นัดหยุดงาน-บอยคอตเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงทั่วประเทศ ยกระดับการสร้างประชาธิปไตยและรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า - Decode
Reading Time: < 1 minute

ประกายไฟลามทุ่ง

โดย รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี
วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

วันที่ 16 ตุลาคม 2563 การใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎร 2563 ซึ่งเป็นการชุมนุมอย่างสันติ ตามกรอบของหลักการสิทธิมนุษยชน การใช้ความรุนแรงที่ขัดกับหลักการสลายการชุมนุมสากลด้วยการใช้เครื่องฉีดน้ำความดันสูงผสมสารเคมีสีฟ้าที่มีสมบัติเป็นกรดและล้างออกยาก ทัศนคติของการสลายการชุมนุมลักษณะนี้เป็นวิธีการมองความสัมพันธ์ระหว่างนายพรานกับเหยื่อ มนุษย์กับสัตว์ หาใช่การมองความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและประชาชนแต่อย่างใด

แม้ภาพลักษณ์ของฝ่ายรัฐจะถูกโจมตีอย่างรุนแรงแต่กลไกการปราบปรามผ่าน คุก ศาล ทหารตำรวจ ยังคงทำงานได้ดี และปรารถนาจะสร้างความหวาดกลัวในวงกว้าง จากการจับกุมแกนนำ หรือวางเงื่อนไขคุกคามผู้จัดการชุมนุมนอกพื้นที่กรุงเทพมหานครในต่างจังหวัดที่เสี่ยงต่อการใช้อำนาจมืดของระบบราชการที่ห่างไกลจากการสนใจของผู้คนและสื่อมวลชน ลักษณะเช่นนี้จึงเสมือนว่าแม้ความเกลียดชังและการตั้งคำถามจะเพิ่มสูงขึ้น แต่การรวมตัวสู่ชัยชนะกลับดูยากลำบาก ในบทความนี้จึงขอเสนอทางเลือกเพื่อการต่อสู้และสร้างการเปลี่ยนแปลง ซึ่งต้องไปมากกว่าการสร้างประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมแต่จำเป็นต้องพูดถึงข้อเสนอสังคมนิยมประชาธิปไตย และรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า ผ่านการเชื่อมโยงประเด็นเศรษฐกิจปากท้องสู่พลังขับเคลื่อนทางการเมือง

แม้รัฐคือผู้ผูกขาดอำนาจการใช้ความรุนแรง การปราบปรามทางกายภาพ รวมถึงกลไกการครอบงำทางอุดมการณ์ เอื้อประโยชน์แก่ชนชั้นนายทุน ซึ่งเป็นลักษณะพื้นฐานของรัฐโดยทั่วไป จึงเป็นที่น่าสังเกตว่าแม้จะมีอำนาจสูงสุดเบ็ดเสร็จ แต่รัฐก็สามารถถูกโค่นล้มได้โดยประชาชนดังสะท้อนให้เห็นทั้งในไทยและต่างประเทศ ก็ล้วนมีประวัติการถูกโค่นล้มด้วยคนธรรมดาสามัญ ซึ่งสามารถพิจารณาถึงข้อจำกัดของอำนาจรัฐไทยดังนี้

1.การทำงานของรัฐไทยยังทำงานผ่านระบบราชการ ไม่ว่าจะเป็นงานทางธุรการ ไล่มาจนถึงงานด้านความมั่นคงจากการชุมนุมตั้งแต่เดือนกันยายน จะเห็นได้ว่าอำนาจรัฐปราศจากความยืดหยุ่น ไม่สามารถเปลี่ยนคำสั่งการได้ และยังทำงานที่ยึดติดกับ “พื้นที่กายภาพ” อย่างชัดเจนเพราะอำนาจรัฐไทยยังคงยึดติดกับการครอบครองพื้นที่ไม่ว่าจะเป็น ถนน ศูนย์ราชการ โครงสร้างพื้นฐานต่างๆยังคงเป็นสิ่งที่รัฐไทยให้ความสำคัญ

2.แม้รัฐไทยจะได้เปรียบด้านการข่าว เพราะมีผู้ปฏิบัติงานเต็มเวลา ในการสามารถจัดการข่าวพื้นฐาน ข้อมูลเบื้องต้น แม้แต่ข่าววงในจากผู้ชุมนุม แต่จุดอ่อนสำคัญของรัฐไทย คือการไม่สามารถสื่อสารทางการเมืองเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ แม้แต่กลุ่มประชาชนที่สนับสนุนรัฐบาลเองก็ยังเชื่อและคล้อยตาม “ข่าวโฆษณาชวนเชื่อตามไลน์” มากกว่า คำแถลงของนายกรัฐมนตรี โฆษกรัฐบาล และรัฐมนตรีต่าง ๆ

3.รัฐไทยเป็นรัฐทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ ที่ฉายภาพความเหลื่อมล้ำมากมายมหาศาลในช่วงสิบปีที่ผ่านมา รัฐมีหน้าที่เอื้อประโยชน์กลุ่มทุนขนาดใหญ่ ผ่านการลดภาษี เขตเศรษฐกิจพิเศษ สัมปทาน ฯลฯ ขณะที่สวัสดิการของประชาชนตกต่ำ วิกฤติ Covid-19 ยิ่งเผยความเหลื่อมล้ำที่มากขึ้นดังนั้นปัญหาสำคัญของรัฐไทยคือมีผู้ที่เสียประโยชน์มากมายมหาศาลจากความเหลื่อมล้ำนี้ ขณะที่ชนชั้นกลางก็อยู่ในสถานะที่ยากลำบากในการรักษาสถานะของตัวเอง และชนชั้นนำมีแต่กอบโกยและสร้างกำแพงสูงขึ้น

เมื่อพิจารณาจุดอ่อนสำคัญของรัฐไทยแนวทางสำคัญในการเรียกร้องประชาธิปไตยต่อจากนี้ คือ การต่อสู้ในชีวิตประจำวันควบคู่ไปกับการรวมตัวเรียกร้องทางการเมืองที่เกิดขึ้นจนเป็นปกติ การเริ่มต้นที่เราเริ่มเห็นคือกลุ่ม “ผู้จ้างแรงงานตัวเอง” พ่อค้าแผงหมู คนขายน้ำเต้าหู้ ร้านขายข้าวมันไก่ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางสูงทางเศรษฐกิจสามารถแสดงพลังเบื้องต้นได้ โดยการปฏิเสธขายสินค้าและบริการให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในเครื่องแบบ ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นที่มีพลัง ที่สะท้อนให้เห็นว่าคนตัวเล็กตัวน้อยก็มีพลังต่อรองทางเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน จากประวัติศาสตร์แล้วการนัดหยุดงานมีพลังสำคัญในการยกระดับการต่อสู้และทำให้ประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่จับต้องได้และทำให้ชีวิตทรัพย์สินที่เสียไประหว่างการต่อสู้แปรเปลี่ยนเปลี่ยนเป็น สวัสดิการที่มีความก้าวหน้ามากขึ้น และครอบคลุมผู้คนมากขึ้น

ปี 1956 การนัดหยุดงานครั้งใหญ่ในฟินแลนด์ มีผู้เข้าร่วมกว่า 4 แสนคนเพื่อประท้วงต่อราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่ราคาสูงขึ้น ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 การนัดหยุดงานใช้เวลาประมาณสามอาทิตย์ และสามารถหยุดวันทำงานรวมแล้วกว่า 7,000,000 วันทำงาน ส่งผลให้ค่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นทุกอุตสาหกรรมกว่า 10% อันนำสู่ดการเรียกร้องในมิติอื่นๆและนำสู่รัฐสวัสดิการในท้ายสุด

การนัดหยุดงานที่ใหญ่ที่สุดในโลก เกิดไม่ไกลจากไทย ในปี 2016 เมื่อผู้ใช้แรงงาน 180 ล้านคนในอินเดียนัดหยุดงาน อินเดียเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง แต่การรวมตัวของผู้ใช้แรงงาน 180 ล้านคนมีส่วนสำคัญในการกดดันการพัฒนาหลักประกันสุขภาพในอินเดียในช่วงเวลาต่อมา

สำหรับประเทศไทยกลไกสำคัญของการนัดหยุดงานเพื่อส่งสัญญาณทางการเมือง อาจเรียนรู้ได้จากฟินแลนด์เมื่อ 64 ปีที่แล้วคือการใช้การนัดหยุดงานเพื่อสร้างรัฐสวัสดิการและเปลี่ยนนิยามความหมายของประชาธิปไตยให้จับต้องได้ พร้อมกับเรียนรู้แนวทางการรวมตัวในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำใกล้เคียงกันอย่างอินเดียว่าความโกรธแค้นลักษณะใดที่ทำให้ผู้คนที่ไร้อำนาจสามาถส่งพลังได้

การนัดหยุดงานจำเป็นต้องมาพร้อมกับข้อเรียกร้อง ซึ่งคือการเปลี่ยนประเด็นปากท้องในชีวิตประจำวันสู่การเป็นประเด็นทางการเมือง ซึ่งมวลชนมีความยืดหยุ่นมากกว่ารัฐ มีความสามารถในการสื่อสารระหว่างกันได้ดีกว่ารัฐ และที่สำคัญมีประสบการณ์ร่วมต่อปัญหาทางเศรษฐกิจแบบเดียวกันและเหนียวแน่นระหว่างกัน

กลุ่มแรกที่ทรงพลังคือกลุ่มนักศึกษา ที่แบกรับความเสี่ยงจากเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากร ข้อเสนอสำคัญของการนัดหยุดเรียน อันส่งผลต่อการนัดหยุดทำงานของผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัย ย่อมส่งผลต่อพลังในการเรียกร้องหลักการ “การศึกษาที่ฟรีพร้อมเงินเดือนจนถึงปริญญาเอก” ซึ่งใช้งบประมาณสำหรับนักศึกษาทั้งประเทศเพียง 2 แสนล้านบาท  ซึ่งหากตัดงบประมาณกลาโหมและมหาดไทยอย่างละ 50% ก็ย่อมสามารถทำให้เห็นรูปธรรมของการลดงบประมาณฟันเฟืองของระบอบอำนาจนิยมและขยายสู่สวัสดิการของประชาชน

กลุ่มที่สองคือกลุ่มแรงงานอิสระ ซึ่งมีปริมาณสูงมากกว่า 20 ล้านคน รวมถึงผู้ประกอบการเหนือแรงงานตัวเอง การยกระดับประกันสังคมถ้วนหน้าสำหรับแรงงานอิสระใช้งบประมาณ 1 แสนล้านบาท เพื่อให้ทุกคนมีสิทธิประกันสังคมโดยพื้นฐานไม่น้อยกว่าแรงงานในระบบ ซึ่งทำได้โดยการยกเลิกการลดหย่อนภาษีให้กลุ่มทุนขนาดใหญ่ ก็ย่อมทำให้ทุกคนได้รับสิทธิประโยชน์ส่วนนี้

กลุ่มผู้มีครอบครัวในวัยทำงานที่ต้องเลี้ยงดูลูกและพ่อแม่ในวัยชรา หากประเทศไทยเก็บภาษีทรัพย์สินในอัตราก้าวหน้า เพียงร้อยละ 3 ของผู้มีทรัพย์สินเกิน 400 ล้านบาท ก็จะทำให้ได้งบประมาณมากกว่า 2แสนล้านบาทต่อปี ในการสร้างสวัสดิการเงินเลี้ยงดูเด็กและเงินบำนาญประชาชนถ้วนหน้า

ดังนั้นการยกระดับการต่อสู้ผ่านการนัดหยุดงานในพื้นที่ทางเศรษฐกิจที่ตนใกล้ชิดจึงมีความสำคัญ พร้อมกับการสนทนาข้อเสนอที่ฉายภาพว่า หากชัยชนะครั้งนี้เกิดขึ้นมันจะไม่ใช่เพียงแค่ประชาธิปไตยแบบนามธรรม แต่คือความเสมอภาคที่จับต้องได้ และต้องอย่าลืมว่าความมั่งคั่งของกลุ่มนายทุนก็เกิดขึ้นจากการทำงานของคนธรรมดาอย่างพวกเรา การส่งสัญญาณการนัดหยุดงานที่เป็นวงกว้างทำงานร่วมกันอย่างสามัคคีที่พร้อมใจ ใช้เวลาเพียงแค่สัปดาห์เดียวอาจยกระดับการต่อสู้ได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยเริ่มต้นจากการปฏิเสธ การบริการกลุ่มเจ้าหน้าที่ความมั่นคง กลุ่มชนชั้นนำทางเศรษฐกิจ พรรคร่วมรัฐบาล กระทั่งการนัดหยุดงานที่มีการเตรียมพร้อมให้เกิดผลเสียต่อเพื่อนร่วมชนชั้นน้อยที่สุดและส่งสัญญาณสู่ผู้มีอำนาจได้แรงและเร็วที่สุดไปพร้อมกัน

รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี สนับสนุนการ #หยุดเรียน #หยุดสอน เริ่มวันที่ 22 ตุลาคม 2563 หลังจากที่นักศึกษา มธ.ลำปาง นัดหยุดเรียนเพื่อเรียกร้องมหาวิทยาลัยให้ทบทวนต่อการระบุว่า ‘การชุมนุม’ เป็นสิ่งน่าละอายและไม่สมควรเกิดขึ้น