ในความรัก เราอาจเป็นนักคิดก็ดี นักพูดก็ดี…แต่ไม่เคยรู้อะไรดี - Decode
Reading Time: 2 minutes

ในหมู่เพื่อนฝูง…

ไม่ว่าคุณหรือผมเวลาพูดถึง ‘ความรัก’ เราต่างได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกัน เพื่อให้เพื่อนที่เผชิญอยู่ได้ตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรต่อไปดี

คำแนะนำจากปากของเพื่อน ๆ ในวงสนทนา ราวกับว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ ชุดความคิดไหนล่ะ ? ที่น่าเชื่อถือควรแค่แก่การยืนยันนอนยัน บ้างอาจจะเจอซ้ำ ๆ หรือจำมาจากจอหนัง แม้แต่ตำราในโรงเรียนก็ไม่ได้สอน มิหนำซ้ำทางบ้านยังแทบไม่มีพื้นที่พูดคุยเรื่องนี้นอกจากเรื่องเงินทองและปากท้อง

ในขณะที่ตัวเองต้องเผชิญกับความรักบ้าง กลับคิดซ้ำย้ำทวนวกวนจนหาทางออกไม่ได้ คำแนะนำที่เคยพรั่งพรูก็หดเล็กลงเหลือเพียงแค่หางอึ่งที่ไม่อาจประยุกต์ใช้ได้เลย

ชีวิตของผมในวัยยี่สิบต้น ๆ พบว่าเรื่องราวที่ทำความเข้าใจยาก และคนพูดถึงกันมากเรื่องหนึ่งเลยก็คือ How to move on เมื่อชีวิตเดินทางมาถึง ‘เหตุการณ์’ ที่ความรู้สึกไม่ทันตั้งตัวเหมือนรถแหกโค้งจากวันคืน ‘เราสอง’ เคียงข้าง หลุดกระเด็นออกจากหน้าต่างเหลือเพียง ‘หนึ่ง’ กับน้ำตาข้างเคียง ตามมาด้วยความเจ็บปวดแสนสาหัส ทนทุกข์ทรมานเป็นรอยร้าวฝังลึกในจิตใจ…แม้แต่ตัวผมเองก็เคยผ่านช่วงเวลาแบบนั้นเช่นกัน

ไม่นานมานี้ที่ผมประสบอุบัติเหตุ จึงมีเวลาว่างพอที่จะหยิบจับหนังสือขึ้นมาเปิดอ่านสักเล่มระหว่างพักฟื้นอยู่ในห้อง เพื่อทบทวนเรื่องคั่งค้างในใจ แล้วพบกับประโยคบางตอนในบทสุดท้าย ที่ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายท้ายสุดของชีวิต  ให้คำอธิบายเข้าใจง่าย ๆ เกี่ยวกับอาการเหล่านี้ไว้ว่า…

ความรักก็จะเป็นเพียงประสบการณ์เฉพาะของแต่ละคน เป็นความทรงจำที่ประกอบขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของตัวเรา การก้าวข้ามความเจ็บปวด จึงไม่เคยมีสูตรสำเร็จ หรือยาครอบจักรวาลที่ใช้รักษาเยียวยาได้อย่างเบ็ดเสร็จ เราไม่สามารถห้ามไม่ให้เราทุกข์ทรมานจากความรักได้ สิ่งที่เราทำคือการแลเห็นว่า ความเจ็บปวดเป็นส่วนหนึ่งของความรัก เพราะรักเราจึงต้องเจ็บปวด ร้องไห้ นึกโทษว่าตัวเองหรือคนอื่น หากถึงที่สุดแล้ว เราก็ต้องมีชีวิตอยู่ต่อไป

ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย…ในช่วงเวลาชีวิตที่ตกอยู่ในห้วงความรู้สึกแบบนี้

ทำให้ผมนึกย้อนถึงเรื่องของเด็กสองคน เขาทั้งสองจับมือเดินทางเดียวกันในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านของชีวิต เพราะพวกเขาต่างเผชิญปัญหารอบตัวคล้าย ๆ กัน ไม่ว่าเรื่องเรียน เรื่องเพื่อนรอบข้าง เรื่องครอบครัว  และเรื่องของความฝันที่มองปลายทางเดียวกันในการเรียนต่อมหาวิทยาลัย

พวกเขาจึงเลือกที่จะใช้เวลาร่วมกันจนเข็มสั้นของนาฬิกาหมุนเกือบครบสองรอบ ตั้งแต่ตื่นนอน กินมื้อเช้า ห่างกันตอนเข้าเรียน ตกเย็นเรียนพิเศษ หาข้าวกินมื้อเย็น แล้วก็เข้าหอพักผ่อนนอน กลายเป็นความผูกพันที่ไม่ได้ตั้งตัว

ความผูกพัน ที่หยอกล้อกันอยู่ตลอด
ความผูกพัน ที่ทำให้ตัวติดสนิทกันกลม
ความผูกพัน ที่ทำให้การกินข้าวแต่ละมื้อต้องรอกินพร้อมกัน
ความผูกพัน ที่ในที่สุดแล้วแปรเปลี่ยนเป็น…ความหึงหวง

ขณะที่มือของเด็กคนหนึ่งจับด้วยแรงเท่าเดิม แต่เด็กอีกคนกลับจับมือด้วยแรงที่แน่นกว่าเพราะกลัวการจากไป โดยไม่เคยคิดเลยว่ามือที่จับอยู่มีความหมายมากแค่ไหน…และไม่ทันได้ตั้งตัว เมื่อวันหนึ่งมือนั้นต้องปล่อยออก ด้วยความอึดอัดทนไม่ไหวจากมือที่บีบแน่นเกิน

จนมาถึง…วันที่สายลมแห่งความเปลี่ยวเหงาพัดเข้ามาจนกายหนาวเหน็บ
วันที่สายฝนแห่งความเศร้าตกลงมาในใจจนเปียกชื้น
วันที่ต้องเผชิญกับความเจ็บปวดจนรู้สึกว่ายืนไม่ไหว
วันที่เด็กคนหนึ่งต้องหลงทาง และเด็กคนหนึ่งเขาเลือกเดินทางที่สบายใจกว่า

ความรู้สึกเศร้าหมองของเรื่องเด็กทั้งสอง มันยังไม่จางหายไปในหัวของผม ทำให้ผมมองกลับมาพลิกอ่านหนังสือทำความเข้าใจในบทที่ 16 How To Move On เพราะไปต่อไม่ไหว ฉันจึงต้องไปต่อ โดยผู้เขียนหนังสือยกตำราบางส่วนที่เขามองว่าเป็นการรับมือกับความผิดหวังได้อย่างแยบยลมาบอกเล่าในบทนี้ คือ Ethics ของบารุค สปิโนซา (Baruch Spinoza) นักคิดชาวยิวจากศตวรรษที่ 17 ที่มองว่ารักแบบมนุษย์นั้นคือความเสี่ยง เพราะไม่สามารถกำหนดหรือควบคุมได้ สปิโนซามองว่า สิ่งมีชีวิต (และสิ่งไม่มีชีวิต) ต่างก็มีแรงพยายามหรือพลังที่จะรักษาการคงอยู่ ชีวิตจึงไม่ใช่แค่การมีลมหายใจ แต่คือการดิ้นรนเพื่อมีชีวิต เหมือนการเดินต่อไปข้างหน้า ซึ่งต้องการแรงส่งเกื้อหนุนตลอด

ปรัชญาของสปิโนซามองเห็น ‘ชีวิต’ สำคัญกว่า ‘ความตาย’ สิ่งใดที่มายับยั้งหรือขัดขวางกระบวนการมีชีวิต นั่นคือสิ่งที่ต้องปฏิเสธ โดยมนุษย์ผูกพันกับอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งความรักเป็นหนึ่งในนั้น แต่ความรักของมนุษย์สามารถแปรเปลี่ยนเป็นความทุกข์ ความเจ็บปวด หรือที่เขาเรียกว่า sad passion ซึ่งเป็นอุปสรรคของการมีชีวิตอยู่

ในอีกมุมมองของนักทฤษฎีอย่างมิเกล เดอ อูนามูโน (Miguel de Unamuno) นักปรัชญาชาวบาสก์ เขามองตรงกับสปิโนซาว่าความรักเป็นส่วนหนึ่งของการมีชีวิต แต่เขาเรียกว่า ความรักทางเพศ (sexual love) โดยเป็นลักษณะทั่วไปของสิ่งมีชีวิตเพื่อสืบทอดเผ่าพันธุ์ และเขาเห็นเพิ่มเติมว่ามนุษย์ได้สร้างความรักอีกรูปแบบขึ้นมาจากความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน นั่นคือ ความรักเชิงจิตวิญญาณ (spiritual love) จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อความรักทางเพศตายลงไปแล้ว

ความรักทางเพศ เป็นการรวมกาย-แบ่งแยกจิตวิญญาณ แต่ความรักเชิงจิตวิญญาณกลับตรงกันข้าม เมื่อเราพยายามเข้าใจอีกฝ่ายจนสามารถซึมซับความทุกข์มาไว้ที่ตัวเรา ทำให้จิตวิญญาณผสานเอาความเจ็บปวดมาด้วย ความรักในมุมของอูนาโนจึงไม่ใช่แค่ความสุข แต่หมายถึงการรับรู้ความเจ็บปวดของคนที่เรารัก ความเจ็บปวดจึงเป็นเรื่องที่ไม่สามารถปฏิเสธหรือขจัดออกไปจากความรัก

เมื่อความรักสิ้นสุด…จึงไม่ใช่แค่ความสัมพันธ์ที่พังทลายยังหมายถึงตัวตนที่เปลี่ยนแปลงด้วย ตั้งแต่วันแรกที่ก้าวเข้าไปยังดินแดนของคนแปลกหน้า จนวันสุดท้ายของกันและกันที่กลายเป็นเพียงคนรู้จัก บทนี้ผู้เขียนตอบคำถามผ่านการศึกษาตัวบทวรรณกรรม ตำรับตำราตั้งแต่ยุคโบราณ ยุคแห่งศาสนา ยุคสมัยใหม่ จวบจบมุมมองทฤษฎีความรักใหม่ ๆ ในโลกปัจจุบัน และแน่นอนว่า ความพยายามครั้งนี้เป็นข้อเสนอทางทฤษฎีหรือการทำความเข้าใจสภาวการณ์ที่เกิดขึ้น

เรื่องราวของเด็กทั้งสองยังคงวิ่งเล่นอยู่ในหัวผม เสียงของพวกเขายังคงหัวเราะเฮฮาในวันที่ยังอยู่ด้วยกัน
นั่นแหละครับ เด็กคนหนึ่งคงเป็นตัวผมที่ยังคงอยู่ด้วยไม่ไปไหน เพราะความรู้สึกผิด แต่ผมก็ไม่รู้ว่าเขาไปนั่งหลบมุมอยู่ตรงไหน เป็นความพยายามหลายครั้งที่ผมค้นหาเพื่อบอกตัวเขาว่า…ที่ผ่านมา ไม่เป็นไร ก็เพราะเรายังเด็ก

การได้หยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาได้ทำให้ผมเข้าใจที่มาของความรักหลายอย่าง นอกจากเรื่องของ How to move on แล้ว การเดินต่อไปข้างหน้าได้จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องจัดการกับความทรงจำ มิเช่นนั้นมันอาจตามหลอกหลอน พัวพันรอบกายเราอยู่เสมอ

การพยายามลบเลือนหรือสร้างความทรงจำใหม่ จึงเป็นหนทางที่สามารถให้คนหนึ่งคน อาจมูฟออนหลุดออกจากวงกลมได้ ดังที่ผู้เขียนกล่าวต่อไปในบทที่ 13 (ความรักกับความทรงจำ:ถิ่นที่อยู่ของความทรงจำ)

ภาพจำที่ยังค้างคาเหมือนม้วนฟิล์มที่ฉายภาพซ้ำไปซ้ำมาวนเวียนเปลี่ยนผ่านวันแล้ววันเล่า กลายเป็นจุดเล็ก ๆ ส่วนหนึ่งของอดีตที่เป็นภาพความทรงจำในสมอง ซึ่งก็มีนักปรัชญานามว่า อ็องรี แบร์กซง (Henri Bergson) ให้คำอธิบายไว้ในงานเขียน Matter and Memory

สำหรับแบร์ซง สมองจึงเป็นเสมือนเครื่องมือกักเก็บความทรงจำ ทั้งที่ควรลืมไปตั้งนานแล้ว แต่กลับเรียกคืนมาได้ โดยภาพที่หวนนึกถึงซ้ำไปซ้ำมาคือจุดเล็ก ๆ ที่เรียกว่า ‘ความทรงจำบริสุทธิ์’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำในอดีตที่ดำรงอยู่ใน ‘กาลเวลา’ ที่เราแต่ละคนมี และส่งผลต่อวิธีคิด รวมถึงมุมมองที่มีต่อโลกของตัวเราเอง

แล้วเรื่องราวความเจ็บปวดจากความรักของเด็กคนนั้น มันจะมีโอกาสหายไปหรือบรรเทาอย่างไรได้บ้างล่ะ ?

ฮันนาห์ อาเรนดต์ นักคิดหญิงชาวยิว-เยอรมัน มองว่า การให้อภัยคือคุณลักษณะสำคัญ (และตัวผมก็ขอย้ำว่าว่าสำคัญมากแบบกอไก่ล้านตัว) สามารถเปลี่ยนจากคำว่า ‘มันต้องเป็นเช่นนี้’ ให้เป็น ‘ฉันต้องการให้มันเป็นเช่นนี้’ เพราะฉะนั้นการให้อภัยคือการเขียนอดีตขึ้นมาใหม่

และผู้เขียนหนังสือก็มองว่า มันอาจไม่ทำให้เราลืมทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ก็ทำให้เราสามารถมีชีวิตต่อไป และปลดปล่อยตัวเราจากอดีตอันเลวร้าย

ในหนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนอ้างอิงแง่มุมจากนักทฤษฎีหลายท่านมาบอกกล่าว ซึ่งเป็นแว่นจากต่างมุม ต่างสังคม ต่างช่วงเวลาที่กลายบทเรียนในตำรา ถูกถอดรหัสเพื่อทำให้เห็นว่า สิ่งที่รู้เป็นแค่กรอบอธิบายหนึ่งของความรัก และไม่ตัดสินแทนเรื่องราวของผู้อื่น แต่คำตอบไม่มีความตายตัวว่า ต้องเป็นบทสรุปของทุกคน เพียงแค่ขยับขยายมุมมองและสร้างข้อสังเกตเพิ่มเติมให้ผู้อ่าน

จากวันนั้น เมื่อผมมองย้อนกลับไป แทบไม่มีพื้นที่ให้ความสุขและเสียงหัวเราะ นั่นไม่ใช่เรื่องที่ดีเลย เพราะมันเต็มไปด้วยความโศกเศร้า เหมือนมีเมฆฝนมัวหมองปกคลุมจิตใจ บ้างก็รู้สึกว่างเปล่า จนมาถึงวันนี้ ทำให้ผมรู้ว่า ผมยังไม่รู้จักความรักที่ดีพอ แต่ก็พยายามเรียนรู้ที่จะรักตัวเองมากกว่าวันที่ผ่านมา 

เมื่อผมอ่านหนังสือเล่มนี้จบแล้ว ทำให้เข้าใจได้ว่า เราไม่จำเป็นต้องตามหาเด็กคนนั้นในอดีต เพียงแค่ปล่อยให้เขาวิ่งเล่นต่อไป แต่เลือกนึกถึงแค่ช่วงเวลาที่เด็กคนนั้นมีรอยยิ้มก็พอ ไม่อย่างนั้นในความรักผมก็คงเป็นได้แค่นักทฤษฎีและนักปฏิบัติผู้พ่ายแพ้อีกคน

ขอขอบคุณหนังสือ In theories ในความรัก เราต่างเป็นนักทฤษฎี ที่รวบรวม 16 บทความถอดทฤษฎีโดย โย-กิตติพล สรัคคานนท์ นักเขียนเจ้าของผลงาน ศิลปะของความผิดหวัง และ ผจญภัยตามใครเลือก