ลาก่อน “ลุงพล” การลาออกครั้งสุดท้ายของคนข่าวภาคสนาม ในสภาพอึดอัด เลยเถิด เกินพอกับระบบ 'ข้างในอยากได้' - Decode
Reading Time: 2 minutes

ข่าวหน้าฟีด
สัดส่วนลุงพล
ลุงพลเต้นเต่างอย
ก๋วยเตี๋ยวสูตรที่ลุงพลชอบ
ส่องดวงลุงพล
ลุงพลให้โชค
ฯลฯ

เชื่อว่าอย่างน้อย ๆ คุณผู้อ่านต้องได้เห็นข่าวใดข่าวหนึ่งของ “ลุงพล” ในหน้านิวส์ฟีดของตัวเองอย่างแน่นอน แม้จะไม่ได้กด Follow หรือติดดาวเพื่อ See First ก็ตาม แต่ไม่ว่าอย่างไร “ลุงพล” ต้องเป็นชื่อที่ทุกคนได้ยิน เพราะมันเป็น ข่าวดัง

ข่าวดังที่เริ่มต้นจากประเด็นที่มีคุณค่าข่าว เด็กน้อยวัย 3 ขวบหายตัวไป ต่อมาถูกพบเป็นศพ และต้องสืบสวนว่าทั้งหมดมีที่มาอย่างไร ระหว่างทางของคดี “ที่ยังไม่จบ” ตัวละครแวดล้อมเพิ่มมาเรื่อย ๆ “ลุงพล-ไชย์พล วิภา” วัย 44 ปีคือหนึ่งในนั้น เรื่องราวชีวิตลุงพลแบบเรียลลิตี้เพิ่มขึ้นวันต่อวัน

ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ข่าวคราวของ “ลุงพล” ตีคู่ขนานกับข่าว (ไม่) คืบของคดี ข้อมูลชีวิตลุงพลถูกแปลงให้เสมือนมีคุณค่าความเป็นข่าว เปลี่ยนคนบ้านกกกอก กลายเป็นไอดอล เป็นดาวเด่นชั่วข้ามคืน เป็นเรียลลิตี้ชีวิต ครอบครองพื้นที่สื่อหน้าจอทีวีหลายสิบนาที บางช่องร่วมชั่วโมง พร้อมกับเรตติ้งที่พุ่งทะยานกว่าช่วงอื่น ๆ

ช่วงแรก ๆ คนขำขันกับประเด็นข่าวที่คัดออกมานำเสนอ จนกระทั่งเรื่องราวก้าวเกินคำว่าพอดี “ให้ข่าวลุงพลจบที่รุ่นเรา” เรื่อยมาจนถึง #แบนลุงพล จึงเป็นกระแส ผู้ชมผู้อ่านเริ่มตั้งคำถาม “หน้าที่สื่อ” อีกครั้ง (หลังถูกตั้งมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า) ทำไมสื่อไม่ทำข่าวที่มีประโยชน์มากกว่านี้

ความกดดัน ความอึดอัด ความถูกเหมารวมแบบนี้ส่งถึงใจกลาง “คนทำสื่อ” เสมอ และเพิ่มทวีคูณไปอีก เมื่อสื่อที่ถูกพูดถึงเป็นสื่อที่คุณสังกัดอยู่ รู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งในระบบความเน่าเฟะ และการทำข่าวเพื่อเรตติ้ง Decode คุยกับคนข่าวภาคสนามที่ประกาศลาออกเพราะไม่สามารถยืดหยัดทำหน้าที่สื่อที่รับใช้เรตติ้งเพียงอย่างเดียวต่อไปได้อีก

ข้าวโพด-ทรงพล เรืองสมุทร อดีตหัวหน้าช่างภาพสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่ง

ปิดประกาศลาออกหน้า Social

9 กันยายน 2563 ข้าวโพด-ทรงพล เรืองสมุทร อดีตหัวหน้าช่างภาพสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่ง ประกาศลาออกจาก “ต้นสังกัด” พร้อมข้อความแสดงความอึดอัด และการยืนหยัดอยากทำหน้าที่สื่อที่ได้ทำเนื้อหาสร้างประโยชน์ให้สังคม แม้วันนี้ต้องทุบหม้อข้าวตัวเอง ต่อมา ศักดิ์ดา วรรณสุทธิ์ ผู้สื่อข่าวอีกหนึ่งคน โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ประกาศยุติหน้าที่ในฐานะนักข่าวที่ตามประเด็นนี้

ข้อความท่อนหนึ่งของศักดิ์ดาระบุว่า “เราใช้เวลาคิดและตัดสินใจ 1 เดือนเศษ ใช้ช่วงเวลาที่เราทำงานอยู่บ้านกกกอกเพื่อติดตามคดีน้องชมพู่ ขณะที่เราอยู่ที่นั่นนานวันเข้า เราตั้งคำถามกับตัวเองต่างๆนานา และ “คำตอบในหัวเรา มันทำให้เราไม่มีความสุข” กับการทำงาน”

เราขอสัมภาษณ์ทั้งคู่ ศักดิ์ดาปฏิเสธให้สัมภาษณ์ ขณะที่ข้าวโพดอิดออดในช่วงแรก ไม่อยากให้สัมภาษณ์นัก เพราะไม่อยากให้การพูดครั้งนี้ถูกตีความในลักษณะ “สาวไส้ในกากิน” หรือแฉต้นสังกัด เพราะหลายเรื่องเป็นเรื่องภายใน เขาจึงขอพูดเพียงจุดยืนของตัวเองเท่านั้น

มี “ลุงพล” สร้างสีสันก็พอ

“เราก็เคยนะ ทำข่าวแบบที่กระหายข่าว เราทำมาหมดแหละ แต่ทำแล้วเราก็รู้สึกผิด” ประโยคหนึ่งที่ข้าวโพดพูดระหว่างการคุยด้วยกัน เขาบอกว่าภาวะนั้นเหมือนภาวะจำใจต้องทำเพื่อให้ “คนเห็นข่าว” และเพราะมีความหลงใหลในงานนี้ในวงการนี้ บางอย่างก็ต้องยอม

“เราเป็นคนอยากรู้อยากเห็น ชอบเจอคน และสนใจสถานการณ์ในสังคม ตอนเสื้อแดงชุมนุมปี 2553 เป็นจุดที่ทำให้เราสนใจงานสื่อ ก็ไปลงพื้นที่เลย มันมีหลายอย่างที่ยังไม่ถูกนำเสนอ เลยเลือกทางนี้แหละ ไปหลายช่องนะกว่าจะมาช่องนี้ ตลอดทางเราโคตรภูมิใจเลย เพราะเราถูกฝึกมาว่าการนำเสนอข่าว “ต้องสร้างประโยชน์” ต่อคนดูคนอ่าน และภูมิใจมากขึ้นที่ชิ้นงานของเรา “ช่วยเหลือ” คนจริง ๆ”

การย้ายมาอยู่บ้านหลังใหม่เป็นการเติบโตในชีวิตการทำงานของข้าวโพด ช่วงแรกเขาทำงานในมาตรฐานเดิมที่ถูกสอนมา “บุกน้ำ ลุยไฟ เข้าป่า” แต่ด้วยสถานการณ์สื่อ ช่องดิจิทัลที่แข่งสูง งานดี ๆ ทำไปแล้วก็เงียบ เรตติ้งไม่กระเตื้อง จากนั้น บางครั้งเขาใช้เทคนิค กลยุทธ์เพื่อให้ได้ข่าว ประจวบเหมาะกับการเข้าของ Social Media ข่าวหลักจึงถูกตั้งต้นจากเรื่องดัง-ดราม่าใน Social แล้วข่าวจริงจึงตามมา ซึ่งจุดนี้ข้าวโพดเองมองว่ามันไม่ได้แย่ เพราะหลายครั้งเหตุการณ์ใน Social Media กับข่าวจริงมันทำคู่ขนานได้เสมอ และหลาย ๆ ครั้ง Social เองก็เรียกร้องและช่วยเหลือคนได้เหมือนกัน

แต่สำหรับกรณี “ลุงพล” นั้น ข้าวโพดใช้คำว่า “มันเลยเถิด”

“เราไม่โอเคกับวิธีอยากได้ข่าว และกระหายข่าวที่มากเกินไป ข่าวลุงพลต้องบอกว่า เราไม่ได้ลงไปด้วยตัวเอง แต่ได้คุยกับน้อง ๆ ช่างภาพ นักข่าว ว่าก็อึดอัดกับสิ่งที่ทำอยู่ มันเกิดอะไรขึ้นบ้าง มันค่อนข้างเลยเถิด เราเข้าใจในระดับหนึ่งว่า เวลาเกิดอะไรขึ้นแล้ว ประเด็นย่อย ๆ ข้างเคียงตัว Subject มันต้องเก็บมาให้หมด แต่ตอนนี้เป็นวาไรตี้ ส่วนเรื่องเสนอคดีก็หยุดไป ออกทะเลไปไกล มันไม่ใช่แล้ว”

ข้าวโพดบอกด้วยว่า จะเอากรณี “ลุงพล” อย่างเดียวมาชูให้เห็นว่าช่องข่าวสมัยนี้เรียกเรตติ้งทั้งนั้นไม่ได้ เพราะต้องไม่ลืมว่าก่อนหน้าลุงพล ยังมีเหตุการณ์กราดยิงโคราช ปล้นร้านทองลพบุรี ที่ก็เข้าข่าย “ถูกปั่น” จากสื่อไม่น้อย แต่ทั้งหมดที่ว่ามาก็ไม่ได้ปฏิเสธการพูดถึง “ลุงพล” เพื่อสีสันในงานข่าวบ้าง แต่การไฮไลท์ทำตัวหนาให้ลุงพลจนเกินพอดี จนเป็นไอดอลไม่ใช่สิ่งที่สื่อควรทำ สื่อควรให้พื้นที่ลุงพลได้ใช้ชีวิตของตัวเองด้วย

“ข้างในอยากได้” คนภาคสนามต้องกล้ำกลืน

จุดแตกหักของข้าวโพด คือ หลังประชุมที่ไม่เปลี่ยนแปลงอะไร เราคุยกันในรายละเอียดปลีกย่อยที่เปิดเผยไม่ได้ แต่สิ่งที่พูดมันรื้อให้เห็นโครงสร้างงานข่าว คือ “ข้างในอยากได้” ที่มีผลในเชิงทำให้คนทำงานที่ต้องพบปะผู้คนเจอแหล่งข่าวโดยตรงไม่มีทางเลือก สิ่งนี้เป็น “ระบบ” ที่เขาต่อสู้มาตลอด และพยายามหาจุดพอดีระหว่างการทำหน้าที่สื่อที่ช่วยสังคม และยังพยุงความนิยมขององค์กรเพื่อความอยู่รอดทางธุรกิจไว้ได้ แต่วันนี้ชัดเจนแล้วว่า มันล้ำเส้น

ข้าวโพดเขียนในโพสต์ลาออกท่อนหนึ่งว่า
“เรตติ้ง” คือทุกสิ่งทุกอย่าง
“เรตติ้ง” คือปัจจัยที่จะบอกได้ว่าคุณอยู่หรือไป
และ “เรตติ้ง” ก็กลายเป็นข้ออ้าง ที่ทำให้คนบางกลุ่มยอมทำทุกอย่าง เพื่อให้ได้มา

ผมขอโทษกับสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด และหวังว่าเมื่อเหตุการณ์จบลง ทั้งเราและคนดูบางกลุ่มน่าจะได้บทเรียนจากเรื่องนี้บ้าง และขออย่าเหมารวมว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือภาพทั้งหมดของ “สื่อมวลชน” ผมยืนยันว่าในสภาวะที่มีปัจจัยหลายอย่างที่ต้องเผชิญ วันนี้ยังคงมีเพื่อนสื่อมวลชน ที่พยายามทำหน้าที่ของตัวเอง ทำหน้าที่ของสื่ออย่างที่ควรจะเป็นให้ได้ดีที่สุด ผมขอบคุณและขอให้กำลังใจเพื่อนสื่อมวลชนที่ยังยืนหยัดทำหน้าที่อย่างถูกต้องต่อไป

ข้าวโพดไม่ได้พูดถึงประเด็น หลังประชุมที่ไม่เปลี่ยนแปลงอะไร แต่มันมีนัยยะมากพอที่จะบอกว่าที่ผ่านมาเรื่องนี้คงมีการพูดเตือนกันเอง เขย่าสัญชาตญาณความเป็นสื่อกันมาแล้ว แต่อาจไม่มีอะไรเกิดขึ้น มันจึงยังเดินหน้าต่อไปสักพัก ซึ่งสักพักที่ว่านั้นยาวนานร่วม 4 เดือนทีเดียวที่ประเด็นลุงพลครอบครองพื้นที่สื่อในช่วงเวลาไพรม์ไทม์ (Prime Time) แทบจะเบ็ดเสร็จ

ขอเป็น “เสียงฝุ่นเสียงหนึ่ง” แทนนักข่าวภาคสนาม

หลังจากที่เขาโพสต์ไปแล้ว เพื่อนร่วมวิชาชีพ เพื่อร่วมสนามข่าวต่างเข้ามาให้กำลังใจเขา วันนี้ “ข้าวโพด” อยู่ในฐานะตกงานเต็มตัว

“พี่ไม่เสียใจนะ แต่เสียดาย อยากทำงานสื่อแหละ ยังอยากเจอผู้คนอยู่ ตอนนี้ก็พักก่อนอยู่บ้านไป ไม่แคร์ ออกมาก็ไม่ได้ไปสมัครอะไรต่อ แม้ว่าจะมีคนชวนไปทำงานหลายที่ แต่พี่คิดสิ่งที่ทำมันทุบหม้อข้าวตัวเองก็จริง แต่ก็เป็นเสียงฝุ่นเสียงหนึ่งในวงการนี้ที่ได้พูดแทนน้อง ๆ พูดแทนคนอื่น ๆ อีกหลายคนที่อึดอัดกับการทำงานข่าวกับองค์กรที่รักแต่เรทติ้ง”

ล่าสุดเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2563 ข้าวโพด ได้รับเชิญจาก คณะอนุกรรมาธิการสิทธิเสรีภาพด้านสื่อสารมวลชนและสื่อสาธารณะ วุฒิสภา เข้าให้ข้อมูลกรณีนี้ ผู้สื่อข่าวที่เข้าร่วมประชุมโพสต์ข้อความสั้น ๆ อ้างคำพูดของ พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการ กสทช. กล่าวในการประชุมว่า “ปรากกฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับการทำข่าวประหลาดมาก คำว่าข่าวต้องเอาข้อมูล ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นมารายงาน ถ้ามากกว่านั้นอาจมีการวิจารณ์ข่าวได้เล็กน้อย…แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจากบางช่องกลายเป็นว่าคุ้ยปรากฎการณ์ พร้อมยอมรับว่าปัญหาของ กสทช. เป็นปัญหากฎหมายด้วย มีแค่โทษเป็นขั้นบันได ไม่สามารถชี้ชัดได้อย่างรวดเร็ว และในหนึ่งในช่องที่เป็นประเด็นนั้น ในปี 2562 มีข้อร้องเรียน 3 ครั้ง ปีนี้ 6 ครั้ง”

สื่อต้องเป็นที่พึ่งพา-รับใช้ประชาชนได้

“สื่อเตือนกันเองไม่ได้ ก็ต้องให้คนดูคนอ่านเตือน แบบนี้ถูกแล้ว” การให้พื้นที่ผู้อ่าน “กระเทาะ” ความหนาและความกระหายข่าวของสื่อที่เกินพอดี ข้าวโพดมองว่าจำเป็นมาก ๆ เมื่อวิชาชีพเดียวกันเตือนกันไม่ได้ องค์กรวิชาชีพก็ไม่ได้ออกมาแสดงอะไรมีเพียงล่าสุด ที่กองทุนสื่อบอกว่าสื่อจะต้องมีพื้นที่ปลอดภัยให้คนดู

“เวลามีคนคอมเมนท์ด่าสื่อ เรารู้สึกแหละ ไม่ใช่ไม่รู้สึก แต่ไม่ได้รู้สึกว่าเขาจะดูถูกวิชาชีพของเรา เราคิดว่าเขาเห็นเราสำคัญต่อสังคม เขาจึงพูดออกมา”

ความยากในการทำงานสื่อของข้าวโพดเพียงอย่างเดียวเลย คือ การต่อดีลกับ “ระบบ” และการบริหารที่มองงานสื่อสารมวลชนเพียงด้านของธุรกิจ และเรตติ้ง เขามองว่า เราควรชั่งน้ำหนัก และหา “จุดที่ควรพอ” ให้ได้ ไม่จุดไฟเพิ่มและเติมเชื้อเพลิง  เขามองว่า สื่อต้องแข่งขันเพื่อนำความหลากหลายมาสู่ผู้ชม และควรทำให้เรื่องราวที่เล่าเกิด Action บางอย่าง

“เราควรทำข่าวแล้วคนรู้สึกว่า คนลำบาก คนถูกเอาเปรียบ อย่างเราไม่เอาเหมืองถ่านหิน ถ้ามาช่องนี้เขาช่วยเราได้แน่ เราต้องเป็นเสียงที่ดังกว่าให้เขา ถูกเรียกใช้ได้ เป็นที่พึ่งของประชาชน ตอนนี้ดูสังคมมีปัญหาเยอะจะตาย ต้องมาดูอะไร เต่างอย ดูคนกินข้าว สังคมมันจะไปทางไหน”

หลังจากพักผ่อนอย่างเต็มที่ “ข้าวโพด” ก็ยังคงจะวนเวียนอยู่ในวงการสื่อสารมวลชน และการทำสารคดีที่ตัวเองชอบมาตลอด แต่คงไม่ทำงานที่ต้องอยู่ในระบบเดิมอีกแล้ว

“พวกใบ้หวย กระสือ ผีสาง อาถรรพ์ ไม่ทำแล้ว ได้ยินแล้วจะอ้วกเลย มันนำเสนอความเชื่อที่ไม่ลบหลู่กันได้ แต่ต้องไม่ขยายความงมงาย ดูให้ออกว่าความสำคัญคืออะไร เรื่องพระใบ้หวยทำทำไม พระที่หลอกลวง เสพยา เสพเมถุน แบบนี้สิต้องไปเอามานำเสนอ เพราะมันกระทบคนเยอะ สร้างสังคมที่ดีด้วยเรื่องเล่าตัวเองไม่ดีกว่าเหรอ”

ข้าวโพด-ทรงพล เรืองสมุทร
เริ่มต้นทำงานสายสื่อสารมวลชนมาตั้งแต่ปี 2553 จับงานด้านภาพก่อน สนใจงานสารคดีเป็นพิเศษ เพราะได้เจอผู้คนมากมาย ต่อมามีโอกาสไปทำรายการ “ภัตตาคารบ้านทุ่ง” ย้ายไปทำงานช่องเคเบิ้ลต่อก่อนจะไปทำงานสารคดีเชิงข่าวทั้งถ่าย และเขียนที่สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 จากนั้นย้ายไปช่องดิจิทัลช่องหนึ่ง ซึ่งก็เติบโตจากช่างภาพมาเป็นหัวหน้าช่างภาพ ก่อนที่จะลาออกเพราะกรณีลุงพล

อ่านต่อ สักวัน…ข่าว“ลุงพล” จะจบไป แต่ “ข่าวเรียกเรทติ้งจะไม่ (มีวัน) จบที่รุ่นเรา”