โกรธแล้วGET: เกรี้ยวกราดอะไรจึงมาม็อบ? - Decode
Reading Time: 2 minutes

วัดอุณหภูมิความโกรธ!

เขาบอกว่าเด็กสมัยนี้…เกรี้ยวกราด เป็น Angry Generation ไม่พอใจทุกอย่าง!? เราคุยกับความโกรธของพวกเขา โกรธอะไรจึงมาชุมนุม

โกรธ…เพราะเขาคุกคามเรา
โกรธ…เพราะภาษีเราถูกใช้ไม่สมเหตุผล
โกรธ…เพราะสื่อบิดเบือนความจริง
โกรธ…เพราะเสียงเราไม่ถูกได้ยิน
โกรธ…เพราะไทยมีรัฐประหารมากเกินไป

ความโกรธพาพวกเข้าออกมา แต่พวกเขาได้การเรียนรู้+เข้าใจ Get ประเด็นต่าง ๆ กลับบ้านไปด้วย

Get แล้วว่า…การชุมนุมเป็นเรื่องปกติ เราเรียกร้องได้ และการชุมนุมอย่างปลอดภัยเป็นอย่างไร
Get แล้วว่า…เพราะมันช่วย educate กันเอง
Get แล้วว่า…ออกมาเพื่อฟังคนเห็นต่างในประเด็นอ่อนไหวต่าง ๆ ว่าเป็นอย่างไร

นิก & ไนซ์ ณ บางแสน
นักศึกษาปี 1 คณะรัฐศาสตร์

ระดับความโกรธ : โกรธแบบ 10 บวกๆ 10 ทะลุหลอด

นิกและไนซ์เล่าให้ฟังว่าถึงแม้จะติดตามการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนรุ่นใหม่มาตลอดแต่นี่ถือเป็นการเข้าร่วมชุมนุมครั้งแรกของทั้ง 2 คน ทั้งคู่เล่าให้ฟังว่า เขากับกลุ่มเพื่อนอีก 17 คน เลือกโบกรถเดินสารคันโตเดินทางเข้ากรุงเทพเพื่อร่วมชุมนุมในครั้งนี้โดยเฉพาะ

สองหนุ่มวัยเฟรชชี่บอกกับเราว่าตอนนี้มองอนาคตของตัวเองไม่เห็น เรียกได้ว่าริบหรี่เหลือเกิน แถมเศรษฐกิจทางบ้านก็อยู่ในขั้นน่าเป็นห่วง ทั้งคู่ต้องรัดเข็มขัดเพื่อเซฟการเงินของทางบ้าน พ่อของไนซ์เคยพูดกับเขาว่า ถ้าเป็นไปได้ปีนี้ก็อยากจะให้หารูมเมทเพื่อช่วยหารค่าหอพัก ค่าใช้จ่ายจะได้เบาลง

การเงินที่ฝืดเคืองบวกกับความขับข้องผสมความอึดอัดใจจากการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเป็นแรงผลักดันใหญ่ที่ผลักให้นิกและไนซ์กล้าที่จะมาแสดงออกถึงสิทธิของตัวเอง

“ผมรู้สึกว่าประเทศเราเกิดรัฐประหารบ่อยมาก การปกครองมันไม่เคยเสถียรเลย ในตำราบอกว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด แต่ทำไมฉีกกันง่ายจัง ฉีกเหมือนเป็นกระดาษเปล่าเลย และ ประเทศเราก็มีรัฐประหารเป็นสิบครั้ง ถ้ามันจะดี มันต้องดีได้แล้ว”

นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ทั้ง 2 คนตรงหน้าเรา เสริมต่อว่า ม็อบในวันนี้ได้ทำให้เขาได้เข้าใจเรื่องสิทธิ์ในการแสดงออกมากขึ้น ทั้งคู่มองว่าการที่คนรุ่นใหม่ออกมาวันนี้ไม่ใช่เรื่องที่ผิด ทุกคนมีสิทธิ์ในการออกมาเรียกร้องและออกมาพูดในสิ่งที่ตัวเองคิด แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องเคารพสิทธิคนอื่นและไม่ทำให้ใครเดือดร้อน

เราถามพวกเขาว่าเตรียมตัวในการมาชุมนุมวันนี้อย่างไร ทั้งคู่มองมาที่เราด้วยสายตามาดมั่น ก่อนจะเอ่ยว่า ได้เตรียมหาข้อมูลมาเป็นอย่างดี ถ้าเกิดอะไรขึ้นก็พร้อมรับมือทุกสถานการณ์ แต่พวกเขาเชื่อสุดใจ ว่าการชุมนุมนี้เป็นการชุมนุมโดยสันติและอยากให้ทุกคนมองเรื่องการออกมาเรียกร้องเพื่อสิทธิเป็นเรื่องปกติทั่วไป

“เราไม่ได้ชังชาติ เรามีสิทธิที่จะเรียกร้องและแก้ไขสิ่งที่ผิดให้มันถูกต้อง”

แก๊งเด็กเนิร์ดหน้าห้อง จากโรงเรียนเกรดเอ
นักเรียนมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 2

ระดับความโกรธ : ระดับ 8 พอค่ะพี่ อีก 2 เหลือไว้ให้เป็นความหวังว่ามันจะดีขึ้น

ท่ามกลางสายฝนที่โปรยปรายลงมาเป็นระยะ เราพบเห็นแก๊งน้องนักเรียนนั่งจับตัวเป็นกลุ่มบริเวณหน้าเวที ณ สนามฟุตบอลธรรมศาสตร์ ทั้งหมดนั่งฟังการปราศรัยด้วยท่าทีที่ตั้งใจจนเราอดที่จะพุ่งตัวเข้าไปพูดคุยด้วยเสียไม่ได้

น้องนักเรียนทั้ง 2 คนเล่าว่านี่ไม่ใช่การชุมนุมครั้งแรกของพวกเธอ ทั้งคู่ต่างผ่านการไปร่วมชุมนุมกับกลุ่มนักเรียนเลวที่นัดชุมนุมหน้ากระทรวงศึกษาธิการทั้ง 2 หน น้องๆบอกว่าสาเหตุสำคัญที่เข้าร่วมชุมนุมในครั้งที่ผ่านมานั้นเพราะทนไม่ไหวกับการถูกกดทับและโดนบูลลลี่โดยคุณครู จึงอยากไปแสดงออก เพราะตลอดที่ผ่านมาพวกเธอเข้าใจถึงปัญหาการถูกลิดรอนสิทธิร่างกายมาโดยตลอดแต่ไม่กล้าที่จะพูดความไม่พอใจนี้ออกไป จนกระทั่งโอกาสนี้มาถึงทั้ง2 คนจึงไม่รอช้าที่จะไปเข้าร่วม

“หนูมองว่าการศึกษาบ้านเรายังแย่อยู่มากๆ โรงเรียนถือว่าเป็นอาหารหลัก แต่ทำไมเราต้องไปกินอาศัยเสริมอย่างการเรียนพิเศษเพิ่มอีก นี่มันสะท้อนแล้วว่ามันไม่โอเค”

ส่วนการมาเข้าร่วมชุมนุมในวันนี้นั้นเป็นการพัฒนาจากการเข้าร่วมทั้ง 2 หน ทั้งคู่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับประเทศไทยและมองว่าการบริหารบ้านเมืองของรัฐบาลชุดนี้ไม่เวิร์คเลย

“หนูโกรธเรื่องภาษี เขาใช้ภาษีของเรากับเรื่องที่ไม่จำเป็น อย่างเรือดำน้ำ หรือ เรื่องบัตรทอง มันมีคนที่ได้รับผลกระทบนะคะพี่ แทนที่เขาจะเอาเงินตรงนี้ไปดูแลเรื่องอื่น แต่เขาก็ไม่ทำ ใช่ มันอาจะไม่ได้กระทบกับหนูโดยตรงแต่มันกระทบคนอื่น หนูโกรธเรื่องนี้มาก”

นอกเหนือจากความโกรธ น้องๆคอซองเสริมว่า การมาม็อบทำให้พวกเธอได้เรียนรู้ที่จะรับฟังคนอื่นมากคิด แม้จะคิดไม่เหมือนกัน แม้จะเห็นต่าง แต่ทั้งคู่คิดตรงกันว่าจำเป็นต้องรับฟังทุกความคิดเห็นและถ้าความเห็นไหนไม่ตรงกับเราแต่เป็นความเห็นที่ดีกว่า เราก็สามารถปรับเปลี่ยนความคิดของตัวเองได้

“หนูพร้อมรับฟัง เราต้องรับฟัง แม้ไม่ตรงกัน แต่ถ้าเขามีเหตุผลที่ดีกว่า เราก็สามารถนำมาปรับใช้ได้”

เราถามพวกเธอทิ้งท้ายว่ากลัวไหมกับการมาในวันนี้ ทั้งสองตอบด้วยน้ำเสียงชัดเจนสั้นว่า

“ไม่กลัว ที่บ้านแม่หนูก็เคยมาชุมนุม ฉะนั้นหนูไม่กลัว”

พันธมิตร “โอน้อยออก”
นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะสังคมวิทยา

ระดับความโกรธ : 8-9-10 ขึ้นอยู่กับข่าวที่เสพ และแฮชแทกที่ติดเทรนด์
ปล.วันไหนฟุตบาทเปียก ก็จะโกรธสุด ๆ

“โกรธที่เขาคุกคามเรา ไม่ให้เกียรติ เขาใช้กำลังกับเราตลอด” เราที่ว่านี้คือทั้งแกนนำที่ออกมานำการชุมนุมในเวทีต่าง ๆ และคือตัวพวกเขาเองที่ถูกทำให้ “กลัว” และไม่กล้าออกมาชุมนุม ทั้ง ๆ ที่การออกมาเรียกร้องครั้งนี้เป็นสิทธิ์ ซึ่งเราก็ชุมนุมอย่างสงบสันติ

“จะออกมาม็อบ เราก็เจอตำรวจเต็มไปหมดที่ใต้หอเรา แบบนี้ทำให้คนบางคนกลัวไม่กล้าจะออกมา”

นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะสังคมวิทยากลุ่มนี้พรุ่งพรูความโกรธจากการเห็นข่าวการทำงานของรัฐบาล การจัดการกับการชุมนุม และการทำงานของสื่อที่บางแห่งส่งเสียงของพวกเขาในทางบิดเบือน ปลุกระดม และสร้างภาพให้ม็อบนั้นเกิดความรุนแรง

จากจุดเริ่มต้นความโกรธจากข่าวของเพื่อน และเพื่อนก็คือเรา เราสามารถโดนคุกคามได้เช่นกัน พากลุ่มเพื่อนพันธมิตรโอน้อยอออกเห็นปัญหาจากการบริหารงานของรัฐในทางที่ชัดเจนขึ้น การมาม็อบเหมือนการตัดเลนส์แว่นสายตา ที่ทำให้เข้าใจว่า ระบบภาษีของประเทศมีปัญหา งบประมาณตรวจสอบไม่ได้ หรืองบประมาณที่ตรวจสอบได้ก็ถูกใช้อย่างไม่สมเหตุผล เช่น การจัดซื้อรถยนต์ราคา 3 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังเข้าใจด้วยว่าหลายคนยังไม่เข้าใจการเก็บภาษีทางตรงทางอ้อม บางคนคิดว่า Vat7% ไม่ใช่ภาษี ซึ่งข้อมูลนี้ทางกลุ่มเพื่อนพันธมิตรโอน้อยออกเพิ่งมากรับทราบ

มากกว่าปัญหาการคุกคามคนเห็นต่าง และการสร้างภาพลักษณ์ว่าม็อบ = ความรุนแรง พวกเขาออกมาเพื่ออนาคตตัวเองด้วย ทุกครั้งที่มาม็อบเข้าใจความหวังในอนาคตของตัวเองมากขึ้นว่า…ริบหรี่แค่ไหน

คนที่ 1 : “สายงานตรง ๆ เรา โดนตัดงบวิจัยไปโปะที่อื่น โยกไปกลาโหม งานด้านนี้ในประเทศไทยก็งยน้อยอยู่แล้ว พวกเรากังวลตลอดว่าจบไปแล้วจะทำอะไร”

คนที่ 2 : “ค่ารถโดยสาร ค่าครองชีพสูงมาก ร้อยเดียวใช้ไม่กี่นาทีก็หมดแล้ว มันไม่ควรจะแพงขนาดนี้ ค่ารถจากรังสิตมาที่นี่ 40 บาท ดูเหมือนน้อย แต่ก็ครึ่งร้อยไปแล้ว”

คนที่ 3 : ถ้ามีงานทำ ก็ไม่รอด ใช้เดือนชนเดือน เผลอ ๆ เป็นหนี้แล้ว

ไม่ว่าการส่งเสียงของพวกเขาจะสร้างการเปลี่ยนได้แค่ไหนก็ตาม พวกเขา “เชื่อ” ว่ามันต้องเปลี่ยนแปลงนทีละเล็กทีละน้อย หนึ่งในนั้นคือการค่อย ๆ เปลี่ยนภาพการชุมนุมว่าไม่ใช่การความรุนแรง ผู้ชุมนุมปราศจากอาวุธ และการชุมนุมคือเวทีการ Educate ประเด็นต่าง ๆ ไป ด้วยกัน