ทุนนิยมสีน้ำเงิน ทะเลสาบน้ำตาสีดำ - Decode
Reading Time: 2 minutes

มันเป็นบ่ายวันธรรมดา ๆ ของการมองเห็น…

ภาพซ้อนภาพตามเวลาในแนวดิ่ง ไม่ใช่ระนาบ

ระหว่าง ยิหวาและเบธ ฮาร์มอน

ระหว่าง ฟลามิงโกสีดำและรุกฆาตสามตาเดิน

ระหว่าง โรงเรียนเด็กกำพร้าและป่าดึกดำบรรพ์

ระหว่าง โลกสีน้ำเงินของการตื่นกับโลกสีดำของการหลับ ปรากฏและเกิดขึ้นในเวลาของการกักตัวในอาณานิคม 29 ตารางเมตรย่านประชาชื่น งุนงงยุ่งเหยิงและพบว่า การมองเห็นในหนึ่งหลับเมื่อครู่ถูกนำเข้าด้วย ประโยคของความคิด มวลสารของความฝัน อาการตกค้างจากความทรงจำ เป็นวัตถุดิบที่รับใช้ Dream Production ของฉันให้ผลิตออกมาในรูปนามของความฝันทั้งที่ยังตื่น


โลกทรงเหลี่ยม 64 ช่องของการตื่นกับโลกทรงกลมของการหลับ

ไม่มีเวลาอื่น นอกจากเวลานี้ เวลากลับไม่ใช่สิ่งที่ต่อเนื่อง แต่เป็นหน่วยสัมพันธภาพที่อยู่ในแนวตั้งจากบนลงล่าง มีห้วงขณะและเหตุการณ์ซ้อนทับกันเป็นชั้น ๆ เหมือนอาการจอสั่นภาพซ้อนของไอโฟน 7 ไม่ต่างจากโลก(โควิด)ที่ยุ่งเหยิง แบ่งแยก

ปรากฏและเกิดขึ้นในเวลาเดียวกันหลังดูซีรีส์ The Queen’s Gambit  เรื่องราวของ ‘เบธ’ เด็กกำพร้าวัย 9 ขวบที่สูญเสียแม่จากอุบัติเหตุทางรถยนต์ ทำให้เธอต้องอาศัยบ้านเด็กกำพร้าและได้รู้จักกับโลกใบใหม่ที่เต็มไปด้วยกฎระเบียบ ศาสนา และยากล่อมประสาทสู่วงการหมากรุกในยุค 50-60’s ที่หมากรุกยังเป็นเกมสำหรับผู้ชาย

“กระดานหมากเป็นโลกทั้งใบที่ถูกย่อส่วนให้เหลือ 64 ช่องที่ฉันควบคุมมันได้ และเดาทางได้” วรรคทองของเบธที่ทำให้ฉันเห็นอีกด้านหนึ่งของการมีชีวิตอยู่เพื่อเสรีภาพในการปกครองตัวเอง

เพราะชีวิตจริงไม่ได้ดีเหมือนฝัน โลกทั้งใบของเบธ จึงชัดเจนกับการควบคุมกระดาน 64 ช่องให้เป็นไปตามต้องการ แต่กลับพล่าเลือนเมื่อมองเห็น “แม่” ในความคิด ความฝัน และความจริง ชีวิตที่รุ่งโรจน์ของเบธจึงเคลื่อนที่ไปด้วยอัตราเร่งของการเติบโตในรูปของการแข่งขันที่ยากขึ้น และการปกครองตัวเองในโลกของการตื่น และโลกของการหลับที่ซับซ้อน สับสน และวนซ้ำ

เพราะสำหรับเด็กบางคนการเติบโตก็ไม่ได้ทำให้เจ็บปวดน้อยลง


โลกสีน้ำเงินของการตื่นกับโลกสีดำของการหลับ

ปรากฏและเกิดขึ้นในเวลาที่ตกตะกอนความคิดจากการอ่านหนังสือ “ทะเลสาบน้ำตา” ผลงานลำดับที่ 3 ของพี่แหม่ม วีรพร นิติประภา ออกตัวไว้ก่อนว่า ที่ฉันเลือกหยิบยกสองตัวละครนี้มาเล่าเรื่องและตีความใหม่ไม่ใช่เพราะรับรสและได้กลิ่นเด็กกำพร้าของเบธ และยิหวา (ตัวละครเอกในทะเลสาบน้ำตา)หรอก แต่เพราะเธอต่างถูกสาปให้แปลกแยกนับแต่วันที่แม่หนีไป

มันเป็นบ่ายวันธรรมดาๆ

ภาพตรอกมอซอในเย็นวันที่แม่หนีออกจากบ้าน

ซ้อนลอยขึ้นเหนือฉากหลังของป่าดึกดำบรรพ์ตรงหน้า

ฟลามิงโกที่หายไป หางปลากัดที่แหวกว่ายในอากาศ

ดูเหมือนว่าทุกอย่างพล่าเลือนละลายไปเหมือนภาพสีน้ำ 148 x 210 มม.ที่ฉันวาดมันจากสีอะคริลิคผสมลายเส้น ฝัน…มันเป็นฝันของเด็กวัยสิบสอง และสิบสามตามลำดับ

เด็กหญิง เริ่มรู้ตัวว่า มีน้ำตาเอ่อล้น ผุดลุกผุดนั่งทั้ง ๆ ที่ยังไม่ตื่นดี งุนงงกระพริบตาไล่ความฝันอันยุ่งเหยิง

เด็กชาย อีกคนยืนอยู่ข้าง ๆ ดิ่งจมไปในดวงตาที่เห็นแม่ ในลมหนึ่งกรรโชกก่อนจะสำเหนียกว่า แม่ที่เห็นเป็นแค่เงาสะท้อนตัวเองบนผิวครอบแก้ว ความทรงจำผุดย้ำไม่ทันตั้งตัวฉุดเด็กกำพร้าทั้งสองคนขึ้นจากภวังค์ กลับเข้าสู่โลกของความจริงและความทรงจำที่กระท่อนกระแท่น บนร่องรอยของจดหมายน้อยที่ทิ้งไว้

“รออยู่นี่นะหวา อย่าไปไหนทั้งนั้น ฉันจะไปตามหาความรัก…เดี๋ยวมา”

แม่เขียนทิ้งไว้ในกระดาษห้วนสั้นไร้อารมณ์  มันต้องเป็นความรักแบบไหน ถึงทิ้งกันไปแบบนี้ น่าจะเป็นคำถามที่ถามแทนคนอ่านได้ตรงใจที่สุด ไม่นับความแยบยลในการร้อยรอยต่ออันบอบบางระหว่างหลับและตื่นของเด็กที่ทำตัวเองหายไป

ทุกตัวอักษรของพี่แหม่มมีอิทธิพลต่อฉันในการได้ยิน ได้กลิ่น และได้มองเห็น


ฉากหน้าคือแม่ทิ้ง ฉากหลังคือเมืองกระจกที่แม่หนีไปที่นั่น !

ตีความ ถอดรื้อความหมายของ “เมืองกระจกในสภาพโรคระบาด” และความเจ็บปวดของเด็กที่ทำตัวเองหายไปจาก สำหรับฉันตีความ “เมืองกระจก” เป็นภาพตัวแทนของ “สังคมทุนนิยม” สังเกตจากคำบอกเล่าของคุณยายไลลา ตัวละครในเรื่องบอกเล่าถึงลักษณะอย่างหนึ่งของเมืองกระจกว่า อยู่ในสภาพของโรคระบาด

“โรคลืมเลือน คนที่นั่นพากันลืมว่าตัวเองมีอะไร มีแล้วก็หาซื้อใหม่อีก ซื้อของอย่างเดิมซ้ำ ๆ กันหลาย ๆ ชิ้น เอาแต่เร่งรีบ ไม่มีเวลาคิดอะไร พวกเขาคิดว่าเวลาของเขามีราคาแพง แต่เวลาของคนอื่นอย่างพวกเรา ๆ น่ะเขาตีราคาถูกจะตาย” ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับที่ยิหวาจินตนาการว่า มันน่าจะเป็นเมืองที่สวยงาม จึงไม่เคยเข้าใจว่า ทำไมแม่จึงอยากไปอยู่ที่นั่น ดูภายนอกอาจเป็นน้ำเสียงของความสงสัย แต่รับรู้ได้ถึงแรงสั่นไหวภายในความโดดเดี่ยว เงียบหาย

คิดเล่น ๆ ว่า ถ้าเบธกับยิหวามาเจอกันในวัยสิบสาม จะคุยกันเรื่องอะไร…

ความโดดเดี่ยวกับความทรงจำที่เกี่ยวกับ “แม่” อาจเป็นหนึ่งในบทสนทนานั้น

ถ้าการลืมเลือน อยู่ขั้วตรงข้ามกับ ความทรงจำ ทุนนิยมมีราคาที่ต้องจ่ายสักกี่มากน้อย…

สำหรับฉันแล้ว อาการลืมเลือน เป็นอันตรายต่อมนุษย์ เป็นผลไม้พิษสำหรับคนที่หิวกระหาย ขัดแย้งกับความฝัน ผลักไสให้เราไม่ลงรอยกับความทรงจำ มาถึงตรงนี้พอจะเข้าใจเบธและยิหวาว่า ทำไมถึงยินยอมให้อยู่ใต้อาณัติของความทรงจำที่ง่อนแง่นคลอนแคลน

เช่นเดียวกับเราที่อกหักจากทุนนิยมจมดิ่งกระจัดกระจายไปคนละทิศละทาง ผลิตซ้ำ แยกห่าง ต่างกันเพียงแค่…คุณและฉันไม่ยินยอมรับสภาพนี้


โลกสีน้ำเงินของทุนนิยม ทะเลน้ำตาของคนจมน้ำ

อาจเป็นหายนะจากการจมน้ำ…

ผลพวงจากคลื่นลมมรสุมโควิด เรือทุนนิยมกำลังอับปางกลางมหาสมุทรเกินกว่าจะคาดคะเนความกว้าง ลึก และซับซ้อน แต่เดาได้ไม่ยากว่า ผู้คนบนเรือจะโกลาหลขนาดไหนก่อนที่เรือจะค่อย ๆ ดิ่งจม ตามมาด้วยอาการแทรกซ้อนจากการจมน้ำทะเลเป็นเวลานาน ถ้าเป็นไปตามการคาดการณ์ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)ว่า วิกฤตโควิด-19 จะส่งผลต่อเนื่องยาวนานจนทำให้สถานการณ์ความยากจนเลวร้ายยิ่งขึ้น ซึ่งอาจจะมากกว่าหรือเท่ากับโลกสีน้ำเงิน ใน “ทะเลสาบน้ำตา” ที่ใช้สีน้ำเงินเป็นเส้นแบ่งความจริงออกจากความฝัน  หรือมากไปกว่านั้นอาจเป็นเส้นแบ่งคนรวยกับคนจน

สร้างสภาวะแปลกแยกจากระบบที่สัญญากับประชาชนว่า จะมีความสุขและประสบความสำเร็จในชีวิต แต่เมื่อมองไปรอบ ๆ ตัว ก็จะพบ ครอบครัวแตกแยก แม่ทิ้ง โอกาสเป็นของคนที่มีความสามารถพิเศษ และหวังว่าทุนนิยมจะมีแต่เรื่องโชคดี ยิ่งรัฐเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมการแข่งขันมากขึ้น ยิ่งดูเหมือนคนกลุ่มเดียวที่ได้ประโยชน์ไปเต็ม ๆ จากเสรีภาพที่เพิ่มขึ้น ขณะที่รายย่อย และประชาชนคนธรรมดา กลับมีเสรีภาพลดลง โดยเฉพาะเสรีภาพในการรับรู้ และเสรีภาพในการแข่งขันที่เป็นธรรม ใต้คลื่นลมของทุนนิยมสีน้ำเงินพัดแรง และพาเราไปไกลจากที่เดิม

ดูเหมือนว่า ยิ่งไกลเท่าไหร่ ยิ่งแปลกแยก และลืมเลือน

ปลุกปลอบตัวเองด้วยความฝัน โอบกอดความพยายาม ปางตาย แทบสูญสิ้นความเป็นมนุษย์

เมื่อไม่มีอะไรจะเสีย ฉันจึงดูแคลนการยอมจำนนต่อเสรีภาพที่ปราศจากโอกาส