ไม่ได้เป็น gatekeeper ไม่ใช่ agenda-setter สื่อไทยในวันที่สังคมเดินนำหน้า - Decode
Reading Time: 3 minutes

Decode สรุปความจากวงเสวนา Future Journalist นักข่าวรุ่นใหม่ระยะเปลี่ยนผ่าน ซึ่งจัดขึ้นโดยเว็บไซต์ Decode เนื่องในโอกาสงานเปิดตัวเว็บไซต์ Decode Grand Opening เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 ณ ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปกรุงเทพฯ

วงเสวนาที่พานักข่าว-นักเขียนจาก 6 สื่อออนไลน์ ได้แก่ Backpack Journalist, Decode, The Standard, The101.world, The Reporters และ The Matter มาร่วมพูดคุยกันตั้งแต่แรงบันดาลใจในการมาทำหน้าที่เสื่อสารมวลชน ไปจนถึง การทำงานของสื่อในวันนี้ที่สถานการณ์เรียกได้ว่าอยู่ในขั้นแหลมคมอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน พร้อมทั้งปิดท้ายด้วยคำถามที่กำลังเป็นที่สงสัยของคนในสังคมว่า

‘ในวันที่ไม่ว่าใครก็เป็นสื่อได้ สื่อมวลชนยังคงจำเป็นอีกหรือเปล่า’

ถึงเวลามองข้ามยอด engagement และกลับมาจริงใจกับประชาชน

“ต้องยอมรับความจริงก่อนว่าตอนนี้สังคมไทยเดินนำหน้าสื่อไปหลายก้าว จากเดิมที่เราเคยมีสถานะเป็น gatekeeper มาวันนี้มันไม่ใช่อีกแล้ว จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ประชาชนจะกลับมาตั้งคำถามกับคุณ ว่าในวันที่สังคมพูดไปไกลมากๆ สื่ออยู่ตรงไหน”

ธัญวัฒน์ อิพภูดม บรรณาธิการข่าวจาก The Matter เริ่มต้นวงเสวนาด้วยการกล่าวถึงภาพรวมของสถานการณ์สื่อในปัจจุบัน เขายอมรับว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับสื่อมวลชนไทย ไม่ว่าจะเป็นสื่อกระแสหลัก หรือ สื่อออนไลน์ เพราะสังคมในตอนนี้เรียกได้ว่าก้าวหน้าในทุกประเด็น ไม่ใช่แค่ประเด็นการเมือง หรือ ประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ประเด็นสังคมด้านต่างๆ ก็มีการทำความเข้าใจกันอย่างลึกซึ้ง ฉะนั้นสำหรับเขาแล้วมองว่า สิ่งที่สื่อจะทำได้ดีที่สุดในเวลานี้คือสื่อต้องกลับมานำเสนอและไม่บิดเบือนข้อเท็จจริงที่อยู่ตรงหน้า ถึงเวลาที่สื่อไทยต้องกลับมาทำงานให้หนักมากขึ้น

นอกจากนี้ธัญวัฒน์ยังกล่าวถึงประเด็นหน้าที่ของสื่อไว้อย่างน่าสนใจ เขากล่าวว่าหน้าที่หนึ่งที่สำคัญของสื่อมวลชนคือการตั้งคำถามต่อภาครัฐ เพราะหนึ่งสิ่งที่สื่อมวลชนควระลึกไว้เสมอคือเรามีสิทธิพิเศษในการเข้าถึงแหล่งข่าว ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ นักการเมือง หรือ แม้แต่ประชาชนเองก็ตาม ซึ่งนี่ถือเป็นสิทธิ์ที่สังคมมอบให้กับสื่อเพื่อให้สื่อสามารถทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียงให้กับประชาชน เขามองว่าสื่อไม่ควรลืมจุดนี้และต้องยึดมั่นในสิ่งนี้ไว้ให้ได้

จากเรื่องหน้าที่สื่อ ธัญวัฒน์เปิดให้เราเห็นปัญหาใหม่ของวงการสื่อออนไลน์ นั่นก็คือปัญหาเรื่องยอด engagement เขาให้ความเห็นว่าทุกวันนี้คนทำสื่อออนไลน์หลายคนถูกล่อลวงด้วยยอด engagement มีข่าวหลายข่าวที่ได้ยอด engagement สูงแต่คุณค่าข่าวน้อย ในขณะเดียวกันก็มีหลายบทความที่เจาะลึกอย่างรอบด้านแต่ยอดแชร์กลับมีไม่มาก ซึ่งสำหรับประเด็นนี้ธัญวัฒน์มองว่าเพื่อให้สื่อก้าวต่อไปอย่างมืออาชีพสื่อจำเป็นต้องมองข้ามยอด engagement เหล่่านี้และไม่ควรนำมันมาเป็นตัวตั้งในการทำงาน สื่อควรเปลี่ยนมายด์เซ็ทในการทำงานเสียใหม่และต้องเชื่อว่าในท้ายที่สุดแล้วข่าวที่มีคุณค่าจะมียอด engagement ที่ดีตามมาเอง

ก่อนจากกันธัญวัฒน์ทิ้งท้ายไว้หนึ่งประเด็นสั้นๆ อย่างประเด็นเรื่องทุนของสื่อ โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ที่ได้ทุนสนับสนุนจากหลายช่องทาง เขามองว่าในอนาคตอันใกล้นี้สังคมจะตั้งคำถามกับทุนของสื่อมากขึ้น ว่าที่มาของเงินสนับสนุนของคุณมาจากไหน เรื่องนี้ถือได้ว่าเป็นสิทธิ์ของประชาชนที่จะตั้งคำถามกลับมาที่สื่อ ฉะนั้นสื่อเองก็จำเป็นต้องจริงใจกับประชาชนด้วยการเปิดเผยที่มาของแหล่งทุนว่าองค์กรสื่อของคุณได้รับทุนสนับสนุนจากพรรคการเมืองไหนหรือองค์กรใด และปล่อยให้สังคมได้เป็นคนตัดสินใจเองว่าเขาจะยังเชื่อถือคุณต่อไปอีกหรือเปล่า แต่หนึ่งสิ่งที่สื่อสามารถทำได้คือการจริงใจกับประชาชนอย่างถึงที่สุด ซึ่งเรื่องนี้ก็ถือเป็นหนึ่งในนั้น

ยืนยันในการเป็นสื่อเพื่อสันติภาพ
แม้จะแตกต่างทางความคิดแต่เราสามารถอยู่ร่วมกันได้

“สิ่งที่ The Reporters ย้ำอยู่กับทีมเสมอคือเราจะต้องสร้างพื้นที่สื่อเพื่อสันติภาพ เพราะเราเชื่อว่าสันติภาพคือทางออกของทุกความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคม”

ประโยคข้างต้นคือประโยคจาก ทศ ลิ้มสดใส อดีตนักข่าวภาคสนามจาก The Reporters ที่กล่าวถึงการทำหน้าที่สื่อในช่วงที่สถานการณ์ของประเทศอยู่ในภาวะแหลมคม เขาขยายความเพิ่มเติมว่าหนึ่งแนวทางที่จะไปสู่สันติภาพนั้นคือการเปิดพื้นที่ให้กับทุกฝ่าย ทุกชุดความคิด ได้แสดงความคิดเห็นบนพื้นฐานของข้อมูลและข้อเท็จจริง เพื่อให้สังคมได้เกิดการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน โดยสื่อสามารถทำหน้าที่เป็นตัวกลางตรงนี้ได้ และเพื่อที่จะช่วยให้สื่อสามารถทำหน้าที่นี้ได้อย่างเต็มที่ สื่อจำเป็นต้องมีเสรีภาพ ทศยืนยันว่าเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญเพราะ การที่สื่อจะกล้าพูดหรือไม่กล้าพูดเรื่องอะไรนั้นมีสิ่งนี้เป็นตัวกำหนด เพราะอิสรภาพที่สื่อมีทำให้สื่อสามารถพูดในหลายประเด็นที่สังคมยังไม่กล้าพูด แต่เขาก็ยอมรับว่าเสรีภาพในการพูดของสื่อมาพร้อมกับความรับผิดชอบ โดยเฉพาะนักข่าวภาคสนามเองจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องบาลานซ์ทั้ง 2 สิ่งนี้ให้ดี

ส่วนในประเด็นที่ว่าสื่อยังจำเป็นอีกไหมในวันที่ทุกคนก็สามารถเป็นสื่อได้ สำหรับเขาแล้วมองว่าแม้เราจะมีข่าวสารมากมายลอยอยู่ในโซเชียลมีเดียแต่นักข่าวภาคสนามก็ยังจำเป็นอยู่ เพราะคุณค่าของนักข่าวภาคสนามคือการไม่ปักใจเชื่อข้อมูลที่ได้รับมาทันทีและมีการพิสูจน์ข้อมูลก่อนที่จะนำเสนอออกไป ทศย้ำว่าถ้าไม่ได้เห็นกับตา ไม่ได้ยินกับหู อย่าเพิ่งพูดว่าสิ่งนั้นคือความจริง เรื่องนี้เรียกได้ว่าเป็นเรื่องที่นักข่าวภาคสนามทุกคนยึดถือ ฉะนั้นเขาเองก็มองว่านักข่าวภาคสนามยังมีฟังก์ชั่นสำคัญในประเด็นนี้อยู่

นอกจากนี้ทศขอเสริมประเด็นที่ว่าสังคมได้ก้าวนำสื่อไปแล้วนั้น เขาคิดว่าเรื่องนี้ถือเป็นบทเรียนที่ดีให้กับสื่อ ต้องยอมรับความจริงว่านอกจากไม่ได้เป็น gatekeeper แล้วสื่อเองก็ไม่ใช่ agenda-setter อีกต่อไป แต่ทุกคนในสังคมมีค่าเป็นหนึ่งหน่วยที่สามารถกำหนดประเด็นได้ด้วยตัวเอง เมื่อคนหลายคนพูดประเด็นที่ว่าพร้อมกัน สิ่งนี้ก็กลายเป็นวาระทางสังคมขึ้นมา ซึ่งก็ย้อนกลับมากำหนดการทำงานของสื่ออีกที ทศเล่าให้ฟังว่าหากได้ลองไปดูพื้นที่ภาคสนามในวันนี้จะพบว่ามีนักข่าวจากสื่อกระแสหลักลงพื้นที่มาทำข่าวเยอะขึ้น แตกต่างจากในช่วงแรกที่มีเพียงไม่กี่ราย เขาคิดว่านี่เป็นผลมาจากการขับเคลื่อนของสังคมที่ต้องการจะรับทราบข่าวสารที่เกิดขึ้น

แม้จะยังเดินตามหลังแต่นาทีนี้สื่อยังสำคัญ

“เรามองว่าสื่อมวลชนไทยเคยชินกับการทำงานอยู่ภายใต้บรรยากาศแห่งความกลัว จนไปถึงการเซ็นเซอร์ตัวเอง โดยเฉพาะในช่วงคสช. ที่สื่อถูกคุกคามอย่างชัดเจน”

วจนา วรรลยางกูร นักเขียนจาก the101.world ย้อนให้ฟังถึงบรรยากาศการทำงานของสื่อมวลชนไทยในช่วงเวลาที่ผ่านมา เธอเล่าว่าการเข้ามาของคสช. ส่งผลให้สื่อบางสำนักได้รับผลกระทบโดยตรงและจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้สื่อหลายสำนักที่แม้จะไม่ได้รับผลกระทบก็เลือกที่จะเซ็นเซอร์ตัวเองตามไปด้วย วจนาพูดอย่างชัดเจนว่าในวันนี้สังคมได้เดินนำหน้าสื่อไปไกล เธอยกตัวอย่างสิ่งที่เกิดขึ้นในวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ซึ่งมีการพูดถึง 10 ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ สิ่งที่เธอเห็นในวันนั้นคือการที่สื่อหลักหลายสำนักเลือกที่จะไม่พูดถึงข้อเรียกร้องดังกล่าว ซึ่งสำหรับเธอแล้วมองว่านี่คือความน่าเศร้าครั้งใหญ่ของสื่อไทย

แต่ถึงจะเดินตามหลังสังคม วจนากลับคิดว่านี่เป็นช่วงเวลาที่สื่อไทยยิ่งต้องทำหน้าที่ เธอมองว่าในช่วงเวลาที่สังคมมีความขัดแย้งสูง การทำหน้าที่ของสื่อจะช่วยผสานช่องว่างตรงนี้ได้ เพราะอย่าลืมว่าสื่อสามารถนำข้อถกเถียงต่างๆ ที่มีอยู่ในสังคมมาพูดคุยกันได้ด้วยเหตุผลและสร้างบทสนทนาที่มีคุณภาพได้ วจนากล่าวว่่าถึงเวลาที่สื่อต้องกลับมาถามตัวเองว่าคุณค่าของเราคืออะไรและเรากำลังทำงานเพื่อใคร เธอมองว่านี่เป็นคำถามที่สำคัญอย่างมากต่อคนทำงานสื่อที่ต้องตอบตัวเองให้ได้ว่าเรากำลังทำหน้าที่นี้ไปเพื่ออะไร

นอกจากนี้ เมื่อถูกถามว่ามีความคิดเห็นอย่างไรที่นักข่าวไทยเน้นทำงานรายงานสถานการณ์หรือสัมภาษณ์มากกว่าผลิตงานเชิงวิเคราะห์ เงื่อนไขอะไรที่ทำให้เราไม่ค่อยพบเห็นงานในเชิงวิเคราะห์ ในฐานะที่ the101.world เรียกได้ว่ามีจุดเด่นที่บทความเจาะลึกและเน้นความเป็นวิชาการ วจนาได้แสดงความคิดเห็นถึงประเด็นนี้ว่า สื่อแต่ละแห่งมีการวางบทบาทของตัวเองที่แตกต่างกันไป หลายที่ก็มีทั้งข่าวรายวันและบทวิเคราะห์ แต่ต้องยอมรับว่าการผลิตบทความเชิงวิเคราะห์นั้นต้องอาศัยเวลาและการลงทุนลงแรงสูง

วจนาเสริมท้ายว่า ปัจจัยเรื่อง ‘ความเร็ว’ ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่มากำหนดวิธีการผลิตงานของสื่อ โดยเฉพาะในสื่อที่ต้องแข่งกันรายวัน เราจึงเห็นปรากฏการณ์ที่สื่อแข่งกันว่าใครดึงข่าวจากเฟซบุ๊กได้เร็วกว่าและพาดหัวข่าวได้เฟี้ยวกว่า แทนที่จะเป็นการแข่งกันที่คุณภาพของงาน หรืออย่างบางกรณีที่ลงบทสัมภาษณ์ยาวและเจาะลึก แต่ยอดคนอ่าน ยอดคนแชร์น้อย ทั้งหมดนี้ก็ส่งผลต่อการทำงานชิ้นต่อไปและทำให้วิธีคิดในการทำงานของสื่อไม่ใช่สิ่งที่มันควรจะเป็น

3 ตัวแปร กับ 1 ไม่ลืม – สูตร(ไม่)ลับของการทำงานสื่อในยุคนี้

“ในช่วงที่มีความขัดแย้งทางการเมืองสูง 3 อย่างที่ผมเก็บไว้เป็นคติในใจคือ ความจริง รอบคอบ และ รอบด้าน”

ไพศาล ฮาแว content creator จาก The Standard พูดถึง 3 คติที่เขาใช้เป็นหลักยึดในการทำงานสื่อภายใต้สถานการณ์ที่มีความขัดแย้งทางการเมืองสูง ไพศาลมองว่าอย่างแรกที่สื่อทุกคนควรคำนึงถึงคือความจริง ไม่ต่างจากทศ เขาเองก็ถือคติว่าหากไม่ได้เห็นด้วยตา ไม่ได้ยินด้วยหู อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่าสิ่งนั้นคือความจริง โดยเฉพาะในกรณีสื่อออนไลน์ที่แข่งขันกันที่ความเร็ว หลายครั้งที่เราจะเห็นสื่อออนไลน์เลือกที่จะโพสต์ก่อนแล้วค่อยมาแก้ไขทีหลัง สำหรับในประเด็นนี้ไพศาลให้ความเห็นว่า The Standard มีการกำหนดมาตรฐานการทำงานไว้อย่างชัดเจน มีหลายข่าวที่ทางกองบรรณาธิการเลือกที่จะออกช้ากว่าเว็บไซต์อื่นเพื่อให้ข่าวมีความครบถ้วนในรายละเอียดและข้อเท็จจริง

ในส่วนข้อที่ 2 อย่างความรอบคอบ สิ่งนี้ก็เป็นผลต่อเนื่องมาจากข้อแรก ไพศาลเองก็ยอมรับว่าเมื่อมีความเร็วเข้ามาเกี่ยวข้องก็ทำให้หลายเนื้อหาขาดความรอบคอบ ซึ่งสำหรับเว็บไซต์เขาเองก็เคยพบเจอกับปัญหานี้ทั้งในด้านเนื้อหาข่าว หรือ ภาพข่าว ซึ่งไพศาลมองว่าการแก้สถานการณ์ที่ดีที่สุดคือการยอมรับความผิดพลาดและขออภัยในสิ่งที่เกิดขึ้น เขาย้ำว่าแต่อย่างไรก็ตามความผิดพลาดนี้ไม่ควรเกิดซ้ำขึ้นอีก

สำหรับข้อสุดท้าย ความรอบด้าน ไพศาลกล่าวว่ามีหนึ่งเรื่องที่เราทุกคนควรทำความเข้าใจคือ ไม่ว่าจะฝ่ายไหนต่างต้องการพื้นที่บนหน้าสื่อ การที่ทุกคนออกมาเคลื่อนไหวก็เพื่อต้องการแสดงออกในสิ่งที่เขาพบเจอหรือต้องการจะเปลี่ยนแปลงซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่สามารถเข้าใจได้ ฉะนั้นหนึ่งสิ่งที่สื่อควรมีจึงเป็นความรอบด้าน ไพศาลขยายความเพิ่มเติมว่า สื่ออาจจะไม่สามารถให้เวลาทุกฝ่ายเท่ากันได้แต่สื่อสามารถนำเสนออย่างรอบด้านได้

แม้ 3 คติที่ได้กล่าวไปนี้จะช่วยให้สื่อสามารถทำงานภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งแต่ก็มีอีกหนึ่งเรื่องที่ไพศาลมองว่าไม่ใช่แค่สื่อแต่เป็นหนึ่งเรื่องที่ทุกคนไม่ควรลืมคือความเป็นมนุษย์ เขาให้ความเห็นว่าเราไม่ควรลืมว่าเมื่อถอดอุดมการณ์ออกไปนั้น เราทุกคนต่างเป็นมนุษย์เหมือนกัน ฉะนั้นไม่ว่าเราจะมีความเห็นต่างกันเท่าไหร่ เขาเองก็เชื่อว่าเราทุกคนจำเป็นต้องเคารพสิทธิมนุษยชนซึ่งกันและกัน นี่เป็นสิ่งที่เขาอยากจะฝากไว้

ถอดหัวโขนความเป็นสื่อและย้อนกลับมามองความรับผิดชอบส่วนบุคคล

“ถึงเวลาที่เราต้องย้อนกลับมาถามตัวเองว่าความรับผิดชอบส่วนบุคคลของเราอยู่ตรงไหน ไม่ใช่ในฐานะของนักการเมือง สื่อ หรือ ตำรวจ แต่ในฐานะที่เราเป็นพลเมืองคนหนึ่งในสังคม เราสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงและไปสู่เสรีภาพจริงๆ”

พลอยธิดา เกตุแก้ว นักข่าวจากรายการ Backpack Journalist เปิดประเด็นด้วยการพูดถึงหน้าที่สื่อในยุคที่กล่าวได้ว่าไม่ว่าใครก็สามารถเป็นสื่อมวลชนได้ การทำงานหรือวิธีคิดแบบไหนที่จะทำให้สื่อแตกต่างไปจากคนทั่วไป เธอมองว่าไม้ตายสำคัญของสื่อคือการที่สื่อสามารถวิ่งเข้าหาความจริงได้ง่ายกว่าผู้อื่น และ มีเครื่องมือตรวจสอบความจริงที่มากพอๆ กับกระบวนการยุติธรรม ซึ่งสองสิ่งนี้ช่วยให้สื่อได้รับความน่าเชื่อถือและความไว้วางใจจากประชาชน

นอกจากนี้พลอยธิดายังพูดถึงประเด็นเงื่อนไขทางสังคมกับเสรีภาพของสื่อ เธอมองว่าเสรีภาพของสื่อมีค่าเท่ากับสิทธิที่จะรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน (Right to Know) การลิดรอนเสรีภาพสื่อจึงมีค่าไม่ต่างกับการพยายามปิดหูปิดตาสังคม พลอยธิดาย้ำว่าสื่อจะต้องตระหนักถึงความสำคัญในสิ่งนี้ว่า สื่อมีสิทธิที่จะวิเคราะห์ ตรวจสอบ และเสนอความจริงโดยไม่สามารถมีใครหรือสิ่งใดมาปิดกั้น

ก่อนจะจบพลอยธิดาทิ้งท้ายไว้ว่า มีหนึ่งสิ่งที่เธออยากให้ทุกคนไม่ลืมนั่นคือ ‘ความรับผิดชอบส่วนบุคคล’ เธอมองว่าเราทุกคนล้วนเป็นองค์ประกอบหนึ่งของสังคมที่มีส่วนในการช่วยเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นหรือเลวลงได้ เพียงแต่แต่ละคนก็อาจจะสวมบทบาทที่แตกต่างกันออกไป แต่เมื่อใดที่เราถอดบทบาทนั้นออก เราทุกคนก็เหลือเพียงความเป็นมนุษย์ ความเป็นพลเมืองเหมือนกัน ฉะนั้นมันอาจจะถึงเวลาแล้วที่ทุกคนต้องกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่าในฐานะตัวเรา ในฐานะพลเมืองคนหนึ่ง เราได้ทำอะไรไปแล้วบ้างเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมและพาสังคมไปสู่เสรีภาพจริงๆ คือสิ่งที่เธออยากจะฝากไว้

ถึงเวลาสื่อมวลชนไทยกลับมาทำหน้าที่อย่างมืออาชีพ

“สื่อมวลชนไทยถึงเวลากลับมาทำหน้าที่อย่างมืออาชีพ”

ภาวิณี คงฤทธิ์ content creator จากเว็บไซต์ Decode เล่าย้อนไปถึงสถานการณ์สื่อในปัจจุบันที่กำลังเผชิญหน้ากับแรงกดดันทั้งจากภายในและภายนอก ซึ่งเว็บไซต์ Decode เองก็พบเจอกับแรงกดดันนี้ไม่ต่างจากสื่ออื่นๆ แม้จะไม่ต้องเผชิญกับแรงกดดันเรื่องการหารายได้เนื่องจากเป็นสื่อสาธารณะ แต่การมีรายได้มาจากภาษีของประชาชนก็พ่วงมาด้วยแรงกดดันในอีกหนึ่งรูปแบบ การรายงานข่าวแต่ละครั้งจำเป็นที่จะต้องคิดอย่างรอบคอบและคำนึงถึงปัจจัยแวดล้อม

สำหรับประเด็นการทำหน้าที่ของสื่อในวันที่สถานการณ์เต็มไปด้วยความแหลมคม ภาวิณีขอยกคำพูดของ นวลน้อย ธรรมเสถียร สื่อมวลชนอาวุโสที่ปัจจุบันทำงานในพื้นที่ 3 จังหวัดสามชายแดนภาคใต้ นวลน้อยได้กล่าวถึงการทำหน้าที่ว่าของสื่อในสถานการณ์นี้ไว้ว่า “สื่อมวลชนไทยถึงเวลากลับมาทำหน้าที่อย่างมืออาชีพ” ซึ่งคำว่ามืออาชีพที่ว่านี้หมายถึงกลับมาทำหน้าที่สื่ออย่างที่สื่อควรทำ คือการนำเสนอความจริงและนำเสนอทุกเสียงที่เกิดขึ้นในสังคม เธอมองว่าสิ่งนี้นี่เองจะเป็นแนวทางที่ทำให้สื่อมวลชนไทยสามารถเดินต่อไปได้

ภาวิณีกล่าวต่อไปอีกว่า แม้ในวันที่ใครๆ ก็สามารถเป็นสื่อได้แต่เธอคิดว่าสื่อมวลชนยังจำเป็นที่จะต้องมีอยู่  โดยเฉพาะในช่วงที่มีความขัดแย้งสูง สื่อจำเป็นที่จะต้องทำงานให้หนักและกล้าหาญมากขึ้น เพราะสิ่งที่น่ากังวลที่สุดในช่วงที่มีสถานการณ์ความขัดแย้งไม่ใช่ความเห็นที่แตกต่าง แต่เป็นการอาศัยความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงโดยอ้างเหตุผลจากความขัดแย้ง ซึ่งสื่อสามารถลดความตึงเครียดที่เกิดขึ้นได้ด้วยการเข้ามาเป็นพื้นที่กลางในการสกัดอารมณ์ของแต่ละฝ่ายออกไปและสกัดเอาเนื้อหาที่แต่ละฝ่ายต้องการเรียกร้องออกมา และพาข้อมูลจากทั้ง 2 ด้านออกมาเจอกันโดยมีสื่อเป็นพื้นที่กลางในการรับและส่งสารต่อไปให้ประชาชน

นอกจากนี้ภาวิณียังพูดถึงความจริงข้อหนึ่งของสื่อไว้อย่างน่าสนใจ เธอกล่าวว่า สื่อมวลชนเองก็เป็นคน มีความกลัวไม่ต่างจากคนทั่วไป ยิ่งในสถานการณ์ที่ต้องรายงานในสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ความกังวลย่อมเกิดขึ้นตามมา แต่เธอมองว่าแม้สื่อมวลชนจะกลัวเพียงใด แต่ด้วยความเป็นสื่อมวลชนก็ทำให้เราต้องมีความกล้าเช่นกัน เพราะความกล้าคือหนึ่งสิ่งที่ยังทำให้สื่อยังคงคุณค่าความเป็นสื่อไว้ได้