ส่งจม.ไม่ไปเลือกตั้งอบจ. ปรากฏการณ์คู่ขนานกับเมืองโตเดี่ยว เส้นบาง ๆ ระหว่างเสรีภาพในการเคลื่อนที่กับสำนึกประชาธิปไตย - Decode
Reading Time: 2 minutes

‘อย่าลืมกลับบ้านไปเลือกตั้ง’ เรียกได้ว่าเป็นคำเชิญชวนไปเลือกตั้งที่ท็อปฟอร์มที่สุดประจำการเลือกตั้งท้องถิ่นปี 2563 ประโยคนี้ฟังไปฟังมาก็ดูจะไม่มีปัญหาอะไร แต่หากเราลองเอะใจกับคำถามนี้สักนิดนึง เราอาจจะเจอคำถามคล้าย ๆ กัน

“ตัวฉันอยู่ที่นี่ แต่ทำไมสิทธิในการเลือกตั้งของฉันกลับอยู่ที่อื่น”

“ตัวฉันที่ต้องนั่งรถเมล์จนเมื่อยเพราะรถติด ตัวฉันที่ต้องเดินบนถนนแม้จะกลัวรถเฉี่ยวแต่ดีกว่าจะต้องเดินตกท่อ ตัวฉันที่ต้องสูดฝุ่น PM 2.5 เข้าไปทุกวันแต่ทำไมถึงไม่มีสิทธิรู้เลยว่ารอบ ๆ เขตปริมณฑลมีโรงงานเผาขยะมาตั้งอยู่แล้วกี่แห่ง” 

“ตัวฉันที่อยู่ที่นี่ แต่ทำไมกลับไม่มีสิทธิในการจะกำหนดความเป็นไปของเมืองที่ฉันอยู่”

หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 20 ธันวาคมนี้ นับได้ว่าเป็นการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งแรกของประชาชนที่มีอายุระหว่าง 18-26 ปี หลังจากที่การเลือกตั้งท้องถิ่นถูกเว้นว่างไปตั้งแต่ปีพ.ศ. 2555 ผนวกกับการเมืองระดับประเทศที่เข้มข้นขึ้น ไหนจะการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นแทบทุกอาทิตย์ จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจหากเราจะเห็นเหล่าคนรุ่นใหม่ตื่นตัวกับการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้มากกว่าครั้งที่ผ่านมา

ซึ่งสำหรับคนรุ่นใหม่ที่เป็นเด็กพลัดถิ่น หรือ ประชากรแฝงตามเมืองใหญ่ เรามีอยู่ 2 แนวทางที่เราจะสามารถทำได้เพื่อรักษาสิทธิของตัวเอง แนวทางแรกคือการเดินทางกลับบ้านเพื่อไปเลือกตั้งโดยเฉพาะซึ่งแน่นอนว่า มีต้นทุนเรื่องเวลาและเรื่องการเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง แนวทางที่สอง คือการส่งจดหมายแจ้งเหตุไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ซึ่งหากวิเคราะห์จากกระแสตามโซเชียลมีเดียต่าง ๆ แล้วนั้น แนวโน้มในแนวทางที่สองน่าจะมีเปอร์เซ็นต์ที่ไม่น้อยเลยทีเดียว

จากเรื่องนี้ก็ชวนให้เกิดคำถามขึ้นมาเหมือนกันว่าในเมื่อตัวเราอยู่ที่นี่ ชีวิตเราอยู่ที่นี่ แต่ทำไมเราถึงต้องกลับบ้านไปเลือกตั้งที่โน่น ที่ถึงแม้จะเรียกได้ว่าเป็นบ้านเกิดของเราก็จริงแต่ก็มีคนรุ่นใหม่หลายคนที่เข้ามาใช้ชีวิตในเมืองใหญ่และวางแผนที่จะสร้างอนาคต ณ ที่แห่งนี้ต่อ… 

ด้วยความสงสัยและต้องการได้รับคำตอบ Decode จึงชวน ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาร่วมถอดรหัสถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนกับเมือง ว่าบริบทเมืองที่เปลี่ยนไปส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายที่อยู่ของคนอย่างไร อะไรเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้การเลือกตั้งท้องถิ่นในครั้งนี้ดูจะไม่ได้เป็นที่สนใจในหมู่คนรุ่นใหม่ และแนวทางในการจัดการคนในเมืองแบบไหนถึงจะเหมาะสมกับสภาพเมืองที่กำลังเปลี่ยนไป

เมื่อเมืองเปลี่ยนไปแต่การจัดการคนในเมืองไม่เปลี่ยนตาม

“ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่นี้ ไม่ได้สะท้อนภาพเมืองที่เปลี่ยนไป แต่มันสะท้อนภาพเมืองที่เป็นอย่างนี้มาตั้งแต่แรกต่างหาก”

ประโยคข้างต้นคือคำตอบจากอาจารย์พิชญ์กับคำถามที่ว่า ปรากฏการณ์คนรุ่นใหม่แห่ส่งจดหมายแจ้งไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งท้องถิ่นสะท้อนภาพเมืองที่เปลี่ยนไปได้อย่างไร ซึ่งเขาอธิบายเพิ่มเติมว่าการเกิดขึ้นของปรากฏการณ์นี้สัมพันธ์กับลักษณะการเติบโตของเมือง

“อย่างที่รู้กันว่าประเทศเรา คือประเทศที่กำลังพัฒนา ซึ่งลักษณะการเติบโตของเมืองในประเทศเหล่านี้นั้นจะเป็นการเติบโตแบบเมืองโตเดี่ยว หมายความว่าเมืองที่ใหญ่ที่สุดจะโตกว่าเมืองอันดับสองอย่างมาก เนื่องจากหลักการของมันคือการเอาทรัพยากรมารวมกันไว้ที่หนึ่ง และหวังว่าสักวันมันจะไหลล้นออก เพราะถ้าเรากระจายทรัพยากรไปทุกที่มันจะไม่เจริญ ถ้าใครเรียนรัฐศาสตร์จะรู้ดีว่ามันคือ Trickle-Down Effect หรือแนวคิดการกระจายผลการเติบโตจากบนสู่ล่าง เมืองมันจะต้องไหลล้นไปตามต่างจังหวัดแต่ในความเป็นจริงมันไม่ค่อยได้ไหลกลับไปหรอก เพราะยิ่งเมืองเติบโต ปัญหามันก็ยิ่งกระจุกอยู่ในจุดนี้เพิ่มขึ้น” 

หนึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นตามมาคือการหลั่งไหลเข้าสู่ตัวเมืองใหญ่ของผู้คน ไม่ว่าจะเป็นการย้ายถิ่นเพื่อเข้าสู่แหล่งงานหรือเพื่อเข้าสู่ระบบการศึกษา อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่า ในปัจจุบันทั้งโรงเรียนมัธยม หรือ มหาวิทยาลัยตามต่างจังหวัดจำนวนมากล้วนมีหน้าที่ในการคัดเลือกและส่งตัวเด็กเข้ามาในเมืองใหญ่ โดยเฉพาะส่งเข้ามาในกรุงเทพมหานคร นอกจากนี้การเกิดขึ้นของมหาวิทยาลัยเอกชนในกรุงเทพฯ ที่เพิ่มจำนวนขึ้นราวกับดอกเห็ดก็เป็นอีกหนึ่งแรงจูงใจให้เด็กต่างจังหวัดหลายคนที่พอจะสามารถเข้ามาเรียนในที่เหล่านี้ได้เลือกที่จะย้ายเข้ามาเรียนต่อ เพราะเชื่อว่าการได้เรียนในเมืองใหญ่จะทำให้เขามีโอกาสใกล้ชิดแหล่งงานในอนาคตได้มากกว่า ด้วยเหตุนี้เองประชาชนจากทั่วทุกสารทิศจึงหลั่งไหลเข้าสู่หัวเมืองใหญ่ ๆ 

จากสถิติประชากรแฝงในประเทศไทย พ.ศ. 2562 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้รายงานผลประชากรแฝงที่อาศัยประจำในพื้นที่นั้น ๆ จากจำนวนประชากรแฝง 6.9 ล้านคนมีประชากรแฝงอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ถึง 2.27 ล้านคน และมีอีก 1.95 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในเขตปริมณฑล เรียกได้ว่ามีประชากรแฝงเกือบ 4.3 ล้านคนอาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่เขตเมืองหลวงของประเทศ โดยสาเหตุในการย้ายถิ่นของประชากรแฝงส่วนใหญ่ มีสาเหตุมาจากหน้าที่การงานและการศึกษา

“เมื่อเราเข้าใจเมืองในลักษณะนี้ เราจะเห็นเลยว่า ประชากรที่เรารู้สึกว่าเป็นคนรุ่นใหม่จำนวนมาก เขาไม่ได้อยู่ในจังหวัดของตัวเอง เขาใช้ชีวิตนอกจังหวัดของเขาเอง หรือเขาใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ในภูมิภาคนั้น แต่ระบบการเลือกตั้งท้องถิ่นเรามันไม่ได้ไป fit in กับเรื่องเหล่านี้เลย”

สิทธิของฉันอยู่ที่ไหน…คุณใช้อะไรกำหนด 

พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 หมวด 4 การย้ายที่อยู่ มาตรา 29 นั้นได้บอกไว้ว่า ‘ผู้ใดมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านใด ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้นั้นอยู่และมีภูมิลำเนาอยู่ ณ ที่นั้น’ 

สำหรับคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้งท้องถิ่น มีอยู่ 3 ข้อด้วยกัน 
หนึ่ง สัญชาติไทย 
สอง ในวันเลือกตั้งต้องอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี 
และสาม มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 1 ปี 

“เราคือคนที่ไหน…ใช้อะไรเป็นมาตรวัด ? 
สำหรับเด็กพลัดถิ่น นี่อาจจะเป็นคำถามที่อยู่ในใจของหลาย ๆ คนตลอดการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้ 

จากคุณสมบัติทั้งหมด คุณสมบัติข้อที่ 3 คือข้อที่ชวนให้เกิดอาการเอ๊ะในใจมากที่สุด เพราะหากเราลองคิดตามสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นว่า ในวันที่เมืองขยายตัวเปิดรับผู้คนอย่างหลากหลายและผู้คนต่างหลั่งไหลย้ายถิ่นที่อยู่ได้อย่างไร้ขอบเขต การกำหนดคุณสมบัติแบบนี้จะยังเวิร์คอีกไหม และเผลอ ๆ เราอาจจะต้องตั้งคำถามไปให้ไกลกว่านั้นว่า การที่เราจะกำหนดให้ใครสักคนเป็นคนของพื้นที่ไหนโดยวัดมาจากการมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน หลักการนี้ยังคงฟังก์ชั่นกับสังคมสมัยใหม่อยู่อีกหรือเปล่า 

เพราะในเมื่อตัวเราอยู่ที่นี่ ชีวิตของเราอยู่ที่นี่ แต่ทำไมสิทธิของเรายังอยู่ที่โน่น
เราจำเป็นที่ต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านอย่างเดียวหรือ…ถึงจะมีสิทธิมีเสียงในเมืองที่เราอาศัยอยู่
แล้วการที่เราใช้ชีวิตทุกวันอยู่ในเมือง ไม่ได้หมายความว่า เราสมควรที่จะมีสิทธิในการออกแบบเมืองนี้ร่วมกันอย่างนั้นหรอกหรือ  

“คุณลองคิดดู คุณไม่ได้อยู่ในพื้นที่คุณ แล้วคุณจะไปเลือกตัวแทนคุณในพื้นที่นั้นทำไม และในเมื่อคุณย้ายมาอยู่ในพื้นที่นี้แล้ว คุณก็ควรต้องแคร์เรื่องรอบตัวคุณไม่ใช่เหรอ คุณเสียสิทธิในการดูแลชีวิตตัวเองไหมล่ะ ในเมื่อคุณใช้ชีวิต 3 ปีในบริเวณนี้ ทำไมคุณไม่มีสิทธิเลือกตั้งตัวแทนท้องถิ่นในเขตนั้นที่เขาจะดูแลชีวิตคุณ”

อาจารย์พิชญ์ เสริมในประเด็นนี้ว่า หนึ่งสิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนไปเลยคือการจัดการสำมะโนประชากร แค่มีบัตรประชาชนใบเดียว เราสามารถย้ายไปอยู่ที่ไหนก็ได้ทุกพื้นที่ในประเทศไทย ในแง่หนึ่งอาจจะมองได้ว่านี่คือเสรีภาพในการเคลื่อนที่ แต่ในอีกแง่หากเราต้องการจะสร้างสำนึกให้ผู้คนผูกพันกับท้องถิ่นของตัวเอง เขาจำเป็นจะต้องตระหนักถึงการมีสิทธิในพื้นที่นั้น ๆ แต่ระเบียบที่มีอยู่ในทุกวันนี้ไม่สามารถพาผู้คนไปถึงการตระหนักในขั้นนี้ได้ นี่ยังไม่นับรวมปัญหาการทำนโยบายที่ไม่สามารถตอบโจทย์ได้ตรงจุด เนื่องจากไม่ได้มีข้อมูลตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น

“คุณลองถามตัวเองดูว่า คุณเกิดมากี่ปีแล้ว มันเคยมีความพยายามแก้ไขในการจัดการทะเบียนราษฎรไหม คุณโตแล้วนะ คุณสามารถย้ายไปที่ไหนก็ได้ และเมื่อคุณย้ายไปแล้ว คุณก็ต้องตรวจสอบบริการที่คุณจะได้รับได้ด้วย แต่คุณจะตรวจสอบได้ยังไงในเมื่อทุกวันนี้มันไม่มีระบบอะไรเลย ใครอยากทำอะไรก็ทำ แล้ววิธีคิดของคนที่จะมีจิตสำนึกในเรื่องของการตรวจสอบประชาธิปไตยใกล้ตัวจะอยู่ตรงไหน ทั้งที่การปกครองท้องถิ่นมันเป็นรูปแบบแรก ๆ ของประชาธิปไตยไม่ใช่เหรอ” 

จะรู้ตำแหน่งแห่งที่ของเราได้อย่างใด…ถ้าไม่มีการลงทะเบียน 

“คุณรู้ไหมในอังกฤษ ถ้าคุณเป็นนักเรียนต่างชาติ ไม่ว่าคุณจะย้ายไปอยู่พื้นที่ไหน คุณต้องไปลงทะเบียนการเข้ามาอยู่ในพื้นที่นั้นที่สถานีตำรวจภายในเขต เพื่อบันทึกข้อมูลพื้นฐานของคุณรวมถึงที่พักอาศัยปัจจุบัน หรือจะเป็นอย่างที่จีน ถ้าคุณจะย้ายไปที่ไหน คุณต้องขอวีซ่าอนุญาตในการข้ามเขตเลยนะ แต่ผมไม่ได้บอกว่าเราจำเป็นต้องออกวีซ่าขนาดแบบของจีน ก็ไม่ถึงขนาดนั้น แต่อย่างน้อยมันควรบอกให้ได้ว่า ตำแหน่งแห่งที่คุณอยู่มันอยู่ตรงไหน” 

อาจารย์พิชญ์เสนอว่า ทางแก้ของเรื่องนี้คือการลงทะเบียน โดยอาจจะเริ่มต้นจากการลงทะเบียนย้ายเข้าในระดับจังหวัดก่อนก็ได้ เพื่อที่เราจะได้รู้ว่าประชากรของเราอยู่ที่ไหนจริง ๆ กันแน่ แต่แน่นอนว่าการกฎหมายในเรื่องการย้ายที่อยู่ของผู้คนนั้นยังคงสัมพันธ์กับการมีทะเบียนบ้าน ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีบ้านหรือที่พักที่อนุญาตให้เราย้ายชื่อเขาไปได้ ซึ่งสำหรับประเด็นนี้เขาคิดว่า ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องเปลี่ยนการนิยามนี้เสียใหม่ 

“คุณจะมาตัดสินสิทธิในเมือง เพียงเพราะใครมีทะเบียนบ้านอยู่ในเมืองไม่ได้” 

“มันไม่จำเป็นว่าเราต้องย้ายทะเบียนบ้านมา รัฐอาจจะคิดทะเบียนกลางขึ้นมาหรือเปล่า โดยหลักฐานที่จะมาใช้ยืนยันการย้ายมาอยู่ที่นี่ในระยะยาวอาจจะมาจากสัญญาเช่าในแต่ละเดือนไหม อันนี้ก็เป็นข้อเสนอในแง่มุมหนึ่ง เพราะถ้าหากคุณลองคิดต่อ ถ้าคุณมาอยู่แบบไม่มีสิทธิ คุณจะปกป้องสิทธิคุณได้ยังไงในฐานะผู้เช่า หรือภาครัฐจะเข้ามาดูแลค่าเช่าในพื้นที่นั้นได้ยังไง หรือมันอาจจะไปถึงขั้นเรื่องภาษีเลยหรือเปล่า เงินภาษีของคุณมันควรจะไปที่ไหน ทั้งหมดนี้มันต้องถึงเวลาที่เรามาเริ่มต้นคุยกัน”

นอกจากจะมีกฎหมายที่รองรับการย้ายถิ่นที่อยู่แล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญคือการสร้างแรงจูงใจให้ผู้คนเข้ามาลงทะเบียน ซึ่งเรื่องนี้เขามองว่าจำเป็นที่จะต้องปรับกันทั้ง 2 ทาง ฝ่ายภาครัฐเองก็ต้องมีการออกกฎระเบียบใหม่หรือเปล่า เช่น หากประชาชนอยู่นอกเขตโดยไม่ย้ายชื่อมาตามเขตที่อยู่จริง อาจจะต้องภาษี 2 เท่าหรือเปล่า หรือค่าเทอมอาจจะแพงขึ้น หากนักศึกษาหรือนักเรียนไม่ย้ายชื่อมาอยู่ในเขตที่สถานศึกษาตั้งอยู่ เป็นต้น ส่วนทางฝ่ายประชาชน อาจารย์พิชญ์คิดว่า ประชาชนของเราก็ต้องตื่นตัวมากขึ้น สนใจเมืองที่อยู่รอบตัวเราและรักษาสิทธิของตัวเอง

“กฎหมายนี้มันออกมาตั้งแต่ยังไม่มีท้องถิ่นอย่างจริงจัง ในอดีตมันอาจจะไม่เกี่ยวแต่ตอนนี้ไม่ใช่ ในวันนี้คุณย้ายไปอยู่ในเขตไหน คุณก็ต้องโหวตในเขตนั้น คุณจะได้รู้ว่าชีวิตคุณมันเกี่ยวพันกับบริการสาธารณะยังไง คุณจะได้ตรวจสอบการทำงานของภาครัฐได้ ฉะนั้นถามตัวเองว่า ถ้าคุณมีชีวิตอยู่ตรงนี้ แต่คุณต้องไปเลือกตั้งอีกที่ คุณจะตรวจสอบอะไรได้ยังไง” 

“ประเด็นใหญ่ที่มาคุยกันในวันนี้ คือเรากำลังมาหาสาเหตุว่าเพราะเหตุใดทำไมเด็ก ๆ อาจจะไม่ได้สนใจเลือกตั้งรอบนี้มากนัก ซึ่งคำตอบของมันกว้างไปกว่าที่ว่า เพราะวันหยุดมันไม่ตรง หรือเพราะเด็ก ๆ ไม่สนใจการเมือง แต่จริง ๆ แล้วเพราะรูปแบบการพัฒนาเมืองและรูปแบบสำมะโนประชากรของบ้านเรามันเป็นแบบนี้ต่างหาก”