ฉันเนี่ยนะ...เป็นคนเก็บตัว! - Decode
Reading Time: 2 minutes

เป็นเด็กต้องกล้าแสดงออก

แม่ยืนบอกฉันข้างเวที ก่อนที่ฉันจะเดินขึ้นไปคว้าไมค์จากพิธีกรและตอบคำถามเพื่อชิงรางวัลในงานวันเด็ก ขาขวาค่อย ๆ ก้าวขึ้นบันไดอย่างระมัดระวัง ถึงแม้ในใจจะประหม่า ใจเต้นระรัว ในมือเย็นเยือก เพราะการคว้าไมค์สำหรับฉัน เหมือนฉันกำลังจะยกภูเขาน้ำแข็งทั้งลูกขึ้นมา

มันหนักอึ้ง ยาก และเย็นเฉียบ

ผ่านมาเกือบ 15 ปีแล้ว ฉันยังจำได้ดีช่วงเวลานั้นได้ดี
จำเป็นไหม ที่เด็กต้องกล้าแสดงออกเพื่อให้พ่อแม่บอกว่า “เก่งมากลูกทั้ง ๆ ที่ความจริงเราขี้อาย ? คำถามที่ผุดขึ้นมา สะกิดให้ฉันกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองและสังคม

ภาพโดย กัลย์สุดา ปานพรม

สังคมที่มักให้คุณค่ากับคนพูดมากกว่าคนที่ฟัง สังคมที่ให้คุณค่าคนกล้าแสดงออกมากกว่าคนขี้อาย

หนังสือ Actually I’m an Introvert เขียนโดย นัมอินซุก ว่าด้วยเรื่อง การแชร์ประสบการณ์ส่วนตัวในชีวิตประจำวันที่โตมากับการเป็นคนอินโทรเวิร์ต สะท้อนภาพของสังคมร่วมสมัยได้อย่างซื่อตรง 

สารภาพเลยว่า ก่อนที่จะอ่านอ่านคิดว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นการตัดสินคนไม่ใช่น้อย แต่เมื่ออ่านจบ มันไม่ใช่เลย มันขยายมุมมองของฉันออกไป ให้เข้าใจความเป็นมนุษย์ที่ซับซ้อนและลึกซึ้ง รู้สึกเหมือนมีพี่สาวที่สนิทคอยนั่งแชร์ ปรับทุกข์ และตบบ่าฉันเบา ๆ ยิ้มให้และปลอบประโลม 

“ฉันเข้าใจเธอนะ” ยังมีฉันและคนอื่น ๆ ที่เป็นคล้ายเธออีกมากมายบนโลกนี้ 

Introvert ไม่เท่ากับ บุคลิกภาพภายนอก

“ตัวเรามีลักษณะนิสัยแบบไหนนั้น เป็นเรื่องที่เราต้องถามใจตัวเอง ไม่ใช่วัดด้วยไม้บรรทัดของคนทั่วไป” 

ประโยคนี้ปรากฏอยู่หลังปกหนังสือ ซึ่งเป็นเหตุผลที่ฉันเลือกหนังสือเล่มนี้มาอ่าน อ่านเสร็จถึงกับพยักหน้า หยิบมันขึ้นมาแล้วเดินไปจ่ายตังค์

ตั้งแต่เด็กจนถึงตอนนี้คิดเสมอว่าตัวเองเป็นคนค่อนไปทางเอ็กโทรเวิร์ต (Extrovert) ด้วยหลาย ๆ เหตุการณ์ในชีวิตนำทางให้ฉันเชื่อแบบนั้น เช่น อนุบาลฉันชอบการเต้น ประถมฉันเป็นตัวแทนไปประกวดการกล่าวสุนทรพจน์ภาษาอังกฤษ มัธยมและมหาวิทยาลัยฉันทำอาร์ตเพอร์ฟอร์แมนซ์ รวมทั้งการสอนศิลปะเด็กๆ หรือการพูดในที่สาธารณะ เป็นต้น การแสดงออกเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัย แบตเตอรี่(ใจ)สีเขียวเต็มหลอดหรือไม่ก็เกือบเต็ม เพราะมันกำลังจะถูกใช้ไปอย่างรวดเร็ว 

หลังจากสิ้นสุดภาระหน้าที่ การทำงาน การเข้าสังคม ฉันจะกลายดักแด้คลุกตัวอยู่แต่ในห้อง ห้องคือพื้นที่ปลอดภัยที่สุด ห้องคือพื้นที่สบาย(ใจ)ที่สุด อย่าถามถึงปาร์ตี้หมูกระทะหรือการไปฉลองที่ไนต์คลับหลังจากเจองานหนัก ๆ มา ส่วนใหญ่ฉันจะขอบาย หลายครั้งรู้สึกผิดเวลาต้องปฏิเสธ แต่ก็เลือกไม่ได้เพราะแบตเตอรี่ตอนนี้เหลือขีดสุดท้าย มันโชว์สีแดงและกำลังจะหมด 

ถ้าเรานับความสบายใจ ไม่ใช่ปริมาณการแสดงออกในที่สาธารณะ ความคิดที่ว่าตัวเองค่อนข้างไปในทางเอ็กซ์โทรเวิร์ตไม่ใช่ฉันเลย นัมอินซุกเรียกการเข้าสังคมของชาวอินโทรเวิร์ต (Introvert) ว่า “การเปิด/ปิด ปุ่มเข้าสังคม” พวกเขาจะเลือกเปิดเมื่อถึงเวลาเหมาะสมและจำเป็น ด้วยพลังงานอันจำกัดจะไม่สามารถกดเปิดแช่ไว้นาน ๆ ได้เหมือนกับชาวเอ็กซ์โทรเวิร์ต (Extrovert) 

นัมอินซุกบอกว่าไม่ใช่เพียงแค่อินโทรเวิร์ตเท่านั้นที่ต้องเรียนรู้การ “เปิดปุ่มเข้าสังคม” ชาวเอ็กซ์โทรเวิร์ตก็ต้องเรียนรู้การ “ปิดปุ่มเข้าสังคม” เช่นกัน

ไม่ว่าจะใช้ชีวิตสุดโต่งแค่ไหน ก็ไม่สามารถใช้ชีวิตแบบนั้นได้เพียงอย่างเดียว เหตุผลสูตรสำเร็จก็คงเพราะเราต้องอยู่ร่วมกันในสังคม ใช้เวลานอนในห้องหลาย ๆ ชั่วโมง คงไม่ดีต่อสุขภาพ อาการปวดเมื่อยจะถามหา

ภาพโดย กัลย์สุดา ปานพรม

ตัวอย่างคนชอบเก็บตัวที่สมปรารถนา

  • อาร์เทอร์ โชเปนฮาวเออร์ (Arthur Shopenhauer)
  • แอนดี้ วอร์ฮอล (Andy Warhol)
  • มหาตมะ คานธี (Mahatma Gandhi)
  • เฟรดดี้ เมอร์คูรี่ (Freddy Mercury)

สิ่งที่ได้จากหนังสือเล่มนี้คือ มนุษย์สามารถ Introvert หรือ Extrovert แบบสุดโต่งได้ และไม่ควรมีใครถูกยัดเยียดความเป็นอื่นที่ไม่ใช่ตัวเขาแม้จะยินยอมหรือไม่ก็ตาม

สิ่งสำคัญกว่านั้น คือการยอมรับและจริงใจกับตัวเองว่า เราเป็นคนแบบไหนไม่ฝืนใจตัวเอง ในขณะเดียวกันก็ต้องบาลานซ์ระหว่างวิถีทางของตัวเอง และการอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างมีความสุข

โลก 15 ปีที่แล้วบอกให้ฉัน “ต้องกล้าแสดงออก” แต่วันนี้ฉันต้องกล้าบอกตัวเองได้อย่างมั่นใจว่า “จงเป็นตัวเอง”

ภาพโดย กัลย์สุดา ปานพรม

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน) ขึ้นไว้บนเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี