“หัวใจฉันเลยจุดเยือกแข็ง” วัดอุณหภูมิภาษาของตัวเอง - Decode
Reading Time: 2 minutes

ฉันยังคงจำอุณหภูมิของหัวใจในวันที่เลือกหยิบหนังสือนี้ขึ้นมาได้เป็นอย่างดี
มันเป็นวันที่อุณหภูมิในใจฉันมีแต่ความหนาวเหน็บ เป็นความรู้สึกที่ฉันแสนเกลียด 
และถ้าเลือกได้…ฉันขอไม่พบเจอกับความรู้สึกนั้นอีกตลอดกาล

ในขณะที่บรรยากาศรอบกายของฉันเต็มไปด้วยฝุ่น PM 2.5 แถมอากาศยังร้อนระอุราวกับอยู่ในกองเพลิง วันนั้นกลับเป็นวันที่ภายในใจของฉันเต็มไปด้วยความหนาวเหน็บที่เข้าขั้นติดลบ ไม่สิ เรียกได้ว่า เลยจุดเยือกแข็งไปแล้วด้วยซ้ำ ฉันในวันนั้นปรากฏแค่ความทุกข์ใจจนไม่สามารถรู้สึกกับสิ่งใดได้อีกต่อไป 

ไม่ยิ้ม ไม่หัวเราะ ไม่ร้องไห้ ไม่กรีดร้อง – มีแต่ความด้านชา เย็นเยือก เปล่าเปลี่ยว และ เงียบเหงา 

จิตใจที่ร้อนรุ่มสะท้อนออกมาผ่านสายใต้ที่ว่างเปล่า
ราวกับเป็นสัญญาณเตือนว่า หัวใจของฉันถึงเวลาได้รับการซ่อมแซม

ถึงแม้จิตใจของฉันจะของดให้บริการไปชั่วคราว แต่แน่นอนว่าสมองยังคงทำงานอยู่ตามปกติ และนายสมองคนนี้ก็ฉลาดพอตัวที่จะรู้ว่า ถ้าหากปล่อยให้ฉันเป็นอย่างนี้ต่อไปดูท่าจะไม่ดีแน่ เขาเลยส่งพลังงานเฮือกสุดท้ายที่มีไปละลายน้ำแข็งที่เกาะอยู่ในใจฉัน จนสามารถพาร่างมาถึงร้านหนังสือเจ้าประจำ ฉันไม่รู้ว่าสำหรับคนอื่นมีวิธีแก้ปัญหายังไงเมื่อรู้สึกว่าชีวิตกำลังเดินทางมาถึงทางตัน แต่สำหรับฉันหนังสือ และการอ่านช่วยเปิดประตูบานใหม่ให้เราได้เสมอ

และครั้งนี้เองก็เช่นกัน ใครจะไปคิดกันว่า เจ้าหนังสือความเรียงธรรมดา ๆ ที่มีวิธีการเล่าแสนเบสิกจะช่วยละลายน้ำแข็งและทำให้ดอกไม้กลับมาผลิบานในใจฉันได้อีกหน

อยู่ที่ว่าเราจะมองมันแบบไหน คือหนังสือความเรียง เขียนโดยอีกีจู แปลโดย วิทิยา จันทร์พันธ์ จากสำนักพิมพ์ springbooks สารภาพว่าครั้งแรกที่ฉันหยิบหนังสือขึ้นมา ด้วยชื่อเรื่องภาษาไทยก็ทำเอาฉันลังเลใจที่จะหยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอ่านไม่น้อย เพราะจากประสบการณ์ส่วนตัวแล้วนั้น ชื่อเรื่องทำนองนี้มักจะไม่ค่อยตรงจริตกับสไตล์การอ่านของฉันเท่าไหร่ แต่สิ่งที่ทำให้ฉันตัดสินใจเลือกหยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาคงต้องขอยกความดีความชอบให้กับชื่อหนังสือในเวอร์ชั่นภาษาเกาหลีที่ทำเอาสะดุดใจยิ่งกว่าซีรีส์เรื่องฟูลเฮาส์ 

언어의 온도 หรือ อุณหภูมิภาษา คือชื่อต้นฉบับของหนังสือเล่มนี้ คุณอีกีจู (ผู้เขียน) ได้อธิบายถึงชื่อเรื่องเพิ่มเติมไว้ว่า 

“ภาษาต่างมีอุณหภูมิเป็นของตัวเอง แต่ละถ้อยคำมีความอบอุ่นและเยือกเย็นที่ต่างกัน ภาษาที่มีไออุ่นช่วยคลายความเศร้ายามที่เราเหนื่อยล้ากับการมีชีวิต หรือบางการแสดงออกเย็นชาประหนึ่งน้ำแข็งก็อาจเป็นผลร้าย นอกจากจะไม่ทำให้ฝ่ายตรงข้ามเปลี่ยนใจแล้ว ยังทำให้หัวใจของเขาถูกแช่แข็งอีกต่างหาก” 

ตัวฉันเองก็คิดเห็นไม่ต่างกันจากที่คุณอีกีจูได้กล่าวไว้ ฉันเชื่อสุดใจว่า ภาษามีพลังมากกว่าที่ใครคาดคิด บางคำพูดสร้างการเปลี่ยนแปลงทันทีที่เอื้อนเอย มันทำให้ผู้คนย้อนกลับมาตั้งคำถาม สงสัยและใฝ่ฝันถึงวันที่ดีกว่า แต่ในขณะเดียวกันก็มีหลายคำพูดเหลือเกินที่ทำให้ผู้คนละทิ้งปากกา หันมาจับกรอบรูปและกระหน่ำฟาดฟันใส่ผู้อื่นอย่างไม่ได้เอะใจถึงสิ่งที่กำลังทำอยู่ สำหรับฉันภาษามีพลังทำได้ถึงขั้นนั้นเชียวเลยแหละ 

และก่อนที่จะออกทะเลไปไกล ขอย้อนกลับมาที่หนังสือของเรา หนังสือความเรียงขนาดสั้นเล่มนี้แบ่งออกเป็น 3 หมวดใหญ่และหลายสิบหมวดย่อย โดยเนื้อหาในแต่ละบทล้วนมีที่มาจากบทสนทนาที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของผู้คนไม่ว่าจะเป็น คำพูดที่พ่อแม่พูดกับลูก คำสารภาพที่คนรักมีให้ต่อกัน หรือจะเป็นคำพูดที่เราเอ่ยอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันแต่ไม่เคยเข้าใจความหมายที่แท้จริงของมันเลยสักครั้งเดียว

อีกีจูหยิบสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวเขามาเล่ามันเสียใหม่ผ่านน้ำเสียง ความนึกคิดและประสบการณ์ ก่อนจะถ่ายทอดมันออกมาได้อย่างเรียบง่ายแต่ตรึงใจ เนื้อหาภายในเล่มค่อย ๆ ดำเนินหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนไปราวกับฤดูกาล ทักทอเรียงร้อยพาผู้อ่านไปสัมผัสทั้งวันที่แดดออก ทั้งวันที่ฝนตก ทั้งวันที่บ้านเราพายุเข้าและวันที่บ้านเขามีแสงแดดร่ำไรลอดผ่าน โดยมีผู้เขียนที่เปรียบตัวเองเป็นเทอร์โมมิเตอร์ที่คอยวัดอุณหภูมิของคำพูดที่ซ่อนอยู่ในเหล่าตัวอักษรแห่งความธรรมดาสามัญเป็นผู้นำทาง

‘เรื่องเล่าง่าย ๆ แต่บาดลึก’ ถือได้ว่าเป็นเสน่ห์สำคัญของหนังสือเล่มนี้ หากให้ลองเปรียบเทียบเพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น ฉันคิดว่าทุกการพลิกหน้าหนังสืออ่านให้อรรถรสไม่ต่างจากการกระดกช็อตโซจูขึ้นดื่ม อาจจะพูดได้ว่าถ้าช็อตโซจูในราคาแค่ 1200 วอน (ประมาณ 45 บาท) เปิดแผลผู้คนได้ฉันใด ข้อความไม่กี่ย่อหน้าของอีกีจูก็สามารถเจาะเกราะน้ำแข็งของผู้อ่านให้พังทลายลงได้ฉันนั้น ฉันขอยกหนึ่งข้อความที่กระแทกใจฉันเป็นพิเศษจากตอนที่มีชื่อว่า ‘คุกเข่าเบื้องหน้าความเศร้า’ ถือว่าเป็นออเดิร์ฟเล็ก ๆ ให้แก่คุณ

“เราไม่จำเป็นต้องฝืนเอาชนะความเศร้า แม้ใครจะเย้ยหยันเราว่า ทำไมเศร้าเพราะเรื่องแบบนี้ก็อย่าพยายามหายเศร้าทั้งที่ยังไม่พร้อม เมื่อเศร้าให้รู้สึกเศร้า จงโกรธเกรี้ยว ร้องไห้ อาละวาด จนกว่าจะพอใจ กระจกขุ่นมัวที่ชื่อว่า ความเศร้าจะสะท้อนตัวเราได้ชัดกว่ากระจกใสตอนที่เราดีใจ” 

นอกเหนือจากเรื่องราวที่คมยิ่งกว่าใบมีดโกน อีกหนึ่งมนตร์เสน่ห์ของตัวอักษรแบบอีกีจูคือการไม่ปิดกั้น หลายคำพูดของเขาไม่ได้บอกว่าเราควรทำแบบนี้สิแล้วจะดี หรือ ต้องทำแบบนั้นสิแล้วถึงจะเวิร์ก แต่ทั้งหมดเป็นเพียงแค่การแชร์ประสบการณ์ของเขาต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ส่วนเราจะเอาเรื่องราวที่เขาเล่าไปปรับใช้กับชีวิตของเรายังไงนั้น ก็ตามแต่ใจคุณจะปรารถนา

ด้วยเหตุนี้เองการได้ค่อย ๆ อ่านและครุ่นคิดในทุกประโยคของอีกีจูจึงสนุกสนานไม่แพ้การได้นั่งพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องราวกับเพื่อนสนิทในร้านกาแฟบรรยากาศแสนอบอุ่น การพูดคุยที่บางครั้งเราอาจจะไม่ได้คำตอบออกมาเป็นสูตรสำเร็จ แต่อย่างน้อยเราก็ได้แชร์ความรู้สึกนึกคิดบางอย่างให้กับใครสักคนที่รับฟังเรื่องราวของเราอย่างจริงใจ เป็นบทสนทนาที่มีอุณหภูมิพอเหมาะ ไม่ได้อุ่นจนร้อน หรือ หนาวจนแข็งทื่อ แต่เป็นอุณหภูมิที่กำลังพอดีต่อการให้ความคิดและจิตใจได้ผ่อนคลาย  

“พวกเราที่มีร่างกายแสนเปราะบางล้วนมีชีวิตอยู่เพื่อพบเจอเรื่องราวยิ่งใหญ่เท่าจักรวาล ทว่าคนที่พร้อมรับฟังเหตุผลของเราอย่างใจกว้างกลับมีไม่มาก เพราะภายในใจมีที่ว่างไม่เพียงพอ หรือเพราะภายในนั้นมีรูรั่วขนาดใหญ่ที่อุดไม่ได้ซ่อนอยู่กันแน่”

(จากตอน เรื่องราวที่เทียบเท่าจักรวาล หน้า 36)

สำหรับฉัน อยู่ที่ว่าเราจะมองมันแบบไหน จึงไม่ได้เป็นหนังสือความเรียงธรรมดา ๆ แต่เป็นหนังสือความเรียงแสนพิเศษที่มองเห็นรายละเอียดของสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบกาย ในความธรรมดาสามัญมีเรื่องราวที่รอคอยการค้นพบจากเราอยู่ ทุกคำพูด ทุกการกระทำ ทุกความรู้สึก ล้วนมีอุณหภูมิเฉพาะเป็นของตัวเอง อยู่ที่เราแล้วว่า จะสัมผัสถึงมันได้มากน้อยแค่ไหน อยู่ที่เราแล้วว่าจะเลือก มอง พูด รับฟัง เข้าใจมันแบบไหน 

ว่าแต่พอคิดได้อย่างนี้ ชื่อเรื่องที่แรกเริ่มเดิมทีไม่ค่อยจับใจฉันเท่าไหร่
ก็ดูเหมือนจะมีอุณหภูมิที่อุ่นขึ้นมากกว่ายามที่ได้เห็นในครั้งแรก 

“ในแต่ละวัน หากเราสังเกตสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ทั้งผู้คนรอบข้าง สถานที่ที่ไป หนังสือที่อ่าน เพลงที่ฟัง หรือแม้แต่หนังที่ดู มักมีอะไรซ่อนอยู่ บางครั้งก็เป็นบทเรียน คำสอน หรือข้อคิดต่าง ๆ ที่ทำให้เราได้เรียนรู้และนำไปปรับใช้ บางสถานการณ์อาจช่วยเยียวยาชุบชูจิตใจที่สุดแสนจะห่อเหี่ยวให้พองโตขึ้น” 

(คำนำจากสำนักพิมพ์) 

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน) ขึ้นไว้บนเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี