ถ้าเสรีภาพคือลมหายใจ คนไทยกำลังหายใจไม่เต็มปอด - Decode
Reading Time: 3 minutes

ช่วงใกล้ค่ำวันศุกร์ ลาดพร้าว 16 เป็นสถานที่นัดพบของผู้คนที่เชื่อว่า “คนเท่ากัน”

มุมหนึ่งของงาน Friday Night Rights: Why Our Movement Matters ซึ่งจัดโดย Amnesty International Thailand เราเจอพื้นที่เล็ก ๆ ที่ได้รู้เพิ่มว่าทำไมเราควรแคร์และเข้าใจพลังของการขับเคลื่อนเพื่อเป้าหมายเคารพกันและกัน เห็นต่างแต่อยู่ด้วยกันได้

Decode คุยกับ 2 คนรุ่นใหม่ที่ทำงานขับเคลื่อนประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน คนหนึ่งเป็นพ่อค้าขายสติ๊กเกอร์ อีกคนคือแกนนำ Write for Rights 2020 และนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ถึงสิ่งที่ทำว่ามันช่วยเหลือ ช่วยเคลื่อน ช่วยสร้างความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างไร และทำไมเราต้องไม่ปล่อยให้การละเมิดสิทธิเป็นเรื่องปกติธรรมดา บวก 1 คนที่ทำงานด้านสิทธิบอกว่า แม้เห็นการเคลื่อนไหวถูกมองว่า ทะลุเพดานไปแล้ว แต่การคุกคามก็เกิดขึ้นแทบทุกรูปแบบ มันยากมากที่จะพูดได้ว่าเราแสดงออกอย่างเต็มที่ หนึ่งในคนที่เราคุยด้วยว่า

ถ้าเสรีภาพเปรียบเป็นลมหายใจ วันนี้มันคือการหายใจที่ไม่เต็มปอด

ภาพจาก Amnesty International Thailand

ม็อบที่ระลึก

โนอา เจ้าของร้านสติ๊กเกอร์ catslave_novelty วัย 25 ปี หยิบการชุมนุมที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งในปีนี้มาเล่า เพราะอยากบันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ ไว้ให้เป็นมีม (Meme) และเป็นช่วงเวลาที่ระลึก เขาทำของขายมามาตั้งแต่ปี 2560 ช่วงหมุดคณะราษฎรหายไป พอช่วงเดือน พ.ค.63 ก็คุยกับเพื่อนว่าจะเปิดร้านขายของเกี่ยวกับธีมการเมือง แต่พอการชุมนุมเกิดขึ้น เพื่อนถอนตัวไปไปช่วยม็อบ โนอาเลยมาลุยทุกอย่างเอง

“ที่เราอยากทำเรามองว่าสติ๊กเกอร์มันช่วยส่งต่อ และขยายความดังของสารที่เกิดในการชุมนุม เพราะคนที่ซื้อไปก็จะเอาไปติดรถ กระเป๋า มือถือ หรืออุปกรณ์อิเล็ทรอกนิกส์ต่าง ๆ ตอนนี้งานศิลปะหลาย ๆ แขนงถูกนำมาใช้สื่อสารประเด็นของผู้ชุมนุมมากขึ้น ผมมองว่ายังเป็น Soft Power ที่ช่วยเชื่อมคนที่ยังไม่ได้เข้าใจมาเสพมันได้อย่างเท่า ๆ กัน”

การงานหลังเรียนจบนี้ ไม่ได้มาเพราะอยากเกาะกระแส แต่โนอาสนใจเรื่องการเมืองเรื่องสิทธิมาตั้งแต่เด็ก ๆ เพิ่มความเข้มข้นมากขึ้นช่วงเรียนอยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขาได้ร่วมทำกิจกรรมในสถาบันร่วมกับ แฟรงค์-เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

“จริง ๆ ผมขบถมานานแล้ว เรามีความเชื่อเดิมอยู่ตั้งแต่เด็ก ๆ เช่นนักเรียนต้องเคารพครู แต่ทำไมครูไม่เคารพนักเรียนเลย แต่พอมาตอนนี้ มีคนคิดเหมือนเราเยอะมากขึ้นเรื่อย ๆ”

โนอาบอกว่าตั้งแต่มีการชุมนุมเกิดขึ้นความเข้มข้นของการกระทำละเมิดสิทธิ กัน เช่น เรื่องทรงผม การแต่งกาย ระบบโซตัส มันก็ตอนนี้ค่อย ๆ ลดระดับลง แต่มันมีอยู่ โนอาบอกว่าเพราะมัน “ถูกตีแผ่” สู่สาธารณะมากขึ้นจนคนเข้าใจเรื่อย ๆ ไม่เหมือนอย่างรุ่นเขาหรือรุ่นก่อนหน้านี้ แต่ถ้าเป็นมุมความรุนแรงของการละเมิดสิทธิ์ด้วยการจับกุม ถูกตั้งข้อกล่าวหา อันนี้ถือว่า รุนแรงกว่าเดิม

“มันรับไม่ได้ ที่เด็กต้องมาโดนใบสั่ง โดนคดีตั้งแต่มัธยม มันไม่ควรมีใครโดนคดี คานธีเคยพูดว่า เวลาเราเรียกร้องครั้งแรก เขาหัวเราะ ต่อมาเขาเมิน จากนั้นเขาสู้-ทำร้าย สุดท้ายเราชนะ ตอนนี้เราอยู่อันที่ 3 แล้วนะ”

ส่วนเด็กที่โดนคุกคามจากที่บ้าน โรงเรียน โนอาเห็นว่าตอนนี้การแก้ไขมันก็ต้องช่วยกันเองเป็นหูเป็นตาให้กัน แต่ทางออกระยะยาวเป็นสิ่งที่ต้องคิดทำให้ได้ คือการทำให้คนเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนให้มากขึ้น

“ทำไมคนหลายคนยังไม่ได้เข้าใจเรื่องสิทธิมาก ผมมองว่ามันเป็นความเคยชินของเขามากกว่า มีไหมคนที่ชอบละเมิดคนอื่น เป็นซาดิสอะไรแบบนี้ก็คงมีแต่น้อย แต่ผมมองว่าเขาไม่ก้าวข้ามมันมาเอง พอเด็กออกมาถามมาแสดงออกก็เหมือนไปทำร้ายเขา จนเราเห็นว่าเขาตอบโต้กลับยังไง”

“เราไม่ควรมองเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องเลวร้าย”

จ่าหน้าซองถึงผู้มีอำนาจ

เราเห็นโปสการ์ดวางเรียงรายอยู่อีกโต๊ะตรงข้าม หน้าตาคนบนโปสเตอร์ไม่คุ้นเคย คนที่อยู่ในบูทเชิญชวนให้เราลงชื่อเพื่อช่วยเหลือ 3 นักเคลื่อนไหวที่กำลังต่อสู้กับความอยุติธรรมในต่างประเทศ

“การละเมิดเกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ใช่แค่ประเทศประเทศหนึ่ง แม้แต่ในประเทศที่เรามองว่าเขาพัฒนาแล้ว” เมย์-ณัฐพร เทพานนท์ นักกิจกรรม/แกนนำ Write for Rights 2020 เริ่มต้นเล่าให้ฟัง

ทำไมใช้รูปแบบการเขียนจดหมาย? เราสงสัย เมย์บอกว่า ที่ใช้วิธีนี้ก็เพราะก่อนหน้านี้มีเคสที่เคยสำเร็จมาแล้ว เป็นเคสผู้หญิงถูกกระทำและละเมิดสิทธิ ตอนนั้นคนทั่วโลก 6 ล้านคนเขียนจดหมายการกดดันรัฐบาลจนผู้หญิงคนนั้นได้รับการปล่อยตัว และพ้นโทษในที่สุด การเขียนมี 2 แบบ คือ เขียนกดดันรัฐบาล กดดันผู้มีอำนาจ และการเขียนเพื่อให้กำลังใจผู้ถูกกระทำ หรือครอบครัวของเขาให้ผ่านช่วงเวลายากลำบากนี้ไปให้ได้

“การที่เรามีอภิสิทธิ์ (Privilege) ไปรู้เรื่องของเขา เราก็ควรใช้เสียงของเรารณรงค์ให้เสียงที่ไม่ได้ดังเท่าเรา ทำให้มันดังขึ้น ให้ได้รับความสนใจมากขึ้น การที่คน ๆ หนึ่งจะเจออะไรแบบนี้อาจไม่มีใครรับรู้ถึงความยากลำบากของเขาเลยก็ได้ เมื่อเรารู้เราก็ควรเข้าไปช่วย”

ถ้าขยับเข้ามาใกล้ตัวหน่อยก็คือการชุมนุมของคนรุ่นใหม่มีเด็กนักเรียน นักศึกษา เข้าร่วมจำนวนมาก เมย์ก็ย้ำคำพูดคล้าย ๆ กับคนอื่น ๆ ว่า “มันไม่ใช่แค่ขบวนการของเด็ก มันไม่ใช่เรื่องอายุว่าเราจะไม่ฟังเขานะถ้าเขาเด็กกว่า แต่ว่าถ้าเขาเป็นคน ๆ หนึ่งที่ถูกริดรอนสิทธิ เราก็ควรฟังให้มากขึ้น เขาก็ต้องเป็นส่วนหนึ่งในสังคม ขณะที่เราก็แก่ตัวลงไป”

ข่าวคราวเด็กถูกคุกคามทั้งกาย คำพูด จิตใจ หรือหมายจับที่รับรู้มา เมย์บอกว่าในกลุ่มคนที่เข้าใจประเด็นนี้อยู่แล้วก็จะต่อสู้เต็มที่ จับตาติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด แต่มันก็เกิดคำถามว่า แล้วอะไรที่ทำให้คนอีกกลุ่มยังไม่ได้เข้าใจเรื่องการละเมิดสิทธิในแบบต่าง ๆ

“เราว่าคนไม่ได้รู้จักพริวิเลจของตัวเอง เช่น การที่คนอื่นโดนเราไม่โดนก็เป็นพริวิเลจแล้วนะ เพราะทุกคนเป็นมนุษย์ อีกส่วนหนึ่งคือตั้งแต่เด็กเราไม่ค่อยถูกสอนให้เข้าใจว่าเรามีสิทธิ มีพริวิเลจยังไง การที่เราได้รับการศึกษาแต่ก็ยังมีคนไม่ได้รับ แล้วเราก็มองว่านั่นเป็นส่วนน้อยนะ เราไม่สามารถมองไปไกลกว่าตัวเองได้ เราต้องเรียนรู้ตรงนี้มากขึ้น ไม่ได้มีแค่เราไม่ได้มีแค่สิ่งแวดล้อมที่เราเจอ แบบทุกคนดูรักกันดูสงบ แต่มันมีมากกว่านั้น คือ มีคนที่เดือดร้อนอยู่”

และการทำให้คนเข้าใจเรื่องราวของสิทธิที่นอกวงคนสนใจยังไงก็ต้องทำ ซึ่งมันไม่ใช่การหาพวก แต่คือการทำให้เข้าใจมากขึ้นเพื่อลดความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น

“ถ้าต้องการเสียงที่มากขึ้นมันไม่ใช่แค่ echo chamber เสียงจากกลุ่มเดิม ๆ เราต้องสื่อสารให้เข้าใจว่าทำไมคนออกมา การให้เขาเปลี่ยนความคิดแล้วมาเข้าร่วมอาจจะยาก อย่างน้อยให้เขาเข้าใจดีกว่า”

รีวิวสิทธิมนุษยชนของไทย 2020

เราโยนคำถามให้ พี่นุช-ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ว่าปีนี้ 2020 เป็นปีที่ไทยประสบกับปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนหนักกว่าทุกปีหรือเปล่า

“เป็นปรากฎการณ์ที่แย่ และดีที่สุด”

ที่แย่ คือ รูปแบบการละเมิดสิทธิเกิดขึ้นแทบทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการใช้กฎหมายหรือการคุกคาม หรือแม้แต่ในครอบครัว และรั้วโรงเรียน การแสดงออกของประชาชน และเยาวชนถูกจำกัด และทำได้ไม่เต็มที่

ที่ดี คือ การได้เห็นพลัง และความกล้าของคนรุ่นใหม่ที่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เขาก็พยายามหาวิธีการ หาความคิดสร้างสรรค์มาแสดงออกในวิธีของตัวเอง นอกจากนี้ยังเข้าใจ-รู้เรื่องสิทธิแบบเฉียบคมมาก

“สิ่งที่เรารู้สึกเป็นห่วงคือ ชีวิตคน ๆ หนึ่ง ชีวิตของเขาอยู่ที่ไหน อยู่ที่บ้านก็ทะเลาะออกมาจากบ้าน อยู่ที่โรงเรียนก็มีการคุกคาม ผิดกฎโรงเรียนก็ให้เจ้าหน้าที่เข้ามาจับ มาอยู่ที่ท้องถนน ก็มาโดนสังคม โดนเจ้าหน้าที่อีก หรืออยากแสดงออกในออนไลน์จะได้ไหม แล้วเราจะโดนคดีอะไรบ้าง แต่เราแทบไม่มีพื้นที่เหลือเลย ถ้าเสรีภาพการแสดงออกคือลมหายใจ เราจะไม่มีที่ที่ทำให้เราสูดหายใจกันเลย”

ในภาวะที่เรากำลังหายใจติดขัด เด็ก เยาวชน กำลังถูกละเมิดสิทธิโดยที่รัฐอยู่ฝ่ายตรงข้าม “ความเคว้งคว้าง” เข้าปะทะเด็กหลายคนอย่างแน่นอน พี่นุชบอกว่าตอนนี้องค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมกันทำงานตรงนี้ อย่างเรามีโครงการ Child in mob เฝ้าระวังมีเด็ก 15-18 ปี จากความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น แต่ทั้งหมดเป็นงานเชิงรับไม่ใช่การแก้ปัญหาจากต้นเหตุ เพราะมันเกี่ยวข้องกับระบบการปกป้องคุ้มครองสิทธิ ซึ่งในปีหน้าจะมีการประเมินทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน หรือว่า UPR (Universal Periodic Review) ประเทศไทยจะต้องตอบคำถามนานาชาติว่า ที่ผ่านมาได้ทำตามข้อตกลงทีในฐานะที่เป็นรัฐภาคีเรื่องอนุสัญญาคุ้มครองเด็ก ซึ่งมีมาตั้งแต่ปี 2538 และตามพ.ร.บ.คุ้มครองเด็กปี 2546 หรือไม่

วิ่งมาราธอน

แม้วันนี้สังคมไทยเข้าสู่ระยะของการเปลี่ยนผ่านแล้ว แต่การเปลี่ยนผ่านไม่ได้จะเกิดขึ้นในเร็ววัน มันเหมือนมาราธอนที่ต้องวิ่งระยะยาวไปด้วยกัน ทั้งผู้ชุมนุม ผู้เห็นต่าง และรัฐ ซึ่งระหว่างทางนี้เองต้องทำให้มั่นใจว่าการคุกคาม และการใช้กฎหมายไม่ชอบธรรมไม่ควรเกิดขึ้น

“ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่ที่น่าห่วงคือเราเห็นคนที่เจอคดีเยอะมาก มันไม่ใช่ทางแก้ปัญหาแล้วมันจะยิ่งสร้างความกลัว ความโกรธ เราไม่ควรสร้างบรรยากาศให้มีความหวาดหลัว ทำให้คนไม่กล้าพูด แต่อยากบอกว่าตราบใดที่คุณไม่ใช่ความรุนแรง ใช้ความสร้างสรรค์เราว่าไม่มีความชอบธรรมมาปิดปากคุณได้ อีกทางหนึ่งรัฐก็ต้องทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองด้วย สุดท้ายทั้ง 2 ฝ่ายต้องทราบว่าคุณไม่ได้อยู่คนเดียวในโลก อยู่ในสังคมโลก และมีคนจับตาอยู่