อำนาจเราไม่เท่ากัน มีไหมแฟลตฟอร์ม (ทางเลือก) ที่เป็นธรรม - Decode
Reading Time: 3 minutes

สถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม

หลังจากเสวนาสองตอนแรกในซีรีย์ “กรรมกรดิจิทัล” เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ได้นำเสนอประเด็นของคนงานกิ๊กในภาพรวม ความแตกต่างจากงานฟรีแลนซ์ รวมถึงปัญหาระหว่างการทำงานของไรเดอร์จนนำไปสู่การรวมกลุ่มแล้ว ในครั้งนี้ สถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรมชวนสนทนาต่อเนื่อง ในเสวนาตอนสุดท้าย เรื่องการออกแบบแพลตฟอร์มที่เป็นธรรม เพื่อเริ่มต้นคิดกันถึงการออกแบบธุรกิจที่คำนึงถึงประเด็นสิทธิแรงงาน ในหัวข้อ “ส่งใบสมัครงานที่ไหนดี แฟลตฟอร์มทางเลือกที่เป็นธรรม” ดำเนินรายการโดยชนฐิตา ไกรศรีกุล นักวิจัยจากสถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม

งานนี้มีผู้ร่วมสนทนา ทั้งหมดสามท่านคือ เพียงพลอย จิตรปิยธรรม จากธุรกิจรับส่งอาหารรายย่อยฝีมือคนไทย ในแบรนด์ “โลคอลล์ (Locall)”, อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล จากเครือข่ายพลเมืองเน็ต ไลฟ์ตรงจากประเทศไอร์แลนด์ และปริวรรต วงษ์สำราญ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA)

ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจกับอำนาจที่ไม่เท่า

งานเสวนาเริ่มเปิดประเด็นจากการให้ผู้เข้าร่วมแต่ละท่านบอกเล่าจินตนาการถึง ‘แพลตฟอร์มที่เป็นธรรม’ ต่อคนทำงาน โดยเฉพาะธุรกิจแพลตฟอร์มส่งอาหารที่มีตัวละครที่มีส่วนร่วมมากมาย ตั้งแต่ผู้บริหารแพลตฟอร์ม นักพัฒนาเทคโนโลยี พนักงานบัญชี ฯลฯ ไปจนถึงไรเดอร์ส่งอาหารที่มักไม่มีสถานะผูกมัดแน่นอนกับบริษัท

เพียงพลอย จิตรปิยธรรม จากโลคอลล์ เสนอว่า แพลตฟอร์มที่เป็นธรรม คือการปฏิบัติต่อพนักงานเหมือนลูกค้าคนหนึ่ง โปร่งใสและมีการสื่อสารแบบสองทางที่ชัดเจน

เพียงพลอย กล่าวว่า การออกแบบแพลตฟอร์มที่เป็นธรรมสำหรับแรงงาน (หรือให้พนักงานรู้สึกถึงความเป็นธรรม) มีหลายมิติ หลายมุมมอง แต่จากมุมมองของโลคอลล์เอง เริ่มต้นจากการปฏิบัติกับคนทำงานเช่นเดียวกับที่ปฏิบัติกับลูกค้า หากธุรกิจออกแบบแพลตฟอร์มให้ดีกับคนทำงาน ก็จะได้คนงานที่เหมาะสมที่สุด

นอกจากนี้ ที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ความโปร่งใสในการทำงาน ต้องมั่นใจว่าแพลตฟอร์มมีช่องทางการสื่อสารกับคนทำงานที่ชัดเจน โดยไม่ใช่การสื่อสารทางเดียว แต่เป็นการสื่อสารสองทาง กล่าวคือ มีช่องทางในการสื่อสารจากคนทำงานกลับมาได้ว่าพวกเขาต้องการอะไร  หากเริ่มต้นการออกแบบได้ตามพื้นฐานความคิดแบบนี้ ก็เป็นไปได้ว่า คนที่ทำงานจะเกิดความพึงพอใจ และอยากที่จะร่วมงานกันกับธุรกิจต่อไปเรื่อย ๆ

“โลคอลล์ออกแบบให้ทุกคนเหมือนลูกค้าของเรา ไม่ว่าจะเป็นร้านค้าที่เข้าร่วม ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าที่ซื้อเรา รวมไปถึงคนขับที่จะมาอยู่กับรวม รวมถึงน้อง ๆ พนักงานในทีม ทุกคนมีทางเลือกที่จะไปทำงานอื่นที่ดีกว่า แต่ถ้าเราออกแบบให้แพลตฟอร์มเราเหมาะกับเขา ปฏิบัติกับเขาไม่ต่างกับที่ปฏิบัติกับลูกค้า และมีช่องทางให้คนทำงานได้สื่อสารกลับว่า เขาต้องการอะไร ก็น่าจะเป็นไปได้ว่า คนที่ทำงานกับเราก็จะพึงพอใจ แล้วก็อยากที่จะร่วมงานด้วย” เพียงพลอยสรุป

ปริวรรต วงษ์สำราญ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ มองว่า การแข่งขันเสรีจะยิ่งทำให้แพลตฟอร์มเกิดความเป็นธรรมขึ้นเอง และเมื่อแพลตฟอร์ม –ในฐานะตัวกลางที่คอยเชื่อมระหว่างลูกค้าและบริษัท มีความเป็นธรรม ปัญหาจะไม่เกิดขึ้น กล่าวคือ ลูกค้า ที่ได้บริโภคอาหารโดยที่ไม่ต้องเดินทางไปเอง  ร้านอาหารที่เพิ่มช่องทางขายออนไลน์และมีคนมารับอาหารไปส่งให้  และบริษัทแพลตฟอร์มมีไรเดอร์เข้ามาทำงานสนับสนุน ทุกฝ่ายที่ได้ประโยชน์ควรจ่ายส่วนแบ่งให้คนทำงาน ได้รับค่าตอบแทนที่สมน้ำสมเนื้อกับการทำงาน

“โดยปกติ แพลตฟอร์มอาจต้องการเก็บค่าธรรมเนียมกับลูกค้าและร้านค้าเล็กน้อย แล้วเป็นคนจ่ายค่าตอบแทนให้กับไรเดอร์ แล้วแพลตฟอร์มก็เก็บส่วนต่างเอาไว้เองอีกเล็กน้อย แต่เมื่อเกิดต้นทุนของบริษัทแพลตฟอร์มขึ้น บริษัทก็อาจผลักเป็นภาระของร้านค้าหรือไรเดอร์ ดังนั้นหากมีการแข่งขันหาบริษัทที่เก็บค่าธรรมเนียมร้านค้าน้อย หรือให้ค่าตอบแทนและสวัสดิการแก่ไรเดอร์มาก คนก็จะแห่ไปอุดหนุนบริษัทที่ดีกว่าเอง”

ปริวรรตในฐานะตัวแทนสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติมองว่าสังคม ณ ปัจจุบันกำลังอยู่ในช่วงทดลองปรับหาจุดที่ลงตัว เนื่องจาก Gig Economy หรือเศรษฐกิจการจ้างงานแบบรายชิ้นมีรูปแบบให้คนงานกลายเป็นนายตัวเอง อยากทำงานกับบริษัทใด หรือทำงานหนักเบาเท่าไรก็ได้ และยังไม่มีมาตรฐานการปฏิบัติของบริษัทแพลตฟอร์มว่าควรเก็บค่าธรรมเนียมจากร้านค้าที่มาเข้าร่วมมากเท่าไร หรือควรให้สวัสดิการคนทำงานอย่างไรบ้าง

“ผมว่ายังต้องใช้เวลาอีกนิดที่จะตัดสินว่ามันเป็นธรรมแล้ว หรือยังไม่เป็นธรรม ในตอนนี้คนทำงานอย่างไรเดอร์ส่งอาหารต้องรับผิดชอบภาระที่เกิดขึ้นเอง เช่น เมื่อเกิดอุบัติเหตุ แต่แพลตฟอร์มส่วนใหญ่เป็นบรรษัทข้ามชาติ เขาอาจจะมองถึงเรื่องของรายได้ทางเศรษฐกิจมากกว่าจะมาดูแลพนักงานคนไทย จริง ๆ แพลตฟอร์มเกิดขึ้นทั่วโลกก็มีปัญหาทั่วโลก แต่การเรียกร้องของแต่ละที่ไม่เท่ากัน เช่น ประเทศไทยโอเคกับการทำงาน 8-9 ชั่วโมงต่อวัน แต่ประเทศอื่นต้องการทำงานน้อยกว่านั้น ค่าแรงมากกว่านั้น บริษัทก็ต้องเข้ามาทำให้เป็นธรรม และทำให้บริษัทยังอยู่ได้” ปริวรรตสรุป

ในขณะที่อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล จากเครือข่ายพลเมืองเน็ต ชี้ถึงอำนาจที่ไม่เท่ากันระหว่างแพลตฟอร์มกับคนทำงาน และเสนอให้แพลตฟอร์มให้ความสำคัญกับคนงานในฐานะหุ้นส่วนที่แท้จริง เพราะคนงานมีคุณูปการต่อบริษัทแพลตฟอร์มในฐานะแรงงานด้านความรู้ที่ทั้งลงแรงและนำข้อมูล (data) มาช่วยปรับปรุงระบบอัลกอริธึมของระบบให้ดียิ่งขึ้น

“ทุกครั้งที่คนขับรถไปส่งของตามที่ต่าง ๆ ตัวระบบมันพัฒนาฐานข้อมูลไปเรื่อย ๆ ว่าขับไปทางนี้เร็วกว่า ขับไปทางนี้ช้ากว่า ขับไปทางนี้มีโอกาสส่งของแล้วลูกค้าพึงพอใจมากกว่า เป็นต้น สิ่งที่คนทำงานกำลังทำอยู่คือ เขาเป็นคนที่ร่วมสร้างและพัฒนาแพลตฟอร์มให้ดีขึ้น เป็นการสะสมทุนความรู้แบบหนึ่ง ทำให้การทำงานในครั้งต่อ ๆ ไปมีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้นเขาคือหุ้นส่วนของแพลตฟอร์ม ถ้าอยากให้แพลตฟอร์มเป็นธรรม มองคนทำงานเหล่านี้เป็นหุ้นส่วนในแง่เป็นแรงงานด้านความรู้ (knowledge worker) เป็นคนที่เอาทุนทางความรู้มาลงให้กับแพลตฟอร์ม”

อาทิตย์เริ่มต้นอธิบายว่า แพลตฟอร์มที่ถูกคิดค้นขึ้นมาในอดีตจนกระทั่งปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลหรือโรงงานที่มีการพัฒนาวิธีการทำงานในลักษณะการแบ่งงานกันทำ มีลักษณะร่วมกัน คือ ทำอย่างไรให้ตัวระบบยังทำงานต่อไปได้ แม้ว่าคนที่อยู่ระบบจะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ

“ความคิดนี้ทำให้คนทำงานมีความเปราะบาง เพราะระบบพัฒนาขึ้นโดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับคนที่ร่วมทำงานในฐานะหุ้นส่วนหรือผู้มีส่วนได้เสีย สุดท้ายคนทำงานจะถูกตีค่าราวกับเป็นวัตถุดิบ และถูกแทนที่อย่างง่ายดาย ดังนั้น หากระบบทำงานลักษณะนี้ ก็มีแนวโน้มที่จะเกิดความไม่เป็นธรรมขึ้น เพราะอำนาจสองฝั่งมันไม่เท่ากัน ในขณะที่แพลตฟอร์มมีอำนาจในการเลือก แต่คนที่เข้ามาทำงานอาจมีข้อจำกัด ไม่สามารถเลือกแพลตฟอร์มได้”

อำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างสองฝั่งอาจสะท้อนให้เห็นในรูปแบบของจำนวน เมื่อคนที่ต้องการงานทำมีมหาศาล แถมค่าใช้จ่ายจำเป็นยังตามหายใจรดต้นคออยู่ทุก ๆ สัปดาห์ แต่จำนวนบริษัทแพลตฟอร์มมีจำกัด คำว่า ‘ไม่ชอบใจบริษัทนี้ก็ไปสมัครบริษัทอื่นได้’ ก็อาจไม่เป็นไปตามจริงนัก เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะมีสิทธิเลือกอย่างอิสระว่า ‘เมื่อเงื่อนไขการจ้างงานนี้ยังไม่ค่อยเป็นธรรม จะไม่รับงานจนกว่าจะพบแพลตฟอร์มที่ดี’

อำนาจของบริษัทแพลตฟอร์มเหนือคนงานทำให้เหล่าคนงานจำนวนมากต้องยอมรับเงื่อนไขการจ้างอย่างที่เป็นอยู่เดิม ซึ่งมาจากการกำหนดฝ่ายเดียวของนายจ้าง เพื่อนำรายได้มาหมุนเวียนใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน อาทิตย์เสนอว่า หากต้องการให้แพลตฟอร์มจ้างงานมีความเป็นธรรมมากขึ้น อย่างน้อยต้องคำนึงถึงอำนาจของสองฝ่ายที่มีความไม่เท่ากันนี้ ที่สำคัญ ผู้คุมกฎ (regulator) หรือองค์กรที่จะเข้ามากำกับกิจการเหล่านี้ก็ต้องคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ด้วย ธุรกิจแพลตฟอร์มเองก็ต้องปฏิบัติกับคนที่เข้ามาร่วมงานเป็นหุ้นส่วนที่แท้จริง ไม่ใช่แค่เพียงวัตถุดิบ

แพลตฟอร์มควรถูกกำกับด้วยรัฐ หรือตลาดเสรี ?

ในขณะที่การกำกับดูแลแพลตฟอร์มในประเทศไทยยังมีแนวปฏิบัติไม่ชัดเจน ปริวรรตยกตัวอย่างกฎเกณฑ์ในต่างประเทศที่กำหนดให้แพลตฟอร์มไม่สามารถเรียกเก็บค่าธรรมเนียมร้านค้า (GP) ได้เกิน 15 เปอร์เซ็นต์ (ปัจจุบันประเทศไทยเรียกเก็บราว 30-35 เปอร์เซ็นต์) การมีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนทำให้แพลตฟอร์มต้องปฏิบัติตาม โดยต้องไปหารูปแบบอื่นในการสร้างรายได้เข้าบริษัทแทน

กลับมาที่ในประเทศไทย ปริวรรตกลับให้ความเห็นว่า การกำกับดูแลแพลตฟอร์มเป็นเรื่อง ‘ยากและเสี่ยง’ เพราะไม่รู้ว่าจุดใดคือจุดเหมาะสม หรือจุดที่ดีที่สุด หากกำกับแล้วเกิดผลดีก็ควรกำกับต่อไป ส่วนอะไรที่กำกับแล้วไม่เกิดผลก็ต้องเลิกกำกับเสีย แต่การออกระเบียบราชการหรือยกเลิกระเบียบราชการเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก

การปล่อยให้ธุรกิจ-ผู้บริโภค-คนงานกำกับดูแลกันเองด้วยตลาดเสรี จึงเป็นสิ่งที่ง่ายกว่า

“คนที่เป็นผู้ดูแลกฎหมายหรือ Regulator ต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญ เช่น ควรจะบอกว่าคนขับควรขับไม่เกินกี่ชั่วโมง ควรจะให้เงินค่าสวัสดิการอย่างน้อยเท่าไหร่เป็นขั้นต่ำ แต่ก็จะมีความยากและความเสี่ยงนิดนึง เพราะว่าอย่างที่บอก คือทั่วโลกกำลังเจอสิ่งใหม่ เพราะฉะนั้นเขาก็ยังไม่รู้หรอก ว่าอะไรเป็นสิ่งที่ดีที่สุด หรือสิ่งที่ดี ควรจะกำกับ ฯลฯ การกำกับดูแลค่อย ๆ เพิ่มมาทีละน้อย อาจจะยังไม่สมบูรณ์สักทีเดียว การให้ทุกคนในตลาดมีอำนาจตัดสินใจเอง น่าจะดีที่สุด”

หากเชื่อว่าการแข่งขันเสรีจะนำไปสู่ความเป็นธรรมในตอนท้าย ปริวรรตเห็นด้วยว่าเงินเป็นปัจจัยใหญ่ที่ต้องมี เขายกตัวอย่างธุรกิจรับส่งผู้โดยสาร Uber ที่ถูก Grab ควบรวมธุรกิจในโซนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปเมื่อปี 2561 หรือกลยุทธ์การทุ่มเงินในช่วงแรกเริ่มตั้งธุรกิจเพื่อให้ตัวเองกลายเป็นเจ้าตลาด จากนั้นค่อยขึ้นราคา ขึ้นค่าธรรมเนียม หรือลดค่าตอบแทนคนทำงานลงเมื่อบริษัทติดตลาดแล้ว

แต่เมื่อไม่มีเงินจะทำอย่างไร? สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ องค์กรซึ่งมีหน้าที่ส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจออนไลน์ เปิดเผยว่าในประเทศไทยมีแพลตฟอร์มที่มีต้นกำเนิดจากธุรกิจ start-up ขนาดเล็กในประเทศจำนวนไม่น้อย แต่การเติบโตอย่างรวดเร็วของธุรกิจก็มาพร้อมกับความไม่แน่นอน สำนักงานฯ และหน่วยงานอื่นของรัฐ เช่น สวทช. จึงมีต้นทุนเงินสนับสนุนให้แต่ละธุรกิจที่เข้ามาติดต่อจำนวนหนึ่ง รวมถึงสร้างตลาดใหม่ให้กับธุรกิจ เช่น ส่งเสริมธุรกิจเกี่ยวกับการจองคิวเข้ารับบริการในสถานที่ราชการ หรือส่งเสริมเครือข่ายให้ธุรกิจสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าและผู้ร่วมลงทุน

ในโลกของแพลตฟอร์ม ทุนที่สำคัญอีกประการคือคอนเน็กชั่น หรือระบบเครือข่ายผู้ใช้บริการและคนที่จะมาทำงานให้กับบริษัท เช่นเดียวกับธุรกิจเจ้าย่อยอีกหลายแห่งที่ไม่ได้มีสายป่านยาวมากนัก โลคอลล์จำต้องหาต้นทุนอื่นมาใช้ในการแข่งขันกับเดลิเวอรีเจ้าใหญ่อื่นๆ ที่มีอยู่แล้วในตลาด จึงจบด้วยการมองหาคนตัวเล็กตัวน้อย คนที่อาจไม่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีมากพอจะสมัครงานกับบริษัทใหญ่ ๆ เข้ามาเติมเต็มธุรกิจ เช่น วินมอเตอร์ไซค์ หรือไกด์ทัวร์ แล้วจัดอบรมฝึกการใช้เทคโนโลยีง่าย ๆ จนสามารถรับงานได้

โลคอลล์ จึงเป็นธุรกิจส่งอาหารที่เริ่มต้นมาจากความต้องการแก้ปัญหาการขาดรายได้ของผู้คนช่วงโควิด (Covid-19) ไม่ว่าจะเป็นร้านค้าหรือคนขับวินมอเตอร์ไซค์ ด้วยการรวม ‘คอนเน็กชั่น’ จากร้านค้าและผู้คนในชุมชน เกิดเป็นเดลิเวอรีอาหารในชุมชนที่สามารถพ่วงคำสั่งซื้อจากหลายร้านเข้าไปรวมกันใน 1 คำสั่งซื้อได้

“อย่างที่คุณปริวรรตบอกว่ายิ่งมีการแข่งขันขึ้น ก็ยิ่งเท่าเทียม แต่ในขณะเดียวกันพอมีการแข่งขันเกิดขึ้น ก็ต้องยอมรับว่าเงินเป็นปัจจัยที่สำคัญมากๆ ในการพัฒนาทุกสิ่งทุกอย่าง ในการที่จะเพิ่มสวัสดิการให้กับคนขับ หรือว่าจะลดส่วนต่างค่าคอมมิชชั่น ซึ่งเราไม่ได้มีเงินไปแข่งขันส่วนนั้น” เพียงพลอย

เพียงพลอยมองว่า การฝึกทักษะให้คนงานเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะเข้ามาเติมเต็มช่องว่างของการแข่งขันระหว่างบริษัทเล็ก-ใหญ่ได้โดยไม่ต้องลงทุนด้วยเงินมหาศาล เพราะคนเหล่านี้ช่วยผลักให้โลคอลล์เข้าสู่ตลาด และต่อให้โลคอลล์อาจจะอยู่ไม่ได้ในระยะยาว คนเหล่านี้จะยังมีทักษะติดตัวไปทำงานให้กับบริษัทแพลตฟอร์มอื่น ๆ ได้

“จริง ๆ แล้วภาครัฐหรือเอกชนก็สามารถช่วยให้การแข่งขันเหล่านี้เป็นธรรมขึ้นได้ โดยสร้างกฎให้ไปไกลกว่าเรื่องการแข่งขันกันด้านเงินทุน เป็นไปได้ไหมที่เราจะไม่ทิ้งคนที่ไม่มีความสามารถในการปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีไว้ข้างหลัง ภาครัฐสามารถพัฒนาคนเหล่านี้ได้ ทำให้เขาสามารถแข่งขัน ก้าวเข้ามาอยู่ในสนามร่วมกับคนอื่นๆ และสามารถมาเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกให้กับประชาชน”

อาทิตย์แย้งว่า ลำพังตลาดเสรีไม่สามารถนำเศรษฐกิจแพลตฟอร์มทั้งหมดไปสู่ความเป็นธรรมของคนงานได้ โดยเฉพาะเมื่อปริวรรตยอมรับว่าเกณฑ์ในการให้ทุนทำธุรกิจของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติเป็นไปได้ที่จะพิจารณาจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีมากกว่าพิจารณาว่าธุรกิจนั้นตั้งใจจะพิทักษ์สิทธิของคนทำงานมากน้อยเพียงใด

รัฐต้องเข้ามาเป็นตัวคัดกรองเบื้องต้นตั้งแต่ธุรกิจนั้นยังไม่เป็นรูปร่าง โดยพิจารณาแบบจำลองการทำธุรกิจ (business model) ที่แต่ละแห่งนำมาเสนอขอทุน เช่น ดูจากชั่วโมงทำงาน เวลาทำงาน ค่าตอบแทนของคนงาน รายได้และจุดคุ้มทุนของบริษัท โดยมองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งพื้นฐานที่ต้องคำนึงถึงไม่ว่าจะเป็นธุรกิจแสวงหากำไรหรือธุรกิจเพื่อสังคม (social enterprise) และเป็นคนละเรื่องกับการปิดกั้นจินตนาการในการออกแบบธุรกิจ

ผมคิดว่าจริง ๆ แล้ว ถ้ามีตัวแปรอะไรบางอย่างเป็นค่าตั้งต้นในการพิจารณาให้ทุนและกำกับกิจการ เช่น ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม คนขับจะไม่สามารถขับได้เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน ก็จะทำให้การคิดแผนธุรกิจตั้งอยู่บนหลักของสิทธิแรงงานได้ ไม่ใช่ความสมมติไปก่อนแล้วกันว่าทุก ๆ คนเป็น ซูเปอร์แมนสามารถขับได้ 14 ชั่วโมงต่อวัน แล้วก็ชนะได้ทุนไป ปรากฏว่าพอมาตอนทำงานจริง ไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าประเทศไทยไม่อนุญาต ให้คนทำงานติดต่อกัน 14 ชั่วโมงแบบนี้ ต้องเปลี่ยนแผนธุรกิจใหม่”

ทุกวันนี้ ปัญหาการทำงานบนแพลตฟอร์มยังไม่มีหน่วยงานใดรับเป็น ‘แม่งาน’ หลักในการดูแล การทำงานแบบเดิมทับซ้อนกับมิติทางเทคโนโลยีทำให้มีผู้เล่นที่อาจเกี่ยวข้องอยู่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นผู้คุมกฎที่เป็นทางการจากรัฐ เช่น กระทรวงแรงงาน กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงสาธารณสุข กรมการขนส่งทางบก ฯลฯ รวมไปถึงผู้คุมกฎอย่างไม่เป็นทางการ เช่น วินมอเตอร์ไซค์หรือแท็กซี่ เจ้าตลาดเดิมในธุรกิจรับส่ง หรือผู้มีอิทธิพลอื่น ๆ

เช่น หากนาย A ทำธุรกิจส่งอาหาร นาย A ก็อาจมีกรมการขนส่งทางบกเป็นผู้คุมกฎด้านการขนส่ง มีกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้คุมกฎด้านความสะอาดของอาหาร แต่อาทิตย์ชี้ให้เห็นว่า ไม่ว่าในแต่ละธุรกิจจะมี ‘ผู้คุมกฎ’ กี่ราย แต่กฎควรเป็นกฎเดียวกัน (เช่น วินมอเตอร์ไซค์และไรเดอร์ควรอยู่ใต้กฎเดียวกัน) เพื่อขจัดอิทธิพลนอกระบบที่มีอยู่ก่อนจะเกิดการดิสรัปของเทคโนโลยี ซึ่งเป็นปัญหาเดิมของความอยุติธรรมสองมาตรฐานในการบังคับใช้กฎหมาย

โจทย์ในอนาคตคือลดการกดขี่ขูดรีดคนทำงาน

คำว่า “ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายรองรับอาชีพ” กลายเป็นอุปสรรคใหญ่ที่ลวงตาให้บริษัทและรัฐรู้สึกว่า ปัญหาการถูกเอารัดเอาเปรียบของคนงานบนแพลตฟอร์มยังเป็นเรื่องไม่จำเป็นเร่งด่วน เป็นเรื่องที่แก้ไขได้ยาก หรือเป็นเรื่องนอกเหนืออำนาจที่รัฐและบริษัทต้องเข้ามาจัดการโดยตรง แม้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจะเป็นปัญหาที่เห็นได้ชัดหรือเกิดซ้ำบ่อยเพียงใดก็ตาม

เพียงพลอย กล่าวว่า ยิ่งเวลาผ่านไป ปัญหาเรื่องสถานะรับรองทางกฎหมายยิ่งหยั่งรากลึก เธอจึงอยากเสนอให้ภาครัฐต้องรีบเข้ามาจัดการรับผิดชอบหรือปรับปรุงให้เร็ว ไม่ใช่เมื่อยังไม่มีกฎหมายรองรับก็มองว่าการเข้าไปจัดการเป็นเรื่องผิดกฎหมายและไม่ต้องทำ อย่างที่เป็นอยู่

ความโปร่งใสของข้อมูล (data visibility) เป็นการบ้านชิ้นสำคัญที่หน่วยงานรัฐและเอกชนควรทำเผยแพร่ให้คนทราบ เพื่อให้เห็นว่าในเชิงสถิติมีปัญหาอะไรบ้างในการทำงานให้ผู้กำกับกิจการหรือสังคมโดยรวมเข้ามาช่วยตรวจสอบโดยง่าย เพื่อส่งเรื่องร้องเรียนต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ถ้าเป็นเรื่องอุบัติเหตุ กรมการขนส่งทางบกจะได้เข้ามาดูแล ถ้าเป็นเรื่องของอาหารบูด เน่าเสีย เนื่องจากเป็นฤดูร้อน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสุขลักษณะก็จะได้เข้ามาดูแล

อาทิตย์เห็นว่า ข้อมูลด้านสิทธิแรงงานต้องเปิดเผยได้อย่างโปร่งใส เช่น มีการรายงานสถานการณ์ระหว่างการดำเนินการให้สาธารณะได้รับรู้ เช่นเดียวกับป้ายหน้าไซต์งานก่อสร้างที่บอกข้อมูลชื่อบริษัทรับเหมา จำนวนวันทำงาน จำนวนครั้งที่เกิดอุบัติเหตุ ชื่อผู้รับผิดชอบหากเกิดอุบัติเหตุ ฯลฯ

“ผมคิดว่าบางอย่างเปิดเผยได้นะครับ เช่น ในเดือนที่ผ่านมาส่งสินค้าไปกี่ชิ้น หรืออาจจะไม่บอกว่าต้องกี่ชิ้นก็ได้ แต่อย่างน้อยบอกว่าเฉลี่ยแล้วต่อคนกี่ชิ้น อันนี้ก็เป็นข้อมูลพื้นฐานที่อาจทำให้เราเห็นว่าอัตราทำงานโดยปกติทั่วไป ความเหมาะสมอยู่ที่เท่าไหร่ กี่ชั่วโมง คนขับขับเฉลี่ยกี่ชั่วโมง เราจะได้รู้ว่ามันเกินขีดที่มนุษย์คนนึงจะสามารถทำได้อย่างปลอดภัยหรือเปล่า มีคนร้องเรียนมากี่เรื่อง จัดการแล้วกี่เรื่อง เป็นเรื่องไหนบ้าง ฯลฯ อย่างน้อยมันเป็นเรื่องของความปลอดภัยสาธารณะ”

อาทิตย์ ยังย้ำข้อเสนอของเขาตั้งแต่ช่วงต้นการเสวนาที่ว่าคนงานควรมีส่วนได้หรือผลประโยชน์จากข้อมูลที่ตนเองช่วยสร้างให้กับแพลตฟอร์ม โดยเสนอว่าสิ่งหนึ่งที่บริษัทอาจทำได้เพื่อส่งเสริมให้เกิดความเป็นธรรมคือ ความชอบธรรมที่คนงานจะนำข้อมูลไปใช้ หรือมีสิทธิโอนย้ายถ่ายเทข้อมูลติดตัวไปเมื่อไปทำงานที่ใหม่ได้ (data portability) เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับสถิติการทำงาน ข้อมูลเกี่ยวกับเส้นทางการทำงาน ซึ่งนอกจากจะเป็นการคืนทรัพยากรที่คนงานมีสิทธิครอบครองอยู่แล้วตั้งแต่ต้น ยังเป็นการส่งเสริมให้แพลตฟอร์มใหม่ที่รับข้อมูลไปมีโอกาสพัฒนาได้เร็วขึ้นด้วย เพราะไม่ต้องเก็บข้อมูลใหม่ซ้ำ ๆ

ภารกิจเกี่ยวกับข้อมูลไม่ใช่แค่รัฐหรือบริษัทเท่านั้นที่เกี่ยวข้อง แต่อาจต้องกลับไปรวมถึงผู้มีส่วนออกแบบแพลตฟอร์มอย่างโปรแกรมเมอร์ด้วยว่า จะออกแบบอัลกอรึธึมของคนงานให้ออกมาเป็นแบบใด ขูดรีดกำลังแรงงานมากน้อยเท่าไร หรือจะยอมแบ่งปันทรัพยากรข้อมูลเหล่านี้อย่างเท่าเทียมหรือไม่

นอกจากนี้ โจทย์อื่น ๆ ของการเสริมสร้างความเป็นธรรมก็เป็นเรื่องสำคัญ เช่น การกำหนดเกณฑ์จำนวนเงินที่ยอมรับได้หากบริษัทหนึ่งต้องการใช้วิธีทุ่มตลาด และบอกแนวโน้มที่เป็นไปได้ว่ารายได้จะลดลงเท่าไรเมื่อบริษัทดำเนินกิจการมาถึงจุดหนึ่ง เพื่อเป็นข้อมูลประกอบให้คนงานตัดสินใจก่อนมาทำงาน รวมทั้งรัฐอาจเป็นผู้จัดสวัสดิการกลางหรือปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะกับการทำงานใหม่ที่เกิดขึ้นด้วย เช่น การจัดให้มีจุดพักรถสาธารณะสำหรับไรเดอร์ไม่ให้ต้องหาที่หลบพักเองกลางถนน หรือจอดรถระเกะระกะขวางทางชุมชน สิ่งเหล่านี้ก็อาจเป็นการบ้านให้รัฐต้องทำเพื่อปรับปรุงสภาพการทำงานของคนงานบนแพลตฟอร์มออนไลน์ให้ดีขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องโยนภาระให้เป็นความรับผิดชอบของบริษัทเสมอไป

ไม่ใช่เพียงแต่การกำกับดูแลจากหน่วยงานหรือกลไกตลาดภายนอก แต่เสียงของคนทำงานเองก็ยิ่งมีความสำคัญไม่แพ้กัน เพียงพลอย อาทิตย์ และปริวรรตเห็นตรงกันว่า บริษัทต้องมีช่องทางให้คนงานส่งเสียงบอกว่าพวกเขาต้องการอะไร ต้องการแบบไหน ไม่ว่าจะเป็นช่องทางส่งเสียงไปถึงบริษัทโดยตรง หรือการส่งเสียงร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่มีหน้าที่กับดูแลเมื่อไหร่ก็ตามที่แพลตฟอร์มเริ่มละเลยความต้องการและปัญหาของคนงาน