประชาคมที่กำลังถูกฉีกจึงทำให้เกิดผลกระทบในวงกว้างออกไปในสังคมวงกว้าง

จะว่าไปแล้ว โมเดลธุรกิจแพลตฟอร์มยังคงถูกครอบงำจากวัฒนธรรมแบบปัจเจกนิยมของผู้ประกอบการแบบฮีโร่ หรือธุรกิจของผู้ประกอบการที่เก่งกาจสามารถที่สุดจะเป็นผู้ชนะในตลาด ทั้งที่ธุรกิจเกิดจากการทำงานร่วมมือกันของคนจำนวนมาก

เพราะเหตุใด สตาร์ทอัพที่กำลังกำหนดความหมายใหม่ให้กับงาน โดยฉีกสัญญาประชาคมของระบบการจ้างงานแบบเดิมนั้น กลับได้รับคำยกย่องจากสังคมและได้รับการสนับสนุนจากนักลงทุน จนทำให้คุณสมบัติของ “ดิสรัปชั่น” กลายเป็นเกณฑ์ของสตาร์ทอัพที่ดี

อาจเป็นเพราะ “ดิสรัปชั่น” ที่เกิดขึ้นนั้น ยังดิสรัปไม่พอ

เมื่อสตาร์ทอัพแพลตฟอร์มยังคงเติบโตภายใต้โมเดลกระแสหลักที่หลายคนเรียกว่า “ทุนนิยมของผู้ถือหุ้น (shareholder capitalism)” ที่เป้าหมายสูงสุดของบรรษัท ยังคงเป็นการตอบสนองผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นหรือเจ้าของกลุ่มเล็กๆ เป็นสำคัญ ทั้งที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องของธุรกิจประกอบด้วยอีกหลายภาคส่วน ได้แก่ คนงาน ผู้บริโภค และชุมชนรอบข้างที่ได้รับผลกระทบ ท้ายที่สุดแล้ว การเติบโตของสตาร์ทอัพจึงเป็นเพียงการสร้างกำไรให้กับเจ้าของธุรกิจ ผู้ถือหุ้นและนักลงทุน ขณะที่ผลกระทบหรือค่าใช้จ่ายกลับถูกกระจายออกไปให้กับภาคส่วนอื่นๆ

ในสหรัฐฯ คำว่า ทุนนิยมผู้ถือหุ้นกลับเป็นกระแสอีกครั้ง เมื่อถูกกล่าวถึงโดย โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งพูดไว้ในสุนทรพจน์ช่วงหนึ่งระหว่างหาเสียงตอนกลางปีที่ผ่านมาว่าเขาต้องการ “หยุดยุคของทุนนิยมผู้ถือหุ้น (put an end to the era of shareholder capitalism)”  

ถึงแม้ว่าตัวนายไบเดนเอง ในฐานะว่าที่แคนดิเดตในขณะนั้น ไม่ได้เสนอรายละเอียดที่เป็นรูปธรรมอะไรเพิ่มเติมและมีการวิเคราะห์ว่าสาระของนโยบายของนายไบเดนเองยังคงดำเนินไปในทิศทางเดิม และสิ่งที่เขาต้องการเห็นคือ การปรับเปลี่ยนไปสู่ทุนนิยมที่ผู้ถือหุ้นของบรรษัทไม่ได้เป็นผู้มีอิทธิพลมากที่สุดอีกต่อไป ซึ่งสอดคล้องกับข้อเสนอของผู้ลงสมัครเป็นแคนดิเดตอีกคนคือ เอลิซาเบต วอร์เรน ที่เคยประกาศทำสงครามกับ “การครอบงำของผู้ถือหุ้น (shareholder primacy)” ผ่านการเสนอร่าง กฎหมายทุนนิยมที่ถูกตรวจสอบ (Accountable Capitalism Act)

ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ประเด็นเรื่องการครอบงำของผู้ถือหุ้น เป็นประเด็นถกเถียงที่ได้รับความสนใจในวงวิชาการ นโยบายและภาคธุรกิจมากขึ้น ในเชิงหลักการ หลายกลุ่มเห็นพ้องตรงกันกับข้อเสนอให้มีการปรับเปลี่ยนโมเดลของธุรกิจไปสู่ “ทุนนิยมแบบผู้มีส่วนได้เสีย (stakeholder capitalism)” ที่บรรษัทจะต้องรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง รวมทั้งคนงาน ชุมชนและประเทศมากขึ้น

บริษัทแพลตฟอร์มที่เกิดขึ้นใหม่ในรูปแบบสตาร์ทอัพนั้น หลังจากได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนที่ลงทุนในกิจการที่มีความเสี่ยง (venture capital) แล้ว เมื่อเติบโตจนถึงระดับหนึ่ง เส้นทางของสตาร์ทอัพเกือบทั้งหมดอาจจบลง 2 แบบ กล่าวคือ หากไม่ถูกขายกิจการไปให้กับนักลงทุนที่สนับสนุนเงินทุนตั้งแต่ต้น ก็นำกิจการเข้าตลาดหลักทรัพย์ ทั้งสองแนวทางนี้ เดินตามรอยของบรรษัทขนาดใหญ่ตามโมเดลของทุนนิยมผู้ถือหุ้นที่กล่าวมา ภายใต้เงื่อนไขและโครงการของระบบนิเวศธุรกิจของการลงทุนแบบนี้เอง ที่ทำให้สตาร์ทอัพยิ่งตอกย้ำความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นจากทุนนิยมแบบ “ผู้ชนะได้ทั้งหมด (winner take all)”

สำหรับในบริบทของไทย ผมสังเกตว่า หลายครั้งที่ผมเองพยายามจะเปิดบทสนทนาเรื่องธุรกิจแพลตฟอร์มที่เป็นธรรมนั้น ผู้ประกอบการรุ่นใหม่และเจ้าหน้าที่ภาครัฐเอง ไม่สามารถเข้าใจความหมายของความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ ที่ออกไปจากกรอบความคิดของทุนนิยมแบบผู้ชนะได้ทั้งหมด ผมเชื่อว่าการขาดตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมในสังคมไทยทำให้ผู้ประกอบการขาดวิสัยทัศน์ที่จะจินตนาการถึงทางเลือกที่แท้จริงได้ ทำให้ในภาพรวม เรายังคงติดอยู่กับมายาคติที่ตื้นเขินและขาดคำอธิบายรองรับที่ว่า “การแข่งขันเสรีจะทำให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น”

บทความนี้จึงเป็นความพยายามที่จะเริ่มต้นบทสนทนาเรื่องทางเลือกที่เป็นไปได้ เพื่อส่งเสริมความเป็นธรรมให้กับเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม ตั้งแต่ความเข้าใจว่าการแก้ไขปัญหาของโมเดลธุรกิจแพลตฟอร์มอย่างยั่งยืน ไม่สามารถแก้ไขได้ที่ปลายเหตุ แต่ต้องแก้ที่กระบวนทัศน์ (paradigm) เรื่องการกำกับตรวจสอบและความเป็นเจ้าของธุรกิจ ที่สำคัญ ต้องเข้าใจความหมายของความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจว่า เกี่ยวข้องกับ 2 มิติ คือ 1.ความยุติธรรมในการกระจายทรัพยากร (distributive justice) ซึ่งเป็นเรื่องของการจัดสรรผลประโยชน์และกำไรที่เป็นธรรม ที่เน้นผลลัพธ์ กับ 2.ความยุติธรรมในการมีส่วนร่วม (participatory justice) ที่เน้นกระบวนการในการกำกับการดำเนินการ เพื่อสร้างอำนาจให้กับคนงานและผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ  

รู้จักกับสหกรณ์แพลตฟอร์ม (platform cooperatives)

รูปแบบธุรกิจแบบแพลตฟอร์มทางเลือก ที่ผมจะพูดถึงในบทความตอนนี้และต่อเนื่องไปในอนาคต เป็นตัวอย่างของโมเดลธุรกิจที่ไปไกลกว่า “ทุนนิยมแบบผู้มีส่วนได้เสีย” ที่เน้นเพียงเพิ่มการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ เช่น เพิ่มสัดส่วนของพนักงานในคณะกรรมการ แต่เป็นการพลิกกลับสมการให้ผู้มีส่วนได้เสีย โดยเฉพาะคนงาน ชุมชนและผู้บริโภคเข้ามาเป็นแกนกลางของการตัดสินใจของธุรกิจในฐานะเจ้าของธุรกิจ สหกรณ์แพลตฟอร์ม (platform cooperatives)

สหกรณ์แพลตฟอร์มคือ แพลตฟอร์มดิจิตัลที่เกิดขึ้นเพื่อเสนอขายสินค้าหรือบริการ ที่มีคนกลุ่มหนึ่งที่ยึดถือหลักการของการจัดการแบบสหกรณ์เป็นเจ้าของร่วมกัน และร่วมกันกำกับการดำเนินธุรกิจของแพลตฟอร์มดังกล่าว โดยคนกลุ่มนี้อาจเป็นคนงาน ผู้บริโภค หรือชุมชนที่เป็นเจ้าของทรัพยากรที่เกี่ยวข้อง เช่น ที่พักและสาธารณูปโภคของชุมชน หรือในกรณีของ สหกรณ์แพลตฟอร์มส่งอาหาร คนงานส่งอาหารอาจมีกรรมสิทธิ์หรือความเป็นเจ้าของเหนือแพลตฟอร์มดังกล่าว และเป็นผู้กำหนดนโยบายของธุรกิจ ไม่ว่าจะเรื่องค่าตอบแทนของการส่ง ค่าบริการสำหรับลูกค้า สวัสดิการที่คนส่งอาหารควรจะได้รับ ฯลฯ

สหกรณ์แพลตฟอร์มจึงเป็นการนำหลักการพื้นฐานของระบบสหกรณ์ 7 ข้อ ที่เรียกว่าหลักการรอชเดล (Rochdale) มาปรับเข้ากับการจัดการทรัพยากรผ่านแพลตฟอร์มดิจิตัล ซึ่งหลักการดังกล่าว ได้แก่ ระบบสมาชิกที่เปิดกว้างและสมัครใจ, การกำกับโดยสมาชิกแบบประชาธิปไตย, การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของสมาชิก, การพึ่งตนเองและเป็นอิสระ, การให้การศึกษา ฝึกอบรมและให้ข้อมูลกับสมาชิก, ความร่วมมือระหว่างสหกรณ์ และความรับผิดชอบต่อชุมชน ยังคงเป็นหลักการที่ใช้ได้เป็นอย่างดีในปัจจุบัน

แนวคิดของสหกรณ์นั้นมีอายุกว่า 177 ปีแล้ว มีหัวใจอยู่ที่การดำเนินธุรกิจที่เป็นธรรมมากกว่าธุรกิจรูปแบบทั่วไป  และผู้มีส่วนได้เสียทำงานร่วมกันภายใต้หลักการของความยุติธรรม การมีส่วนร่วมตัดสินใจของสมาชิก การจ่ายค่าตอบแทนที่เสมอภาค และการวางแผยร่วมกันของสมาชิกที่เป็นเจ้าของธุรกิจร่วมกัน

สหกรณ์แพลตฟอร์มจึงไปไกลกว่าสหกรณ์แบบดั้งเดิม ในเรื่องสิทธิของคนงานหรือชุมชนในการเข้าถึงแพลตฟอร์ม และสิทธิในการกำกับและมีส่วนร่วมจัดการทรัยากรบนแพลตฟอร์ม

ขบวนการสหกรณ์แพลตฟอร์มนั้น ได้รับแรงบันดาลใจจากแนวคิดและการขับเคลื่อนเรื่องโอเพ่นซอร์ซ (open source) ที่เชื่อเรื่องสิทธิของทุกคนที่จะสามารถเข้าถึง ออกแบบ และดัดแปลงซอฟทแวร์หรือโค้ดของโปรแกรม โดยไม่ถูกปิดกั้นและตกอยู่ในสภาวะพึ่งพิง ที่มีสิทธิเพียงการบริโภคและเพียงจ่ายค่าบริการตามที่เจ้าของแพลตฟอร์มมีอำนาจเป็นผู้กำหนดเพียงฝ่ายเดียว พูดอีกอย่างก็คือ สหกรณ์แพลตฟอร์มเป็นมากกว่าเครื่องมือ แต่กำลังเสนอกฎเกณฑ์ กระบวนการและความสัมพันธ์ที่เป็นประชาธิปไตยในการจัดสรรทรัพยากร รวมทั้งประชาธิปไตยในสถานประกอบการ

ในปัจจุบัน มีกลุ่มขององค์กรในประเทศต่างๆ ทั่วโลก เช่น สหรัฐฯ อังกฤษ และหลายประเทศในยุโรป รวมทั้งในเอเชียเอง ที่เข้าร่วมขบวนการของสหกรณ์แพลตฟอร์มในนามของ Platform Cooperative Consortium

ในทางปฏิบัติ สหกรณ์แพลตฟอร์มเป็นร่มใหญ่ของโมเดลสหกรณ์แพลตฟอร์มหลากหลายรูปแบบ และมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไป ทั้งนี้ รูปแบบของสหกรณ์ที่เราพบเห็นจากตัวอย่างจริง ได้แก่

จะเห็นว่าสหกรณ์แพลตฟอร์มเป็นรูปแบบธุรกิจที่มีความหลากหลาย แต่มุ่งเน้นในจุดหมายเดียวกัน คือ การมีส่วนร่วมที่แท้จริงของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง, จริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ, การให้ค่าตอบแทนที่เป็นธรรมให้คนทำงาน ในรูปของค่าตอบแทนที่สามารถดำรงชีพได้ และความรับผิดชอบต่อผลกระทบของธุรกิจต่อชุมชน

ในที่นี้ ขออนุญาตหยิบกรณีตัวอย่างของอัพแอนด์โก มาอธิบายเพิ่มเติมว่า “ค่าตอบแทนที่เป็นธรรม” ในความหมายของสหกรณ์นี้ ไม่ใช่แค่ค่าตอบแทนที่กฎหมายกำหนด หรือค่าตอบแทนที่ผู้บริหารแพลตฟอร์มจัดให้ เพราะความใจดี แต่ไม่ยั่งยืนเพราะเกิดจากการตัดสินใจของผู้บริหารเพียงฝ่ายเดียว แต่หมายถึงค่าตอบแทนที่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี เพราะพวกเขาควรมีเวลาเหลือที่จะพักผ่อนหรือศึกษาหาความรู้ในสิ่งที่ตนเองต้องการ

ในปลายปี 2562 ผมเองมีโอกาสเข้าร่วมงานประชุม Platform Cooperative Consortium ที่จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัย
นิวสคูล ในเมืองนิวยอร์คซิตึ้ ทำให้ได้มีโอกาสรู้จักกับสหกรณ์ต่างๆ ที่ได้ยกตัวอย่างขึ้นมาเหล่านี้ ผมเองประทับใจสหกรณ์อัพแอนด์โกเป็นพิเศษ เพราะทำให้ผมเข้าใจว่ารูปแบบธุรกิจที่มีคนทำงานเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริงนั้น ต้องมีนโยบายและเงื่อนไขของการทำงานที่เกิดจากการกำหนดร่วมกันของคนทำงานเอง

วิสัยทัศน์ของผู้ก่อตั้งสหกรณ์อัพแอนด์โกนั้น  คือ การทำความสะอาดเป็นทั้งทักษะและงานที่ควรได้รับการเคารพ ซึ่งคนทำงานควรที่จะสามารถสร้างมูลค่าให้กับตัวเองได้ ดังนั้น หน้าที่ของสังคมก็คือ ต้องสนับสนุนให้พวกเขาได้ใช้ทักษะที่มี เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาตัวเอง โดยการส่งเสริมให้เกิดความเป็นเจ้าของและสิทธิในการบริหารแพลตฟอร์ม ผ่านการสนับสนุนเงินทุน องค์ความรู้และนโยบายสาธารณะที่เอื้อต่อการพัฒนาในระยะยาว

ผมเชื่อว่าจินตนาการถึงทางเลือกเป็นเรื่องยาก เพราะจินตนาการถูกกำกับจากประสบการณ์ ในตอนหน้า ผมจะนำตัวอย่างของสหกรณ์แพลตฟอร์มเหล่านี้มาขยายความให้เห็นรายละเอียดชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ผู้อ่านได้ข้ามพ้นวิกฤตของจินตนาการ ร่วมกันส่งเสริมให้แนวคิดและหลักการที่ดีเหล่านี้แปรเปลี่ยนเป็นรูปธรรมขึ้นมา