เพราะ...นักรบมีพื้นที่มากกว่านักการทูตในประวัติศาสตร์ไทย “เดี่ยว ธงชัย”ผู้หลงใหลประวัติศาสตร์ แต่ไม่หลงรักอย่างที่ควรจะเป็น - Decode
Reading Time: 3 minutes

“ผมว่าการเปลี่ยนแปลงทุกครั้งมีความขัดแย้ง ที่ไหนมีความขัดแย้ง ที่นั่นคือที่ที่มีชีวิต ความขัดแย้งมันอยู่ในตัวเราตลอด ที่ไหนไม่มีความขัดแย้งที่นั่นคือตายแล้ว”

ฟังเผิน ๆ หลายคนอาจจะตีความว่าประโยคนี้คงหนีไม่พ้นซ่อนประเด็นการเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่กำลังร้อนแรงทะลุปรอทอยู่ขณะนี้เป็นแน่ แต่ไม่ใช่สำหรับ “ธงชัย อัชฌายกชาติ” หรือ เดี่ยว นักศึกษาชั้นปี 1 สาขาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่กำลังสะท้อนให้เห็นว่า เหตุใดการเปิดพื้นที่ให้ถกเถียงในห้องเรียนประวัติศาสตร์จึงควรเกิดขึ้น ไม่เช่นนั้นก็เท่ากับเป็นห้องเรียนที่รอการหายไปเท่านั้น

“คาบว่าง” กลายเป็นคำจำกัดความบรรดานักเรียนผมสั้น กระโปรงบาน เมื่อให้นึกถึงบรรยากาศห้องเรียนประวัติศาสตร์ในโรงเรียน ด้วยรูปแบบการเรียนที่ชวนง่วง เหงา หาวนอน เพราะมีคำตอบตามตำราเป็นเป้าหมายปลายทาง ทำให้การตั้งคำถามถูกลดทอนไปอย่างน่าเสียดาย

วิชาประวัติศาสตร์ในห้องเรียนมัธยมจึงกลายเป็นพื้นที่เฉพาะ ที่มีเพียงนักเรียน “สายท่อง”เท่านั้นที่จะสนุกไปกับมัน ซึ่งนั่นไม่ได้เกิดขึ้นกับ “เดี่ยว ธงชัย” นักเรียนที่หลงใหลในประวัติศาสตร์ แต่กลับไม่หลงรักวิชาอย่างที่ควรจะเป็น อะไรคือต้นเหตุของความรู้สึกนี้กัน

หากใครเคยติดตามประเด็นห้องเรียนประวัติศาสตร์ในฝันของเด็กมัธยมมาบ้าง ก็อาจจะเคยผ่านตาเด็กผู้ชายผมสั้นรองทรง สวมกางเกงสีกรม ที่เคยจับไมค์ขึ้นพูดในงาน TEDxYouth@Bangkok ครั้งสมัยยังอยู่ระดับชั้นมัธยม ซึ่งได้รับเสียงตอบรับดีไม่น้อย ด้วยลีลาการพูด และการยกตัวอย่างที่ชวนนึกภาพตาม ทั้งยังสะท้อนความปรารถนาที่ต้องการสนุกกับการเรียนในห้องมากขึ้น

รับบทเด็กดื้อ

เล่าย้อนไปในวัยเด็ก เดี่ยวจำแทบไม่ได้ว่าอะไรทำให้เขาติดอกติดใจกับประวัติศาสตร์ได้ขนาดนี้ แต่คงต้องยกความดีความชอบให้กับคุณแม่ ที่มักเล่าประวัติศาสตร์ให้เขาฟังอยู่บ่อย ๆ ผนวกกับความชอบอะไรก็ตามที่เป็นนิทาน เรื่องราว มหากาพย์นี้ที่พาให้เขาไปตกหลุมรักอนิเมะเรื่องหนึ่งที่เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์

ขณะที่ช่วงเวลาสมัยมัธยมต้น ดูจะเป็นจุดที่เดี่ยวเล่าว่าคลิกกับประวัติศาสตร์มากที่สุด แต่ในทางกลับกันก็เป็นเวลาที่เขาถึงกับออกปากว่า “ผมเคยคิดว่าไม่อยากเรียนมันแล้ว”

“ตอนนั้นนะอาจารย์เขาพยายามพูดประมาณว่า วิชานี้อาจารย์เขาจะให้คิดวิเคราะห์ แต่ตอนที่อาจารย์ชี้ถามเรียงคน ผมเลขที่ต้น ๆ ไง ตอบยังไงก็ไม่ถูก ใครที่ตอบตามหนังสือได้มากที่สุดคือ คนที่ถูก เพื่อนคนหนึ่งพูดตามหนังสือไปเป๊ะ ๆ แล้วถูกหมดเลย และอาจารย์บอกนี่แหละที่อาจารย์ต้องการฟัง”

เรื่องเล่าประกอบกับน้ำเสียงที่พูด บ่งบอกได้ถึง “ความอึดอัด” และ “ความเซ็ง” ที่เดี่ยวเผชิญในช่วงเวลานั้น เมื่อฟังมาถึงตอนนี้ ไม่แปลกที่จะคาดไปว่าเขาคงจะโยนความไม่พอใจนี้ไปที่ “คุณครู” แน่แล้ว แต่กลับไม่ใช่ เพราะสิ่งที่ถ่ายทอดต่อกลับสะท้อนให้เห็นความเข้าใจที่มากไปกว่านั้น

เดี่ยวเล่าถึงคุณครูในห้องเรียนประวัติศาสตร์ ครั้งสมัยมัธยมปลายของเขาอย่างเคารพ และชื่นชมด้วยใจจริงว่า คุณครูมีความปรารถนาที่อยากจะสอนมาก แต่ด้วยเวลาเรียนที่จำกัด ภาระ“งานนอก”สารพัด ทั้งตารางเรียนของวิชานี้ก็คล้ายกับเป็นลูกเมียน้อย ที่มักจะไปอยู่ในแทบทุกวันหยุด หรือไม่ก็พร้อมจะถูกวิชาอื่นขอสลับเปลี่ยนเวลาเรียน ล้วนเป็นองค์ประกอบที่ไม่ได้สนับสนุนให้การเรียนราบรื่นนัก

“ต่อให้ครูอยากสอนแค่ไหน แต่ตัวชี้วัดระดับมัธยม มันค่อนข้างกว้าง เราต้องเรียนอารยธรรมตะวันตก อารยธรรมตะวันออก ตั้งแต่ยุคโบราณมาจนถึงยุคสมัยใหม่ ถ้าไม่ตามนั้นจะทำโอเน็ตไม่ได้”

คำว่า “ตัวชี้วัด” ที่เดี่ยวเน้นย้ำอยู่หลายครั้งตลอดการพูดคุย ไม่ได้เป็นเพียงคำสวย ๆ ที่เขาเลือกใช้เท่านั้น แต่เขายังกล่าวถึง ความหมาย ยุคสมัยทางประวัติศาสตร์และความสามารถในการใช้วิธีการทางประวัติศาสตร์ในการวิเคราะห์เหตุการณ์ ซึ่งเป็นตัวชี้วัดแรกตามหลักสูตรแกนกลางของวิชานี้ในระดับมัธยมศึกษาได้อย่างแม่นยำ

ฟังทีแรกก็คล้ายกับว่าต้องชื่นชมที่นักเรียนคนหนึ่งจะจดจำได้ถึงเพียงนี้ แต่คิดอีกมุมก็น่าขบขันไม่น้อย เพราะเขาคงต้องฟังการย้ำตัวชี้วัดนี้ซ้ำ ๆ ไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง ทั้งที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริงในห้องเรียน ไม่เช่นนั้นคงไม่ถูกจำกัดความโดยอาจารย์ว่าเป็น “เด็กดื้อ” เมื่อเขาพยายามตั้งคำถาม และใช้เหตุผลวิเคราะห์เรื่องราวที่เกิดขึ้นนอกเหนือไปจากตัวอักษรบนหน้าหนังสือ

“ตอนนั้นอาจารย์สอนแล้วผมอาจจะกล้าเถียงละมั้ง ไปเถียงตรงนี้มันด้านเดียวเกินไปให้เครดิตคนเดียวเกินไป ผมก็กลายเป็นว่าโดนอาจารย์ดุ…ถ้าเกิดว่าอยากวิเคราะห์จริง ๆ เด็กต้องสามารถใช้องค์ความรู้ของตัวเองมาสร้างได้มาพูดได้ แต่การวิเคราะห์ในระดับมัธยมคือการวิเคราะห์ยังไงก็ได้ให้ถูกใจอาจารย์”

พื้นที่สีเทาของรอยต่อ

“กลายเป็นว่าประวัติศาสตร์ในห้องเรียน มันเป็นประวัติศาสตร์ที่สอนผิดคอนเซปต์ เพราะว่าประวัติศาสตร์คือการเรียนรู้ถึงความเปลี่ยนแปลง แต่พอประวัติศาสตร์ในห้องเรียนเราไม่ได้พูดถึงความเปลี่ยนแปลงคือการเปลี่ยนราชวงศ์ การเปลี่ยนอาณาจักรมันเป็นจุดของการเปลี่ยนแปลงแต่เขาไม่พูดถึง เขาปล่อยให้มันเป็นพื้นที่สีเทาไป”

เดี่ยวยกตัวอย่างให้เข้าใจง่าย ถึงความเข้าใจผิดอย่างหนึ่งที่คนส่วนใหญ่มีร่วมกัน คือ คนยังคงรู้สึกว่าอาณาจักรสุโขทัยนั้นมาก่อนอาณาจักรอยุธยา เพราะตำราที่เราเรียนนั้นสอนเช่นนี้มาตั้งแต่สมัยรุ่นพ่อแม่ เรียงลำดับให้ท่องจำมาว่าเมื่ออาณาจักรสุโขทัยล่มสลายแล้ว อาณาจักรอยุธยาก็รุ่งเรืองขึ้นมาแทน

ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วอาณาจักรอยุธยาก็มีมาควบคู่กันตั้งแต่ต้น เพียงแต่เมื่อที่หนึ่งเสื่อมถอยลงอีกทีก็เพียงแต่เติบโตขึ้นเท่านั้น และใช่ว่าอาณาจักรสุโขทัยจะหายไปเสียทีเดียว

เมื่อตัวชี้วัดในการเรียนในห้องมันกว้างมาก รอยต่อทางประวัติศาสตร์เช่นนี้จึงถูกเพิกเฉยไม่พูดถึงในหลายกรณีอย่างไม่น่าแปลกใจ ทั้งที่ “เรียนรู้ถึงการเปลี่ยนแปลง” คือหัวใจหลักของการเรียนประวัติศาสตร์ไม่ว่าจะยุคสมัยใดก็ตาม

“แทนที่คนจะเข้าใจว่าเรามาถึงตรงนี้ได้ยังไง มันเหมือนกับจุดเปลี่ยนในชีวิตแต่นี้แค่เป็นสเกลใหญ่ จุดเปลี่ยนของสังคม เด็กอาจไม่เข้าใจ”

นี่ไม่ใช่ตัวชี้วัดเดียวที่เดี่ยวรู้สึกขัดใจเสียทุกครั้งที่นึกถึง  แต่ตัวชี้วัดข้อสุดท้ายตามหลักสูตรแกนกลาง ที่ระบุว่า ให้เข้าใจความเป็นมาของชาติไทย วัฒนธรรม ภูมิปัญญาไทย มีความรัก ความภูมิใจ และธำรงความเป็นชาติ นี่แหละ ที่ทำให้มีเสียงคำถามดังแว่วขึ้นมาในใจของเขาเสียทุกครั้งว่า “ประวัติศาสตร์ชาติไทย ประวัติศาสตร์ที่ไหนวะ”

เขาเล่าไปถึงการเรียนประวัติศาสตร์สมัยมัธยมต้น ที่ต่างรับข้อมูลอยากหนักหน่วงว่า ชาติไทยเรายิ่งใหญ่มาตลอด ไม่ว่าจะสู้รบกับเขมร ลาว ล้านนา เราก็ไม่เคยปราชัย แต่เนื้อหากลับไม่พูดถึงว่า ตลอดกว่า 400 ปีนั้นก็มีการเปลี่ยนราชวงศ์มาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน เกิดการสลับกันแย่งอำนาจมาโดยตลอด น่าจะเป็นอีกรอยต่อหนึ่งที่ถูกปัดตกไปในห้องเรียน

“ประวัติศาสตร์ผมว่า ถ้ายิ่งเรียนเราจะยิ่งรู้สึกว่าคอนเซปต์ชาติมันไร้สาระขึ้นเรื่อย ๆ…ยิ่งเรียนเรายิ่งรู้สึกว่า เรากับเขาคือคนเหมือนกัน ไม่ว่าประวัติศาสตร์จะห่างไกลกันแค่ไหน ทุกคนก็รับวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน ทุกคนเชื่อมต่อกันโดนตลอด ถึงคุณจะอ้างว่าคุณเป็นชาติโน้นชาตินี้ แต่สุดท้ายแล้วคุณมีส่วนผสมของชาติอื่นเสมอ คุณมีความเป็นเขาและเขาก็มีความเป็นเรา เรื่องมันแค่นั้นจริง ๆ ทุกคนคือ คนหมือนกัน”

อคติที่ไม่ควรถูกปลูกฝัง

หากจะไปไล่ถามเด็กตามโรงเรียนให้พูดสิ่งแรกที่นึกถึงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ไม่มากก็น้อยคำตอบแรกคงเป็นชื่อของบรรดากษัตริย์นักรบสักคนหนึ่งที่เราอาจจะคุณหน้าคุณตาตามจอแก้ว ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ บุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์เกินกว่าครึ่งตามแบบเรียนนั้นเป็นบรรดานักรบทั้งสิ้น

“นักรบก็มีพื้นที่มากกว่านักการทูต หรือนักผจญภัยอยู่แล้วในประวัติศาสตร์ไทย”

ตัวอย่างที่เดียวเล่ายกขึ้นมา ซึ่งคนทั่วไปน่าจะร้องอ๋อตามกัน คือ เราเรียนประวัติศาสตร์พระนเรศวรมากกว่าประวัติพระนารายณ์ ทั้งที่ถ้าวัดผลเรื่องการเปลี่ยนแปลงนั้น นักการทูตอย่างพระนารายณ์ก็สร้างคุณูประการไว้ไม่น้อยจากการติดต่อกับต่างประเทศ จนนำมาซึ่งการรับวัฒนธรรม และเทคโนโลยีในการพัฒนา ไม่เว้นแม้แต่บรรดา “ขนมไทย” ที่เราใช้เชิดหน้าชูตากัน

เช่นเดียวกับการเรียนประวัติศาสตร์สมัยรัตนโกสินทร์ ที่รัชกาลที่ 1 ถูกกล่าวถึงไว้มากมาย ด้วยท่านก็เป็นนักรบคนหนึ่ง เมื่อเปรียบเทียบกับครั้งรัชกาลที่ 7 ซึ่งเป็นช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และเกิดเหตุการณ์สำคัญอย่างการปฏิวัติ 2475 กลับพูดถึงแค่พอเป็นพิธี

ไม่ต่างกันบรรดาพ่อค้าก็มักถูกรับบทเป็นตัวร้ายทางประวัติศาสตร์ทั้งสิ้น ซึ่งนั้นล้วนเป็นการใส่ความหมายที่เกินจริงไปเสียหน่อย

อีกประการหนึ่งย้อนไปในพื้นที่การเรียนระดับประถมศึกษา เขามองว่าน่าจะมุ่งเน้นการเรียนพื้นฐานให้เห็นความสนุก มากกว่าประวัติศาสตร์ความรุนแรง ซึ่งท้ายที่สุดผลลัพธ์มีเพียงอคติทางประวัติศาสตร์ และพื้นฐานความรุนแรง ในอนาคตเมื่อมีโอกาสได้รับข้อมูลที่ต่างไปจากชุดข้อมูลเดิม ก็อาจนำมาซึ่งปฏิกิริยาต่อต้านที่ไม่เป็นประโยชน์

“ต้องยอมรับว่าตอนประถมผมรู้สึกว่าการที่ใครคนใดคนหนึ่งมีอำนาจ และก็ใช้ความรุนแรงกับคนอื่นเป็นเรื่องที่ถูก เพราะว่าประวัติศาสตร์ย้ำมาก อย่างพระนะเรศวรฆ่าฟันเก่ง โหยิ่งปืนข้ามแม่น้ำ เรารู้สึกว่าการที่เราเป็นฝ่ายชอบธรรม เราใช้กำลังกับเขาได้ เพื่อน ๆ ก็คิดเหมือนกัน พูดถึงคนพม่าเราแบบโหไม่ได้ละ ฮึกเหิม เราบุกเขาเยอะกว่าอีกยังกล้าพูด”

เดี่ยวออกปากติดตลกว่า เขานั้นเริ่มไม่คิดว่าพระนเรศวรเจ๋งเท่าไหร่ ก็ตอนที่เริ่มศึกษาประวัติของเจงกีสข่านที่เป็นยอดนักรบที่สำคัญทางประวัติศาสตร์นี่แหละ

อีกข้อสังเกตหนึ่งของเดี่ยวที่มีต่อเนื้อหาประวัติศาสตร์ไทยที่เรียนว่า ประวัติศาสตร์มีการบันทึกว่ามีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองเป็นประชาธิปไตยแล้วแท้ ๆ แต่ในช่วงเวลานั้นเรายังคงเรียนประวัติของพระมหากษัตริย์อยู่ดี

เมื่อเปรียบเทียบกับการเรียนประวัติศาสตร์ในห้องเรียน อย่างฝรั่งเศสที่ก็ผ่านช่งเวลาของการเปลี่ยนรูปแบบการปกครองเช่นกัน ในช่วงต้นที่ปกครองโดยกษัตริย์ซึ่งมีบันทึกไว้มากมาย การเรียนก็มุ่งเน้นไปจุดนั้น แต่เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงกษัตริย์มีบทบาทน้อยลง บรรดาคนทั่วไป ทั้งนักกฎหมาย พ่อค้า ชนชั้นกระฎุมพี ก็ได้ออกมาโลดเล่นบนหน้าตำราประวัติศาสตร์เพิ่มขึ้น

“เรารู้สึกว่าความเป็นคนมันไม่มีในประวัติศาสตร์ไทย เราไม่เห็นความเป็นคน มีแต่ความเป็นเจ้า ความยิ่งใหญ่ของใครบางคน เขาพูดว่าเกิดการปฏิวัติ แต่ไม่บอกว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไร”

การเปลี่ยนแปลงกับความขัดแย้งเป็นของคู่กัน

“ที่ไหนมีความขัดแย้ง ที่นั่นคือที่ที่มีชีวิต”

เดี่ยวเล่ามาถึงภาพรวมของประวัติศาสตร์ ซึ่งหมายรวมถึงประเด็นวัฒนธรรมที่ถูกสอนในห้องเรียน จนทำให้ต่างเชื่อกันว่าคือ ความไม่ขัดแย้ง ลงตัว และอยู่ด้วยกันอย่างสันติ ทั้งที่ในความเป็นจริงจุดเริ่มต้นเกิดขึ้นจากการที่คนหลาย ๆ คน หรือหลาย ๆ กลุ่มมีความขัดแย้งซึ่งกันและกัน เกิดการชนกันของผู้คนจนนำมาซึ่งความพยายามประนีประนอม และหาจุดกึ่งกลางที่อาจไม่ได้มีความสุขที่สุด แต่ไม่มีฝั่งถูกหรือผิด

“อย่างนาฏศิลป์ไทย มันเริ่มไม่มีใครมาขัดแย้งแล้วว่าควรเป็นยังไง มันไม่มีใครสนใจที่จะปรับให้ขึ้นมาโมเดิร์น เพราะว่าการปรับคือขัดแย้ง เราต้องคงให้เหมือนเดิม ยิ่งบอกว่าให้อนุรักษ์ยิ่งทำให้มันตาย”

แม้แต่การเปลี่ยนแปลงทางภาษา ที่หากต้องการให้คงอยู่ก็เลี่ยงที่จะเปลี่ยนแปลงไปได้ อย่างที่เกิดกับหลายภาษาทั่วโลก

“ภาษาที่ไม่เปลี่ยนคือตายแล้ว ผมสนับสนุนมากเรื่องการพูดไทย แล้วคนบ่นว่า ร ล สลับกัน ครับ ค่ะ เขียนไม่ถูก แน่นอนมันอาจน่ารำคาญ แต่ช่วยไม่ได้คนยุคนี้เขาเขียนอย่างนี้แล้ว ถ้าไม่เปลี่ยนคือมันตายแล้วเหรอ ภาษาที่ยังมีอยู่มันก็เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ”

เช่นเดียวกับเนื้อหาในตำราเรียน ที่เขามองว่า หากยังต้องการให้คงไว้ก็อาจถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนแปลงเช่นกัน โดยเฉพาะการเปิดให้ประวัติศาสตร์กระแสรองมีพื้นที่บนหน้ากระดาษ อย่างกรณีชนกลุ่มน้อย ชนชาติมอญ คนล้านนา ไม่เว้นแต่ปัตตานี ก็ควรถูกพูดถึงในห้องเรียน

“กลายเป็นว่าเขาไม่รู้ถึงความสำคัญของตัวเขา พอกลุ่มที่เขารู้สึกถึงความสำคัญของตัวเขาแล้วอยากให้กลับมายิ่งใหญ่ เลยไม่รู้ว่าจะแสดงออกยังไงกลายเป็นความรุนแรง”

หากให้มองเนื้อหาในภาพรวมของห้องเรียนประวัติศาสตร์นั้น เขาอธิบายว่า ประวัติศาสตร์โลกที่เรียนในห้องจะเน้นประเด็นพื้นที่เป็นหลัก ไม่พูดถึงความเปลี่ยนแปลง ในขณะที่ประวัติศาสตร์ไทยก็จะอิงบุคคลไม่อิงเหตุการณ์

“เรารู้แค่บุคคลไหนทำให้เกิดเหตุการณ์นั้น แต่เหตุการณ์นั้นเป็นยังไงไม่ต้องรู้ รู้ว่าเขาทำก็พอ”

เรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ต่าง ๆ ที่ถูกถ่ายทอดผ่านเด็กหนุ่มคนนี้ช่างฟังเพลินไปหมด จนอดคิดไม่ได้ว่า เขาคงเป็นที่นิยมน่าดูในการเตรียมตัวสอบให้กับเพื่อน ๆ ครั้งสมัยมัธยม

เสียงกลั้วหัวเราะและคำพูดปฏิเสธของเดี่ยวโต้กลับมาทันควัน

“ผมพูดยาวเพื่อนไม่ชอบ ไม่เข้าใจว่าจะสื่ออะไร ถ้าผมไปติวให้ใคร สอบไม่ได้ เพราะที่ผมพูดไม่มีสอบ…ขนาดผมเองข้อสอบกายังผิดเลย ก็มันมีส่วนไปหมดแล้วอะไรคือที่ถูกที่สุด”