ได้ครับพี่ ดีครับผม คงสถานะฟรีแลนซ์โดยสมบูรณ์ - Decode
Reading Time: 4 minutes

รักที่จะอิสระแล้ว ก็ต้องดูแลชีวิตตัวเอง…

บทสรุปที่อาจยังเร็วเกินไปกับชีวิตคนทำงานตามนิยามที่สังคมเรียกว่า “ฟรีแลนซ์” ด้วยรูปแบบงานที่ยืดหยุ่น บริหารจัดการด้วยตนเอง ทำให้เกือบทุกครั้งที่พวกเขาพยายามแสวงหาช่องทางให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นผ่านสวัสดิการหรือการสนับสนุนของภาครัฐ มักจะมีคำพูดเปรยตามสายลมอย่างไม่รู้ต้นตอว่า พวกเขาควรจะรับผิดชอบชีวิตตนเอง

ใช่เหรอ…

การทำอาชีพอิสระเท่ากับการไม่มีสิทธิเข้าถึงการคุ้มครองของรัฐอย่างนั้นหรือ Decode พาไปสำรวจชีวิตชาวฟรีแลนซ์ รวมถึงหาคำตอบของสมการที่ว่า ฟรีแลนซ์=อิสระ+สวัสดิการของรัฐ เกิดขึ้นได้จริงหรือไม่

วีถีฟรีแลนซ์

“โปรดิวซ์มีบัดเจ็ทล้านหนึ่ง คนนี้เคยตัด 5,000 ก็เลยจ้างเขา 5,000 เราเคยเจอแบบนั้น ดันไปรู้พอดี เราก็เลยรู้สึกว่า บัดเจ็ทมันก็เยอะขึ้นแล้ว แต่ก็ยังไม่สนใจคนทำงานเหมือนเดิม”

ด้วยชีวิต 4 ปีในสถานะคนทำงานเต็มตัวหลังสิ้นสุดบทบาทของนักศึกษา และกว่า 6 ปีในสถานะฟรีแลนซ์ ทำให้ สิระ สิมมี หรือแก๊ป ผู้กำกับไฟแรงคนนี้ สามารถถ่ายทอดวิถีชาวฟรีแลนซ์ได้ดีพอตัว โดยเฉพาะความไม่สมเหตุสมผลในแง่มุมต่าง ๆ ที่พวกเขาไม่รู้ว่าจะหันหน้าไปพึ่งใคร

ตามความเข้าใจและการตีความตามกฎหมายของหน่วยงานรัฐขณะนี้ ฟรีแลนซ์ทุกคนถูกหมายรวมเป็นแรงงานนอกระบบ ซึ่งทั้งหมดไม่ได้อยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองแรงงาน

หรือจะอธิบายให้ง่ายคือ “กฎหมายคุ้มครองแรงงานยังวิ่งตามรูปแบบการจ้างงานไม่ทัน”

นี่เป็นหนึ่งคำยืนยันจาก รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ที่เฝ้าติดตามประเด็นสิทธิของแรงงานมาโดยตลอด ช่วยตอกย้ำถึงระบบส่วนกลางที่ยังไม่อาจคุ้มครองสิทธิพื้นฐานของคนทำงานฟรีแลนซ์ได้ทั้งหมด

แก๊ป เล่าติดตลกว่า แม้จะรู้อยู่แก่ใจว่า เขาถูกเอาเปรียบเพราะเมื่องบประมาณโดยรวมมากขึ้น ผู้จ้างงานก็ย่อมคาดหวังผลงานที่สมบูรณ์ ซึ่งต้องแลกด้วยเวลาการทำงานที่เพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่รู้จะไปเรียกร้องอะไรจากใครได้ “เรื่องเยอะแล้วใครจะจ้าง”

ประเด็นเช่นนี้อาจไม่ได้เกิดขึ้นเพียงกับฟรีแลนซ์ที่รับงานตรงจากลูกค้าเท่านั้น แม้แต่คนทำงานที่มีคนกลางคอยดูแลรับงานอีกทอดหนึ่ง ก็เจอประสบการณ์แย่ ๆ พอกัน เพราะเมื่อคนกลางพยายามตั้งเงื่อนไขข้อจำกัด เพื่อรักษาสิทธิคนทำงาน ทั้งเรื่องเวลาการทำงาน และค่าตอบแทนที่ได้รับ บรรดาลูกค้าก็มักโอดครวญ แย่กว่านั้นก็อาจไม่เลือกที่จะทำงานด้วยกันต่อไป

“การทำสิ่งที่ควรจะเป็นในบางเรื่อง กลายเป็นเราไม่มีงาน”


ทั้งหมดจึงเป็นที่มาว่า “ได้ครับ” “ครับพี่” กลายเป็นคำพูดติดปากของแก็ป โดยที่เขาก็อาจไม่ทันได้สังเกตตัวเองด้วยซ้ำไป

อ.กิริยา ให้ข้อมูลว่า เมื่อปี 2018 มีการสำรวจประชากรราว 9,000 ใน 9 ประเทศ ซึ่งกว่า 43% มีความต้องการทำงานฟรีแลนซ์ โดยเฉพาะในกลุ่มคน Gen Z ที่มีถึง 68% ไทยเป็นหนึ่งในนั้น มีสัดส่วนถึง 48% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยจากการสำรวจทั้งหมด

แม้ปัญหาสิทธิของคนทำงานจะยังไม่ได้รับการแก้ไข แต่ปริมาณของแรงงานที่หลั่งไหลเข้าสู่วิถีฟรีแลนซ์กลับสวนทางกัน ซึ่งนั่นกลายเป็นปัญหาที่ทำให้เกิดวงจรปัญหาซ้ำซ้อนต่อมาที่แก๊ปออกปาก “เราเก็ทวงจรนี้ แต่เราไม่ชอบเลย”

นั่นคือการที่บรรดาฟรีแลนซ์ที่ประสบการณ์และคอนเน็กชันยังไม่มากนัก มักยอมที่จะรับค่าจ้างที่น้อย จนไป “ตัดราคา” คนที่อยู่ในวงการเดียวกัน ซึ่งอาจเรียกราคาที่สูงกว่าตามประสบการณ์การทำงาน แม้รุ่นพี่ฟรีแลนซ์จะไม่พอใจเช่นไร แต่ไม่อาจก่นด่าได้เต็มปาก เพราะพวกเขาก็เคยผ่านช่วงเวลาเช่นนั้นมาไม่ต่างกัน


อิสระที่ยังหวงแหน

ย้อนกลับไปแก๊ปเริ่มต้นการทำงานตั้งแต่สมัยยังอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย ชั้นปีที่ 3 ในสาขาภาพยนตร์และภาพถ่าย คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มธ. ตามคำชักชวนของรุ่นพี่ที่ได้ไปร่วมงานกับบริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งประจวบเหมาะกำลังหาคนทำงานตัดต่ออยู่  

“ลองสิ ได้เงินอีก” เสียงหัวเราะเจ้าเล่ห์เล็ก ๆ ดังขึ้นเมื่อได้หวนรำลึกถึงการตัดสินใจครั้งเก่า

นั่นกลายเป็นจุดเริ่มต้นให้เข้าสู่เส้นทางสายฟรีแลนซ์เต็มตัวหลังเรียนจบ เมื่อแก๊ปมีโอกาสทำงานต่อเนื่องการบริษัทแห่งเดิม

“เราคิดว่าจากนิสัยเราเองเราไม่น่าทำงานประจำได้แน่เลย คงทำฟรีแลนซ์ไปเรื่อย ๆ อย่างน้อยเราก็น่าจะได้เจอนายจ้างของเรา คือผู้กำกับหลายคน ได้เรียนรู้วิธีการจากหลายคน”

เหตุผลของแก๊ป นับว่าตรงกับข้อมูลผลสำรวจที่ อ.กิริยา เล่าถึงเหตุผลสำคัญเรื่อง “ความยืดหยุ่น” ของเวลาทำงาน ไม่น่าเบื่อ อีกทั้งตรงกับทักษะที่มีความเชี่ยวชาญ ที่ล่อใจให้หลายคนตัดสินใจคงสถานะความเป็นฟรีแลนซ์ต่อไป

เขาเล่าต่อว่า ผ่านไปไม่นานบริษัทก็ได้หยิบยื่นคำว่า “ประจำ” มาต่อถ่ายให้กับสถานะของเขา ด้วยข้อตกลงที่ยังคงเปิดโอกาสให้รับ “งานฝิ่น” ได้อย่างเก่า เพราะค่าตอบแทนที่ไม่ได้ชวนตาลุก บวกลบคูณหารเหตุผล เมื่อคำตอบ คือ ความสบายใจที่มีต่อเพื่อนร่วมงานมีอยู่มาก จึงไม่ยากที่แก๊ปจะรับข้อเสนอดังกล่าว

“เราต้องไปออฟฟิศว่ะ หลายทีเรารู้สึกว่าเราไปแล้วไม่ได้อะไร เราก็ไปนั่งเล่นเฟซบุ๊ก เพราะเขาก็ไม่ได้มีงาน แต่ถ้าเราจะเอางานเรามาตัดก็ไม่ได้ เราก็เกรงใจ เอางานคนอื่นมาทำต่อหน้า มันก็เขิน ๆ”

แล้วสถานะฟรีแลนซ์ประจำ 8 เดือนก็ผ่านไวเหมือนโกหก ด้วยข้อจำกัดหลายอย่างที่ส่งผลกับ “อิสระ” ที่แก๊ปยังหวงแหนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งเรื่องเวลา ค่าตอบแทน รวมไปถึงไอเดียในการทำงาน

“ช่วงนั้นมีงานที่เขาลองให้เรากำกับดูบ้าง แล้วเรารู้สึกว่าการทำงานมันมีกรอบ บางทีมันก็แอบไม่ได้ตรงกับเราขนาดนั้น เราเองก็เลือกลูกค้าไม่ได้… อย่างโฆษณาจ๋า ๆ พอทำประจำก็รู้สึกว่า ทำให้เขาก็ดีแหละ แม้เขาจะถามแล้วว่า อยากทำรึเปล่า เต็มใจรึเปล่า เราก็ไปลองในแง่ว่า ท้าท้ายดีมั้ง”

เมื่อรูปแบบการทำงานไม่ตอบสนองการใช้ชีวิตแบบที่ตั้งใจ การคงสถานะฟรีแลนซ์โดยสมบูรณ์จึงเป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุด

รู้แต่ไม่อยากยอมรับ

แม้แก๊ปจะเป็นคนหนึ่งที่รับบทฟรีแลนซ์ด้วยความตั้งใจ แต่ก็ไม่ใช่เหตุผลที่เขาจะต้องจำใจยอมรับจุดอ่อน และข้อเสียของเส้นทางสายนี้ ทั้งจากประสบการณ์ส่วนตัว รวมถึงเรื่องเล่าจากคนรอบข้าง

“เราบ่นในฐานะฟรีแลนซ์ 24 ชม. เรารู้สึกว่าคนที่จ้างงานฟรีแลนซ์บางคน บางทีเขารู้สึกว่า จ่ายเงินแล้ว ก็ต้องทำงานให้ได้ บางที 5 ทุ่ม เที่ยงคืน ตี 2 ตี 3 ก็ยังตาม ยังทวง เราก็เข้าใจว่าเป็นหน้าที่ของเขา หรือเขาอาจจะถูกบีบมาจากลูกค้า แต่ก็รู้สึกว่า คนก็ต้องนอนเหมือนกัน”

เรื่องเล่าที่ถ่ายทอดผ่านน้ำเสียงกลั้วหัวเราะ ฟังดูเป็นเรื่องตลกที่เขาสามารถเล่าได้อย่างสบาย ๆ แต่ไม่ใช่สำหรับเวลานั้น เขาต้องเผชิญกับอาการหัวฟัดหัวเหวี่ยงอยู่พอสมควร

“ที่ทุกคนบอกว่า work-life balance จะเกิดขึ้นได้กับคนเป็นฟรีแลนซ์ เราว่ากลับกัน คนเป็นฟรีแลนซ์ต่างหากที่จัดการกับอันนี้ไม่ได้ในหลาย ๆ ครั้ง”

จนต้องตัดพ้ออยู่หลายครั้ง “เหี้ยดูเลวเลยเนอะ เหมือนเขามองเป็นสิ่งที่ทำให้งานเสร็จได้ทันเวลา”

เขาเล่าถึงชีวิตฟรีแลนซ์ของเพื่อนหลายคน ที่จำต้องรับงานหลายชิ้นพร้อม ๆ กัน “เรทคุณให้ต่ำเราก็ไม่พอกินไง ต้องรับซ้อน อันนึงทวงตี 2 อีกอันตี 4 ความวุ่นวายคือ การจัดการเวลากับการบาลานซ์เรื่องรายได้”

อีกหนึ่งความน่าปวดหัวและปวดใจที่แก๊ปถ่ายทอด คือในหลายครั้งความเคารพที่ลูกค้ามีต่อฟรีแลนซ์ก็น้อยจนน่าใจหาย

“เพื่อนเราเป็นฟรีแลนซ์ผู้ช่วยผู้กำกับ เขาก็แจ้งแล้วว่า 8 โมงถึง 10 โมง เขามีความจำเป็นต้องไปทำธุระบางอย่าง แต่สัก 7 โมงก็ทักมาว่า เดี๋ยวอย่าลืมส่งอันนี้นะ เขาก็ครับโอเคเดี๋ยวหลัง 10 โมงส่งนะ ตอน 9 โมงก็โดนจี้ว่าจะเอาตอนนี้ เข้าใจว่าลูกค้าน่าจะบีบ อยู่ดี ๆ ก็เปลี่ยนมาจะส่ง 9 โมง กลายเป็นคนที่รับกรรม คือ ฟรีแลนซ์ที่อยู่ล่างสุด ที่เป็นลูกที่ถูกบี้มาหนักสุด สุดท้ายเพื่อนเราที่กำลังขับรถไปต่างจังหวัดก็ต้องจอดแวะปั๊มส่งงาน”

ทำความเข้าใจแรงงาน

ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ รศ.ดร.กิริยา ชี้ว่าความเข้าใจในฟรีแลนซ์จำต้องปรับตัว จากในอดีตที่เส้นแบ่งของคนที่ทำงานรูปแบบนี้ คือ การไม่มีเจ้านาย หรือ “เป็นนายตัวเอง” ทั้งคนที่มีปฏิสัมพันธ์ด้วยไม่ใช่นายจ้าง แต่เป็นลูกค้า

ปัจจุบันเมื่อรูปแบบการจ้างงานเริ่มปรับตัวตามสภาวะเศรษฐกิจ ขอบข่ายระหว่างฟรีแลนซ์ กับ “พนักงานชั่วคราว” ซึ่งอาจมีสัญญาระยะสั้นเลือนรางไปทุกที หลายบริษัทมีแนวโน้มจ้างงานแบบนี้มากขึ้น แทนที่จะจ้างคนใดคนหนึ่งไปจนเกษียณอย่างเก่า

อย่างไรก็ตาม พนักงานชั่วคราวยังมีจุดแข็งมากกว่า ตรงที่พวกเขามีสถานะเป็นลูกจ้าง ซึ่งนับเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท

อีกรูปแบบการจ้างงานที่กำลังมาแรงตอนนี้ หนีไม่พ้น Platform Worker ที่พบเห็นจนชินตาในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เป็นการจ้างงานผ่านแอปพลิเคชันต่าง ๆ ทั้งคนขับรถ คนส่งอาหาร และอื่น ๆ ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนว่า พวกเขามีสถานะเช่นไร

“หากคุยกับบริษัท จะถูกใช้คำว่า ‘หุ้นส่วนทางธุรกิจ’ ไม่ได้เป็นนายจ้างลูกจ้าง แต่ก็มีข้อโต้แย้งในหลายประเทศ เพราะพวกเขาต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขบริษัท มีการใส่ยูนิฟอร์ม และแอปฯพวกนั้นเขาก็ไม่ได้เป็นผู้พัฒนา เหมือนรับจ้าง เป็นลูกจ้าง ไม่ได้เป็นฟรีแลนซ์เสรี”

แม้ความยืดหยุ่นในการทำงานจะเป็นเหมือนน้ำหวานที่ล่อตาล่อใจ แต่ข้อเสียที่พึงระวังก็มีไม่ต่างกัน ทั้งรายได้ที่ไม่แน่นอน สวัสดิการที่ไม่ชัดเจน ส่งผลให้ต้องมีมีวินัย มีความรู้การวางแผนทางการเงิน และรับผลความเสี่ยงด้านต่าง ๆ ด้วยตนเอง

“ด้วยสถานะ (แพลตฟอร์มเวิร์กเกอร์) ไม่ชัดว่าเป็นฟรีแลนซ์ หรือเป็นลูกจ้าง ตรงนี้ต้องให้ชัด ไม่อย่างนั้นเขาก็จะถูกเอารัดเอาเปรียบจากเจ้าของแอปพลิเคชัน เขาควรจะได้รับการดูแลเรื่องความเสี่ยงต่าง ๆ ถ้าเขาเป็นอะไรใครรับผิดชอบ”


คาดหวังอะไรจากสวัสดิการรัฐ

“ทุกเช้าพอเราขับรถไปทำงานรถมันติด ก็ฟังพอดแคสต์ แล้วก็เจอเรื่องนึง ทุกวันนี้ยังไม่รู้เลยว่า สิ่งที่รู้ถูกไหม เรื่องประกันสังคมที่เป็นอาชีพอิสระกับกองทุนการออมแห่งชาติ(กอช.) ถ้าเราเลือกกอช.แบบนึงประกันสังคมแบบจะไม่ activate แต่ถ้าเลือกประกันสังคมแบบนี้จะสมัคร กอช.ไม่ได้”

ความสับสนเช่นนี้เป็นของยืนยันอย่างง่ายว่า ยังคงมีฟรีแลนซ์อีกไม่น้อยที่ยังเข้าไม่ถึงสวัสดิการพื้นฐานของรัฐที่สนับสนุนการวางแผนชีวิตของพวกเขารวมไปถึงแก๊ป

“ประกันสังคมตามมาตรา 40” จึงเป็นสิทธิพื้นฐานประการแรกที่อ.กิริยา เน้นว่าเป็นหลักประกันอย่างง่ายของคนทำงานลักษณะนี้ แต่ในทางปฏิบัติจะมีฟรีแลนซ์สักกี่คนที่รู้จัก เข้าใจ และร่วมเป็นผู้ประกันตนตามมาตรานี้

ตามข้อมูลของสำนักงานประกันสังคม ระบุว่า มาตรานี้จัดไว้ให้ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ทั้งบรรดาพ่อค้าแม่ค้า แม่บ้าน รับจ้างต่าง ๆ ที่อาจไม่มีนายจ้างรับรองและสมทบเงิน แต่เป็นการจ่ายในอัตราที่น้อยโดยรัฐจะช่วยสมทบอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งมีรูปแบบทางเลือก 3 ทางให้เลือกตามความเหมาะสมของแต่ละคน

อ.กิริยา ชี้ว่านี่เป็นผลประโยชน์ที่ลูกจ้าง โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ต้องรู้ เช่นเดียวกับ “สิทธิบัตรทอง” ที่เป็นหลักประกันสุขภาพในโรงพยาบาลของรัฐ แม้ไม่สะดวกสบายมากก็ตาม

หากจะบอกเพียงว่าไม่รู้ข้อมูลใด ๆ นี่เลย คงมีเสียงแย้งว่า การประชาสัมพันธ์มีออกถมเถ ไปอยู่ไหนมา

“ประชาสัมพันธ์ทางไหน ทางที่คุณประชาสัมพันธ์แสดงว่า เราไม่เคยเห็นแน่เลยเว้ย” ประโยคคำถามจากแก๊ปโต้ตอบอย่างทันควัน ด้วยเหตุผลว่า เขาเป็นคนหนึ่งที่เคยลองท่องเว็บไซต์ของหน่วยงานประกันสังคม แล้วพบว่า รูปแบบหน้าตาเว็บไซต์ชวนสับสนไม่น้อย เขาไม่รู้ว่าจะต้องเริ่มต้นที่จุดไหน อีกทั้งยังไม่เชื่อมั่นว่าข้อมูลต่าง ๆ ถูกอัปเดตแล้วหรือไม่” แก๊ปกล่าว

ทั้งนี้เสียงแย้งเหล่านั้น มักมาพร้อมกับข้อสงสัยที่ว่า ฟรีแลนซ์ทั่วไปก็ต้องซื้อประกันเอกชนอยู่แล้วไม่ใช่หรือ

ภาพจำที่ว่าบรรดาฟรีแลนซ์ซึ่งมีอิสระในการรับงานได้พร้อมกันหลายช่องทาง น่าจะสามารถบริหารจัดการซื้อประกันสุขภาพเอกชนได้เองโดยง่าย แต่ในความเป็นจริงไม่ใช่เช่นนั้นตามความเห็นของแก๊ป

“เราว่ามันน้อยมากเลยว่ะ เปอร์เซ็นต์ของการเป็นฟรีแลนซ์ที่สามารถทำอย่างนั้นได้ เราไปอยู่ในกลุ่มสมาคมตัดต่อในเฟซบุ๊ก เราก็ยังเห็นคนมาแย่งงานเรท 2,000 3,000 เต็มไปหมดเลย ตัดซีรีส์ตอนละ 10,000 นิด ๆ ทั้งที่ซีรีส์ที่ดี ๆ ราคาที่ควรจะเป็นมันอยู่ 35,000-40,000 ต่อตอนด้วยซ้ำ”

เมื่อวิถีของความเป็นฟรีแลนซ์ถูกผลักออกห่างจากการคุ้มครองของรัฐมากขึ้นทุกที ปัญหาการถูกเอารัดเอาเปรียบจึงพบเห็นได้เกลื่อนกลาด การวางแผนทางการเงินด้วยตนเองจึงเป็นเรื่องสำคัญสำคัญ

“ควรมีเงินสำรองใช้ชีวิตระดับ 3-6 เดือน เพราะไม่แน่นอน หลายคนมีเรื่องการสูญเสียตัวตนเพราะจำเป็นต้องหาเงิน เราเองในฐานะที่รักความเป็นตัวเองของทุกคน เราไม่มีความสุขกับการที่เห็นคนที่ต้องทำเงินแต่เสียตัวเอง บางคนเปลี่ยนอาชีพ เปลี่ยนเส้นทาง เปลี่ยนสไตล์งาน แต่ถ้าคุณเริ่มต้นวางแผนเร็ว คุณก็ได้เปรียบ”

คำแนะนำเช่นนี้ของแก๊ป นับเป็นอีกหนึ่งข้อสนับสนุนว่า รัฐควรต้องทบทวน “การประชาสัมพันธ์” นโยบายของหน่วยงานรัฐอย่างจริงจังเสียแล้ว

เมื่อกองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. ก็เป็นสิทธิประโยชน์พื้นฐานอีกอย่างหนึ่งที่ อ.กิริยา เน้นว่าห้ามลืม เพราะมีประโยชน์ในการวางแผนการออมระยะยาวในวัยเกษียณ สำหรับกลุ่มคนมีอาชีพอิสระ ให้มีสิทธิ์ได้รับบำนาญตลอดชีพ หากมีการออมต่อเนื่องและยาวนาน

“อีกช่องทางหนึ่ง เข้ากอช. กองทุนการออมแห่งชาติ สมมติเขาไปเลือกเข้าประกันสังคมมาตรา 40 ทางเลือกที่ 1 เขาก็สามารถมาออมกับ กอช.ได้ด้วย ออมเท่าไหร่รัฐก็สมทบ พอเกษียณก็จะได้บำนาญ ซึ่งจะมีเงื่อนไขได้ตั้งแต่ 600-7,000 บาทต่อเดือน”

แม้จะให้สิทธิคนเกือบทุกคน แต่ก็มีข้อจำกัดของกอช. ที่ยกเว้นข้าราชการประจำ หรือสมาชิก กบข. ผู้มีสิทธิ์ประกันตน มาตรา 33, 39 และ 40 (ทางเลือก 2 และ 3 ) และพนักงานบริษัท องค์กร รัฐวิสาหกิจที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD)

อย่างไรก็ตามรัฐอาจใจชื้นได้บ้าง อย่างน้อย ๆ ข้อสงสัยในประเด็นข้อจำกัดของ กอช. ที่แก๊ปเคยรับรู้ผ่านช่องทางวิทยุระหว่างรถติดยามเช้าก็ยังถูกต้อง นับเป็นความสำเร็จที่น่าต่อยอดของการสื่อสารผ่านช่องทางนี้ไปอยู่บ้าง

ได้อย่างเสียอย่าง

ด้วยรูปแบบการจ้างงานที่ปรับตัวสอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจ ภาครัฐจึงมีการสนับสนุนการจ้างรายชั่วโมง หรือการทำสัญญาระยะสั้นมากขึ้น อ.กิริยาชี้ว่า มองตามหลักเศรษฐศาสตร์เมื่อการจ้างยืดหยุ่นขึ้น โอกาสและประสิทธิภาพในการจ้างงานก็จะสูงขึ้น

แต่ก็อาจไม่ใช่ทุกงานที่เหมาะสมกับการจ้างลักษณะดังกล่าว โดยเฉพาะสายงานครีเอทีฟ ที่แม้แต่คนทำงานเองยังไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจน

“เรายังไม่แน่ใจเลยว่าเราควรนับชั่วโมงการทำงานของงานแบบนี้ยังไง เราควรเริ่มต้นตรงไหน เราควรเริ่มต้นตอนเปิดคอมไหม ถ้าเป็นงานตัด ถ้าเป็นงานคิด งานกำกับ เราต้องนับวันออกกอง เขียนบท แล้วถ้าเข้าห้องน้ำแล้วคิดบทออกต้องคิดด้วยไหม เราว่า การนับเป็นงานจะแฟร์กว่าชั่วโมงเพราะเอาเราไม่นั่งจุ่ม 7 ชั่วโมงก็ไม่ได้รับประกันว่าจะได้งาน” แก๊ปให้ความเห็น

อีกสิ่งที่ต้องแลกมากับการปรับเปลี่ยนเช่นนี้ คือ การเสียโอกาสที่รัฐจะได้พัฒนาทุนมนุษย์ ซึ่งนับเป็นเรื่องสำคัญของการพัฒนาศักยภาพแรงงานของประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่เริ่มเข้าสู่กระบวนการทำงาน

รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ
รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ

“ถ้าจ้างชั่วคราวเขาก็จะมีโอกาสที่จะไม่พัฒนา ไม่อบรม ไม่เทรนนิ่งแรงงาน และไม่ได้รู้สึกเป็นส่วนร่วมกับบริษัทด้วย”

นี่จึงเป็นอีกเหตุผลที่ รศ.ดร.กิริยายอมรับว่า ภาครัฐมักเคลื่อนตัวช้ากว่าภาคธุรกิจ จึงถึงเวลาที่จะต้องออกแบบการคุ้มครองแรงงานเสียใหม่อย่างจริงจัง รวมถึงการพัฒนาโครงการฝึกฝีมือแรงงานที่มีอยู่ในมือให้ตรงความต้องการตลาด

“จำเป็นที่แรงงานงานต้องพัฒนาทักษะเอง แต่ภาครัฐต้องมีการสนับสนุน ซึ่งอาจจะต้องคิดว่าเงินก้อนนี้จะมาจากไหน นายจ้างเองก็อาจจะต้องจ่ายเข้ามาเป็นกองทุนรวม ให้รัฐอุดหนุนให้แรงงานเข้าไปเรียนออนไลน์ฟรี เพื่อที่จะอัพเดตทักษะตัวเองให้ทันสมัย”

เมื่อทิศทางในอนาคตการจ้างงานนอกระบบดูจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง การวางแผนเพื่อให้บริษัทต่าง ๆ ร่วมจ่ายสมทบเพื่อออกแบบสวัสดิการของแรงงานนอกระบบอย่างแท้จริงควรจะเกิดขึ้น

“เหมือนประกันเอกชนก็ออกแบบมาตามที่เราชอบ แต่ปัญหาคือมันแพง ถ้าเป็นฟรีแลนซ์รวย ๆ ก็ไม่ได้สนใจสว้สดิการรัฐหรอก แต่จะมีกลุ่มที่ค่าจ้างไม่ได้สูง เราจะดูแลกลุ่มนี้ยังไง”

ในสถานการณ์ที่ยากลำบากเช่นนี้ อ. กิริยา กล่าวว่ารัฐต้องประคับประคองกำลังสำคัญของประเทศกลุ่มนี้ไว้ให้ดีก่อนที่พวกเขาจะตกเหวลึกไปมากกว่านี้

“เราคงต้องมาออกแบบกันใหม่ว่า งานที่ดีมันเป็นยังไง”