She’s ทราย, Thank you. แด่ความไม่สมบูรณ์แบบของทุกวัน และทุกคน - Decode
Reading Time: 2 minutes

“พี่ทรายคะ ตอนนี้เครียดมากเลย คิดไม่ตกว่าชีวิตควรเลือกอะไร ระหว่างความรัก กับความฝันในด้านการงาน พอดีมีแฟนเป็นคนต่างชาติ แล้วกำลังคิดว่า ชีวิตต้องเปลี่ยนไปอยู่นั่นแน่เลย และไม่รู้ว่าจะรอดไหม พี่ทรายทำอย่างไรเวลาที่พี่ทรายต้องตัดสินใจบางอย่างที่สำคัญกับชีวิต”

นี่เป็นคำถามที่เราคิดหลายครั้งมาก ๆ ว่า ควรส่งไปถามพี่ทราย “ทราย-อินทิรา เจริญปุระ” หรือเปล่า เผื่อเขาเลือกคำถามเราไปตอบในพอดแคสต์ I’m ทราย Thank you. ของแซลมอนพอดแคสต์ แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่ได้ส่งไปสักที ได้แต่ฟังพี่ทรายตอบคำถามคนอื่น ๆ จนล่วงเลยมาถึงช่วงเวลาที่เสียงของพี่ทรายถูกแปลงร่างเป็นตัวหนังสือ มี BUNBOOKS สำนักพิมพ์ที่ตีพิมพ์การถอดเทปไว้ให้

เราเลือกหยิบเล่มนี้ขึ้นมาเสนอให้ผู้อ่านบรรจุมันลงใน PlayRead ส่วนตัว เป็นกองดองที่ควรไปลองอ่านดู เพราะอะไร? เราตอบสั้น ๆ ก่อนว่า ในฐานะที่เป็นคนฟังพอดแคสต์พี่ทรายทุกอีพี แม้มันจะเป็นการเขียนแบบถอดเทป แต่การจัดบรรทัด เว้นวรรค มันทำให้เราได้ใคร่ครวญกับแต่ละคำถาม แต่ละคำตอบได้ดีกว่าการฟัง (แม้ตัวเรายังชอบฟังก่อนมากกว่า)

สารตั้งต้นของความไม่สมบูรณ์แบบในทางใดทางใดหนึ่งของมนุษย์ มันทำให้เราดิ่ง เราดาวน์ เราท้อ เราตั้งคำถาม เราโมโห เราแลกเปลี่ยน เราปลอบใจ เราเจอคำตอบ เราไม่ Move on เราช่างแม่ง เราเติบโต เรากลับไปดิ่งต่อ (อีกเรื่อง หรืออาจจะเรื่องเดิม) ภาวะร่วมกันของมนุษย์ตรงนี้ I’m ทราย Thank you เป็นเพื่อนเราได้ หนังสืออาจไม่ตอบคำถามแบบ How To ไม่ใช่วรรณศิลป์หรือการใช้คำเล่นภาษา แต่คือความเรียลความจริงที่ถูกถ่ายทอด ตกตะกอนมาจาก “ประสบการณ์ของพี่ทราย” ทำให้เห็นว่าสังคม บริบท ชีวิตที่แตกต่างของแต่ละคน โครงสร้างที่เราอยู่ วัฒนธรรม ค่านิยม ตัวตน ล้วนเกี่ยวข้องกันเป็นผลต่อกันและกัน

นอกจากนี้ 19 บท 19 คำถาม และคำตอบที่ถูกคัดสรรให้อยู่ในเล่มนี้สอดคล้องล้อกับปัญหาปุถุชนคนธรรมดาอย่างเรา ๆ ทั้งเรื่องปัญหาซึมเศร้า การจัดการกับความห่วยแตกของชีวิต ความตั้งคำถามกับเส้นแบ่ง-เงื่อนไขความกตัญญู การเห็นต่างทางการเมือง เราคัด 3 ประเด็นที่เราชอบและอยากขอบคุณ ยังแอบเสียดายที่เราไม่มีโอกาสได้คุยกับพี่ทรายเพื่อขยี้สิ่งเหล่านี้

She’s ทราย, Thank you.
ช่างแม่งก็ได้

“ช่างแม่ง…นี่ทำกันยังไงครับ?” เราว่าคำถามมันเรียบง่าย ตรง และใช่ พี่ทรายตอบคำถามนี้ในมุมมองที่เห็นว่า “ช่างแม่ง คือ ทักษะ” ซึ่งทักษะแปลว่า ต้องฝึกฝน ต้องทำความเข้าใจ เราเองไม่เคยมองมันในมุมนี้

“ช่างแม่งเป็นทักษะที่เราควรจะมี และทำมันให้ได้ แต่ก็ไม่ใช่อยู่ดี ๆ จะลุกขึ้นมาบอกว่า ช่างมันเถอะ ฉันพอใจกับทุกอย่างบนโลกนี้อยู่แล้ว หรือยังไงฉันก็ไม่พอใจหรอก”

ประสบการณ์ทักษะช่างแม่งของพี่ทรายถูกถ่ายทอดผ่านช่วงเวลาหลังจากพี่ทรายประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ครั้งใหญ่ของชีวิต เป็นเวลาที่พี่ทรายไม่สามารถปล่อยวาง เกรงใจพี่น้องที่ต้องมาดูแล รู้สึกเป็นภาระนางพยาบาล รับสภาพตัวเองไม่ได้ ตอนนั้นเริ่มเข้าใจความช่างแม่งมากขึ้น อีกหนึ่งแบบฝึกหัดของพี่ทรายเพื่อบรรลุทักษะ “ช่างแม่ง” เพิ่มดีกรีด้วยความ “ช่างท้อ” ท้อกับความพยายามอธิบายความเห็นและจุดยืนทางการเมืองหรือความคิด

พาร์ทนี้เรารู้สึกว่า ความช่างท้อกับการต้องอธิบายตัวเอง พิสูจน์ตัวเองของคนยุคไหน ๆ ต่างก็หนักหนาเยอะแยะไปหมดตามกรอบของสังคม แบบพื้น ๆ เลยก็ต้องมีเงิน มีบ้าน มีรถ มีคนนับหน้าถือตา ต้องปรับตัวเก่ง ต้องประสบความสำเร็จเร็ว เป็นคนดีในนิยามที่เขากำหนด ความยุ่งเหยิงตรงนี้ เพื่อไปสู่จุดช่างแม่ง พี่ทรายก็ไม่ได้ใช้คำสำเร็จรูปมาปลอบใจหรือทุบตีตัวเองว่า ทำไมคิดไม่ได้วะ เพราะเข้าใจแล้วจริง ๆ “มันยาก”

“หลักการของเราเหมือนเดิม หากใครไม่เข้าใจ เราก็พอจะบอกตัวเองให้ช่างแม่งไปก่อน”

ความช่างแม่งของพี่ทราย เชื่อมร้อยกับกับ Self-Esteem และ Self Confidence ค่อนข้างมาก แต่ไม่ใช่ในเชิงมั่นหน้ามั่นโหนกอีโก้ แต่เป็นการยืนหยัดสิ่งที่ตัวเองเชื่อ และคิด ท่อนหนึ่งพี่ทรายบอกว่า “มันทำให้เรามั่นคงและสง่างามได้ทุกเวลา”

“เรารู้สึกว่าการถูกจดจำในตัวตนและทัศนคติเป็นคำชมอย่างหนึ่ง เป็นสิ่งที่คน ๆ หนึ่งควรจะได้รับในการใช้ชีวิตอย่างแน่วแน่ มันเป็นเหตุผลที่เราควรช่างแม่งให้ได้ เวลาที่มีคนไม่เข้าใจหรือตั้งคำถามในแนวทางของเรา”

She’s ทราย, Thank you.
ลูกกตัญญูต้องเป็นแบบไหน

อีกบทที่เรารู้สึกว่าแมส เป็น “Common Pain” แห่งยุคสมัย คือเรื่อง “ขอบข่ายความกตัญญูต่อพ่อแม่” ว่าควรเป็นอย่างไร ทำแค่ไหน ทำแบบนั้น พี่ทรายน่าจะเป็นคนหนึ่งที่ถูกขอให้แชร์ และตอบคำถามนี้มากที่สุด เพราะมีประสบการณ์โดยตรง

“พี่ทรายคะ หนูอยากทราบเงื่อนไขความกตัญญู”

เช่นเดิมพี่ทรายเล่าประสบการณ์ตัวเองกับแม่ พร้อมไฮไลท์ไว้ว่า ขอบเขตอยู่ตรงไหน และไม่เป็นไรถ้าเราจะ “ขัดใจ” พ่อแม่บ้าง เพื่อยืนยันสิ่งที่เราทำอยู่เป็นการตีเส้นบาง ๆ ให้พ่อแม่เห็นว่าต้องเคารพสิทธิ์เราเช่นกัน พี่ทรายบอกว่า ความกตัญญูของพี่ทรายคือการ “ทำตามคำสั่ง” แต่ก็มีหลายเหตุการณ์ที่พี่ทรายก็ฝ่าฝืน “ถ้าคุณอยากเป็นคนที่โตแล้ว คุณต้องโตให้เขาเห็นให้ได้” แต่เมื่อคุณแสดงจุดยืนแล้วก็ต้องมองข้ามสิ่งเล็กสิ่งน้อยของพ่อแม่ด้วย แม้ว่า concern แค่ไหน แต่เราก็เปลี่ยนใครไม่ได้

หนึ่งมุมมองเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่น่าสนใจ คือ การตีความและนิยามคำว่า “กตัญญู” แบบใหม่ โดยมองว่าคนที่ควรจะถอดคุณค่าความกตัญญูแบบเดิมออก คือ พ่อแม่ แต่ความจริงคือไม่สามารถทำแบบนั้นได้ “ถ้าทำได้ เราคงไม่ได้มาพูดกันในนี้”

“คำว่ากตัญญูสุดท้ายแล้วมันเป็นเรื่องของการอยากทำสิ่งดี ๆ คืนกลับไปให้คนที่ดีกับเรา เป็นเรื่องตรงไปตรงมามาก มันไม่มีหรอก มนุษย์แบบจำเลยรัก โดนตบกระชากลากถูกแล้วสุดท้ายกลับมารักกันหวานชื่น”

ความกตัญญูต่อเนื่องรัว ๆ กับอีกคำถามทางบ้านที่พูดถึง “ทางเลือกเป็นโสด” อะไรที่มันเชื่อมโยงกัน เพราะประเด็นคำถามที่ถามมันอยู่ในบริบทที่คนส่วนใหญ่อยู่ในกรอบ “มีลูกไว้เพื่อดูแลตัวเองยามแก่ ลูกต้องตอบแทน” แต่ถ้าไม่มีลูกจะเลือกอยู่เป็นโสดที่ยากเหลือเกินที่จะสร้างเนื้อสร้างตัว มีเงินเพียงพอพึ่งพาตัวเอง แล้วอะไรคือคำตอบ พี่ทรายบอกว่า “ทางเลือก”

ไม่ควรให้ทางเลือกเป็นโสด หรือสมรส เป็นเพียงตัวบอกว่า ในอนาคตชั้นจะสบายหายห่วงหรือไม่ โดยเฉพาะการเลือกเป็นโสดในยุคนี้ แทบไม่มีอะไรที่น่าเป็นห่วงในแง่การดูแลตัวเอง หากวางแผนอย่างดีพอ

ทุกคนควรมีทางเลือกได้ว่าจะอยู่เป็นโสด หรือไม่โสด มีแฟนแต่ไม่แต่งงาน แต่งงานแต่ไม่มีลูก อย่างไรก็ได้ แต่ทุกวันนี้ แทบไม่เหลือทางเลือกเลย ทั้ง ๆ ที่ทางเลือกเหล่านั้นควรเป็นสิทธิ์ที่พึงได้ พี่ทรายขยายความเพิ่มว่า เพราะเป็นแบบนี้ไงทำไมไทยถึงต้องมีรัฐสวัสดิการที่จะช่วยสนับสนุนตัวเราเองยามแก่เฒ่า สนับสนุนลูกของเราให้เรียนอย่างมีคุณภาพ พ่อแม่มีเงินพอที่จะดูแลตัวเอง ส่วนคนที่อยู่ตรงกลางก็สามารถเจียดเวลา หรือมีเวลาได้รับใช้ความฝันบ้าง

She’s ทราย, Thank you.
มนุษย์ไม่ชอบให้ใครมาบังคับ

เชื่อว่าคำถามที่ทรายน่าจะได้รับเยอะมาก ๆ ไม่ได้อยู่แค่ในพอดแคสต์คือคำถามที่เกี่ยวข้องกับการเมือง จริง ๆ ก็คงไม่ใช่แค่การได้รับแค่คำถาม แต่คำด่า คำชมก็ผสมปนเปมาตลอด ในจุดยืนที่อยู่ในสว่างไม่ว่าจะพูดจะคิดเห็นอย่างไร “ล้วนเป็นประเด็น” ยิ่งเป็นดาราในประเทศด้วยแล้วการเปิดหน้าพูดจุดยืนทางการเมืองราคาแพงเหลือเกิน แต่เราเชื่อว่าสำหรับพี่ทรายผ่านพ้นสิ่งเหล่านั้นมาแล้ว ชัดเจนในจุดยืน แต่ก็ประนีประนอมกับความต่าง หรืออดทนต่อคำถามคนที่ไม่เข้าใจพี่ทราย รับมือได้ดี คิดว่าสิ่งนี้น่าจะเหมาะกับการหลาย ๆ คนที่อยากคุยเรื่องการเมือง อยากทำให้เขาเข้าใจสิ่งที่เราเข้าใจ แต่ก็ทำไม่ได้เสียที

“ถ้าเราเปลี่ยนได้ คนอื่นก็น่าจะเปลี่ยนได้จริงไหม” คำถามส่งตรงถึงพี่ทรายว่าคนถามตาสว่าง แต่ทำไมคนข้างๆ ยังไม่ พี่ทรายตอบว่า “ใช่, แต่ประเด็นคือ มนุษย์เราไม่ชอบให้คนอื่นมาบังคับมากกว่า” และ “ไม่จำเป็นต้องบังคับหรือพยายามให้เขาเห็นด้วย หรือถ้าไม่สำเร็จก็ไม่ต้องถึงขั้นตัดญาติขาดมิตร”

พี่ทรายขยายภาพให้เห็นว่าความเปลี่ยนแปลงความคิด หรือเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่าง มันไม่ได้เปลี่ยนแปลงเพราะมีคนด่า แต่มันเปลี่ยนเพราะความจริงที่เจอ…มันตีแสกหน้าเราต่างหาก

We’re ทราย, we’re fine, thank you.
เราทุกคนคือ พี่ทราย  

อ่านอยู่หลายบทหลายคำถาม คำตอบทั้งหมดดูเผิน ๆ เป็นคำแนะนำที่ไม่ใช่คำแนะนำ แต่ทำไมเวลาอ่านถึงรู้สึก “ร่วมชะตากรรม” ก็ไม่รู้ ไม่เชิงได้กำลังใจ แต่สบายใจ

“ฉันไม่ได้เก่ง ฉันไม่ได้ฉลาด ฉันไม่มีหน้าจะไปเสนอแนะแนวทางชีวิตใครได้ เราคุยดั่งเพื่อน เป็นคนศีลเสมอกัน ดีได้เหมือนกัน และพร้อมจะห่วยแตกล่มจมไปได้เช่นกันในวันที่ชีวิตกระทืบเราหนัก”

พี่ทรายเขียนไว้ในหน้าคำนำนักเขียน มันยิ่งตอกย้ำว่าการตอบคำถามของพี่ทรายไม่ได้แยกส่วนเรื่องใดเรื่องหนึ่งออกจากกัน ไม่แยกเรื่องสังคมออกจากตัวเอง ไม่แยกตัวเองออกจากสังคม และไม่ทิ้งความรู้สึกนึกคิดข้างในของตัวเองด้วย แม้แต่เวลาเราได้อ่านเล่มนี้ (ด้วยเสียงของพี่ทราย) เราจะเจอความรู้สึกร่วม “เป็นเหมือนกัน เจอเหมือนกัน เราทุกคนเป็นพี่ทราย” ดีที่สุดก็คงเล่าให้กันฟัง พูดให้ฟังกันแบบนี้หรือเปล่าที่จะพาเราผ่านพ้นช่วงเวลายาก ๆ ของชีวิตไปได้ และเป็นทางที่เรายังคงพูดได้ว่า “I’m fine.”

ตอนนี้ก็คิดอยู่ว่า ควรส่งคำถามที่เราถามไปให้พี่ทรายตอบได้แล้ว

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน) ขึ้นไว้บนเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี