จินตนาการชีวิตใหม่ สังคมไทยหลังการเปลี่ยนแปลง ขอแค่ได้อยู่ในประเทศรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า - Decode
Reading Time: 3 minutes

ประกายไฟลามทุ่ง

รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี
วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมาสิ่งที่เราเห็นคือ การเดินขบวนเรียกร้องของกลุ่มคนรุ่นใหม่ การจัดการชุมนุม การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ กลุ่มคนที่เข้าร่วมมีอายุระหว่าง 15-25 ปี นับจากวันที่ 16 ตุลาคม 2563 การใช้ความรุนแรงอย่างเปิดเผยของฝ่ายความมั่นคง ตามมาด้วยการจับกุม คุมขัง ตั้งข้อกล่าวหาต่อผู้ร่วมการชุมนุม

การเปิดเผยสารคดี โดย SBS สำนักข่าวออสเตรเลียถึงชีวิตของ รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล การเคลื่อนไหวของเธอและเพื่อน ๆ การตั้งคำถามทางการเมืองเรื่องราวของ พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน บทกวีและข้อความที่ส่งออกมาจากในห้องขัง พวกเขาอายุเพียง 20 ปีเศษ แต่ทรงพลังในความฝัน สร้างแรงบันดาลใจต่อเพื่อนมนุษย์ พวกเขาเหมือนเครื่องจักรต่อสู้ทางการเมือง ความฝันและความคิดของเขาเหมือนบทกวีของจิตร ภูมิศักดิ์ “แม้นชีพใหม่มีเหมือนหวังอีกครั้งครัน จะน้อมพลีชีพนั้นเพื่อมวลชน” เมื่อภาพของพวกเขาถูกทำให้กลายเป็น “อุดมคติ” ของนักต่อสู้ ฝ่ายตรงข้ามก็พร้อมที่จะลดทอนภาพจำแห่งความเป็นมนุษย์

ผมค้นหาข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับพวกเขาในบทสัมภาษณ์หรือสื่อออนไลน์ ความน่าสนใจ คือ สิ่งที่พวกเขามี สิ่งที่พวกเขาเชื่อ พวกเขาฝัน มันคือเรื่องง่าย ๆ ในชีวิตที่พวกเราล้วนปรารถนา บทความนี้ผมใช้เวลาในการสอบถามเหล่าคนรุ่นใหม่ ที่มีส่วนร่วมทางการเมืองในแง่มุมต่าง ๆ ด้วยคำถามง่าย ๆ ว่า หากประเทศนี้เป็นรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าเป็นประชาธิปไตยเต็มขั้น อย่างที่เป็นในกลุ่มประเทศ นอร์ดิก อย่างสวีเดน เดนมาร์ก นอร์เวย์ ฟินแลนด์ ถ้าวันหนึ่ง พวกเขาไม่ต้องสู้กับเผด็จการแล้ว การตัดสินใจชีวิตไม่ถูกกำหนดด้วยเรื่องเงิน และไม่ต้องคำนึงถึงเรื่องจารีตประเพณีที่มากีดขวางการตัดสินใจในการใช้ชีวิต พวกเขาและเธอจะใช้ชีวิตอย่างไร

หากเริ่มที่นักเคลื่อนไหวที่ประชาชนรู้จักทั้งสามท่านซึ่งอยู่ในวัยใกล้เคียงกัน ทั้งสามคนคือ รุ้ง (ปนัสยา) เพนกวิน (พริษฐ์) และ อั๋ว (จุฑาทิพย์)

สำหรับรุ้ง ผมไม่เคยมีโอกาสสนทนากับเธอเลย ในคลิปสารคดีที่ถ่ายทอดมามีประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจเธอพูดถึงชีวิตคนในสังคมที่ไม่สามารถเลือกได้เท่ากันเธอตระหนักว่า มีคนที่สามารถเลือกใช้ชีวิตได้มากกว่า คนที่เลือกได้น้อยกว่า และคนที่เลือกไม่ได้เลย เสี้ยวหนึ่งเล็ก ๆ ที่ผมเห็นจากสารคดีเธอพูดถึง “แมว” ของเธอ คนคนหนึ่งย่อมมีความสัมพันธ์กับ “แมว” ที่หลากหลาย สำหรับหลายคนแมวคือ สิ่งที่เชื่อมนามธรรมที่ซ่อนในใจเรากับผู้อื่น เชื่อมความเศร้าและความเหงา เชื่อมความคิดถึงผูกพัน สิ่งนี้คือสิ่งที่มีในมนุษย์ทุกคน ส่วนเล็ก ๆ ที่เราอาจมองข้ามไปเมื่อเราพูดถึงเธอในฐานะนักต่อสู้ทางการเมือง

อั๋ว-จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ ภาพจำเธอในสื่อสาธารณะคือ เหลนของ นายเตียง ศิริขันธ์นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่ถูกเผด็จการสังหารเมื่อหกสิบกว่าปีก่อน รวมถึงประธานสนท. เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม เธอเขียนถึงวันเกิดอันเกี่ยวข้องกับกับการต่อสู้ทางการเมือง แต่ในพื้นที่สื่อออนไลน์ เธอชอบท่องเที่ยวตามธรรมชาติ และวันเกิดเธอเมื่อห้าปีที่แล้วเมื่อเธอยังเรียนระดับมัธยม เธอได้ของขวัญเป็นจักรยาน ชีวิตเธออีกด้านดูสงบอยู่กับธรรมชาติและตัวเอง

ขณะที่ เพนกวิน-พริษฎ์ แม้ผมจะรู้จักเขามากที่สุดและนานที่สุด แต่พอคิดตามโจทย์ที่ตั้งไว้ ผมกลับแทบไม่รู้จักเขาในแง่มุมอื่นเลย รู้เพียงว่าเขาเป็นคนลำปาง ชอบประวัติศาสตร์ล้านนา และเป็นผู้มีพรสวรรค์ด้านกวีคนหนึ่ง แต่เพียงเท่านี้ทุกท่านคงเห็นคล้อยตามผมว่า พวกเขาเหล่านี้ก็คือคนธรรมดาที่มีชีวิต มีความฝัน ความหวังในเรื่องปกติพื้นฐานเหมือนเราทุกคน

ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองมีคนรุ่นใหม่อีกจำนวนไม่น้อยทั้งในอดีตไล่มาจนปัจจุบัน ผมนำคำถามนี้ถามพวกเขา-เธอ “หากเราเกิดในประเทศรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า และไม่ต้องต่อสู้กับเผด็จการการเมือง ข้อจำกัดทางเศรษฐกิจและจารีตประเพณี เราจะทำอะไรที่ต่างไปหรือไม่ ?”


คนแรก เสกศุภลักษณ์ บำรุงกิจ เสกจบปริญญาตรีจากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อราว 2 ปีก่อน เขาอายุ 24 ปี หากเราจำกันได้ เขาคือหนึ่งในแกนนำที่ถูกทำร้ายโดยกลุ่มฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ไม่เห็นด้วยกับกิจกรรมทางการเมืองที่กลุ่มเขาจัดเมื่อราว 4-5 ปีก่อน เสกเป็นคนเชียงใหม่โดยกำเนิด ปัจจุบันเขาเป็นนักกิจกรรมด้านแรงงานและรัฐสวัสดิการ ผมเจอเขาเมื่อราวสองปีก่อน เขามาร่วมเรียนวิชา “เศรษฐกิจการเมืองของประเทศรัฐสวัสดิการ” ที่ธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์

ตอนนี้เขาเป็นกำลังสำคัญในการยกร่าง “พรบ.ภาษีกลุ่มคนมั่งคั่ง” Wealth Tax โดยเสนอพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยแม้ปัจจุบันยังไม่มีพรรคการเมืองไหนขานรับร่างพระราชบัญญัตินี้ เรื่องที่น่าสนใจเสกระบุว่า “การต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมเหมือนเป็นตัวผมไปแล้ว มันเริ่มตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย จนปัจจุบันแยกไม่ออกกับตัวตนและความฝันของผม” เมื่อถามคำถามสำคัญว่า “หากเราเกิดในประเทศที่มันพร้อมแล้วในความเสมอภาค ในประชาธิปไตยในประเทศที่เป็นรัฐสวัสดิการ”

เสกอธิบายว่า มีเรื่องหนึ่งที่เขาเคยสนใจตอนเด็ก ๆ คือบอร์ดเกม เขาเคยออกแบบเกมให้เพื่อน ๆ เล่น เขาไม่ทราบเหมือนกันว่าความสนใจตรงนี้หายไปไหน เมื่อไร และอย่างไร เช่นเดียวกันกับการเล่นดนตรีของเขา ไม่ว่าจะเป็นร้องเพลงหรือเล่นกีตาร์ บางทีถ้าประเทศไทยหรือโลกนี้ทั้งใบเป็นรัฐสวัสดิการเขาบอกว่า เขาอาจเป็นเกมเมอร์ที่แต่งเพลงเป็นงานอดิเรก วันนี้เรื่องนี้อาจเป็นเรื่องง่าย ๆ แต่เส้นทางการเมืองพาเขาออกจากฝันง่าย ๆ นี้ไปไกล

โมสต์-สินีนาฏ คะมะคต ผมรู้จักเธอในฐานะครูโมสต์ เธอสอนนักเรียนระดับมัธยมที่โรงเรียนย่านคลองเตย และออกแบบนิทรรศการ Klongtoey Connext เพื่อแสดงถึงชีวิตความฝันของเด็ก ๆ ในชุมชนคลองเตย เธอเป็นคนมีความฝันอย่างไม่ต้องสงสัย ปัจจุบันเป็นนักกิจกรรมด้านแรงงานและออกแบบการสื่อสารทางการเมืองของขบวนการแรงงานและการรณรงค์เพื่อรัฐสวัสดิการหลายโครงการสำหรับเส้นทางของเธอ

ความฝันเหมือนเป็นนิรันดร์ เหมือนคนที่ทำงานกับเด็ก เยาวชน นักศึกษา คนแก่ในประเทศด้อยพัฒนาในไทย เหมือนเป็นคำสาปที่เรื่องนี้ไม่มีทางหายไปได้ เว้นแต่เราจะสามารถสร้าง “รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า” ได้

ดังนั้นคำถามนี้อาจเหมาะกับเธอมากที่สุดคนหนึ่ง ถ้าเธอสามารถใช้ชีวิตโดยไม่ต้องคำนึงความเหลื่อมล้ำที่อยู่รอบตัวเธอจะทำอะไร “บางทีอาจจะเรียนไปเรื่อย ๆ โดยไม่ต้องคำนึงว่า สิ่งที่เรียนนี้คุ้มค่ากับค่าเทอมหรือไม่ หรือว่าจบแล้วต้องทำงานอะไร เราจะได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ ตลอดเวลาและเข้าใจโลกมากขึ้นในแง่มุมอื่น ๆ”

ต่างจากทุกวันนี้ที่การเข้าถึงความรู้กลายเป็นเรื่องลำดับชั้น ราคาแพง คนรวยหาความหมายของจักรวาลได้แต่เด็กที่เกิดในสลัมตัวเลือกในชีวิตของเขากลับมีแค่ไม่กี่อย่าง

คนรุ่นใหม่ที่น่าสนใจอีกท่านหนึ่ง อิง-ไชยวัฒน์ วรรณโคตร เมื่อปี 2561 อิงเป็นคนปราจีนบุรี เป็นสมาชิกผู้จดจัดตั้งพรรคอนาคตใหม่ที่อายุน้อยที่สุด คือเพิ่งเต็ม 20 ปี เมื่อปี 2561 ผมรู้จักเขาจากการแนะนำของเพนกวิน-พริษฐ์ อิงสนับสนุนปีกแรงงานพรรคอนาคตใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการทำนโยบายด้านที่ก้าวหน้า ต่อสู้กับฝั่งเสรีนิยมอนุรักษ์นิยมภายในพรรค การสื่อสารทางการเมืองจนปีกแรงงานเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง รวมถึงการผลักดันนโยบายสำคัญอย่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฉบับแก้ไข ซึ่งปัจจุบันนายกรัฐมนตรียังไม่ลงนามเข้าสู่สภา ผมรู้จักอิงในฐานะคนรุ่นใหม่ที่อ่านหนังสือเยอะมาก รวมถึงการขับเคลื่อนอุดมการณ์สังคมนิยมประชาธิปไตย แม้พรรคอนาคตใหม่จะโดนยุบไปแล้วในปี 2563

ในวัย 23 ปี เขาคือ คนสำคัญในการผลักโดนนโยบายรัฐสวัสดิการและขนส่งสาธารณะถ้วนหน้า สู่การแข่งขันทางการเมืองในระดับท้องถิ่น ดูเหมือนว่าทั้งชีวิตที่ผมรู้จักเขาคือมิติของ “รัฐสวัสดิการและความเท่าเทียม” เมื่อผมถามถึงเงื่อนไขชีวิตที่เขาจะทำหากโลกนี้เสมอภาคกันและเป็นประชาธิปไตย “บางทีอาจเลี้ยงหมาเพิ่มขึ้น อาจชงกาแฟกินยามว่าง และสนใจชีวิตคนรอบข้างได้มากขึ้น หากเราไม่ต้องทำงานหนัก เรียนหนัก หาความรู้มาก ๆ เพื่อต่อสู้กับฝั่งอนุรักษ์นิยม เราอาจมีชีวิตที่ได้ท่องเที่ยวและเจอผู้คนได้มากขึ้น”


สำหรับนักเคลื่อนไหวทางการเมืองอีกท่าน ผมรู้จักเธอได้ไม่นาน จ๋อมแจ๋ม-เนตรนภา อุตัน เธอเรียนมัธยมที่จังหวัดร้อยเอ็ดปัจจุบันเธอเรียนคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นสมาชิกกลุ่มศึกษามาร์กซิสต์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 19 กันยา 2563 เธอร่วมจัดกิจกรรมบิลหนี้ทุนนิยมแลกดอกกุหลาบ พร้อมกับการปราศรัย “ทฤษฎีการครอบงำทางสังคม-ของอันโตนิโอ กรัมชี” และในเวทีย่อยการชุมนุมวันที่ 14 ตุลาคม 2563 บริเวณแยกนางเลิ้ง กับคำถามเดิมที่ว่า ถ้าประเทศนี้รับอุดมการณ์สังคมนิยมประชาธิปไตย มนุษย์เสมอภาคกันในทางเศรษฐกิจ ไม่ถูกกีดขวางด้วยอำนาจเผด็จการและจารีตประเพณีเธอจะเลือกใช้ชีวิตอย่างไร

เธอบอกว่า “คงมีความฝันที่ราบเรียบมากขึ้น” ที่ผ่านมาสิ่งที่กีดขวางความฝันของเธอคือความกังวลว่า ความฝันหรือทางเลือกของเธอจะทำให้ใครเดือดร้อนหรือไม่ หรือทำให้คนที่สำคัญกับชีวิตเธอเช่นคนในครอบครัวไม่พอใจ หรือการต้องต่อสู้กับคำอธิบายว่า “เอาตัวเองให้รอดก่อนค่อยคิดถึงคนอื่น” หรือ “สู้ไปก็ไม่มีวันชนะ” คำอธิบายเหล่านี้บั่นทอนการต่อสู้ และจิตใจของเธออย่างมาก ถ้าประเทศนี้เป็นรัฐสวัสดิการเธอย่อมไม่ต้องกังวลต่อคำอธิบายเหล่านี้บางทีเธออาจสนใจเรื่องเล็ก ๆ เรื่องการดูแลสุนัข หรือการทำตามความฝันในการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยอาจจะง่ายมากขึ้น

ท้ายที่สุดบางทีโลกนี้อาจมีอัตลักษณ์แตกต่างที่หลากหลายมากขึ้น ถ้าชนชั้นทางเศรษฐกิจของมนุษย์เท่ากัน ความหลากหลายด้านวิถีชีวิตมันจะเพิ่มขึ้นมาเอง และทำให้ชีวิตเราในสังคมมีความสมบูรณ์มากขึ้น

นักเคลื่อนไหวท่านสุดท้าย เนย-ศุภณัฐ กิ่งแก้ว เป็นคนชลบุรี พ่อแม่เขาคือ ชนชั้นแรงงานที่ทำงานหนักเพื่อชีวิตและโอกาสของลูก ผมรู้จักเนยมานานกว่าหลายท่านข้างต้น เพราะสอนเขาโดยตรงเมื่อสมัยเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หลักสูตร ปรัชญา การเมืองและเศรษฐศาสตร์ เขาเป็นคนสนใจการเมืองตั้งแต่ยังไม่เข้าเรียนมหาวิทยาลัย และความสนใจทางการเมืองของเขาดูมากขึ้น ๆ ตอนนี้เขาสำเร็จการศึกษาได้สองปีแล้ว และเป็นคณะทำงานกลุ่ม “บัณฑิตธรรมศาสตร์ของราษฎร” เป็นผู้ออกแบบงานได้อย่างน่าสนใจ เป็นไปอย่างสงบสันติ ใช้ถ้อยคำที่แฝงให้ตีความหมาย แต่ไม่มีการปะทะใด ๆ

แม้ว่าวันที่ 31 ตุลาคม 2563 เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจะยกขบวนมาทั้งสามเหล่าทัพที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลักการของเนยมีสั้น ๆ คือการสื่อสารว่า “ความเหลื่อมล้ำของการศึกษาที่มีอยู่นี้เกิดขึ้นเพราะการไร้รัฐสวัสดิการของประเทศ นักศึกษาต้องเป็นหนี้ ต้องทำงานระหว่างเรียน ดังนั้นบัณฑิตจึงต้องเป็นบัณฑิตของราษฎร เพื่อต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำ อย่าให้ใบปริญญาเป็นตรายางของความเหลื่อมล้ำต่อไป”

เช่นกัน ผมรู้จักเขาในฐานะนักต่อสู้ทางการเมือง ที่คงต้องต่อสู้ไปเรื่อย ๆ ทั้งชีวิต แต่เมื่อผมถามถึงชีวิต “หลังภารกิจทางการเมือง” เมื่อประเทศเป็นรัฐสวัสดิการ เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ เขาจะทำอะไร “บางทีผมอาจไปเรียนทำขนม ในวันปกติก็อาจเดินทางไปพักผ่อนริมทะเลกับแฟน นั่งคุยกัน กินขนมที่ทำมา เป็นวันปกติธรรมดา โดยที่ไม่ต้องเป็นวันพิเศษที่เรารอมาทั้งปี หรือทั้งชีวิต”

ผมเรียบเรียงเรื่องราวทั้งหมดเพื่อให้ทุกท่านเห็นภาพว่า ชีวิตพวกเราล้วนมีความฝันง่าย ๆ พื้นฐานที่เหมือนกัน ปรารถนาอยู่ในสังคมที่มีความเสมอภาคไม่กีดขวางทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ วิ่งตามความฝัน มีความรัก ออกผจญภัย ร้องเพลง อยู่กับสัตว์เลี้ยง แต่ความฝันง่าย ๆ เหล่านี้กลับถูกสงวนไว้สำหรับคนกลุ่มเล็ก ๆ และทิ้งพวกเราไว้กับความเหลื่อมล้ำมหาศาล แม้ความมั่งคั่งต่าง ๆ เกิดจากการทำงานของพวกเราคนส่วนใหญ่ในประเทศทั้งสิ้น

“ครั้งหนึ่ง พวกเราก็มีความฝันเหมือนกัน” เรื่องสั้น ๆ ที่ผมอยากถ่ายทอดจินตนาการถึงสังคมหลังการเปลี่ยนแปลงของคนธรรมดาในวิถีการต่อสู้ทางการเมือง