ผิดไหมที่ต่อรองของ...ลูกชาวนา - ลูกจ้าง - ลูกความ - Decode
Reading Time: 2 minutes
โลกความจริงของแรงงานที่มีกฏหมายคุ้มครองแต่เข้าไม่ถึง

“ทั้งบริษัทพี่ถูกไล่ออกคนเดียวด้วยเหตุผลเรื่องโควิด -19”  พี่ว่ามันไม่ใช่นะ !

ประโยคเดียวที่ทำให้เราต้องเหลียวหลัง ด้วยน้ำเสียงที่ชัดเจนเจือปนความเจ็บปวดของ พี่ไหม-ธนพร วิจันทร์ ตัวแทนเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน 

และด้วยประโยคที่ว่าเพียงประโยคเดียว นำมาสู่บทสนทนาอันยาวเหยียดของเราและพี่ไหม 2 ชั่วโมงกว่าเราสนทนาถึงเรื่องราวที่ไม่บังเอิญ เป็นบทสนทนาที่จะพาทุกท่านดำดิ่งสู่ความเป็นจริงในชีวิตหนุ่ม-สาวแรงงาน จากเมื่อ 28 ปีก่อนจนถึงวันนี้ วันที่ห้วงเวลาและการเคลื่อนไหวของโลกหมุนเร็วไม่เคยหยุด ดูเหมือนว่าชีวิตของแรงงานหนุ่ม-สาว กำลังมีแนวโน้มต้องเปลี่ยนเป็นลูกความมากขึ้นเรื่อย ๆ มันเป็นการต่อรองที่น่าเศร้า

สบายดีนะคะพี่ไหม ช่วงนี้ยุ่งรึเปล่าพี่

“ จะยุ่งอะไรพี่ตกงานอยู่นะเนี่ย ” 

จริงปะเนี่ย ?

“ จริง ! แต่มันตลกนะ ทั้งบริษัทพี่ถูกไล่ออกคนเดียวด้วยเหตุผลเรื่องโควิด-19 พี่ว่ามันไม่ใช่นะ ! เหมือนกับว่าเขาพยายามถ่ายเลือดเก่าออกจนสำเร็จแล้วผ่านการย้ายโรงงาน เพราะพอมันไกล คนเก่า ๆ ก็เลือกไม่ไปกันเยอะ ก็เขาย้ายจากสระบุรีไปปทุมธานี แล้วหลายคนเขาสร้างบ้านมีครอบครัวที่สระบุรีไปแล้วก็เลยไม่ไป ส่วนพี่คนโสดเราก็ยังไงก็ได้ แต่พอพี่ไปรายงานตัวที่ปทุมธานี เขาก็บอกให้พี่มาทำงานที่เดิมที่สระบุรี แต่ที่นั่นมันไม่มีใครแล้ว ไม่มีงานแล้วไง ”

ใช่ค่ะ คุณเข้าใจไม่ผิด พี่ไหมเป็นผู้นำสหภาพแรงงานสถานประกอบการ และท่วงทำนองในชีวิตการทำงานตลอด 28 ปีของเธอไม่ได้ดำเนินไปด้วยความสงบ เธอทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้เพื่อนแรงงานในโรงงานเดียวกันมาตั้งแต่ช่วงราว ๆ ปี 2540

จุดเริ่มต้นบนสายพานของลูกสาวชาวนาจากดินแดนพระธาตุพนม เริ่มต้นในปี 2535 ตอนนั้นเธอเล่าว่า มุ่งหน้าเข้าโรงงานเพื่อหวังมีรายได้เลี้ยงดูครอบครัวและหวังจะทำไปเรื่อย ๆ จนเกษียณ เธอเป็นลูกชาวนาที่ไม่มีโอกาสได้เรียนสูง ๆ จึงเรียนจบแค่ชั้นมัธยมศึกษา การตัดสินใจฝากชีวิตไว้กับโรงงานเมื่อ 28 ปีที่แล้วจึงหอบหิ้วความหวังมาเต็มบ่า 

หวังว่า เงินจากโรงงานจะทำให้พ่อแม่พี่น้องของเธอมีชีวิตที่ดีขึ้น หวังว่าพอเกษียณแล้วเธอคงมีเงินสักก้อนไว้เลี้ยงดูตัวเอง เพราะคิดว่าคงไม่มีลูก นั่นทำให้พี่ไหมตัดสินใจเดินหน้าทำงานในโรงงานมาตลอด มันเป็นเวลานานพอที่จะทำให้เธอรู้ว่า ความเจ็บปวดของแรงงานมันมากกว่าเรื่องค่าแรงขั้นต่ำที่ขยับขึ้นทีละหลักหน่วย 

“ ตอนแรกพี่ก็ไม่คิดว่าพี่จะต้องมาเป็นผู้นำสหภาพแรงงานนะ แต่พอมาอยู่โรงงานได้เห็นปัญหา การถูกละเมิดสิทธิ์  อย่างยุคแรกที่พี่ทำงานก็ถูกนายจ้างบังคับให้เข้าห้องน้ำเป็นเวลา บันทึกเวลาเข้าออก บันทึกเวลาพัก ยุคนั้นนายจ้างคือพระเจ้าสำหรับแรงงาน เขาให้เราทำอะไรก็ต้องไป ให้ขุดลอกคลอง ทาสี เราไม่ถนัดแต่ก็ต้องไป ไม่มีใครกล้าขัดคำสั่งนายจ้าง เหมือนเป็นโรงงานทาส ตอนนั้นมีเพื่อนแรงงานโดนไล่ออกเพราะลุกขึ้นมาทวงถามสิทธิ์ ถึงขนาดว่าโดนรปภ.หามออกจากโรงงานเลยนะ ”

ระหว่างนั่งไทม์แมชชีนย้อนเวลาไปกับพี่ไหม เรานั่งถามตัวเองว่าเพราะอะไร ทุนและเงินถึงมีเขี้ยวเล็บและมีอำนาจมากมายในโรงงานขนาดนั้น จุดสำคัญคงเพราะตอนนั้นยังไม่มีกฏหมายอะไรมาคุ้มครองแรงงาน สิ่งเดียวที่แรงงานในยุคนั้นทำได้ คือ พยายามรวมตัวเป็นสหภาพแรงงานระดับโรงงาน เพื่อใช้เป็นกลไกพูดคุยเจรจากับนายจ้าง นั่นเป็นภาพความกล้าหาญของแรงงานที่เบ่งบานในช่วงพฤษภาทมิฬ

แม้ภาพการรวมตัวของแรงงานจะเบ่งบาน แต่ประตูเรื่องสิทธิ์ในโรงงานยังปิดแคบ ช่วงปี 2538 ภาพการกดทับเพื่อนพนักงานขยับใกล้ตัวพี่ไหมมากขึ้น โดยเฉพาะแรงงานในโรงปูนที่สระบุรี พี่ไหมฉายภาพว่า เธอเห็นภาพเพื่อนแรงงานจำนวนไม่น้อยถูกละเมิดสิทธิ์อย่างหนัก แรงงานทนไม่ไหวถึงขนาดมีการนัดหยุดงานเถื่อน เพื่อเดินเท้าไปพบผู้ว่าราชการจังหวัด เดินเท้าไปพบผู้นำกระทรวงแรงงาน 

ฉากหน้า คือลูกจ้างรวมหมู่ด้วยความเข้มแข็ง แต่หลังเวที คือ ภาพผู้นำแรงงานที่ลุกขึ้นมามีปากเสียงถูกยิงและถูกคุกคาม หลังปี 2540 เมื่อสิทธิ์ของแรงงานถูกคุ้มครองด้วยกฏหมาย ดูเหมือนทุกอย่างจะราบรื่นแต่การขยับของทุนในโลกโลกาภิวัฒน์ กลับทำให้แรงงานเขยื้อนตัวได้น้อยลงเรื่อยๆ หรือว่า…ทุนนิยมเป็นใหญ่กำลังพาเราย้อนเวลากลับไปยืนที่เดิมก่อนปี 35 แตกต่างตรงที่คราวนี้กฏหมายเป็นอาวุธล้ำค่าของทั้งสองฝ่าย มันอยู่ที่ว่าใครเข้าถึงและเข้าใจกฏหมายมากกว่ากันก็เท่านั้นเอง

“ คดีนี้พี่จะเขียนทำร้องฟ้องคดีนายจ้างด้วยตัวเองเลยนะ​ ให้ทนายเขียนมันไม่ได้ฟีล พี่รวบรวมหลักฐานได้แล้ว กำลังรีบเขียนคำร้อง แล้วเดี๋ยวเรื่องรูปคดีต้องให้ทนายมาช่วย พี่จะเอาให้ถึงที่สุด ฟ้องกี่ศาลก็ยอม ต้องใช้เวลานานเท่าไรก็จะทำ ดีที่พี่ตัวคนเดียวไม่มีภาระ ยังพอมีแรงสู้ได้ ยังไงก็จะไม่ยอม พี่ไม่อยากให้เรื่องแบบนี้เกิดกับคนอื่นอีก แล้วเรื่องนี้มันซับซ้อนนะ มันมีการใช้ช่องทางกฏหมายมาเดินเกม เรื่องนี้จริงพี่เริ่มจับสัญญาณได้ตั้งแต่ปี 2562 แล้ว ”

กลิ่นของความซับซ้อนก่อตัวขึ้นราวกับกองไฟในหน้าหนาว 3-4 ปีก่อนหน้านี้ สมาชิกลูกจ้างเริ่มลดลงไปเรื่อย ๆ ต้นเหตุเพราะนายจ้างลดกระบวนการผลิต จากเดิมปีก่อน ๆ ก็ลดการผลิตอยู่แล้ว แต่ระยะหลัง ๆ พี่ไหมเล่าว่านายจ้างเดินหน้าธุรกิจแบบซื้อมาขายไป บางแผนกถูกยุบไม่ต้องผลิตเลยทำแค่ตรวจสอบสินค้า ยุบมาเรื่อย ๆ จนเหลือแค่แผนกคลังสินค้าและแผนกตรวจสอบคุณภาพ ส่วนแผนกแพ็กของก็จ้าง Sub-contract ทั้งหมด ภาพที่เกิดขึ้นคล้ายกับการจุดไฟไล่ยุงในแต่ละจุด ลูกจ้างจริง ๆ เหลือน้อยมากประมาณ 80 กว่าคน จากยุคแรกที่มีคนทำงาน​ราว 300 ชีวิต

เรื่องปรับแผนธุรกิจพี่พอเข้าใจได้นะ แต่พีคสุดคือ ช่วงหนึ่งนายจ้างไม่จ่ายสวัสดิการโบนัสทั้งหมด คือไม่จ่ายโดยอ้างว่าขาดทุน พี่ไม่เชื่อเลยไปขอดูบัญชีที่เขาส่งกระทรวงพาณิชย์ เลยรู้ว่าสินค้าในคลังที่เหลือต่อปีประมาณ 200 ล้าน แต่เขาก็เอาเงินอีกก้อนไปซื้อสินค้ามาเติม มันก็เลยดูเหมือนขาดทุน แต่พี่ตั้งข้อสังเกตว่า เป็นการตบแต่งบัญชี

ต่อมาปี 2562 นายจ้างลดปริมาณแรงงานในหน่วยงานคลังสินค้า มีการเลิกจ้างอีกครั้งแล้วหันไปพึ่งพา​บริษัท Sub-contract ครั้งนี้ทำให้พนักงานส่วนคลังสินค้าเหลือเพียง 20 คน เมื่อรวมกับแผนกอื่น ๆ จึงเหลือราว ๆ 40-50 คน

ต่อมาปี 2563 การอพยพครั้งใหญ่เกิดขึ้น นายจ้างตัดสินใจย้ายฐานการผลิตและงานทุกอย่าง ทั้งสำนักงานและคลังสินค้า ย้ายมาประจำการย่านรังสิต โดยให้เหตุผลว่า เพื่อให้สามารถจัดส่งสินค้าได้สะดวกยิ่งขึ้น พอเขาย้ายมาเขาก็มีหนังสือถึงพนักงานทุกคน ขอให้พนักงานที่มีความประสงค์จะย้ายไปรังสิตส่งหนังสือแจ้งความประสงค์เป็นลายลักษณ์อักษร 

ตอนนั้นพี่ไหมเล่าว่า บริษัทเลือกพนักงานที่เขาต้องการให้ย้าย​ เลือกไปก่อน 9 คน จากทั้งหมดราว 40 คน และส่งหนังสือให้พนักงานคนอื่น ๆ ตัดสินใจ 

ตอนนั้นพนักงานที่เหลือเขามีลูก เขาสร้างครอบครัวแล้วจึงตัดสินใจไม่มา “มีพี่คนเดียวที่แจ้งความประสงค์จะมาที่รังสิต” พี่อยากมาเพราะอยากทำงานต่อ และอีกอย่างการที่พี่เป็นผู้นำแรงงาน มันจะสมัครงานอะไรใหม่ ๆ ยาก นายจ้างไม่ค่อยรับหรอก [ติดแบล็กลิสต์แกนนำสหภาพ]

ถึงตรงนี้ขอแก้ตัวแทนพี่ไหมว่า นี่คือส่วนหนึ่งของเรื่องที่ย่นย่อมาแบบสุด ๆ เพราะถ้าย่อสั้นกว่านี้คุณอาจไม่ได้เห็นรายละเอียดที่สำคัญ ไม่ได้เห็นรายละเอียดขั้นตอนและกระบวนการทางธุรกิจที่ซับซ้อน เพราะจุดเปลี่ยนเรื่องการย้ายฐานการผลิต นำมาสู่ จุดจบในเส้นทางสาวแรงงาน

ระหว่างที่เราคุยกันพี่ไหมทยอยหยิบเอกสารแฟ้มหนาวางบนโต๊ะ เป็นเอกสารที่นายจ้างสั่งให้เธอย้ายไปประจำที่สระบุรี หลังเธอไปรายงานตัวที่โรงงานใหม่ในเขตรังสิต เธอไม่ขัดข้องเพราะไม่อยากมีปัญหา จึงกลับมาและพบความจริงที่ว่า มีเพียงเธอและรปภ. เฝ้าประตูที่ต้องอยู่ในพื้นที่ที่เคยเต็มไปด้วยพนักงานเรือนร้อย 

จากนั้นไม่นานมีหนังสืออีกฉบับแจ้งให้เธอไปสมัครงานอีกบริษัท เกมนี้พี่ไหมรู้ทันเพราะหากเดินตามเกม การสมัครงานที่ใหม่จะทำให้เธอสละสถานะพนักงานกับบริษัทเดิมทันที เธอทำหนังสือคัดค้านก่อนได้รับจดหมายอีกฉบับแจ้งเปลี่ยนตำแหน่งจากพนักงานประกันคุณภาพเป็นพนักงานพีซี ดูแลการขาย

เรื่องนี้มันหักมุมแล้วหักมุมเล่า เพราะสุดท้ายได้ตำแหน่งไม่ตรงปก นอกจากตำแหน่งไม่ตรงปก บริษัทต้นสังกัดยังแจ้งว่า การทำงานของเธอต้องย้ายไปอยู่ภายใต้บริษัทใหม่ ซึ่งต้องเปลี่ยนจากการทำงาน 5 วันเป็น 6 วัน 

“ นี่มันเรียกว่า เปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างเลยนะพี่เลยไม่ยินยอม แล้วพี่อยู่สระบุรี โรงงานใหม่อยู่รังสิต แต่สั่งให้พี่ไปทำงานบริษัทอื่นที่สมุทรปราการ พี่ว่ามันมีนัยยะซ่อนเร้น พี่ตั้งข้อสังเกตว่า เขาไม่อยากให้พี่เข้าไปที่บริษัทที่เขาย้ายมาอยู่รังสิตถ่ายเลือดแล้วเลยกลัวพี่เข้าไปรวมพนักงานตั้งสหภาพอีก”

ธนพร วิจันทร์ ตัวแทนเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน 

ถึงตอนนี้ ธันวาคม 2020 ความไม่เป็นธรรมของการเลิกจ้างยังไม่หายไปไหน มันติดตามพี่ไหมไปทุกที่ไม่ว่าตอนหลับ ตอนตื่น หรือตอนที่มีรอยยิ้มบนใบหน้า วันนี้ในฐานะมนุษย์แรงงานบนห่วงโซ่อุปทานในระบบทุนนิยม พี่ไหมยังต้องทำงานหาเลี้ยงชีพและแบ่งเวลาส่วนหนึ่งของชีวิตติดตามความคืบหน้าทางคดี 

แรงงานยังคงตัวเล็กเสมอสวนทางกับการพองโตของทุน ที่ไม่จำเป็นต้องขึ้นศาลหรือดำเนินการเอกสารอื่นใดด้วยตัวเอง เพราะทนายความที่ปรึกษาบริษัทมีถมเถให้เลือกจ้าง 

ต้องยอมรับอย่างหนึ่งนะ เวลาเกิดคดีความแล้วต้องสู้กันในชั้นศาล ระหว่างแรงงานกับนายจ้าง ต้นทุนการต่อสู้มันต่างกันมาก กระดูกคนละเบอร์ 

ชฤทธิ์ มีสิทธิ์ นักกฏหมายแรงงาน

เรื่องจริงมันคงไม่ผิดเพี้ยนไปจากคำพูดของพี่ชฤทธิ์ มีสิทธิ์ นักกฏหมายแรงงานที่คลุกคลีกับกฏหมายในตำราและน้ำตาในชีวิตของแรงงานมานานเกิน 20 ปี

พี่ชฤทธิ์ เล่าว่าแม้ศาลแรงงานไม่ได้คิดค่าธรรมเนียมการขึ้นศาล แต่การมาฟ้องคดีที่ศาล ยังไงก็มีต้นทุน คิดง่าย ๆ ว่า ถ้าคุณถูกเลิกจ้าง ตกงาน ยังหางานไม่ได้ คุณมีบัตรผ่านขึ้นรถโดยสารมาศาลไหม แน่นอนนั่นมันฝัน ยังไง ๆ คุณก็ต้องจ่ายมีค่าเดินทางมาศาล ไหนจะค่าถ่ายเอกสาร ค่าสืบข้อมูลต่าง ๆ 

อย่างน้อย ๆ แม้เป็นระบบศาลที่ก้าวหน้าทำให้การดำเนินคดีในศาลรวดเร็วมากขึ้นแล้ว แต่ 1 คดีก็จำเป็นต้องไปศาลอย่างน้อย 5 ครั้ง หนึ่งวันยื่นฟ้อง สองนัดแรกไกล่เกลี่ย สามนัดกำหนดประเด็น สี่นัดสืบพยานและห้านัดฟังคำพิพากษา นี่ยังไม่นับรวมว่า ภาพความเป็นจริงเมื่อถูกเลิกจ้าง แรงงานไกลบ้านก็ต้องกลับภูมิลำเนา เพราะคงไม่มีใครยอมจ่ายค่าหอนั่งกินนอนกินแบบไม่มีรายรับ แล้วถ้ามีคดีความ ? ก็ต้องมาติดตามคดีในเขตพื้นที่ที่โรงงานตั้งอยู่ เช่น อยู่อีสาน แต่ทำงานที่ชลบุรี อย่างน้อยก็ต้องมาศาล 5 ครั้ง ค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่าใช้จ่ายตรงนี้เป็นต้นทุน

ถ้าคดีไม่ซับซ้อน แรงงานสามาถดำเนินการทางคดีด้วยตนเองได้ ไปปรึกษานิติกร (ซึ่งมีอยู่ไม่กี่คน) หรือ ไปปรึกษาศาลท่านก็พอช่วยได้ แต่ถ้าคดีซับซ้อนลูกจ้างไม่มีทนายความคงไม่ได้ ยิ่งปัจจุบันนายจ้างสมัยใหม่ซึ่งมีศักยภาพสูง มีทุน มีกิจการใหญ่โตระดับมาตรฐาน เขามีที่ปรึกษาด้านกฏหมายวางแผนให้หมด 

คดีแรงงานจึงไม่หมู แล้วยิ่งถ้ามีมิติเรื่องสหภาพแรงงานสถานประกอบการด้วย อย่างกรณีของพี่ไหม พี่ชฤทธิ์คอนเฟิร์มด้วยประสบการณ์งานทนายว่าเรื่องนี้ไม่ง่ายแน่ ๆ 

พี่ว่า เขาดีไซน์มาอย่างหรู และมีเส้นเรื่องที่อ้างอิงกับแผนธุรกิจ 

สิ่งที่ต้องทำคือ ค้นหาว่าการแกล้งอยู่ตรงไหน ?

ชฤทธิ์ มีสิทธิ์ นักกฏหมายแรงงาน

เวลานี้มีคดีแรงงานจำนวนมาก รูปคดีออกมาอ้างอิงอยู่กับแผนธุรกิจ แน่นอนถ้าศาลมองตามตัวหนังสือในกฏหมาย มันจะมองได้ว่าเป็นสิทธิ์ เป็นดุลยพินิจเป็นเอกสิทธิ์ของธุรกิจ แต่อย่าลืมว่า การย้ายฐานการผลิตทิ้งคนไว้ข้างหลังเท่าไร จ่ายค่าชดเชยจำนวนไม่เท่าไรตามกฏหมายแล้วจากไป นั่นคือความเป็นธรรมแล้ว ? การย้ายงานปรับเปลี่ยนตำแหน่งงานที่เขาไม่เชี่ยวชาญคือความเป็นธรรมหรือไม่ เราไม่มีใครถกเถียงเรื่องนี้จริง ๆ จัง ๆ สักที 

สำหรับพี่ชฤทธิ์ คดีแรงงานมันมีทั้งเรื่องชีวิตครอบครัว สังคม เศรษฐกิจ เรียกว่า มันคือเรื่องของคนตั้งแต่เกิดจนตายซ่อนอยู่ในนั้น ตีความเฉพาะหลักตามตัวอักษรไม่ได้ 

การจะเห็นมิติให้ครบในคดีแรงงานพี่ชฤทธิ์ ยืนยันว่า เจตนารมณ์ของกฏหมายมีอยู่แล้ว นั่นทำให้เกิดศาลแรงงานขึ้นในประเทศไทย แต่จะทำอย่างไร ? ให้ศาลแรงงานมีความรู้ความเข้าใจด้านแรงงาน ลำพังตัวศาลเองพี่ชฤทธ์พูดเสียงเข้ม ๆ กลางร้านกาแฟที่จอแจด้วยเสียงผู้คนว่า “ทำไม่ได้หรอก” เพราะแต่ละคนมีภาระงานล้นมือ 

แต่จะแก้เรื่องนี้ได้ ปัญหาใหญ่ คือ นโยบายของศาลภายใต้สำนักงานศาลยุติธรรม เช่น การเวียนกัน 7 ปีเพื่อเลื่อนขึ้นตำแหน่ง มันคงไม่ต่างจากประสบการณ์การดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ 4 ปีเปลี่ยน 1 คน ความเชี่ยวชาญจะเกิดคงยาก 

โจทย์การพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านแรงงานตามเจตนารมณ์ของกฏหมาย จึงเป็นเรื่องใหญ่ที่ฝากความหวังไว้ที่กระทรวงยุติธรรม ยิ่งในขณะที่โลกซับซ้อน สถานการณ์แรงงานก็ซับซ้อนมากขึ้น คำว่า ความชำนาญพิเศษในประเด็นแรงงาน ต้องไม่ได้หมายความว่า เก่งกฏหมายแรงงาน แต่ต้องหมายถึงความรู้ความเข้าใจในสถานการณ์ชีวิตแรงงาน ซึ่งมีมิติหลากหลาย ชีวิตที่เชื่อมโยงโลกเศรษฐกิจ การค้าระหว่างประเทศ เชื่อมโยงบริบทวัฒนธรรมสังคม ซึ่งสิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องมาคลุกคลีและรับรู้สภาพชีวิตจริงของแรงงาน

คุณจะมานั่งอ่านกฏหมายแรงงาน แล้วตัดสินได้หมด นั่นมันหายนะของประเทศ

พี่ไหมว่า…ชีวิตของแรงงานปี 2020 บอบช้ำแค่ไหน

แรงงานยุค 20 หรอ พี่ว่าเหมือนพิการซ้ำซ้อน เหมือนเดินสู่ทางตัน อันที่จริงสำหรับพี่ เราทุกคนคือแรงงานนะ ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ เป็นซีอีโอ หรือเป็นแม่บ้านทำความสะอาด เป็นคนกวาดถนน เมื่อคุณเจอปัญหา คุณก็อยู่ต้องใช้และอยู่ภายใต้กฏหมายแรงงาน  

ดังนั้นสิ่งที่เราต้องทำตอนนี้คือ ไม่แบ่งแยกว่า คุณคือแรงงานนอกระบบหรือแรงงานในระบบ ต้องไม่แบ่งว่าคุณทำอาชีพหรือตำแหน่งอะไร เพราะเมื่อรู้แล้วว่าแท้จริงเราทุกคนคือแรงงาน การรวมกลุ่มและแก้กฏหมาย แก้ปัญหาแกนกลางของแรงงาน มันน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดในยุคนี้

ชั่วโมงนี้ การรวมกลุ่มเป็นสหภาพแรงงานยังฟังก์ชันเหรอคะ 

“ยังจำเป็นนะ การรวมกลุ่มเป็นสหภาพแรงงานยังจำเป็น แต่การรวมกลุ่มตามกฏหมายเดิม คือ  1 สถานประกอบการ หรือ 1 อุตสาหกรรม ต่อ  1 สหภาพ มันไปไม่รอด เพราะการจ้างงานมันมีแฟลตฟอร์มใหม่ ๆ เยอะมากเลย 

พี่คิดว่าการรวมตัวแบบใหม่ ต้องมองเรื่องการรวมตัวคนทำงานทุกคน ทุกสาขาอาชีพ ถ้าทำได้ก็มีไม่ต่ำกว่า 42 ล้านคน จากนั้นมาแลกเปลี่ยนปัญหาร่วมที่เป็นแกนกลางสำคัญกันแล้วต้องแก้เชิงนโยบาย ต้องปฏิรูปกฏหมายแรงงานขนานใหญ่ให้ครอบคลุมการจ้างงานแบบใหม่ ๆ ด้วย สหภาพมันเป็นอำนาจต่อรองได้ สำหรับพี่มันคือทางออก”