ยูโทเปียของคาร์ล มาร์กซ์ - Decode
Reading Time: 3 minutes

“พี่เองก็อยากรวย แต่พี่กำลังคิดว่าจะรวยและสบายยังไงโดยที่ไม่เบียดเบียนคนอื่น แต่เอาเข้าจริง…ลองจินตนาการตามพี่ดูนะ เราไม่ต้องดิ้นรนอะไรเลย ถ้าทุกคนถูกแจกและจัดสรรทุกอย่างให้เท่ากัน ไม่มีใครที่รวยกว่าใคร ทุกคนได้ทุกอย่างเท่ากัน เราจะไม่มีความรู้สึกแบบนี้เลย เราไม่จำเป็นต้องคิดเรื่องพวกนี้เลย”

นั่นเป็นคำพูดของเราเอง ที่พูดกับน้องสาว อาจดูเพ้อฝัน โลกสวย และเป็นสิ่งที่ไม่รู้จะเกิดขึ้นจริงได้หรือไม่
เราไม่ได้เกิดมาบนความรวย ชะตาเลือกให้เงินตราเป็นสิ่งที่สำคัญของชีวิต ความต้องการครอบครองเงินตรามหาศาลเป็นเรื่องที่ไม่ผิด แต่มันจะมีทางออกสำหรับทุกคนที่ดีกว่านี้ไหม ? นั่นก็เหมือนการตั้งสมมติฐาน
แต่แนวคิดเหล่านี้เอง เราได้รับอิทธิพลมาเต็ม ๆ จากหนังสือเล่มหนึ่ง…

“เมื่อมาร์กซ์คืนชีพ : Marx in Soho” หนังสือเล่มบาง ๆ แต่เราใช้เวลาอ่านซ้ำถึง 2 รอบ พลิกไปพลิกมาทุกหน้ากระดาษ และอ่านซ้ำวนไปมา เพื่อให้เราสามารถตีความตัวหนังสือระหว่างบรรทัดได้
และไม่ง่ายเลยกับเวลาอันน้อยนิดที่จะตีความแนวคิดของ คาร์ล มาร์กซ์ ที่ตัวเขาเองก็ใช้เวลาทั้งชีวิตตกผลึก

ถึงจุดนี้เรายอมรับว่า เราไม่ได้เชี่ยวชาญกับแนวคิดเรื่อง ระบบทุนนิยม สังคมนิยม หรือ คอมมิวนิสต์ มากนัก ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ต่อแนวคิดพวกนี้ยังอยู่ในระดับ ‘ผู้สมัครเล่น’ แต่เราเริ่มเข้าใจความคิดของมาร์กซ์มากขึ้น หลังจากเล็งเห็นความจริงที่ปรากฎขึ้นในโลกปัจจุบัน กับสิ่งที่สะท้อนออกมาจากบทละครในหนังสือเล่มนี้

ก่อนจะไปต่อเรื่อง คำทำนายของคาร์ล มาร์กซ์ หรือ การวิพากษ์วิจารณ์ระบบทุนนิยมอย่างเผ็ดร้อนผ่านบทละครพูดคนเดียว แบบเดี่ยวไมโครโฟน เราขอเกริ่นที่มาที่ไปของหนังสือเล่มนี้เพื่อให้เกียรติผู้แต่งและผู้แปลสักหน่อย “เมื่อมาร์กซ์คืนชีพ : Marx in Soho” แต่งโดย Howard Zinn หรือ โฮวาร์ด ซินน์ นักประวัติศาสตร์ที่ชีวิตพัดพาจากเด็กซ่อมเรือ สู่อาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัยและนักเขียนบทละคร และ แปลไทย โดยชายหนุ่มแว่นแดง เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

หนังสือได้แรงบันดาลใจมาจากความจริงบนข้อเขียนและชีวิตของมาร์กซ์ต่อการวิพากษ์ระบบทุนนิยม จนเห็นรูปร่างหน้าตาของสังคมนิยมตามแนวคิดของเขาชัดเจนขึ้น พร้อมกันนี้แรงบันดาลใจส่วนหนึ่งก็มาจากชีวิตของ Howard Zinn เอง

ซินน์…เห็นพ่อของเขาทำงานหนักแทบตาย แต่รายได้กลับแทบไม่พอจุนเจือภรรยาและลูก
ซินน์…เห็นแม่ทำงานทุกวัน ทั้งเช้า – เย็น เพื่อให้แน่ใจว่าลูกอิ่มท้อง มีเสื้อผ้าใส่
และได้รับการดูแลรักษาเมื่อมีโรคภัยไข้เจ็บ
ซินน์…เห็นพ่อและแม่ต้องมีชีวิตที่ต่อสู้ดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดไม่จบสิ้น ในขณะที่…
มีคนในชาติเก็บสะสมความร่ำรวยได้จนน่าทึ่ง โดยที่พวกเขาไม่ได้ทำงานหนักเท่าพ่อแม่ของเขา
ซินน์ มองว่า…ระบบนี้ที่ไม่ยุติธรรม ระบบที่ไม่มี ‘มนุษย์’ อยู่ในนั้นเลย
ระบบที่คนรอบตัวเขาตกระกำลำบาก โดยที่พวกเขาไม่ได้ทำผิดอะไร
ระบบที่เมื่อไม่มีค่าเช่าห้อง ข้าวของเครื่องใช้จะถูกเจ้าของที่โยนออกมาไว้ที่ถนน โดยมีกฎหมายสนับสนุนให้ทำ

อาจเป็นแรงบันดาลใจที่กลั่นออกมาจากความเจ็บปวด แต่ทั้งหมดทั้งมวลมันได้ส่งพลังให้ Howard Zinn บรรเลงจุดกำเนิดบทละคร “เมื่อมาร์กซ์คืนชีพ” ขึ้นในวันที่โซเวียตล่มสลาย

เรื่องเริ่มจากผู้แต่งเสกให้มาร์กซ์ตัวแทนแนวคิดสังคมนิยม ผู้พกอารมณ์โกรธเพื่อปาใส่ระบบทุนนิยมตลอดเวลา ปรากฎตัวขึ้นอีกครั้งที่ใจกลางเมืองนิวยอร์ก ย่านโซโห ย่านที่เป็นภาพตัวอย่างของทุนนิยมแบบสุดขั้ว ศูนย์รวมของร้านค้าและแบรนด์ชื่อดัง แตกต่างกันลิบลับกับ ย่านโซโห ในลอนดอน ที่มาร์กซ์จากมาเมื่อ 150 ปีที่แล้ว

(บทละคร: เมื่อมาร์กคืนชีพ Marx in Soho: A Play on History)

“ผมมีชื่อเสียงว่าเป็นตัวป่วน พวกเขาบอกผมว่า เราให้คุณไป คุณสามารถพูดแสดงความในใจออกมาได้ภายในเวลา 1 ชั่วโมง แต่จำเอาไว้ อย่าสร้างความปั่นป่วนเชียว พวกเขาเชื่อในเสรีภาพในการแสดงออก…แต่มีข้อจำกัด” มาร์กซ์ยิ้มก่อนจะพูดต่อว่า “พวกเขา คือ เสรีนิยม”

มาร์กซ์ตื่นมาก็สร้างเรื่อง เขาพ่นถ้อยคำที่ประชดประชันพอ ๆ กับความท้าทายในท้ายประโยค เขาคิดว่า เสรีนิยมเชื่อในเสรีภาพ เปิดโอกาสให้ทำได้ แต่ภายใต้ข้อจำกัด นี่อาจเป็นจุดตัดที่หนึ่งที่ไม่อยู่ใน Check List ของสังคมนิยมตามจินตนาการในแบบฉบับของ คาร์ล มาร์กซ์

มาร์กซ์ เล่าว่า ระบบสังคมในตอนที่เขายังมีชีวิตอยู่ไม่ได้ให้เสรีภาพกับเขามากพอที่จะทำให้เขาพ้นจากการเป็นตัวอันตราย และถึงแม้เขาจะเป็นทั้งนักคิด นักทฤษฎี เป็นพ่อ เป็นสามี และเป็นสหาย แต่มาร์กซ์ก็เป็น ‘นักปฏิวัติ’
ด้วยความเชื่อที่ว่า…

“การปฏิวัติที่ดีที่สุดที่คน ๆ หนึ่งจะมีส่วนได้ก็คือ…การพูดความจริง”

ความเชื่อทำให้เขาทำสิ่งที่อันตรายด้วยการเขียนบทบรรณาธิการต่อต้านการจับกุมของตำรวจในไรน์แลนด์
ตำรวจที่จับ ‘คนจน’ ที่มารวมกันผิงไฟในที่ทรัพย์สินของ ‘คนรวย’
จนหนังสือพิมพ์ของเขาถูกเซนเซอร์ จากนั้นเขาจึงเขียนแถลงบรรณาธิการอีกฉบับว่า…
“ไม่มีเสรีภาพในการพิมพ์ที่แท้จริงในเยอรมนี” ก่อนที่พวกเขาจะพิสูจน์ว่ามาร์กซ์พูดความจริงด้วยการปิดหนังสือพิมพ์นั้นซะ หนังสือพิมพ์จบลงด้วยการพาดหัวครั้งสุดท้ายที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า ประท้วง! นั่นคือ บทบาทนักปฏิวัติครั้งสุดท้ายในไรน์แลนด์ ก่อนที่เวลาในเยอรมนีของมาร์กซ์จะถูกบังคับให้หมดลง
ใช่! เขาถูกขับไล่ ก่อนจะลี้ภัยไป ปารีส เบลเยี่ยม และลอนดอน

ไม่รู้ว่ามาร์กซ์วาดภาพโลกสังคมนิยมในจินตนาการของเขาเป็นแบบไหน
แต่จากเรื่องราวข้างต้นเราเข้าใจได้ว่า ไม่ว่าโลกจะขับเคลื่อนด้วยระบบทุนนิยม สังคมนิยมเทียม หรือ คอมมิวนิสต์แท้
แต่ระบบในตอนนั้นไม่ได้ให้ค่ากับคำว่า ‘เสรีภาพ’ อย่างแท้จริง การพูดความจริงเป็นสิ่งที่อันตราย คนจนมีค่าเท่ากับศูนย์ ระบบที่วัตถุถูกยกย่องให้มีค่ามากกว่าความเป็นมนุษย์
ระบบที่คนไม่เท่ากัน ระบบที่ผลประโยชน์ของเราถูกแบ่ง ถูกจัดสรร ระบบที่เราทุกคนเรียกกันว่า…’ทุนนิยม

“ผมเดินกลับบ้านผ่านถนนที่มืดมิด ฟังเสียงคนขายของป่าวประกาศราคาสินค้า และเหล่าผู้ผ่านสงครามครีเมียน บางคนตาบอด บางคนไม่มีขา ขอเศษเงินสักเพนนีในอากาศที่คละคลุ้งฝุ่น…กลิ่นของคนจนในลอนดอน”

คือ ภาพความเหลื่อมล้ำของโลกตอนที่มาร์กซ์ยังอยู่ที่โซโห ลอนดอน ซึ่งก็จริงถ้าหลายคนอาจจะบอกว่านั่นมันภาพความทรงจำของเขาเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว

“ผมเดินผ่านถนนในเมืองของคุณ มันรายล้อมไปด้วยขยะ อากาศเน่า ๆ มีผู้ชายผู้หญิงนอนเกลื่อนอยู่ที่ทางเท้า หดตัวสู้ความหนาว แทนที่ผมจะได้ยินเสียงร้องขับลำเนาของเด็กหญิง แต่ผมกลับได้ยิน เสียงเศร้า ๆ พอมี เศษเงินไหมขอรับท่าน ขอกินชาหรือกาแฟสักแก้วเถิด”

ในทุก ๆ ปีมีคนไร้บ้านหน้าใหม่เกิดขึ้น มีชนชั้นกลางที่หล่นต่ำลงจากคลาสเดิมของตัวเอง ยังไม่ต้องพูดถึงปริมาณของคนจนที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นในทุก ๆ ปี
แล้วมันต่างกันตรงไหน ? จากร้อยปีที่แล้ว จนถึงวันนี้ กับสิ่งที่มาร์กซ์เจอ แต่เรายังมีโอกาสได้เห็น

มาถึงจุดนี้ เรามีคำถามที่อยากถามทุกคนหน่อยว่า โลกที่เราอยู่นี้เป็นอย่างไร
อะไรกำลังเกิดขึ้น และอะไรกำลังถูกกลืนกิน ?
ถ้าคำถามดูกว้างและนามธรรมไป เราจะขอถามใหม่ว่า…โลกที่เราอยู่นี้กำลังขับเคลื่อนด้วยระบบอะไรกัน ?
ไม่ว่าโลกจะถูกพาให้เดินไปข้างหน้าด้วยระบบอะไร แต่มาร์กซ์กล้าพูดกับเราอย่างเต็มปากว่า ที่ผ่านมา “โลกไม่ได้ก้าวหน้าขึ้นเลย”

“คุณเรียกว่านี่ก้าวหน้า เพราะมีรถติดเครื่องยนต์ โทรศัพท์ เครื่องบิน และน้ำหอมอีกพันชนิดที่ทำให้กลิ่นตัวคุณหอมขึ้นเหรอ ในขณะที่มีคนกำลังนอนอยู่บนถนนเนี่ยนะ”

ในบทละครมาร์กซ์สนับสนุนคำพูดตัวเองด้วยการหยิบยกรายงานทางการขึ้นมาอ้างอิงถึง ค่า GDP หรือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมของอเมริกา

“ปีที่แล้ว 7 ล้านล้านดอลลาร์ช่างน่าประทับใจที่สุดเลย แต่บอกผมหน่อยเถอะว่า มันอยู่ที่ไหนกัน ใครได้กำไรจากสิ่งนี้ ใครไม่ได้ ? มีคนน้อยกว่า 500 คนเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางธุรกิจรวมกันกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ คนเหล่านี้ประเสริฐกว่า ทำงานหนักกว่า มีคุณค่ากับสังคมมากกว่าแม่ที่อยู่ในห้องเช่า เลี้ยงลูก 3 คนในฤดูหนาว โดยไม่มีเงินสักแดงเพื่อซื้อแก๊สผิงไฟใช่ไหม”

ถ้าไม่สนเรื่องสำนึกด้านมนุษยธรรมที่มาร์กซ์กำลังสร้าง ถ้าเราวัดกันที่ตัวเลขและข้อมูลตามที่เขาอ้างมา เราเห็นความเป็นจริงที่เชื่อมโยงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในไทยไหม
เชื่อว่าหลายคนคงคุ้นหู กับคำว่า “รวยกระจุก จนกระจาย” (ยิ้ม)

ผลการวิจัยของ Credit Suisse เผยว่า ปี 2018 คนไทย 1 เปอร์เซ็นต์ ครอบครองความมั่งคั่งทางทรัพย์สินมากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศ ไม่ได้ครึ่งแบบเป๊ะ ๆ แต่เกินครึ่งขึ้นมาอีก อยู่ที่ 66.9 เปอร์เซ็นต์ และมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นด้วย ความเหลื่อมล้ำระดับสาหัสจากระบบทุนนิยม

นี่คือ สิ่งที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน การปกป้องทรัพย์สินเอกชนเป็นสิ่งสำคัญกว่าการปกป้องชีวิตมนุษย์
จนศาลสูงสุดตัดสินในศตวรรษที่ 19 ตอนปลายว่า ให้บริษัทมีค่าเท่ากับการเป็น “บุคคล” ในยุคที่มาร์กซ์เรียกว่า “ลัทธิบูชาพาณิชย์” ในยุคที่รัฐบาลไม่ทำอะไรเลยให้กับประชาชน แต่ทำทุกอย่างให้คนรวย

ยิ่ง COVID-19 ยิ่งเห็นได้ชัด ว่าคำพูดของมาร์กซ์ได้พิสูจน์ตัวเองแล้ว
ตลาดสดที่จ้างแรงงานฐานล่างจำนวนมากถูกทยอยปิด ผู้ประกอบการรายเล็กและลูกจ้างเรียงแถวกันตกงาน
ในขณะที่แสงไฟร้านสะดวกซื้อและห้างสรรพสินค้ายังเปิดสว่าง 24 ชั่วโมง
อำนาจของระบบที่ทำให้คนส่วนใหญ่ต้องตาย เพื่อให้คนส่วนน้อยหายใจได้นานที่สุด ดั่งคำพูดของมาร์กซ์เมื่อ 150 ปีที่แล้ว

“ไม่ใช่ผมเหรอที่พูดเมื่อ 150 ปีที่แล้ว ว่าทุนนิยมจะเพิ่มความมั่งคั่งอย่างมหาศาลแก่สังคม แต่มันจะตกไปอยู่ในมือของกลุ่มคนจำนวนน้อยลงเรื่อย ๆ”

แรงงานผลิตสินค้าได้มากขึ้น แต่ค่าแรงกลับต่ำลงเรื่อยๆ นี่ก็เป็นความจริงอีก
มาร์กซ์บอกว่า ‘ชาติ’ ในลักษณะนี้ไม่ได้แค่ขโมยความมั่งคั่งของคนในประเทศตัวเอง แต่ได้ดูดกลืนทรัพย์สมบัติความมั่งคั่งของคนส่วนที่เหลืออยู่ในโลกด้วย
ยิ่งการเปิดตลาดการค้าเสรี ที่เป็นเหมือนใบเบิกทางให้กฎุมพีมีสิทธิ์วิ่งไปรอบโลกได้ เปิดทางให้เหล่านายทุนตั้งรกราก วางไข่ ขยายสาขา ทั้งในพื้นที่ร้าง และไม่สนว่าท้องถิ่นเก่าจะสามารถพึ่งตัวเองได้ต่อให้ไม่มีทุนนิยม
สนธิสัญญาการค้าเสรีก็เกิดขึ้นตามมาเพื่อทำลายข้อจำกัดการเคลื่อนย้ายทุน เสมือนหนังสือเดินทางในระบบทุนนิยมที่ให้เฉพาะนักลงทุนได้มีสิทธิกดขี่คนทุกหนแห่ง และทั้งหมดนี้นำไปสู่สงครามชนชั้นโดยแท้

การกดขี่และการต่อสู้ทางชนชั้นไม่ได้ปรากฎขึ้นใหม่ในประวัติศาสตร์ แต่ระบบทุนนิยมได้พามาถึงจุดที่แหลมคมและเด่นชัดที่สุด นั่นแหละ…ทุนนิยม

ระบบทุนนิยมกำลัง Disrupt เผ่าพันธุ์มนุษย์หรือเปล่า ?
คุก อาชญากรรม ความจน ยาเสพติด สงคราม ผู้ลี้ภัย รัฐ เขตแดน
ล้วนเป็นสิ่งทำลายเผ่าพันธุ์มนุษย์ทั้งสิ้น
แผ่นดินเป็นของคนรวย และคุกมีไว้สำหรับคนจน
ระบบทุนนิยมผลักให้คนกลายเป็นอาชญากร…

“ในอเมริกา คนของคุณ คุกของคุณมีคนแน่นขนัด ใครอยู่ในนั้นน่ะหรือ คือ พวกคนจนไงล่ะ บางคนอาจจะทำอาญชากรรมรุนแรงและสร้างปัญหามาก คนส่วนใหญ่มาที่นี่เป็นขโมย โจร พวกปล้น และคนขายยา เพราะพวกเขาเชื่อในธุรกิจเสรี พวกเขาทำสิ่งที่นายทุนทำเพียงแต่ทำในระดับที่เล็กกว่า”

อาจจะยัง งง ๆ ว่าแล้วพวกคนจนกับคุกนี่เกี่ยวอะไรกับการอุบัติใหม่ของทุนนิยมเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว ซึ่งมาร์กซ์ได้ยกตัวอย่างที่มีอยู่จริงเอาไว้

“ประชาชนมากถึงแสนคนเรียงแถวก่อนรุ่งสางในนครนิวยอร์กเพื่อรองานที่ว่างเพียง 2,000 ตำแหน่ง แล้วอะไรจะเกิดขึ้นกับอีก 98,000 คนที่ต้องกลับไป เพราะเหตุนี้ใช่ไหมพวกคุณถึงได้สร้างคุกขึ้นมา?”

เชื่อว่าทุกคนคงเห็นภาพชัดขึ้นผ่านคำถามสุดท้ายที่ชำแหละหน้ากากทุนนิยมและเบิกเนตรเราไปแล้ว

มาร์กซ์และสหายสนิทของเขาเขียนถึง ‘คุก’ ว่า… แทนที่จะลงทัณฑ์ปัจเจกบุคคลเพราะอาชญากรรมของเขา เราควรทำลายเงื่อนไขสังคมที่สนับสนุนให้เขาทำแบบนั้น
ด้วยเหตุนี้การสร้างสังคมขึ้นมาใหม่ โดยอาศัยการเป็นกบฎชั่วคราว จะสามารถกู้เผ่าพันธุ์มนุษย์และสังคมที่ไม่ขูดรีดให้กลับมาได้

“เผด็จการชั่วคราวของชนชั้นแรงงาน เป็นการที่มวลชนเข้าไปยึดรัฐและปกครองเพื่อผลประโยชน์ของคนทั้งหมด จนกระทั่งวันหนึ่งรัฐไม่มีความจำเป็นและปลาสนาการไป”

เหมือนที่เคยเกิดขึ้นยุคหนึ่ง ช่วงฤดูหนาว ค.ศ. 1871 ‘คอมมูนปารีส’ ที่มีอายุเพียงไม่กี่เดือน
พลังรวมหมู่ของประชาชนตอนนั้น คือ ตัวอย่างของประชาธิปไตยที่แท้จริงในอุดมคติของมาร์กซ์
สังคมใหม่ที่ผลประโยชน์ของเราล้วนเหมือนกัน
สังคมที่ทั้งศิลปะ วรรณกรรม เพลง ความงามไม่ถูกแปลงเป็นสินค้า
สังคมที่มนุษย์ไม่ได้มีราคาเท่าเงินเดือนแต่ละเดือน
สังคมที่หมอ นักวิทยาศาสตร์ ทนายความ ศิลปิน ไม่ต้องขายตัวเพื่อความอยู่รอด
สังคมที่ประชาชนแบ่งปัน ทุกคนมีชีวิตที่ดีและปลอดภัย โดยไม่จำเป็นต้องมีตำรวจทหาร
สังคมที่รัฐหมดอำนาจ ไร้ซึ่งสงคราม ไร้ซึ่งการแบ่งแยกเขตแดน
สังคมที่ไม่มีธงหรือคำปฏิญาณสวามิภักดิ์ต่อองค์การสมมติที่เรียกกันว่า ‘ชาติ’

คนจะเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ จะเป็นหนึ่งเดียวกับงานของเขา
มีอาหาร ยา อากาศบริสุทธิ์ น้ำดื่มสะอาด ต้นไม้ และใบหญ้า
มีบ้านที่น่าอยู่ กับชั่วโมงทำงานที่มีอยู่บ้าง แต่มีเวลาพักผ่อนหย่อนใจมากขึ้น สังคมที่ไม่ต้องถามว่าใครสมควรได้รับ เพราะเราทุกคนสมควรได้รับสิ่งเหล่านี้ นี่แหละ…หน้าตาของสังคมนิยม!
และเมื่อทุนนิยมแผลงฤทธิ์ ‘มาร์กซ์’ จึงคืนชีพอีกครั้ง

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน) ขึ้นไว้บนเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี