Family Zone จูงมือมาม็อบ - Decode
Reading Time: 2 minutes

Family Zone จูงมือมาม็อบ ปรากฏการณ์ทลายความกลัวของคนต่างวัยในครอบครัว บ้างเห็นต่าง/บ้างเห็นร่วม แต่การชุมนุมรอบนี้ เราเห็นหนุ่มสาว จูงมือพ่อแม่ในวัยทำงานตอนปลาย มาร่วมฟังประเด็นปราศรัยถึงท้องสนามหลวง

ลูก : หนูมองว่าวันนี้ เราไม่เห็นอนาคตข้างหน้าของเราเอง
แม่ : เพราะแม่อยากให้เขาเจอสังคมที่ดีกว่าและการศึกษาที่ดีกว่า

ลูก : ถ้าหนูออกมาแล้วมีอนาคตก็ควรที่จะออกมา ดีกว่าอยู่เฉยๆ แล้วรอไปตายเอาดาบหน้ามันมีค่าเท่ากัน
แม่ : ถ้าทุกอย่างมันดีขึ้น เด็กจะได้ไม่ต้องมาทำอะไรแบบนี้

ลูก : เราออกมาร่วมชุมนุมแบบนี้ได้ ถือว่าโชคดีที่พ่อแม่เข้าใจ
พ่อ : พ่อว่าเขาตื่นรู้ด้วยตัวเอง เพราะอนาคตก็คือ อนาคตของเขา

เพราะความหวังพวกเขาจึงจูงมือกันมา

รู้ทั้งรู้ว่าเสี่ยง แต่แม่ก็ทำได้แค่เตือน

“กลัวทั้งลูกหลง กลัวอันตราย กลัวทั้งทหาร ทั้งตำรวจ กลัวลูกถูกจับ” คำพูดแม่น้องออมกับการมาม็อบครั้งแรกของแม่อาจเป็นเพราะมีกันแค่สองคนแม่ลูก ทำให้ไม่แปลกที่ความเป็นห่วงทั้งหมดจะถูกส่งจากแม่ถึงลูกสาว

น้องออมบอกว่ามาม็อบวันนี้เพื่อปูทางสู่อนาคตของตัวเอง “อนาคตหนูตอนนี้มันมืดไปหมด หนูไม่กลัวตายแล้ว วันนี้หนูมาสู้เพื่อวันข้างหน้า ถ้าหนูออกมาแล้วมีอนาคตก็ควรที่จะออกมา ดีกว่าอยู่เฉยๆ แล้วรอไปตายเอาดาบหน้ามันมีค่าเท่ากัน”

การต่อสู้เพื่ออนาคตสะท้อนออกมาจากคำพูดของน้องออม เด็กมัธยมวัย 15 ปี ที่เห็นว่าเด็กควรมีสิทธิในการเรียกร้องอนาคตของตัวเอง

“แม่เห็นว่าเด็กไม่ควรจะต้องมาอยู่ในพื้นที่แบบนี้ สถานการณ์แบบนี้ (การชุมนุม) ถ้าทุกอย่างมันดี เด็กๆ ก็ไม่ต้องออกมาทำแบบนี้ ออกมาเรียกร้องสิทธิแต่ถ้าลูกจะมา แม่ก็เข้าใจ”

จาก ignorance สู่ลูกจูงแม่มาม็อบ

“หนูไปมาประมาณ 4 ครั้ง ตั้งแต่ม็อบสมุทรปราการ แต่แม่ไม่เคยไปเลยสักม็อบ วันนี้แม่บอกว่าอยากมา หนูเลยพาแม่มาด้วย” บอกไม่ได้ว่าความเป็นห่วงแม่สามารถบรรยายออกมาเป็นคำพูดได้ไหม แต่อีกเห็นผลหนึ่งในใจ คือ…เศรษฐกิจแย่

“แม่เห็นว่าเศรษฐกิจมันแย่มาก ถ้าเศรษฐกิจมันแย่นายจ้างที่ไหนเขาจะจ้างเรา เลยทำให้รู้สึกว่าอยากมา” จากคนมีงานทำกลายเป็นคนว่างงานกว่า 1 เดือน ถึงแม้ว่าตอนนี้จะหางานได้แล้ว แต่เพราะอาการป่วยไข้ของเศรษฐกิจที่รักษาไม่หายจุดประกายให้แม่อยากมาม็อบกับลูกสาวในครั้งนี้

“ถ้าครั้งหน้ามา แม่ก็จะมาด้วย”
ความในใจจากแม่ : ถ้าทุกอย่างมันดีขึ้น เด็กจะได้ไม่ต้องมาเรียกร้อง มาม็อบ มาอยู่ในพื้นที่เสี่ยงแบบนี้

ครั้งแรกของแม่และลูก
น้อง ม.4 กับคุณแม่วัย 50 ปี

“ครั้งนี้แม่พามาเอง”

19 กันยายน 2563 บันทึกไว้ว่า นี่คือครั้งแรกของแม่และลูก ไม่กังวลเรื่องความไม่ปลอดภัย เพราะแม่ประเมินแล้วจากการเคลื่อนไหวในช่วงที่ผ่านมาของนักศึกษา ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบของกฏหมาย ครั้งนี้แม่จึงพาลูกสาวมาเอง เตรียมอุปกรณ์ป้องกัน ทั้งแมส 1 กล่องเผื่อคนอื่นๆ เจลแอลกอฮอล์ แว่นตาอันใหญ่และ
ร่ม 2 คัน

“แม่อยากปล่อยลูกให้เป็นอิสระ”ตามเหตุผลของเขา

แม่ : แม่มองว่าสิ่งที่คนรุ่นใหม่ยอมไม่ได้จนต้องออกมาเคลื่อนไหว คือการปิดกั้นเสรีภาพความคิด การเรียนการศึกษามากเกินไป ซึ่งมันไม่ถูกต้อง วันนี้ดีใจที่เห็นคนรุ่นใหม่เริ่มสนใจเรื่องการบ้านการเมืองมากขึ้น ทำให้เขารู้อะไรมากขึ้น เราได้เห็นว่าคนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาหาคำตอบจากการศึกษาหาความรู้ด้วยตัวเขาเอง

แม่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงให้ทันในรุ่นของแม่ (น้ำตาคลอ) มาถึงจุดนี้ “เพราะ…เราคุยการเมืองในบ้านได้”

ลูก : บ้านเราเป็นประชาธิปไตย คุยเรื่องการเมืองในบ้านกันบ้าง ก็มีความเห็นไม่ตรงกันบ้าง แต่ส่วนใหญ่เห็นตรงกัน ส่วนใหญ่คิดเหมือนแม่ทำให้เหมือนเป็นการบวกพลังเราขึ้นไปอีก

โดยเฉพาะเรื่องที่เราโดนกดความคิดความเห็นต่างในโรงเรียน เราคิดว่าถ้าในโรงเรียนห้าม! เราก็มาแสดงออกข้างนอกก็ได้ ส่วนตัวมีการแลกเปลี่ยนความคิดกับเพื่อนต่างโรงเรียนตลอดซึ่งแม่ไม่เคยห้าม

หนูมองว่าวันนี้ เราไม่เห็นอนาคตข้างหน้าของเราเอง…เราเริ่มกังวลว่าเงินที่แม่จ่ายเป็นต้นทุนให้เราได้เรียนดีๆหลักล้านบาท มันจะได้ต่อยอดใช้ประโยชน์จริงๆไหม

หนูยอมรับว่าระบบการศึกษาไทยไม่ดีเลย พ่อแม่จ่ายเงินให้เราเรียนดีๆ แต่ทำไมเพื่อนๆหลายคนต้องไปพึ่งระบบการศึกษา แค่มีโรงเรียนเพื่อบอกให้คนอื่นรู้ว่า เรามีที่เรียนอย่างนั้นหรือ?

ความในใจจากแม่ : เพราะเราอยากให้เขาเจอสังคมที่ดีกว่า การศึกษาที่ดีกว่า

เรามากันเป็นคู่หู มาเป็นคู่แบบ “พ่อ-ลูก”

นับแต่วันที่ 16 สิงหาคม ที่รู้จักกันสั้นๆ ว่า ม็อบปลดแอก จุดเริ่มต้นของสัญญาพ่อลูกกับการออกมาม็อบในวันนี้

“เรามาด้วยกันตลอด ตั้งแต่การชุมนุมครั้งที่แล้ว ครั้งนี้ก็เลยมาด้วยกันอีก ไม่มีใครชวนใครมา” คำตอบของลูกสาวสะท้อนว่า ทั้งคู่ได้นัดหมายกันมาอย่างรู้ใจ

ม็อบเท่ากับ ‘เสี่ยง’ ‘อันตราย’

“เราสนับสนุน แต่เราก็เตือนเรื่องความปลอดภัย” พ่ออธิบายเพิ่มเต็มว่าจริงๆ แล้วก็เป็นห่วง เพราะการชุมนุมมีความสุ่มเสี่ยงอยู่บ้าง แต่ถ้าเขามัวแต่กลัว…ก็คงเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้

บ้านนี้เปิดพื้นที่ทั้งนอกและในบ้าน

“เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในการชุมนุม เป็นสิทธิมนุษยชนอยู่แล้ว เป็นธรรมดาอยู่แล้วของทุกคน ไม่ว่าที่ไหนในโลกทุกคนมีสิทธิเสรีภาพที่จะแสดงของเขา ดังนั้นพ่อเห็นว่าเป็นเรื่องที่ควรได้รับการส่งเสริม ไม่ควรถูกริดรอน”

เราให้ความสำคัญกับสิทธิการแสดงออก ดังนั้นเราพูดเรื่องการเมืองได้ทุกที่ บ้านเราจึงมีการเมืองบนโต๊ะอาหาร และการเมืองยุคนี้ขับเคลื่อนด้วยสื่อออนไลน์

“ตอนนี้คนหนุ่มสาวลุกขึ้นมาเยอะ สะท้อนว่าเด็กได้ข้อมูลที่รัฐควบคุมไม่ได้อย่างสื่อออนไลน์ Social Media ที่คุมได้ยากกว่าสื่อกระแสหลักอย่าง สื่อโทรทัศน์”

พ่อปิดท้ายว่า… “การที่เด็กออกมา เห็นได้ว่าเขาหวังถึงอนาคตที่ดี และการที่เค้าออกมา “พ่อว่าเขาตื่นรู้ด้วยตัวเอง เพราะอนาคตก็คือ อนาคตของเขา”