เป็นจั่งใด๋แรงงานอีสานไหลกลับ เปิดแนวรบ ‘ทำแทน’ สตาร์ตอัปลูกผสม หยุดเลือดไหลไว้ที่โคราช - Decode
Reading Time: 3 minutes

“พี่จำได้ว่าตอนนั้นถ่ายรูปไป 2 โหล เพื่อเอาไปสมัครงาน หมดเงินไปหลายร้อย แต่น้องเชื่อไหมว่าพี่ไม่ได้สักที่เลย จนในกระเป๋าเหลือรูปถ่ายแค่รูปเดียว พี่ก็เอารูปนั้นแหละมาสมัครที่ทำแทน วันที่มาสัมภาษณ์พี่ยังลุ้นอยู่เลยว่าถ้าเขาขอสองรูปจะทำยังไงดี”

ประโยคบอกเล่าด้วยคำพูดติดตลกของ น้อย-กมลวรรณ เดชโปรด แม่บ้านฟรีแลนซ์ วัย 41 ปีจากแพลตฟอร์มทำแทน ประโยคไม่สั้นไม่ยาวของน้อยสะท้อนสภาพความเป็นจริงที่แรงงานในวันนี้ต้องเผชิญได้เป็นอย่างดี เมื่อการหางานกลายเป็นสิ่งที่ยากยิ่งกว่าการงมเข็มในมหาสมุทร การได้มีงานทำในยุคโควิด-19 จึงเรียกได้ว่า ไม่ต่างอะไรจากลาภอันประเสริฐ

ด้วยบรรยากาศความทุกข์ใจที่แผ่ไปทั่วทั้งเมืองโคราช ‘ทำแทน’ แพลตฟอร์มบริการจัดหาแม่บ้านและเหล่างานช่างจึงถือกำเนิดขึ้น โดยการนำทีมของ กอล์ฟ-มารุต ชุ่มขุนทด ผู้ก่อตั้งคลาส คาเฟ่ แบรนด์ร้านกาแฟชื่อดังจากภาคอีสาน ที่เพิ่งเอาชนะวิกฤตจากพิษโควิด-19 ไปหมาด ๆ ด้วยโปรเจ็กต์ ‘คลาสพุ่มพวง’ โปรเจ็กต์ที่เปลี่ยนจากการเสิร์ฟกาแฟในแก้วหรูมาสู่กาแฟบรรจุขวด ก่อนจะส่งตรงไปขายถึงหน้าบ้านคุณ มาวันนี้ CEO จาก คลาส คาเฟ่ เปิดตัวแพลตฟอร์มใหม่ที่เขาขอนิยามว่า เป็นแพลตฟอร์มที่จะช่วยเหล่าแรงงานในโคราชให้กลับมามีงานทำอีกครั้งหนึ่ง

เพราะการช่วยคนต้องช่วยเดี๋ยวนั้น สตาร์ตอัปจึงเป็นคำตอบสุดท้าย

“จุดเริ่มต้นของแทนทำมันเริ่มต้นมาจากความคิดง่าย ๆ ที่ว่าทำยังไงถึงจะช่วยคนที่เขาตกงานได้”

กอล์ฟเปิดบทสนทนาด้วยน้ำเสียงสบาย ๆ ก่อนจะพาเราย้อนไปถึงสิ่งที่เขาเห็นในวันนั้น ซึ่งกลายมาเป็นแรงผลักดันสำคัญในการสร้างแพลตฟอร์มทำแทนขึ้นมาในวันนี้

“แรกเริ่มเลยเราแค่อยากจะช่วยน้อง ๆ นักศึกษาที่เคยทำงานพาร์ตไทม์ในคลาสคาเฟ่ให้เขากลับมามีงานทำ บวกกับหนึ่งภาพที่เราจะเห็นทุกครั้งเวลาขับรถกลับมาจากกรุงเทพ คือภาพของรถกระบะที่มีของอยู่เต็มหลังรถ มีทั้งมอเตอร์ไซค์ พัดลม ฟูกที่นอน มีทุกอย่างอะ ภาพนั้นบอกเราได้เลยว่า พวกเขากำลังย้ายถิ่นฐานกลับมาบ้านเพราะไม่มีงานให้ทำ ช่วงนี้เลยมีแรงงานไหลกลับมาโคราชเยอะมาก”

“จากสองเหตุผลที่ว่ามันทำให้เราเกิดความคิดอยากจะช่วย ซึ่งเรามองว่าการจะช่วยคนต้องช่วยเดี๋ยวนั้น ต้องช่วยให้เร็ว ไม่ใช่ต้องรออีก 6 เดือนถึงจะช่วยได้ อย่างนั้นไม่ทัน”

จากการตั้งต้นด้วยความคิดที่จะช่วยแบบทันที กอล์ฟเริ่มมองหาโมเดลธุรกิจที่จะสามารถตอบโจทย์สิ่งที่เขาวางไว้ เขาค้นพบว่าโมเดลธุรกิจแบบสตาร์ตอัปคือคำตอบที่เขาตามหา ถึงแม้จะมีโมเดลธุรกิจแล้วแต่นั่นดูเหมือนจะยังไม่เพียงพอ กอล์ฟยังเจาะลึกลงไปถึงลักษณะการจ้างงาน เขาตั้งคำถามถึงลักษณะการจ้างงานแบบใดกันที่จะช่วยแก้ปัญหาการตกงานแบบเบิ้มๆ ของแรงงานภาคบริการที่มีอยู่ได้ ลักษณะการจ้างงานแบบทันทีทันใด (on-demand) ดูจะเป็นคำตอบสำคัญข้อที่ 2 ด้วยเหตุนี้เองเพื่อให้เกิดการจ้างงานแบบ on-demand กอล์ฟจึงจำเป็นต้องมีแพลตฟอร์มเป็นของตัวเอง

“พอคิดได้ว่าอยากทำแพลตฟอร์มแบบนี้ขึ้นมา เราก็โพสต์เฟซบุ๊กเลยว่าอยากหาพาร์ตเนอร์ มีเพื่อนๆ น้องๆ สตาร์ทอัพคนไหนทำสิ่งนี้ได้ไหม มาจับมือกันเถอะ ซึ่งคุณโจแซ่ด ผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์ม Seekster ก็โดนเพื่อนเราแท็กมา ต้องบอกก่อนว่าแพลตฟอร์มของเขาประสบความสำเร็จอย่างมากในการสร้างระบบ match maker ให้คนจ้างงานกันได้แบบทันทีทันใด หลังจากนั้นเราก็มีโอกาสได้คุยกัน จำได้ว่าเราบอกเขาไปว่าเราไม่มีเวลาเป็นปีให้พัฒนาระบบนะ เรามีเวลาแค่ 30 วันแล้วต้องเปิดให้บริการ คุณจะเอาด้วยไหม ปรากฏว่าเขาเอาด้วย ก็เริ่มลุยกันตั้งแต่วันนั้นเลย”

แพลตฟอร์มทำแทนเป็นรูปเป็นร่างขึ้นภายในระยะเวลา 1 เดือน ก่อนจะเปิดให้บริการ soft-launch ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยมีกลุ่มลูกค้าหลักคือร้านคลาสคาเฟ่สาขาต่างๆ และ ร้านค้าเพื่อนๆ กอล์ฟทั่วเมืองย่าโม ภายใต้คอนเซปต์การบริการที่ว่า ‘ใครสักคนที่ทำแทนเราได้ทุกเรื่อง’ ซึ่ง ณ ตอนนี้ทำแทนได้เริ่มต้นให้บริการใน 2 เซอร์วิสด้วยกัน คือ บริการทำความสะอาด และ บริการงานช่างต่าง ๆ

“สำหรับการทำงานของทำแทน เรามองว่าตัวแพลตฟอร์มทำแทนเป็นแกนกลางในการพาคนทั้ง 3 ปาร์ตี้มาเจอกัน หนึ่งคือคนที่หางานทำซึ่งเป็นคนกลุ่มที่เราอยากช่วยเหลือ สองคือคนที่อยากจ้างงาน และสามคือแอดมินของทำแทน ที่จะคอยเช็คประวัติ เทรนนิ่ง เช็คเสื้อผ้าหน้าผมว่าพร้อมจะออกไปทำแทนแล้วหรือยัง และหลังจากนั้นก็มีการวัดผลการให้บริการต่าง ๆ โดยที่การทำงานทั้งระบบนี้ทั้ง 3 ปาร์ตี้ก็จะคุยกันผ่านแพลตฟอร์มทำแทนได้โดยพร้อม ๆ กัน”

เมืองอยู่ไม่ได้ ธุรกิจก็อยู่ไม่รอด

ก่อนที่จะมาเจอกันที่ร้านคลาสคาเฟ่ สาขาวัดบูรพ์ ในจังหวัดนครราชสีมา เรามีโอกาสได้พูดคุยกับกอล์ฟครั้งแรกในงานเสวนาประเด็นแรงงาน เขาเล่าให้เราฟังอย่างจริงจังถึงปัญหาการตกงานของแรงงานในภาคอีสาน น่าสนใจที่ถึงแม้เขาจะเป็นผู้รอดชีวิตจากวิกฤตโควิด แต่เขากลับกังวลกับปัญหาที่เกิดขึ้นราวกับเป็นเรื่องราวชีวิตของตัวเอง อะไรคือสิ่งที่ทำให้เขาเกิดความรู้สึกเช่นนี้คือ สิ่งที่เราสงสัย

“วันที่เราไม่เหลืออะไรเลย สาขาถูกปิด สินค้าขายไม่ได้ สิ่งที่เราเหลือมีแค่คน มีแค่ทีมงานสายพันธุ์คลาสที่นั่งทำงานมาด้วยกัน เรายังไม่ลืมวันที่เราออกไปขายคลาสพุ่มพวง เชื่อไหมว่าคนที่มาซื้อเป็นหมอ เป็นพยาบาล เป็นคนในท้องที่หมดเลยนะ”

“สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เราเข้าใจทุกอย่างใหม่หมดเลย ดูเหมือนวิกฤตมันกำลังบอกเราว่า ถ้าเมืองอยู่ไม่ได้ เราก็อยู่ไม่ได้ เราว่าถึงเวลาแล้วที่องค์กรต้องกลับมาคิดถึงเรื่องนี้ ต้องกลับมาคิดถึงการทำนุบำรุงสังคมที่เราอยู่ เพราะถ้าเราคิดถึงเมืองอยู่เสมอ ในวันที่เกิดวิกฤตเมืองก็จะคิดถึงเรา เราว่ายุคนี้มันไม่ใช่ยุคที่ธุรกิจอยู่ได้ตัวคนเดียวอีกแล้ว เดิมเราบอกว่าภายใน 4 ปี เราต้องไป Series A, Series B มาวันนี้เราคิดใหม่หมด เราอาจจะไปช้ากว่าเดิมหน่อยแต่เพื่อให้รากฐานเราแข็งแรงขึ้น เราต้องทำงานร่วมกันกับคนในสังคมให้เยอะขึ้น ฉะนั้นต่อให้ปีหน้ามีวิกฤตจะมาอีก เราก็เอาอยู่”

หากแพลตฟอร์มจะเป็นแนวทางการจ้างงานแห่งอนาคต
ความรันทดของแรงงานก็เป็นสิ่งที่เราไม่ควรมองข้าม

หลังจากที่เปิดให้บริการมาเป็นระยะเวลา 5 เดือน มีหนึ่งสิ่งที่กอล์ฟสังเกตเห็น เขาบอกกับเราว่าวิกฤตครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ แต่มันเป็นวิกฤตที่เปลี่ยนแปลงระบบแรงงานของไทยเสียยกใหญ่ แม้แพลตฟอร์มทำแทนจะยังเปิดให้บริการได้ไม่นานมากนักแต่ตัวเลขของผู้ที่มาสมัครเป็นพาร์ทเนอร์ก็พอจะบอกอะไรเราได้บางอย่าง กอล์ฟเล่าว่ามีแรงงานชั้นดีจากภาคบริการจำนวนมากเข้ามาสมัครงานที่ทำแทน ซึ่งแทบทุกคนล้วนมีเหตุผลเดียวกันคือการถูกเลิกจ้างในยุคโควิด เหตุผลสำคัญที่พลิกชีวิตการทำงานของพวกเขาจากหน้ามือเป็นหลังมือ

“อย่างที่เราทุกคนรู้กันว่าแรงงานไทยเก่งด้านการบริการมาก ๆ เราเป็นมือหนึ่งในเรื่องการบริการ แต่การกลับบ้านของพวกเขาในรอบนี้เป็นการกลับมาทำงานในภาคเกษตรกรรม เขาต้องกลับมาทำไร่ทำนา ทำงานที่เขาไม่มีความรู้ ไม่มีความเชี่ยวชาญ ไม่มีความคุ้นเคย ซึ่งสำหรับผมมองว่ามันน่าเสียดายองค์ความรู้ที่เขามีมากๆ ฉะนั้นมันคงดีหากเราสามารถปรับเปลี่ยน re-skill และสอนเรื่องใหม่ ๆ เพื่อให้เขายังคงทำงานที่เขาถนัดได้ โดยมีแพลตฟอร์มเข้ามาเป็นการจ้างงานรูปแบบใหม่”

นอกจากนี้กอล์ฟเสริมอีกว่า การจ้างงานแพลตฟอร์มจะเป็นแนวทางการจ้างงานแห่งอนาคต เขามองว่าต่อไปแรงงานจากต่างจังหวัดจะหมดความจำเป็นที่จะต้องไปกระจุกตัวทำงานกันอยู่ในเมืองหลวง เนื่องจากโควิด-19 ได้สร้าง new normal ให้ผู้คนมีระยะห่างระหว่างกัน กอล์ฟเชื่อว่าในอนาคตแรงงานจะสามารถออกแบบวันและเวลาในการทำงานของตนเองได้ผ่านระบบแพลตฟอร์ม

แม้การจ้างงานแพลตฟอร์มจะดูเป็นทางออกที่ดีในภาวะวิกฤตโควิด แต่เราก็ปฏิเสธความจริงไม่ได้ว่าการจ้างงานแพลตฟอร์มยังคงมีอีกหนึ่ง pain point สำคัญที่ยังแก้ปัญหาได้ไม่ตก อย่างปัญหาความไม่เป็นธรรมในการจ้างงานและสวัสดิการที่ไม่มีอยู่จริง ในฐานะที่กอล์ฟเป็นผู้ก่อตั้งธุรกิจแพลตฟอร์มที่มีจุดตั้งต้นจากการอยากช่วยเหลือแรงงานที่ตกงาน เราคิดว่าประเด็นนี้เป็นประเด็นที่น่าสนใจในการชวนเขามาถกเถียงพร้อมมองหาทางออก

“อันดับแรกเราต้องเข้าใจก่อนว่าแรงงานที่แพลตฟอร์มต้องการคือแรงงานในรูปแบบฟรีแลนซ์ ซึ่งคำว่าฟรีแลนซ์หมายความว่า คุณต้องดูแลตัวคุณเอง มันต่างจากการจ้างงานในรูปแบบพนักงานประจำที่เขาพร้อมจะดูแลคุณ ถ้าลองสังเกตดูการจ้างงานฟรีแลนซ์เราจะจ้างแรงงานแพงกว่า เนื่องจากเราคาดหวังสกิล คาดหวังความสามารถของฟรีแลนซ์”

“วันนี้คุณมาถึง คุณต้องเก่งเลย ต้องดูแลตัวเองได้ และต้องเป็นมืออาชีพ เราจ้างคุณแค่ 3 ชั่วโมงแต่คุณต้องปิดจ็อบได้เลย ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่คนที่คิดจะมาทำงานฟรีแลนซ์ควรจะรู้ไว้ เพราะคนที่จ้างงานฟรีแลนซ์ไม่ได้คาดหวังการที่จะมานั่งสอนงานคุณ แต่เขาคาดหวังการรู้เรื่องทุกอย่างเบ็ดเสร็จ เมื่อสิ้นสุดการจ้างก็จบกัน นี่คือสิ่งที่ทำให้ฟรีแลนซ์ กับ พนักงานประจำต่างกัน เราจ้างที่เนื้องาน ไม่ใช่จ้างที่คน”

แต่ถึงแม้จะเป็นการจ้างที่เนื้องาน แต่งานจะเกิดขึ้นมาได้ก็ต้องอาศัยแรงของคนในการผลิตชิ้นงาน และเราไม่ควรลืมว่าคนไม่ใช่เครื่องจักร เราต้องการการหยุดพักให้ร่างกายและความมั่นคงให้กับจิตใจ แต่โลกแห่งการจ้างงานรายชั่วโมงดูเหมือนจะไม่สามารถมอบสิ่งนี้ให้กับแรงงานแพลตฟอร์มได้ เพราะถ้าวันไหนคุณหยุดพัก ก็เท่ากับวันนี้คุณจะไม่มีเงินไปประทังชีวิต ด้วยเหตุนี้เลยทำให้เราอดสงสัยไม่ได้ว่า ถ้าเจ้าสิ่งนี้กำลังจะกลายเป็น new normal ใหม่ของการจ้างงาน การไปต่อโดยไม่มีอะไรเป็นหลักประกันความมั่นคงในชีวิตให้กับแรงงานแพลตฟอร์มจะเรียกได้ว่า เป็นก้าวต่อไปที่สดใสของการจ้างงานจริง ๆ หรือ

“คุณถามเราว่า สวัสดิการฟรีแลนซ์จะสามารถทำได้จริงไหม เราว่าทำได้และต้องทำด้วยเพราะฟรีแลนซ์เองก็ต้องการได้รับการดูแลเหมือนกัน”

“ฉะนั้นถ้าเราจะมีการจ้างงานในลักษณะนี้ ภาครัฐต้องหาวิธีดูแล นี่เป็นเรื่องที่ภาครัฐต้องเข้ามาดูแล้วว่าจะทำยังไงให้มีความยุติธรรมเกิดขึ้นกับทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นนายจ้างหรือลูกจ้าง เพราะโลกมันกำลังเปลี่ยนไปทางนี้ ผมคิดว่าถ้าเรายังไม่ปรับตัว สุดท้ายเราก็จะมีแค่กฎหมายเดิม ๆ ไว้ดูแลผู้ประกอบการ ดูแลลูกจ้าง แล้วสำหรับแรงงานที่เป็นฟรีแลนซ์ คุณจะเอาเขาไปไว้ไหน จะปล่อยเขาทิ้งไว้เฉย ๆ เหรอ ผมคิดว่าไม่ใช่ เราต้องมาคิดกันได้แล้วว่าจะทำยังไงให้ฟรีแลนซ์มีสวัสดิการที่พอจะเป็นเครื่องไม้เครื่องมือให้เขาได้ในยามที่เขาป่วย เราพอจะคิดรูปแบบประกันสังคมเฉพาะฟรีแลนซ์ได้ไหม ที่เขาจ่ายเงินเองแต่ได้รับสวัสดิการแบบพิเศษ ผมมองว่าทั้งหมดนี้ภาครัฐสามารถทำได้”

“และไม่ใช่แค่แรงงานแพลตฟอร์มแต่ตัวสตาร์ทอัพเองก็ต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐไม่ต่างกัน ภาครัฐจำเป็นต้องช่วยออกกฎหมายเพื่อมาทำงานร่วมกันกับเขา แต่ต้องออกกฎมาช่วยให้เขาทำงานได้ดีขึ้นนะ ไม่ใช่ควบคุม เพราะหลายครั้งที่เราบอกว่าจะสนับสนุนแต่สุดท้ายก็กลายไปเป็นควบคุมเขาแทน การจ้างงานแพลตฟอร์มก็เหมือนกัน ทำยังไงให้มีการจ้างงานอย่างเป็นระบบ เป็นธรรม โปร่งใส และตรวจสอบได้ ทั้งหมดที่เราพูดมานี้ล้วนเป็น pain point ของแพลตฟอร์มแต่เราสามารถแก้ปัญหาเรื่องพวกนี้ได้โดยมีหน่วยงานรัฐมาเป็นคนกำกับดูแล

เพราะโค(ข)วิด จึงขอพักฝัน “ยูนิคอร์น” ชั่วคราว

ตลอดเวลาที่นั่งพูดคุยกันเราสัมผัสได้ถึงพลังมุ่งมั่นอันล้นเหลือและความหวังที่มีอยู่อย่างเต็มหลอดจากกอล์ฟ จนยากที่จะเชื่อว่าครั้งหนึ่งเขาเองก็เคยเป็นหนึ่งในผู้ประสบภัยจากพิษโควิด-19 ที่เล่นงานธุรกิจในโคราชซะน่วม ด้วยความสงสัยส่วนตัวจึงทำให้เราถามเขาไปว่า ในชีวิตที่ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจของคุณ เคยมีวันที่คุณรู้สึกแย่กับตัวเองบ้างไหม กอล์ฟหัวเราะออกมาทันทีที่ได้ยินคำถามก่อนจะตอบกลับมาด้วยน้ำเสียงฟังชัด

“เคยสิ ช่วงต้นโควิดเนี่ยถือเป็นช่วงพีคที่สุดเลยนะ ลองนึกภาพตามดูว่าที่ผ่านมาเราเป็นสตาร์ทอัพดาวรุ่งมาตลอด ตัวเราที่เป็น founder ก็พุ่งขึ้นด้วยเหมือนกัน มันขึ้นไปข้างหน้าตลอด ฉะนั้นตอนที่เกิดโควิดขึ้นมา เราไม่พร้อมรับมือกับเรื่องนี้เลย ตอนนั้นเงินสดในมือเราเหลือศูนย์บาท ธุรกิจขนาดใหญ่ของเราที่กำลังวิ่งไปข้างหน้า ความฝันที่ว่าเราจะเป็นธุรกิจร้อยล้านพันล้าน ทั้งหมดดับวูบ มันเหมือนอยู่ในห้องแล้วอยู่ดี ๆ ไฟดับพรึบ เออ ทุกคนได้แต่นั่งเงียบ แต่สุดท้ายก็เหมือนที่เล่าไปด้านบน เราก็กลับมาลองเปลี่ยนวิธีคิด เอาวะ เราโดนคนอื่นก็โดน อย่าย่อท้อ ก็เลยรอดมาจนถึงตอนนี้”

แม้จะรอดมาได้แล้วหนึ่งระลอกแต่ดูท่าโควิดระลอกใหม่ คงตามมาอีกเป็นแน่ ไม่ต้องคาดหวังถึงกำไร แค่การพาธุรกิจให้รอดในยุคเศรษฐกิจติดเชื้อก็ดูจะเป็นเรื่องยากเต็มกลืน โดยเฉพาะธุรกิจร้านกาแฟที่อาจจะเป็นกลุ่มแรก ๆ ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงหากมีการประกาศล็อกดาวน์เมืองอีกรอบ ผู้ก่อตั้งคนสำคัญของแพลตฟอร์มทำแทนมองอนาคตของตัวเองอย่างไร และในยุคที่ท้องฟ้ายังคงเต็มไปด้วยม่านฝุ่น PM 2.5 จะเป็นไปได้ไหมที่เขาจะฝันถึงการสยายปีกบินของยูนิคอร์น

“ความท้าทายที่สุดของสตาร์ทอัพคือการดูแลตัวเอง แพลตฟอร์มส่วนใหญ่จะเกิดจากการอัดฉีดเงินลงไปในระบบเยอะ ๆ ผลาญเงินลงไปเลย ซึ่งการทำธุรกิจแบบนั้นมันไม่ยั่งยืน แต่การเกิดขึ้นของทำแทนไม่ใช่แบบนั้น เราเป็นแพลตฟอร์มที่มีคนจ่ายเงินใช้บริการเราจริง ๆ เรามีลูกค้าจริง ๆ ฉะนั้นโจทย์ต่อไปของเราก็คือจะทำอย่างไรให้ยั่งยืน อย่างตอนนี้เองเราก็ไปคุยกับน้อง ๆ กลุ่มอาชีวะว่ามารับจ็อบในทำแทนไหม เดี๋ยวเราไปสอนวิธีการใช้งานต่าง ๆ ให้ ปรากฏว่าตัวผอ. เองก็ไฟเขียวเอากับเราด้วย อีกด้านหนึ่งเราก็ไปหาลูกค้าที่เป็นโครงการคอนโดมิเนียมในโคราชว่า สนใจจ้างทำแทนไหม เรามีน้อง ๆ มาให้บริการแบบนี้นะ เขาก็โอเค ซึ่งสำหรับเราก็มองว่านี่คือหนทางที่ทำให้เราได้โตไปพร้อม ๆ กัน”

“ฉะนั้นสุดท้ายถ้าให้มองอนาคต เราว่าวันนี้อาจจะยังไม่ได้มองไกลถึงขั้นฮาวทูเป็นยูนิคอร์น วันนี้ขอแค่นี้ ขอแค่รอดจากโควิดให้ได้ก่อน (หัวเราะ) แต่ยังยืนยันว่าเราคงมีภาพฝันไกลอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นคลาสคาเฟ่หรือทำแทนก็ตาม เพราะเราคิดว่าถ้าวันนี้เราใช้วิกฤตได้ดีขนาดนี้ ในอนาคตก็น่าลุ้นอยู่เหมือนกัน หลังจากนี้ก็คงจะได้เห็นเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เราเตรียมจะออกมา ก็มองหาจังหวะเวลาที่เหมาะสมอยู่ แต่ทั้งหมดทั้งมวลก็ต้องเอาตัวรอดจาก ณ วันนี้ให้ได้ก่อนนะ”