ไม่ใช่แค่ลมใต้ปีกแต่ ‘เขา’ ลิขิตทิศทางไทย : ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี - Decode
Reading Time: < 1 minute

อ่านแล้วรู้สึกตาสว่างและอดที่จะเกิดคำถามตามมาไม่ได้ว่า… 
ที่ผ่านมาเราถูกทำให้ตามืดบอดอยู่หรือเปล่า
คือความรู้สึกของเราขณะที่กำลังอ่านหนังสือเล่มนี้ 

‘ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี การเมืองไทยภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา 2491-2500’ คือ หนังสือที่ว่าด้วยเรื่องของการเมืองไทยในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือ ในยุคสงครามเย็นตอนต้น สำหรับการเมืองระดับโลกช่วงเวลานี้ถือเป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านของโครงสร้างอำนาจจากจักรวรรดิอังกฤษ มาสู่ สหรัฐอเมริกา แต่สำหรับประเทศไทย โดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ดี เหตุการณ์ดังกล่าวได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจภายในการเมืองไทยด้วยเช่นกัน ซึ่งถ้าใครคนไหนได้หยิบหนังสือเล่มนี้มาเปิดอ่านดูแล้วบ้างจะพบเลยว่า การเข้ามาของสหรัฐอเมริกาไม่ได้แค่เปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจในระดับผิวๆ แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ลงลึกไปถึงทุกอณูจิต เรียกได้ว่า เมื่ออ่านจบ อาจจะต้องถึงเวลามาชำระวาทกรรมที่วิชาประวัติศาสตร์ไทยเคยสอนให้เราท่องจำกันใหม่เสียยกใหญ่ ยกตัวอย่างเช่น ตกลงแล้วประเทศไทยไม่เคยตกเป็นอาณานิคมของใครจริงหรือ ? 

ก่อนจะไปเข้าเรื่องเนื้อหาว่า หนังสือเล่มนี้จะช่วยถ่างตาของคุณให้กว้างขึ้นได้อย่างไร เราอยากจะขอพาคุณไปทำความรู้จักที่มาของหนังสือเล่มนี้สักเล็กน้อย เพราะเราเชื่อเหลือเกินว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้น ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นมาอย่างโดด ๆ แต่ทุกสิ่งล้วนมีที่มา (และใคร?) ที่ (ต้อง) ไปเสมอ  

หนังสือเล่มนี้ถือเป็นหนังสือลำดับที่ 5 ในชุดซีรีส์ ‘สยามพากษ์’ ของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ซีรีส์หนังสือที่ว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสังคมการเมืองไทยในแต่ละยุคสมัย โดยมีจุดร่วมที่สำคัญอย่างการท้าทายหักล้างการศึกษาก่อนหน้าด้วยข้อมูลหรือกรอบทฤษฎี ซึ่งต้องขอบอกเลยว่าหนังสือที่เรากำลังรีวิวอยู่นี้สามารถตีโจทย์นี้ได้แตกกระจาย ยืนยันด้วยบรรณานุกรมที่มีความหนาเทียบเท่าได้กับหนังสืออีกหนึ่งเล่ม!  

ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรีฯ เป็นการเขียนและเรียบเรียงเนื้อหาใหม่จากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก เรื่อง “การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500)” ของ ณัฐพล ใจจริง อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ผู้สนใจประวัติศาสตร์การเมืองร่วมสมัยคณะราษฎร โดยเฉพาะขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติ 2475  ซึ่งได้มีผลงานเล่มสำคัญและกำลังเป็นกระแสอยู่ในขณะนี้อย่างหนังสือ ‘ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ’ นั่นเอง

ก่อนที่จะไปเข้าเรื่องเนื้อหาจริงๆ (อีกแล้ว) เรามีวิทยานิพนธ์ (ไม่) กระซิบมาเล่าให้ฟัง เพื่อเป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยให้ใครหลายคนที่อาจจะท้อใจเพราะความหนาของหนังสือได้มีแรงบันดาลใจที่จะหยิบหนังสือเล่มนี้คือมาอ่านจนจบ ต้องขอบอกเลยว่า แม้วิทยานิพนธ์ของณัฐพลจะได้รับการพิจารณาให้อยู่ในระดับดีมากแต่กลับถูกทางมหาวิทยาลัยสั่งห้ามเผยแพร่ ทั้งที่ได้ผ่านการสอบและอนุมัติปริญญาไปเรียบร้อยแล้ว 

เหตุการณ์นี้ชวนให้เกิดขอสงสัยและข้อถกเถียงว่าด้วยสาเหตุอะไรกันถึงทำให้วิทยานิพนธ์เล่มนี้จำเป็นต้องงดการเผยแพร่ ซึ่งเราจะขอหยุดประเด็นนี้ไว้เพียงแต่เท่านี้ เพราะไม่งั้นรีวิวชิ้นนี้ย่ำรุ่งก็เขียนไม่จบ ฉะนั้นรายละเอียดจะเป็นอย่างไรต่อไปนั้น สามารถหาอ่านได้ต่อใน ‘คำนำเสนอ โดย ธงชัย วินิจจะกูล’ ที่เราขอย้ำเลยว่า จงไปหาทำ อย่าเปิดข้าม เพราะธงชัยได้วิพากษ์ประเด็นนี้ไว้อย่างชัดเจนและตรงไปตรงมา ชวนให้เรากลับมาตั้งคำถามต่อหน้าที่ของสถาบันการศึกษา ว่าแท้จริงแล้วหน้าที่ของสถาบันอันทรงเกียรติมีหน้าที่อย่างไรกันแน่ เป็นสถานที่มีไว้เพื่อเปิดตาศิษย์ให้สว่างจ้า หรือ เป็นเพียงแค่สถานที่ที่ทำหน้าที่ป้อนข้อมูลที่เขาบอกว่าให้ไปจำ เรื่องนี้ก็ถือเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ทิ้งไว้ให้สังคมได้คบคิดกันต่อไป 

ในที่สุดก็เข้าพาร์ทเนื้อหาหลัก (สักที!) หนังสือเล่มนี้เล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ในช่วงเวลา 10 ปีแรกของการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐ หรือในสมัยรัฐบาลจอมพลป.พิบูลสงคราม (พ.ศ. 2491-2500) ณัฐพลเปรียบช่วงเวลานี้ว่า ‘เป็นยุคสมัยแห่งความคลุมเครือในประวัติศาสตร์การเมือง’ เพราะมีหนังสือที่ศึกษาช่วงเวลาดังกล่าวน้อยมาก นอกจากนี้ช่วงเวลาดังกล่าวก็ยังคงถูกมองว่า เป็นเพียงยุคเผด็จการทหารสมัยหนึ่งที่เป็นดั่งรอยต่อมาสู่ระบอบเผด็จการทหารของจอมพลสฤษดิ์เท่านั้น ไม่ได้เป็นช่วงเวลาที่โดดเด่นอะไร ทั้งที่จริงแล้วช่วงเวลานี้ถือเป็น ‘ช่วงเวลาตั้งไข่’ ของหลายๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามมาในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย 

เนื้อหาภายในเล่มเปิดด้วยการ recap ให้เราฟังว่าเกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทยในแต่ละช่วงเวลา ผู้เขียนค่อย ๆ ไล่ลำดับเหตุการณ์อย่างเป็นขั้นเป็นตอน พร้อม ๆ กันกับที่ค่อยๆ เผยโฉมหน้าของแต่ละตัวละคร พร้อมทั้งปูปูมหลังของแต่ละคนเพื่อให้ผู้อ่านอย่างเราเข้าใจว่าแต่ละคนมีแรงไดรฟ์อะไร และ มีเงื่อนไขแบบไหนถึงตัดสินใจกระทำการแบบนั้น เรียกได้ว่าต่อให้คุณไม่ได้เป็นคนที่แม่นประวัติศาสตร์ไทยสักเท่าไหร่ ก็สามารถเข้าใจเนื้อหาได้ไม่ยาก ต้องขอยอมรับว่า ณัฐพลจัดวางข้อมูลและเรียงร้อยเหตุการณ์ได้อย่างดีเยี่ยม จนทำเอาเราอยากจะถามเขาเหมือนกันว่ากองเอกสารของคุณสำหรับเขียนหนังสือเล่มมีความสูงเท่าไหร่กัน 

หลังจากนั้นผู้เขียนจะพาคุณดำดิ่งไปสู่ช่วงเวลาประวัติศาสตร์ที่ไทยตกอยู่ภายใต้ยุคสงครามเย็น ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ขับเคี่ยวกันระหว่าง 2 อุดมการณ์ระหว่างคอมมิวนิสต์และเสรีนิยม หนังสือเล่มนี้แสดงชัดด้วยหลักฐานว่าสหรัฐ ทำทุกวิถีทางเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ซึ่งจะเป็นภัยต่อการขยายอำนาจจักรวรรดิของตน แน่นอนว่ารวมถึงการเข้ามาแทรกแซงการเมืองภายในบ้านเรา ในขณะเดียวกันการเมืองภายในประเทศไทยก็อยู่ในจุดที่เรียกว่าต้องหักเหลี่ยมเฉือนคมกันตลอดเวลา กลุ่มอำนาจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เหล่าขุนศึกอย่างกองทัพและรัฐบาลทหาร , กลุ่มศักดินา อย่างรอยัลลิสต์และสถาบันกษัตริย์ ต่างช่วงชิงพื้นที่อำนาจกันอย่างไม่หวาดไม่หวั่น ผลัดกันแพ้ ผลัดกันชนะ แต่ไม่เคยมีใครถอยห่าง หรือ อยู่เหนือการเมืองอย่างที่ว่าไว้เลยสักกลุ่มเดียว ทุกฝ่ายต่างล้วนต้องการที่จะดึงพญาอินทรีเข้ามาเป็นพวกเพื่อเสริมอำนาจฐานที่มั่นให้กับกลุ่มตัวเอง โดยไม่ทันได้นึกถึงผลที่จะตามมา หรือ คิดแล้วแต่ไม่ได้สนใจ อันนี้เราคงตอบไม่ได้ ขอให้คุณผู้อ่านทั้งหลายได้ไปตัดสินกันเอาเอง

ความสนุกของหนังสือเล่มนี้ นอกจากจะเป็นเนื้อหาที่ทำเอาเราตาสว่างแล้วตาสว่างอีกได้ไม่หยุดไม่หย่อน เราคิดว่าคงเป็นปรากฏการณ์ after-effect ที่เกิดขึ้นหลังจากอ่านจบ มันทำให้เราเกิดการตั้งคำถามต่อ อยากรู้ อยากคุย อยากดิสคัสต่อทุกเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ ว่าเอ๊ะตกลงแล้วประวัติศาสตร์ต่างๆ ที่เราเคยได้เล่าเรียนมาแท้จริงแล้วมันถูกเขียนขึ้นมาจากพื้นฐานอะไรและโดยใคร และในช่วงเวลาอื่นที่ประสบพบเจอเหตุการณ์คล้าย ๆ กัน แท้จริงแล้วเรื่องราว ณ วันนั้นเป็นอย่างไร ยังมีตัวละครลับตัวอื่นอีกไหมที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ต่าง ๆ แต่ไม่เคยได้ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึง 

แต่ท่ามกลางความบันเทิงใจที่ได้รู้แจ้ง ต้องขอยอมรับว่าเราเองก็รู้สึกเศร้าใจไม่น้อยเหมือนกัน เมื่อย้อนกลับมาคิดได้ว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นนี้เป็นเรื่องราวจริง ๆ ที่เกิดขึ้นในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย การกระทำที่เกิดขึ้น ณ วันนั้นยังส่งผลมาถึงการเมืองไทยทุกวันนี้ ความเกลียดชังต่อคอมมิวนิสต์ที่สหรัฐ ได้ประกอบสร้างขึ้นมา ณ ยุคสงครามเย็น ไม่ได้จางหายไปยามเมื่อพญาอินทรีบินกลับรัง เมื่อเวลาผ่านไปมันกลายมาเป็นอาวุธในการกำจัดคนที่คิดเห็นต่าง มีผู้คนมากมายเหลือเกินที่ต้องสูญหายและล้มตายอย่างไม่เป็นธรรมจากวาทกรรมพวกนี้ 

จากความเสียใจ เรายอมรับว่ามันแปรเปลี่ยนเป็นความโกรธต่อตัวเองว่าที่ผ่านมาทำไมถึงยอมปล่อยให้ตามืดบอด ทำไมไม่ตั้งคำถาม ทำไมไม่สงสัย ทำไมถึงเชื่อเพียงแค่เขาบอกให้เชื่อ ทำไมถึงรักเพียงเพราะแค่เขาบอกให้รัก ทำไมถึงไม่เลือกที่จะถามเขากลับไปว่า ให้เราจงเชื่อด้วยเหตุผลใด ให้เราจงรักด้วยเหตุผลใด ประเทศนี้เลือกที่จะลืมหลายเหตุการณ์มานานเกินไป หรือมันจะถึงเวลาแล้วที่เราต้องลุกขึ้นมามองไปยังอดีตและพูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา หรือมันจะถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องยอมรับว่า ชาติเราเองก็มีด้านอดีตที่ดำมืด และรอเวลาที่จะได้รับการชำระไม่ต่างกัน 

เพราะเราจะไปต่ออย่างแข็งแรงได้อย่างไรกัน หากวันนี้เรายังไม่ยอมรับบาดแผลที่เคยเกิดขึ้นในวันนั้น 
เพราะเราจะเข้าใจปัจจุบันได้อย่างไรกัน หากเราไม่เคยได้สืบสาวไปถึงมูลเหตุแห่งการเกิดขึ้นของสิ่งต่าง ๆ 
และเพราะเราจะป้องกันไม่ผิดพลาดซ้ำรอยเดิมได้อย่างไรกัน หากเรายังคงทำเหมือนว่าอดีตอันดำมืดนั้นไร้ตัวตน 

‘ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี การเมืองไทยภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา 2491-2500’ เป็นหนังสือที่เราอยากจะแนะนำให้คุณลองไปหาอ่าน มั่นใจว่าจะได้ตาสว่างยิ่งกว่าไฟหน้ารถแน่นอน 

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน) ขึ้นไว้บนเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี