สักวัน...ข่าว “ลุงพล”จะจบไป แต่ “ข่าวเรียกเรตติ้ง” ไม่มีทางจบที่รุ่นเรา - Decode
Reading Time: 5 minutes

“ตอนนี้ข่าวมันเริ่มอืดแล้วคุณ ต่อไปตัวละครใหม่ก็จะเข้ามา”

แทบจะเรียกได้ว่าเป็นประเพณีเลยก็ได้ ที่เมื่อใดที่ “ข่าวดัง” ถูกขยี้-ขยายจนเกินกรอบความเป็นข่าว หน้าที่ของสื่อก็จะถูกตั้งคำถามอย่างดุเดือด นักวิชาการหลากหลายสาขา ทั้งด้านสื่อ การเมือง จิตวิทยา และการตลาด ไล่เรียงแกะปัญหาให้เห็นว่า เพราะอะไร “สื่อจึงเลือกเส้นทางนั้น” จบด้วยการเรียกร้องทางออกในเชิงจริยธรรม จรรยาบรรณ

แต่สำหรับ “ข่าวลุงพล” ที่ถูกลากยาวในหน้าจอช่วงไพรม์ไทม์ร่วม 4 เดือน ในทุก ๆ ช่องทาง จนผู้คนเริ่มพูดถึงว่า เมื่อไหร่ข่าวลุงพลจะจบเสียที มีข่าวดี ๆ อีกบ้างไหม เริ่มเปิดแผล “ความสั่นคลอนองค์กรสื่อ” ที่ต้องอาศัยความดังของข่าวเพื่อพยุงองค์กร ซึ่งข่าวนี้เองก็ทำให้คนข่าว 2 คน ต้องลาออกจากต้นสังกัดในวันที่เศรษฐกิจและการงานในวงการนี้ก็หายากขึ้นเรื่อย ๆ

ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด อย่าง อ.ธันยวัชร์ ไชยตระกูลชัย วิเคราะห์ให้ Decode ฟังชัด ๆ เลยว่า แม้ข่าว “ลุงพล” จบไป แต่ไม่นาน “ข่าวใหม่-เรื่องใหม่” ก็จะมาแทนที่ แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยว่า องค์กรสื่อเอกชนจจะเพิกเฉยต่อการต้องเรียกเรตติ้ง เพราะตราบใดที่ “ธุรกิจสื่อต้องพึ่งพาโฆษณา โฆษณาที่ก็เลือกลงเงินเพราะดูจากเรตติ้ง” ข่าวจึงต้องดัง และปัง…เสมอ?

Decode พาคุณผู้อ่านเจาะเรตติ้ง เช็กเทปรายการข่าวดังระดับประเทศ พร้อม ๆ กับการวิเคราะห์ในมุมมองการตลาดของอ.ธันยวัชร์ เรื่อยไปจนถึงความฝันวงการสื่อในอุดมการณ์ที่ไม่อาจจะเป็นจริง และกลยุทธ์ของผู้บริโภคที่อยากแบนสินค้าก็อาจไม่ได้ผล..เช่นกัน

เช็กเทป “ไทยรัฐนิวส์โชว์” VS “ทุบโต๊ะข่าว” กับช่วงเวลาของข่าว “ลุงพล”

นอกจากเห็น Meme ลุงพล ตามหน้าฟีด เห็นข่าวบ้างประปราย เราอยากรู้ว่าจริง ๆ แล้วข่าวลุงพลและคดีน้องชมพู่ถูกนำเสนออย่างไร เรานั่งดูคลิปรายการ “ไทยรัฐนิวส์โชว์” ช่องไทยรัฐทีวี และรายการ “ทุบโต๊ะข่าว” ช่องอัมรินทร์ทีวี วันที่ 10 ส.ค.2563 ที่เลือกทั้ง 2 ช่อง เพราะเป็นช่องที่ให้ความสำคัญกับข่าวนี้อย่างมาก มีการทำ Interlude เข้าช่วงรายการ มี CG ขึ้นริมจอเพื่อบอกว่าเป็นวันที่เท่าไหร่แล้วที่ติดตามคดีน้องชมพู่ และทั้งสองช่องทำเรตติ้งอยู่ในระดับที่สูงมาก

รายการข่าวทั้ง 2 ช่อง เป็นรายการข่าวที่อยู่ในช่วงเวลาที่เรียกว่าไพรม์ไทม์ (19.00-22.00) เป็นช่วงที่คนดูทีวีเยอะที่สุด เป็นช่วงที่รู้กันดีในวงการว่า “ทำเงินจากโฆษณาได้มากที่สุด” อะไรที่นำมาเล่าก็ต้องเป็นที่พูดถึง เป็น Talk of the Town ได้

ข้อมูลจาก Nielsen” (นีลเส็น) ในวันที่ 10 ส.ค.2563 พบว่า ไทยรัฐนิวส์โชว์  มีผู้ชมเฉลี่ย 1,391,000 ต่อนาที ขณะที่ทุบโต๊ะข่าว 933,000 คนต่อนาที ขณะที่ตลอดทั้งเดือนสิงหาคม 2563 ไทยรัฐนิวส์โชว์มีผู้ชมเฉลี่ย 1,738,000 ต่อนาที ส่วนทุบโต๊ะข่าว มีผู้ชมเฉลี่ย 2,044,000 ต่อนาที เป็นช่วงเวลาที่มีคนดูสูงสุด กราฟขึ้นสูงอย่างกว่าช่วงอื่น ๆ ตลอดทั้งวัน

คลิปรายการที่เราดูเริ่มจาก “ไทยรัฐนิวส์โชว์” นำเสนอข่าว “คดีน้องชมพู่” โดยมีลุงพลเป็นตัวละครหลักของเรื่อง รวมแล้วประมาณ 55 นาที ใช้วิธีการเล่าข่าว สลับปล่อยเสียง และเปิดหน้าผู้สื่อข่าว ติดตามทุกความเคลื่อนไหวที่บ้านลุงพล แขกที่มาเยี่ยมบ้าน การปรับปรุงบ้านลุงพล ใครไปเยี่ยมบ้านพ่อแม่น้องชมพู่ พูดถึงความคืบหน้าของคดีในช่วงกลาง ให้ผู้สื่อข่าวทดลองแบกถุงปุ๋ย เดินขึ้นเขาเหล็กไฟ เส้นทางที่น้องชมพู่ใช้ จบด้วยการรายงานว่ามีคนหายที่บ้านกกกอก

ส่วน “ทุบโต๊ะข่าว” มีวิธีเล่าเรื่อง และเรื่องคล้าย ๆ กัน ความคืบหน้าที่บ้านลุงพล ใครมาเยี่ยมบ้านบ้างเช่นกัน พูดถึงการปรับปรุงบ้าน ใครไปเยี่ยมบ้านพ่อแม่น้องชุมพู่ มีผู้สื่อข่าวทดลองแบกถุงกระสอบไม่ต่างกัน จากนั้นอัมรินทร์มีเนื้อหาเพิ่มเติมเรื่องสัดส่วนของลุงพล และความสนใจในวงการบันเทิง รวมถึงการให้โหราศาสตร์มาวิเคราะห์เครื่องหน้าของลุงพล และพ่อน้องชมพู่ จากนั้นจบข่าวเหมือนไทยรัฐนิวส์โชว์คือ รายงานคนหายที่กกกอกอีกราย รวมแล้วใช้เวลาประมาณ 53 นาที

ทั้ง 2 รายการมีคอมเม้นทั้ง 2 ทาง ทั้งชื่นชมลุงพล และตั้งคำถามการนำเสนอข่าวของรายการ เช่น

  • ข่าวน้องชมพู เอาเฉพาะที่มันเกี่ยวกับตัวคดีได้ไหมครับ ข่าวคนมาเยี่ยม ข่าวสร้างบ้าน ข่าวหมอธรรม ร่างทรง ซินแซอไรพวกนี้ เบาได้ก็เบานะครับ
  • รบกวนพิจารณาเรื่องความเหมาะควรกับการให้พื้นที่ข่าวของข่าวลุงพลด้วยนะคะ ปชช.ได้อะไรกับการเสนอข่าวลุงพล ถ้าเทียบกับข่าวความเดือดร้อนเรื่องอื่นๆที่เกิดในสังคม…ฝากพิจารณานะคะ
  • ลุง​พล​พูดได้ดีและออกมาจากใจ ทุกคนก็เข้าใจ
  • คุณตำรวจสู้ ๆ ค่ะอย่าแขวนคดีค่ะขอให้จับผู้ร้ายได้เร็ว ๆ นะคะ


รายละเอียดการเช็กเทปรายการข่าวที่นำเสนอประเด็น “ลุงพล”
วันที่ 10 ส.ค.2563

ไทยรัฐนิวส์โชว์

ระยะเวลานำเสนอประมาณ 55 นาที

เนื้อหาการนำเสนอ

  1. Interlude “ใครฆ่าน้องชมพู่”
  2. ข้าง ๆ จอขึ้น CG “91 วัน ใครฆ่า? น้องชมพู่”
  3. นำเสนอแบบเล่าข่าว สลับสัมภาษณ์ ปล่อยเสียง / เปิดหน้าผู้สื่อข่าว
  4. อัพเดทการคลี่คลายคดีน้องชมพู แต่ยังไม่พูดถึงคดี ไปที่ความคืบหน้าบ้านลุงพลที่กำลังปรับปรุงบ้าน เล่าถึงคนที่ออกเงินให้
  5. พูดถึง “แขก” ที่มาเยี่ยมลุงพล นั่นคือพระซึ่งมอบได้มอบของวัตถุมงคลให้
  6. กลับมาที่การปรับปรุงบ้าน ลุงพล และป้าแต๋น ที่ทั้งคู่อยากรีบกลับมาอยู่บ้าน และหารือเรื่องการจัด “ทำบุญบ้าน”
  7. พูดถึงเรื่องการที่มีคนสนับสนุน “นำของมาให้” ทั้งของกิน และเงิน ถ้าเกินก็จะเอาไปบริจาค แต่ลุงพลไม่สามารถพูดได้ว่า “หยุดหรือพอ” เพราะไม่อยากปฏิเสธน้ำใจ
  8. ลุงพลพูดถึงการติดกล้องวงจรปิดเพิ่ม เพื่อป้องกันตัวเอง เพราะคดียังไม่จบ
  9. ลุงพลแสดงความเห็นคดีน้องชมพู่ เชื่อว่าน้องไม่เดินไปภูเขาเหล็กไฟเองและถ้าสมมติผลสอบสวนพบว่าคนพาไปเป็น “ลุงพล” เองก็พร้อมต่อสู้คดี
  10. พูดการทำคดีน้องชมพู่ และมีความเห็นของแม่น้องชมพู่
  11. กลับไปที่เรื่องพระ 3 รูปที่เดินทางไปบ้านลุงพล เดินทางต่อไปยังบ้าน “พ่อแม่น้องชมพู่” และสวดมนต์แผ่นเมตตาให้น้องชมพู่ จากนั้นมอบวัตถุมงคล
  12. ผู้ประกาศบอกว่า “จะติดตามคดีนี้แบบรายวัน”
  13. พ่อแม่น้องชมพู่เตรียมทำบุญ 100 วัน และรายการเรื่องพ่อเตรียมเทปูพื้นบ้านสำหรับต้อนรับคนมาร่วมงาน
  14. กลุ่มคนที่เดินทางไปให้กำลังใจพ่อแม่น้องชมพู่ วันนี้เป็นคนจาก จ.นครพนม จากเพจ คนรักพ่อแม่น้องชมพู่
  15. พูดถึงรูปถ่ายในกรอบรูปที่ได้รับ “น้องชมพู่ถ่ายกับพี่สาว” เป็นรูปที่แม่ชอบที่สุด พูดถึงว่าน้องชมพูมีโอกาสได้ไหว้แม่ 1 ปี และจะไม่มีอีกแล้ว
  16. พูดถึงคดีน้องชมพู เส้นทางที่จะขึ้นภูเขา และรอยไหม้ “ดินติดฝ่าเท้าน้องชมพู่” จากนั้นผู้สื่อจำลองเหตุการณ์การเดินเพื่อดูว่าดินจะติดเท้าหรือไม่ ดูว่าน้องชมพู่จะขึ้นเองได้หรือไม่
  17. ทีมข่าวทดลองเพิ่ม “เดินแบกถุงปุ๋ย” น้ำหนักเท่าน้องชมพู่
  18. พูดถึงคดีของน้องชมพู่ เจ้าหน้าที่ยืนยันเดินทางคดีต่อไป เพราะถ้าหยุดเด็กในหมู่บ้านจะเกิดความเสี่ยง
  19. สรุปหลักฐานสำคัญในคดีของน้องชมพู่ พวกของเล่น กางเกง และรองเท้า แต่ยังหาเสื้อของน้องชมพู่ไม่เจอ
  20. ย้อนกลับไปบ้านลุงพลว่า เจ้าหน้าที่เข้าไปเก็บหลักฐาน
  21. มีข่าวด่วน มีคนหายบนภูเหล็กไฟ โฟนอินผู้สื่อข่าวในพื้นที่
  22. จบข่าวช่วง “ใครฆ่า?น้องชมพู่” ผู้ประกาศพูดทิ้งท้ายให้ติดตามวันที่ 92 ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น

ยอดวิว (14 ก.ย.63)
196,146 views

COMMENT ใต้คลิป

  • พระก็ยังดั้นด้นมาเนาะ
  • คุณตำรวจสู้ ๆ ค่ะอย่าแขวนคดีค่ะขอให้จับผู้ร้ายได้เร็ว ๆ นะคะ
  • ถ้าคนรู้สึกว่ามันพอ ก็พูดได้นะ ว่าพอแล้ว ไม่เกี่ยวกับเสียน้ำใจหรอก การเปิดรับทุกอย่างคนอื่นเขาจะมองว่าเราโลภ
  • ข่าวลุงพลสร้างบ้าน หรือว่าข่าวคดีนองชมพู่​กันแน่คะ  อีกไม่นานลุงพลก็จะเป็นดาราคดีน้องชมพู่​คงจะเงียบเพราะลุงพลมาแรงส์​ช่วงนี้
  • ข่าวน้องชมพู เอาเฉพาะที่มันเกี่ยวกับตัวคดีได้ไหมครับ ข่าวคนมาเยี่ยม ข่าวสร้างบ้าน ข่าวหมอธรรม ร่างทรง ซินแซอะไรพวกนี้ เบาได้ก็เบานะครับ
  • คดีน้องชมพู่ ผ่านไปสามเดือนแล้ว ทำไมตำรวจไม่ออกมาพูดอะไรบ้าง ชี้แจงบ้าง อะไรก็ได้ที่ประชาชนทั่วประเทศเขาสนใจอยู่ 
  • เลือกใช้ชื่อว่าข่าวน้องชมพู่เถอะ เพราะเท่าที่ดูมีแต่ลุงพล
  • ถ้าปิดคดีไม่ได้ 10 ปี  ไม่เล่นข่าว ยันลูกบวชเลยอ่อ เบื่อๆ จะเลิกติดตามละ
  • ลุง​พล​พูดได้ดีและออกมาจากใจ ทุกคนก็เข้าใจ
  • เบื่อข่าวนี้ครับ ไปเล่นข่าวอื่นบ้างสิ

ทุบโต๊ะข่าว

ระยะเวลานำเสนอประมาณ 53 นาที

เนื้อหานำเสนอ

  1. ข้าง ๆ จอขึ้น CG “91 วัน ไขปริศนาคดีชมพู่” บน CG จะมี LOGO ผลิตภัณฑ์ขึ้น สนับสนุนโดย…
  2. นำเสนอข่าวแบบเล่าข่าว พูดถึงเหตุการณ์ บรรยายภาพ สลับปล่อยเสียงสัมภาษณ์
  3. เริ่มต้นเนื้อหาด้วยการพูดถึงวันที่ 91 ของคดีน้องชมพู่ ก่อนเข้าเรื่องการมาให้ “กำลังใจ” ลุงพลของพระ มีผูกข้อมือ ให้พร และมอบวัตถุมงคล+รายละเอียดวัตุมงคล
  4. พูดถึง “ผู้หญิงคนหนึ่ง” เป็นข้าราชการเดินทางมานานกว่า 20 ชม.เพื่อมาเจอลุงพล นำปลาจิ้งจั้งมามอบให้
  5. เน้นเล่าถึง “ของฝาก” ที่นำมาให้ไม่เท่า “น้ำใจ” ที่มาหา มีกราฟิกประกอบการเดินทาง บอกรายละเอียดค่าใช้จ่ายเดินทาง 6,000 บาท
  6. เจ้าหน้าที่คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิต อ.ดงหลวง เดินทางมาที่บ้านลุงพลเพื่อประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือป้องกันโควิด-19 หากใครมาเยี่ยมลุงพล
  7. รายงานความคืบหน้าการสร้างบ้านลุงพล ทำอะไรเสร็จไปแล้วบ้าง ระบุเป็น “น้ำใจจากคนที่ดูลุงพล” และประกาศ “หยุดรับ” ของบริจาค
  8. อ่านคำสัมภาษณ์ของลุงพลเกี่ยวกับการรับของอย่างละเอียด และก็ปล่อยเสียงลุงพล
  9. ข่าวความคืบหน้าคดีน้องชมพู่ แม่ลงบันทึกประจำวัน กรณีถูกโพสต์ต่อว่าใน Social Media ข้อหาหมิ่นประมาท
  10. ข่าวกลุ่มรักแม่น้องชมพู่เดินทางให้กำลังให้ มอบกรอบรูป และผูกข้อมือ แม่พูดถึงเรื่องราวในรูป หนึ่งในนั้น คือ ภาพที่น้องชมพู่ไหว้ในวันแม่
  11. เล่าถึงพระที่เดินทางมาเยี่ยมพ่อแม่น้องชมพู่ และมอบวัตถุมงคล พร้อมเล่าถึงคุณสมบัติ
  12. ผู้ประกาศพูดยืนยันว่าคดีของน้องชมพู “ตำรวจไม่บอกความคืบหน้า” จึงสอบถามจากชาวบ้าน จากนั้นวิเคราะห์คดีว่า ใครควรถูกตรวจสอบต่อไป โดยตั้งประเด็น “ใครพาน้องชมพู่ขึ้นไป”
  13. ทดสอบแบกกระสอบน้ำหนัก 12 กก. ใกล้เคียงกับตัวเด็ก ขึ้นไปพร้อมจับเวลา จากนั้นการมีวิเคราะห์เส้นทางแต่ละเส้นว่าเป็นไปได้หรือไม่
  14. ทำกราฟิกระบุ “การคำนวณเวลาซ่อนน้องชมพู่”
  15. รายการเปิดตัว “ช่างเล็ก” หนึ่งในทีมค้นหาน้องชมพู่ และปริศนา Timeline เวลาของแต่ละคน
  16. ข่าวอุ๊บ วิริยะ ตัดสินใจเลิกทำซีรีส์ บ้านกกกอก เพราะแม่ไม่อนุญาต และคดียังไม่สิ้นสุด
  17. ข่าวเล่าต่อว่า อุ๊บ วิริยะ จะปั้นลุงพล และทำกราฟิก สัดส่วนลุงพล เพราะได้ยินเสียงลุงพลร้องเพลง
  18. ปล่อยเสียงลุงพลว่าไม่ทิ้งโอกาส สิ่งใดที่สร้างรายได้ให้กับครอบครัวก็พร้อมจะทำ พร้อมกราฟิก ความสนใจงานวงการของลุงพล ทั้งงานแสดง ร้องเพลง และนายแบบ
  19. ข่าวเล่าว่า ระหว่างลุงพลกวาดบ้านก็ร้องเพลง จึงให้ลุงพลร้องเพลงออกกล้อง ปล่อยเสียงร้องยาวประมาณ 1 นาที
  20. ข่าวต่อไป เล่าเรื่อง นรลักษณ์ศาสตร์ วิเคราะห์ใบหน้า “ลุงพล” และ “พ่อน้องชมพู่” ว่าตา จมูก คิ้ว ชี้ให้เห็นว่าเป็นคนลักษณะอย่างไร
  21. ข่าวคนบ้านกกกอกหายไปในเขาเหล็กไฟ และประกาศให้คนติดตามเรื่องนี้

ยอดวิว (14 ก.ย.63)
874,000 views (โดยประมาณ)

COMMENT ใต้คลิป

  • เลิกเสนอข่าวนี้เถอะ……มันไร้สาระแล้วทำให้คนแตกแยกด้วย
  • ลงลุงพลอีกแล้วข่าวช่องนี้หาเรื่องตลอด
  • เห็นคนได้ดีควรยินดีกับเค้า วันหนึ่งอาจเกิดเรื่องดีๆกับเราก้อได้
  • คิดเป็นกลางด้วยคะ รู้เขารู้เรา นักข่าวเขาก็ทำหน้าที่ของเขา ถ้าคุณเป็นนักข่าว อยู่ในพื้นที่อยู่แล้ว คุณก็ต้องทำข่าวเหมือนกัน คนดูต่างห่ากคะที่ต้องเลือกดู ถ้าไม่ชอบก็ปล่อยผ่าน ถ้าชอบก็ดูคะ
  • สำนักข่าว……อยู่บางกอกหรือกกกอกนี่
  • รบกวนพิจารณาเรื่องความเหมาะควรกับการให้พื้นที่ข่าวของข่าวลุงพลด้วยนะคะ ปชช.ได้อะไรกับการเสนอข่าวลุงพล ถ้าเทียบกับข่าวความเดือดร้อนเรื่องอื่นๆที่เกิดในสังคม…ฝากพิจารณานะคะ
  • ลุงพลไม่อยากได้เงินหรอกค่ะ แต่ลุงพลพูดแบบนั้นเพราะอยากเป็นนักร้องมากกว่าพูดให้ค่ายเพลงได้ยินค่ะ เพราะลุงพลไม่ได้ทำงาน ถามว่าเข้าข้างลุงไหม ไม่ค่ะ โดยเหตุผลแล้วมันมีคนให้ลุงแต่ลุงไม่ได้เปิดบัญชีไปต่างหากถึงไม่มีเงินส่งรถถูกไหมคะ ก็เข้าข้างลุงพลนิดนึง

“ลุงพล” ทำเรตติ้งพุ่ง คนดูทั้งชนบท-ในเมืองโต 90%

เพียงพอหรือไม่ว่าระยะเวลานำเสนอมากกว่า 50 นาที คือสิ่งยืนยันว่า “ทำไปเพื่อเรตติ้ง?” เพราะหากเป็นไปตามหลักการ และคุณค่าข่าว Human Interest (ความสนใจของประชาชน) และ Mystery (ความลึกลับ-ความมีเงื่อนงำ) ก็อาจจะพอเป็นคำตอบได้ แต่การลากยาวร่วมเดือนหลากหลายมิติ โดยที่หลายเรื่อง หลุดกรอบ News Value ก็น่าคิดเหมือนกันว่า มันยังสมเหตุสมผลหรือไม่

เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ระบุเองเลยว่า รายการที่ทำเรตติ้งยืนหนึ่งในช่วงเวลาไพรม์ไทม์ของไทยรัฐทีวีคือ รายการ ไทยรัฐนิวส์โชว์ วันที่ 19 มิ.ย. สามารถทำเรตติ้งได้สูงสุดอยู่ที่ 4.488 จากข่าว “หมอปลาขึ้นภูเหล็กไฟ จุดพบร่างน้องชมพู่” ตอนหนึ่งของรายงานชิ้นนี้ระบุว่า ไทยรัฐทีวีมีฐานผู้ชมกลุ่มในเมืองและชนบทเติบโตสูงขึ้นในช่วงไพรม์ไทม์ไตรมาสสอง ทั้งวันธรรมดาและสุดสัปดาห์ โดยเฉพาะวันธรรมดา เติบโตจากไตรมาสแรก สูงที่สุดในกลุ่มคนเมืองถึง 113% รองมาคือ ชนบทที่เติบโต 90% และกทม.เติบโตขึ้น 92% ซึ่งเป็นผลมาจากการนำเสนอข่าว “น้องชมพู่” ซึ่งเป็นประเด็นที่คนไทยให้ความสนใจ

รายงานข่าวระบุด้วยว่า ในช่วงวิกฤติโควิด เม็ดเงินโฆษณาลดลง 10% จาก 10,756 ล้านบาทเหลือ 9,700 ล้านบาท แต่ในวิกฤตินี้ก็เป็นโอกาสของช่องทีวีดิจิทัลต่าง ๆ เพราะคนดูโทรทัศน์เพิ่มขึ้น 15% เรตติ้งเฉลี่ยทีวีดิจิทัลเพิ่มขึ้นถึง 20%

เว็บไซต์ tvdigitalwatch.com รายงานเรทติ้งของทีวีดิจทัลเดือน สิงหาคม 2563 ระบุว่า เรตติ้งของอัมรินทร์อยู่ในอันดับที่ 4 ขณะที่ไทยรัฐทีวีอยู่ในลำดับที่ 6 รายการทุบโต๊ะข่าว ติดอันดับ 10 รายการที่มีเรตติ้งดีที่สุดในประเทศ ทั้งหมดขีดเส้นใต้ไว้ว่า เป็นเรตติ้งของทีวีเท่านั้น เรตติ้งในโลกออนไลน์วัดกันที่ยอดวิวและเอ็นเกจเมนต์ด้วย

เราสำรวจข่าวลุงพล แบบสุ่ม เริ่มที่เว็บไซต์ข่าวเว็บหนึ่ง มีการนำเสนอข่าวลุงพลตั้งแต่กรกฎาคม 2563 (ข่าวที่เผนแพร่ระบุเวลาแบบนี้) จนถึงวันนี้ รวม ๆ แล้วเกิน 500 ชิ้น (สำรวจวันที่ 10 ก.ย.63) เนื้อหาผสมกันไป ระหว่าง การสืบสวนคดี / ความเชื่อต่าง ๆ / ชีวิตส่วนตัวของลุงพล ไม่นับรวมการแชร์โพสต์ลง Social Media ที่แน่นอนว่า หากเป็นสื่อคู่แข่งกัน ย่อมต้องเล่นประเด็นล้อกันไป เพื่อช่วงชิงคนดู และสปอนเซอร์ เขาเล่น เราก็ต้องเล่น ไม่งั้นก็ตกกระแส ในขณะที่ในช่องยูทูบมีการอัพโหลดคลิปวิดีโอรายการข่าวแบบฉบับเต็ม และหั่นซอยคลิปย่อย ๆ แต่ละประเด็นเกี่ยวกับลุงพลอีกมากมาย มีคนเข้าชมหลักหมื่นหลักแสน และหลักล้านในบ้างคลิป

ข้อมูลจาก ไวซ์ไซท์ (Wisesight) บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลสื่อสังคม ใช้เครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูลชื่อว่า ZOCIAL EYE ในโอกาสครบรอบสี่เดือนที่น้องชมพู่หายตัวไป (11 พ.ค.-11 ก.ย.63) พบว่ามีจำนวนข้อความบนโซเชียลมีเดีย ที่พูดถึง ‘ข่าวลุงพล’ อย่างน้อย 1,132,182 ข้อความ รวมจำนวนเอ็นเกจเมนต์ หรือเมนต์ ไลก์ แชร์ เกินกว่า 39.3 ล้านครั้ง เฉพาะคลิปวีดิโอที่ว่าด้วยข่าวลุงพล มีความยาวรวมกัน 174,240 นาที คิดเป็นกว่า 2,904 ชั่วโมง หรือกว่า 121 วัน

ส่องแฟนดอมลุงพล: สื่อช่วย VS สื่อเวอร์

ความโด่งดังของ “ลุงพล” ไม่เพียงทำให้ลุงพลได้พื้นที่สื่อเท่านั้น แต่ยังเกิดกลุ่มแฟนคลับด้วย เราลองเสิร์ชคำว่า “ลุงพล” ในเฟซบุ๊กดูผลลัพธ์ที่โชว์ให้เราเห็นคือกลุ่มคนรักลุงพล ป้าแต๋น หลายกลุ่มที่มีสมาชิกหลักพัน และหลักหมื่น เมื่อเข้าไปในกลุ่มจะเห็นชุมชน (Community) เราเข้าไป Join Group ลุงพล(ไชย์พล วิภา)บ้านกกกอก แฟนคลับ ตอนนี้มีสมาชิกอยู่กว่า 180,000 คน (ข้อมูลวันที่ 22 ก.ย.63) อีกกลุ่มหนึ่งคือ “กลุ่มคนรัก…ครอบครัวลุงพลป้าแต๋น” มีสมาชิกอยู่เกือบ 40,000 คนแล้ว (ข้อมูล22 ก.ย.63) แต่ละกลุ่มมีการแชร์ข่าว ภาพนิ่ง หรือคลิปลุงพล รวมถึงข้อความในทางสนับสนุน พูดถึงความชื่นชมที่มีต่อลุงพล

เราคุยกับแอดมิน กลุ่มคนรัก…ครอบครัวลุงพลป้าแต๋น ทางกล่องข้อความ เธอบอกว่า ติดตามข่าวลุงพลจากทีวีช่องอัมรินทร์ รู้สึกชื่นชมลุงพลและป้าแต๋น ภรรยาในลักษณะที่ซื่อ และตรงไปตรงมา ขณะเดียวกันในเรื่องของคดีความก็รู้สึกสงสารที่ถูกกล่าวหา จนไม่มีคนคุยด้วย ไม่กล้าออกจากบ้าน สะท้อนใจว่าหากเป็นตัวเองก็คงเครียดเหมือนกัน ซึ่งตอนนี้กระแสมีคนมาสนับสนุนลุงพลมากขึ้นรู้สึกขอบคุณที่มีคนเคียงข้างลุงพล

“ส่วนเรื่องสื่อไม่ได้คิดว่าอะไร แต่เลือกดูอัมรินทร์ ถ้าไม่นำเสนอ ลุงพลอาจเป็นผู้ต้องหาไปแล้ว”

จากฟากแฟนคลับสู่ฟากคนไม่สนใจ “ลุงพล” แต่ก็รับรู้ความเคลื่อนไหว ชัดว่าการโหมประโคมข่าว “ลุงพล” ในสื่อแพลตฟอร์มอื่น ๆ ได้ผลอย่างมาก ณัฐพล เมฆสัมพันธ์ เป็นหนึ่งในนั้น เขาติดตามข่าวสารบ้านเมืองตามปกติ แต่ไม่ได้สนใจข่าวลุงพลเลยแต่เห็นข่าวมากขึ้นเรื่อย ๆ ในหน้าฟีด “ใช้คำว่า..เวอร์เกินไปดีกว่า อยากใหสื่อมุมปกติ ไม่ใช่มุมบิดเบี้ยว เพราะสื่อหลักจัดเป็นมาตรฐานสังคมแบบหนึ่ง”

เขาบอกว่ามันเป็นเรื่องธรรมดามาก ๆ ที่สื่อจะปั้นคน ๆ หนึ่งให้ดัง แต่การปั้นคนที่เกี่ยวข้องกับคดีความนั้นยังไม่เข้าใจชัดเจนนักว่าทำไปเพื่ออะไร คนที่เป็นแฟนคลับเขาก็ไม่ผิด เพราะเป็น FC หลังจากที่ลุงพลถูกสร้างขึ้นแล้ว “ถ้าเขาไม่ดัง FC ย่อมไม่มี ยิ่งการแบนสื่อเป็นเรื่องไร้ประโยชน์ แบนผลิตภัณฑ์ ยิ่งแล้วใหญ่..ทำให้ระบบเศรษฐกิจพัง”

ณัฐพลบอกว่า คนที่ควรเข้ามาดูแลคือองค์กรสื่อ “สำหรับผมสื่อเป็นอาชีพพิเศษ เป็นทีมตรวจสอบ สื่อต้องตรวจสอบกันเอง ถ้าเห็นแก่เรตติ้ง ความเป็นวิชาชีพและมืออาชีพจะหายไป เป็นเพียงอาชีพที่หาเลี้ยงชีพไปวัน ๆ ไม่สามารถสร้างมาตรฐานอันดีงามให้สังคมได้”

ข่าวไม่ปัง เรตติ้งไม่ขึ้น โฆษณาไม่เข้า: วงจรที่ไม่อาจหลุดพ้น?

“เรื่องลุงพลช่องข่าวคงไม่ได้ตั้งใจอะไรมาก เป็นเรื่องลึกลับ เด็กหายไป มีความน่าสนใจ ซักประวัติไปเรื่อย ๆ ข่าวก็นำเสนอก็จะขยี้เยอะ ซึ่งเรตติ้งมันได้ มันขึ้นมากกว่าละครอีก ในช่วงเดือน ก.ค. เรตติ้งขึ้น 4 กว่า สูงกว่าละครช่อง 7 สูงกว่าช่อง 3 ช่องไทยรัฐสามารถขึ้น 3 กว่าได้เป็นตัวเลขที่เขาไม่เคยทำได้ขนาดนี้มาก่อน เรตติ้งมันมา มันก็ขุดไปเรื่อย ๆ เมื่อก่อนมีรายการ AF ช่วงไพรม์ไทม์ เหมือนไปตามดูชีวิต ลุงพลกินข้าว สมัยเด็กทำอะไร ทะลุปรุโปร่ง ถูกนำเสนอทุก ๆ วัน”

อ.ธันยวัชร์ ไชยตระกูลชัย ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด ค่อย ๆ อธิบายว่า “ข่าวลุงพล” มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร อาจารย์พูดถึงหลักการโฆษณาที่หากพูดซ้ำ ๆ ย้ำ ๆ ในเรื่องเดิมก็มีสิทธิ์สูงมากที่จะทำให้ “คนในข่าว” มีชื่อเสียงและดังขึ้นมา

“หลักการโฆษณา คือ การทำซ้ำ เรื่องลุงพล ลองมาคิดดูก็ได้เอาเฉพาะวันธรรมดา ช่องข่าวที่มีการนำเสนอในช่วงไพรม์ไทม์ 2 ชม. อาจจะเสนอข่าวอื่นบ้าง อาจจะมีข่าวนี้สักชั่วโมง วันละ 1 ชม. จันทร์ถึงศุกร์ ก็ สัปดาห์ละ 5 ชั่วโมง 4 เดือน 2 ช่อง รวมๆ แล้ว 160 ชั่วโมง ดูสิมันเยอะขนาดไหน ”

ในสงครามข่าวสาร เศรษฐกิจที่ย่ำแย่ลงในช่วง 2-3 ปี ช่องทางการสื่อสารที่มากมายในโลกดิจิทัล ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้สนามข่าวและคอนเทนต์ดุเดือดมาตลอด อาจารย์ธันยวัชร์บอกว่า ข่าวไหนมีเรตติ้งดีก็ยังได้เลือกให้อยู่ต่อจนเป็น “ความดัง” ข่าวลักษณะนี้เปรียบเทียบได้กับกรณีของหมูป่าที่ข่าวทุกช่องนำเสนอ แต่อันนั้นเป็นแง่บวก ไม่ใช่บุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของน้องชมพู่ และที่สำคัญคือ คดีความยังไม่สิ้นสุด

ไม่ใช่แค่ในทีวีที่ขยี้ขยายประเด็นนี้ แต่โลกออนไลน์ทุกเอ็นเกจเมนต์เสมือนเป็น KPI ก็สร้างมูลค่าให้แบรนด์อยากใช้เป็นช่องทางสื่อสาร ตอนนี้สื่อมีทุกช่องมีแอคเคาท์ ใน Social Media หมด ก็ยิ่งทำให้เรื่องนี้อยู่รอบ ๆ เรา แม้ว่าเจน Z จะไม่ได้สนใจ แต่มันก็หนีไม่พ้น ยิ่งทำให้ Subject ในข่าวผันตัวมาเป็นตัวแทน เป็นพรีเซนเตอร์ของผลิตภัณฑ์ซึ่งอาจารย์บอกว่า “มันผิดปกติ”

“แบบนี้เรียกว่า Attention Economy ใช้ความดังใช้กระแสเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ต้องทำทุกอย่างเพื่อให้ขายได้ เป็นข่าวลบดีกว่าไม่เป็นข่าว คุณลองนึกถึงดาราบางคนที่ต้องทำให้ตัวเองเป็นประเด็นตลอดเวลาสิ ความดังมันขายได้ สินค้าก็ไม่ได้ดู MV ก็ไม่ได้ดู โชว์รูมรถก็ไม่ได้ดูว่ามันสมควรไหมที่จะเอาคนที่ดังมาจากไหนก็ได้ พรีเซนเตอร์ต้องมีภาพลักษณ์ที่ดี ไม่ใช่แค่ความดังอย่างเดียว”

ยิ่งในยุคเงินฝืด เม็ดเงินเพื่อโฆษณาก็ลดลง “คนละลงโฆษณาก็ต้องดูไร ก็ดูเรตติ้งไง ถ้าไม่มีเรตติ้งคนก็ไม่ลงโฆษณา ทีวีก็ต้องทำทุกอย่างเพื่อเรตติ้ง ไม่ว่าคอนเท้นต์นั้นจะโอเคหรือไม่โอเคก็ตาม ขอให้มีคนดูเท่านั้นพอ จบ”

การตลาดของการข่าว ยังจำเป็นอยู่ไหม

หลักการตลาด ที่อ.ธันยวัชรใช้ให้เห็นภาพ คือ ถ้าต้นไม้ล้มแล้วคนไม่ได้ยินเสียงต้นไม้ล้ม ถือว่าต้นไม้ไม่ล้ม เราถามต่อว่า ถ้าอย่างนั้นธุรกิจสื่อควรมีการตลาดไหม ?

“คุณควรตั้งคำถามว่าสื่อต้องพิจารณา ต้องสนใจเรื่อง CSR Cooperate Social Responsibility ว่ามันมีความรับผิดชอบต่อสังคมไหมมากกว่า เพราะการที่สื่อออกไปนั้นมันส่งผลต่อคนดู สื่อแบบนี้ คนดูก็เชื่อ แล้วถ้านำเสนอแบบมากเกินไป สื่อต้องเซนเซอร์ก็ต้องเลือก สื่อคือตัวตัดต่อโลก ตัดต่อประเทศไทย มีนักวิชาการ เราอยู่ในโลกของการตัดต่อ Edited World”

“การตลาดมีได้ไหม มีได้ ดูอย่างไทยพีบีเอสสิ สื่อแต่เรื่องมีประโยชน์แต่คนดูก็น้อย เหมือนอาหารเป็นประโยชน์ คนกินไหมล่ะ มันไม่ใช่ว่านำเสนอไม่ได้นะ แต่ต้องเข้าใจว่าถ้ามันเยอะเกินไป…มันบิดเบือนความจริง คุณเสนอข่าวอะไรตั้ง 4 เดือนวันละ 1 ชม. แล้วยังจับผู้ร้ายไม่ได้ แต่คุณเสนอแบบนี้ได้อย่างไร แม้ว่าจะมีนักข่าว ช่างภาพก็ลาออก แต่ยังไงเขาก็ยังรายงานเหมือนเดิมไหม”

ระหว่างการคุยเห็นได้ชัดว่าอาจารย์ธันยวัชรไม่ได้ปฏิเสธการทำการตลาดขององค์กรสื่อ แต่พยายามหาสมดุลและห่วงกังวลบางประเด็นด้วย “ถ้าเป็นแบบนี้ต่อไป อาจจะมีคนเลียนแบบลุงพลก็ได้ อาจจะจับหลานตัวเองไปที่แบบไกล ๆ ไม่ให้เจอสักปี ตัวเองเป็นผู้ต้องสังสย เป็นลุงพลสองทำไง ถ้าไม่เจอเหยื่อเลยทำไง เพราะต้องการสร้างให้ดัง อยากเป็นแบบลุงพล”

แต่คำถามที่สำคัญกว่านั้น คือ หากเกิดเหตุการณ์ลุงพล 2 แล้วมันจะมีช่องดัง ๆ ทำแบบนี้หรือพร้อมที่จะรายงานเรื่องนี้ต่อไปอีกก็ได้ “ถ้าเกิดเรื่องแบบนี้ สื่อกระโจนเข้ามาไหมล่ะ มันเริ่มอืดแล้วเขาต้องหาตัวใหม่ แล้วตอนนี้สื่อก็เริ่มวิพากษ์วิจารณ์ แล้วเราจะทำไรได้อ่ะ ก็เสนอแล้วมันไม่มีเรตติ้ง”

แบนเขาไม่ช่วยอะไร หน่วยกำกับสื่อต่างหาก…ต้องช่วย

#แบนลุงพล เกิดขึ้นทันทีที่เมื่อ “ลุงพล” กระโดดเข้าเป็นพรีเซ็นตเตอร์ของโตโยต้าสว่างแดนดิน จ.สกลนคร ระบุซื้อรถจะให้ลุงพล 1,000 บาท จินตหรา พูนลาภ ดึงลุงพลให้เข้าร่วมถ่าย MV เต่างอย ลุงพลไปถ่ายแบบ เดินแบบ จนคนทนไม่ไหวแล้ว พยายามต่อต้านคล้ายการแบนช่องข่าวช่องหนึ่ง อาจารย์ธันยวัชรบอกว่า #แบนลุงพล หรือ #แบนช่องข่าว แทบไม่เป็นผลต่อผลิตภัณฑ์เลย แม้ว่าจะมีความกลัวก็ตาม แต่นั่นไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายของตลาดเขา

“แบนไม่ช่วย อันดับแรก ถ้าสื่อเสนอลุงพลแล้วยังมีคนดูจะเลิกเสนอทำไม ประการที่ 2 คนแบนเขาคุณซื้อสินค้าเขาหรือเปล่า คุณไม่ใช่กลุ่มเป้าหมาย อย่างคุณแบนดาราไทยในจีน คุณไม่ใช่แฟนคลับเขา แบนไปก็ไม่มีประโยชน์ แต่คนที่ดูทีวี เขาซื้อนี่เขาชื่นชม ไม่มีผลมากจนขนาดที่ว่าทำให้ไม่มีบริโภคเลย แต่สินค้าเขาก็กลัว”

“อย่างกลุ่มทวิตเตอร์ ที่เป็นเด็กรุ่นใหม่ แบนช่องข่าวช่องหนึ่ง ก็หลายผลิตภัณฑ์+บริการก็ถอนไปเลย เพราะเขาจับคนรุ่นใหม่ แต่บางอันก็ไม่ ก็ไม่สน เช่น สบู่ ยาสีฟัน น้ำมันพืช ลูกไม่ได้ซื้อ แต่เป็นแม่ ส่วนเรื่องภาพลักษณ์นั้น เดี๋ยวนี้คนมีหลายกลุ่มหลายเจน เจนนี้มองแบบนี้ จะไปเปลี่ยนเขาก็ไม่ได้ แบรนด์ก็ไม่ได้สนใจเพราะผมไม่ได้จับเจนคุณ ผมจับอีกเจนหนึ่ง”

อาจารย์มองต่อไปว่าองค์กรที่กำกับดูแลสื่อ (regulator) ต่างหากที่ต้องคอยดูแลจับตาว่าอะไรไม่เหมาะไม่ควร เช่น กสทช.ที่มีหน้าที่ดูแลตรงนี้ “ก่อนหน้านี้บางช่องก็จอดำนะ หากกลับมามองกรณีลุงพลมันไม่ใช่เรื่องการเมือง เรื่องโจมตีรัฐบาลก็เลยไม่อยากไปยุ่งมั้ง ไม่อยากแทรกแซงการทำงานของเอกชน ผมไม่คิดว่ามันเป็นเรื่องร้ายแรงอะไร มันไม่รู้จะไปห้ามปรามอย่างไรเป็นเรื่องการทำงานของเอกชน ใครจะเป็นคนไปกดดัน กสทช. มีคนไปประท้วงหน้าสถานีไหมล่ะ”

“ถ้าไม่เสนอเรตติ้งก็ไม่มี สุดท้ายไม่มีเงินก็ต้องปลดคนออก คุณจะให้คนตกงานเพิ่มเหรอ เรื่องบางเรื่องก็ต้องทน มีหลายเรื่องที่เราอยากเปลี่ยนแปลงแต่มันยังไม่เปลี่ยน เราก็ต้องทน ถ้าคนรุ่นใหทม่บอกว่าจะไม่ทน เราก็ต้องโหมกันทุกวัน”

ถ้าอย่างนั้นทำข่าวเรียกเรตติ้งก็ไม่น่าจะจบที่รุ่นเรา ?

“ไม่มีทาง ถ้า Agency ยังเอาเรตติ้งเป็นที่พึ่ง ไม่อย่างนั้น TPBS ก็เปลี่ยนสังคมไปแล้วสิ”

อ้างอิง
https://www.thairath.co.th
https://www.tvdigitalwatch.com
https://www.facebook.com/thematterco/photos/a.1735876059961122/2691900781025307/