แรงงานทราบแล้วเปลี่ยน ค่าจ้างรายชั่วโมงมาแน่ ! กอดงานให้แน่น ๆ เท่ากับกอดแฟน - Decode
Reading Time: 2 minutes

เมื่อโลกไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปหลังการเข้ามาของโควิด-19 โดยเฉพาะโลกการทำงานที่วันนี้ “หายใจไม่คล่อง” แล้ว เมื่อวันที่ 20 กันนายน 2563 ที่ผ่านมา สภาองคก์ารลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย สำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ ไทยพีบีเอส ภาคีสังคมแรงงานสู้วิกฤตโควิด และโครงการวิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES) ร่วมกันจัดเวทีเสวนา “การรักษาการจ้างงาน – ตัวอย่างที่ดี”

ในวงเสวนานักวิชาการ ผู้ประกอบการต่างมองว่า สถานการณ์ตอนนี้รัฐจำเป็นต้องเข้ามาช่วย “รักษางาน” เพื่อให้ประเทศรอดพ้นวิกฤต แรงงานไม่ถูกให้ออก ซึ่งจะเกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา ขณะที่รูปแบบการจ้างวันนี้กำลังจะเปลี่ยนไป เป็นการจ้างงานแบบ “รายชั่วโมง”

ยกแรกแรงงานป้ายแดงตกงาน
ยกสองสู้สุดซอย…ให้มันจบที่ศาลแรงงานกลาง

ธนพร วิจันทร์ ประธานกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี บอกเล่าถึงประสบการณ์ตรงของตนเองว่า เพิ่งได้รับหนังสือเลิกจ้างสิงหาคม ตกงานกันยายน เราไม่ได้โลกสวย วันนี้ต้องยอมรับว่า กระทรวงแรงงานแก้ปัญหาไม่ตรงจุดเพราะปัญหาการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมยังดำรงอยู่ คนส่วนใหญ่ก็ยอมรับว่า เศรษฐกิจไปต่อไม่ได้

ธนพร ตั้งข้อสังเกตว่า คนจะกลับไปสู่โรงงานเป็นไปได้หรือ กฎหมายมันสอดคล้องกับสถานการณ์โควิดแค่ไหน ในขณะที่นายจ้างก็มักจะอ้างโควิดทั้งนั้น มันใช่ไหม มีการตรวจสอบความชอบธรรมหรือไม่ เราจะสู้ให้สุดซอยทะลุเพดาน ให้มันจบที่ศาลแรงงานกลาง ถ้าการจ้างงานเป็นไปในรูปแบบระยะสั้นมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสามเดือน หกเดือน เราจะไม่สามารถแก้ปัญหาคนตกงานได้

“โควิดมาเอะอะลดราคาหมู-ไก่ เข้าทางทุนใหญ่ หรือแม้แต่การลดเงินนำส่งประกันสังคมใครได้ประโยชน์กันแน่”

ธนพร กล่าวทิ้งท้ายว่า การแก้ไขปัญหาคงต้องมองครบทุกมิติ เพราะวันนี้พวกเราอยู่ในฐานะแรงงานและอยู่ในสถานะตกงานด้วยข้ออ้างของนายจ้างว่า ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 สุดท้ายมันต้องมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนจากตัวแทนนายจ้าง และแรงงาน

แรงงาน 11.8 ล้านคน เสี่ยงถูกลดเงิน-ตกงาน

แม้สถานการณ์โควิด-19 จะค่อย ๆ ดีขึ้นแล้ว แต่สถานการณ์เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบซ้ำจากวิกฤตนี้ ทำให้การจ้างงานของประเทศไทยยังไม่กระเตื้อง รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า ที่ผ่านมารัฐมีนโยบายกระตุ้นอุปสงค์ เช่น รัฐจ่าย 50% นายจ้างจ่าย 50% แต่สำหรับนโยบายเพื่อกระตุ้นอุปทาน เช่น การใช้ Soft Loan ตลอดจนการลดภาษีนั้นยังไม่เห็นมากนัก และยังไม่เห็นภาพของการรักษาที่มีรัฐเป็นกลไกเชื่อมและช่วยเหลือภาคการจ้างงาน

การใช้นโยบาย Soft Loan มีงานวิจัยของ Krungsri Research ว่า ภายในปี 2021 จะมีคนถึง 11.8 ล้านคน เสี่ยงถูกลดเงิน และตกงาน สถานประกอบการกว่า 143,000 แห่ง จะขาดสภาพคล่อง อีกกว่า 132,000 แห่งจะอยู่ในกลุ่มเปราะบาง/เสี่ยงขาดสภาพคล่อง โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องหนัง ถ่านหิน สิ่งทอ ที่เหลือจะมีสถานะการเงินดี คือ กลุ่มประกันชีวิต การเงิน วิทยุโทรทัศน์

รศ.ดร.กิริยา เสนอว่า มาตรการหนึ่งที่ประเทศในกลุ่ม OECD ทำมาเสนอเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ คือ การรักษางาน หรือ Retention Job (JR) เป็นการรักษาการเลิกจ้างงานของนายจ้าง “ไม่ให้สูงเกินไป” มีการช่วยเหลือ ปรับกฎเกณฑ์ให้ต่ำเพื่อให้นายจ้างเข้าร่วมได้ เช่น ขยายเวลาการช่วยเหลือในระยะเวลา 6-12 เดือน

รูปแบบการรักษางาน ทำได้หลายแบบ เช่น หั่นชั่วโมงทำงานให้สั้นลง และการอุดหนุนค่าจ้างให้รัฐอยู่ในกลไกของการเป็น Co-Payment ร่วมจ่ายค่าจ้างด้วย ซึ่งตอนนี้ก็สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงแรงงาน

รศ.ดร.กิริยา ยอมรับว่า คีย์สำคัญของนโยบายรักษางานนั้น ต้องทำให้ชัดว่า งานแบบไหนที่อยากรักษาไว้ และไม่ควรเป็นงานที่อยู่ในกลุ่ม Displacement Effect เช่น กลุ่มที่จะมีหุ่นยนต์เข้ามาแทนที่ เพราะในที่สุดการเลิกจ้างก็จะเกิดขึ้นอยู่ดี นโยบายนี้จำเป็นต้องลดความสูญเสียให้มากที่สุด ที่สำคัญเมื่อวิกฤตจบนโยบายต้องยุติทันที

สุดท้าย เหตุผลของการต้องรักษางานไว้ ไม่ใช่แค่แก้ปัญหาสภาพคล่องเท่านั้น แต่คือ การพยุงสภาพของสถานประกอบการให้ไม่ต้องปิดตัว และเริ่มหางานใหม่ ขณะที่แรงงานก็ยังคงทักษะเดิมไว้ได้

แรงงานทราบแล้วเปลี่ยน ค่าจ้างรายชั่วโมงมาแน่ !
พายุเศรษฐกิจแพลตฟอร์มและการแทนที่ด้วยเทคโนโลยี

ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย ประเมินสถานการณ์ของเศรษฐกิจไทยว่า ยังอยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วง สะท้อนจากประมาณการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือจีดีพีของประเทศไทย ติดลบ 12.2% สะท้อนถึงความเปราะบางทั้งการลงทุน การบริโภคในประเทศ และการส่งออก ทั้งหมดนี้ส่งผลไปถึงภาพรวมการว่างงานในประเทศ

นิวนอร์มอลที่เราต้องเผชิญคือ อุปสงค์ยังไม่ฟื้นตัวกลับมาเร็วๆ นี้อย่างแน่นอน คาดว่า ใช้เวลานานกว่า 2 ปี ดังนั้นโลกหลังโควิด-19 หลายอาชีพจะหายไป การลงทุนใหม่มาพร้อมกับเทคโนโลยีจึงใช้คนน้อยลง ทุกอาชีพที่เกี่ยวกับอนาล็อกจะลำบาก เพราะคุณจะถูกคุกคามในแพลตฟอร์มออนไลน์และถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี

ส่วนทิศทางที่สองคือ งานในอนาคตจะเปลี่ยนรูปแบบไปเป็นการจ้างงานแบบฟรีแลนซ์และค่าจ้างรายชั่วโมง (work per hour) จะกลายมาเป็นเทรนด์ใหม่ แรงงานจะไปทำงานที่บ้านแทนการเข้ามาทำงานในออฟฟิศเพื่อลดค่าใช้จ่ายของบริษัท ไม่ว่าอย่างไรการจ้างงานในรูปแบบนี้จะมาแน่ ๆ แต่จะทำอย่างไรไม่ให้นายจ้างเอาเปรียบลูกจ้าง

ไม่ว่า ‘รัฐ-นายจ้าง-ลูกจ้าง’ ไม่ว่าหน้าไหน
โลกเปลี่ยน ถ้าคุณไม่เปลี่ยน คุณก็หลุดออกจากระบบ

ทั้งกระแสเทคโนโลยีดิสรัปชัน หรือ คลื่นยักษ์โรคระบาดอย่างโควิด-19 ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานแบบเดิมสู่การทำงานแบบใหม่อย่างการทำงานจากที่บ้าน การลดขนาดองค์กร และแนวโน้มการจ้างงานแบบ Freelance

มารุต ชุ่มขุนทด ผู้ก่อตั้งและ CEO Class Cafe ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในวงเสวนาว่า “โควิดเล่นเราทุกอย่างในชีวิต ไม่มีวันที่เราจะกลับไปเป็นเหมือนเดิมอีกแล้ว ดังนั้นทุกภาคส่วนต้องเปลี่ยน Mindset ในหลายๆ เรื่อง ” ซึ่งได้อธิบายเพิ่มเติมว่า เมื่อวิถีเปลี่ยน โลกเปลี่ยน ระบบการทำงานรูปแบบใหม่ ระบบคุ้มครองแรงงานรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะแรงงาน Freelance และแรงงานนอกระบบ ต้องวิ่งตามการเปลี่ยนแปลงให้ทัน

รวมไปถึงการ Reskill พนักงาน เพื่อป้องกันการหลุดออกจากตลาดของแรงงานในระบบเก่า อย่างในธุรกิจ Start Up ที่มีแนวโน้มเข้าสู่ระบบมากขึ้น

“อย่าง Class Cafe เอง เรามองว่าพนักงานที่มีอายุงานนาน คือ คุณค่าที่สำคัญขององค์กร เพราะเขาคือ คนที่รู้จักลูกค้ามากที่สุด เราจึงต้องปรับตัวกับรูปแบบการจ้างงาน ให้พนักงานเรียนรู้การใช้ Technology เพื่อปรับตัวให้เขากับระบบการทำงานของอนาคต โดยเราจึงมีการเทรนนิ่งพนักงานทุกสัปดาห์”

ดังนั้น นายจ้าง ลูกจ้าง จึงต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับระบบการทำงานที่กำลังจะเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ ที่มีสัดส่วนของแรงงานอยู่ในระบบมากที่สุด โดยวิธีที่มารุต แนะนำคือ การใช้แฟลตฟอร์มช่วย Matching คนกับงาน ในการสร้างพื้นที่การจ้างงานเพิ่มขึ้น และเป็นเครื่องฉายภาพการจ้างงานในอนาคต

ไม่มีใครต้องออก ไม่มีใครต้องปิดตัว
ทำให้ “นายจ้าง-ลูกจ้าง” ไปด้วยกันได้

สุดท้าย อนันต์ บวรเนาวรักษ์ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ยอมรับว่า ในวิกฤตตลาดแรงงานนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ภาครัฐเองก็ต้องปรับตัวครั้งใหญ่เช่นกัน แต่จะทำอย่างไรให้สิทธิ์ที่รัฐคุ้มครองให้นายจ้าง และลูกจ้างไปด้วยกันได้ ไม่มีใครต้องออก ไม่มีใครต้องปิดตัว หนึ่งในวิธีที่ทำในช่วงวิกฤต คือ การพยายามให้ “ความสัมพันธ์” ระหว่างนายจ้าง และลูกจ้างมองเห็นเงื่อนไขของกันและกัน ภายใต้ภาวะวิกฤต

อนันต์ ยังระบุเพิ่มว่า ตอนนี้รัฐเตรียมมองรูปแบบการคุ้มครองการทำงาน จ้างงานของกลุ่มแรงงานฟรีแลนซ์ที่เพิ่มมากขึ้น รูปแบบการจ้างงานที่เปลี่ยนไปแล้วหลังโควิด-19 เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย