'น้ำหวานในค่ายทหาร' บำเรอรับใช้และชายเป็นใหญ่ ทุกเรื่องถึง ผบ.ทบ. - Decode
Reading Time: 3 minutes

ใช่ ใช่ไหม

คำทักทายจากค่ายทหารที่มีต่อพลทหารใหม่ กอล์ฟ-พงศธร จันทร์แก้ว เล่าประสบการณ์และบาดแผลที่ได้รับจากการเป็นทหารเกณฑ์ตลอด 1 ปีที่เขาไม่มีสิทธิ์ในชีวิตของตน หลังจากเรียนจบคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กอล์ฟเป็นนักสังคมสงเคราะห์ทำงานกับเด็กและผู้ลี้ภัยอยู่สักพัก ก่อนเข้าสู่การเป็นพลทหารทิ้งการงาน โอกาสและบทบาทนักสังคมสงเคราะห์ ผู้พิทักษ์สิทธิพลเมืองเป็นพลทหารที่เขาไม่มีโอกาสแม้แต่เลือกพิทักษ์สิทธิให้ตัวเอง

กอล์ฟเลือกเปิดเผยตัวตนว่าเป็นบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในวันแรกที่ค่ายทหาร หวังว่าจะได้รับการยอมรับและปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันฐานะพลทหารใหม่คนอื่นๆ เขาคิดในแง่ดีว่าการเปิดเผยตัวเองจะได้รับการยอมรับ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่การเปิดเผยตัวตนครั้งนั้นมีผลตรงกันข้าม กอล์ฟถูกเบียดขับให้อยู่ในสถานะ น้องน้ำหวาน ชื่อใหม่ที่ถูกตั้งให้และถูกไถ่ถามเรื่องรสนิยมทางเพศ การร่วมรัก สร้างความตลก และบ่อยครั้งถูกบังคับ เชื้อเชิญให้เป็นวัตถุทางเพศในรั้วลายพราง

“เราเกลียดคำนี้มาก คำว่าใช่ ใช่มะ เราเลยตอบว่า ใช่ เราอึดอัด ไม่อยากปิดบังตัวเอง เพราะเราเป็นคนเปิดเผยตัวเองว่าเราเป็นกะเทยตอนอยู่ข้างนอก พออยู่ในนั้นเราก็อยากเปิดเผยอยากรู้เหมือนกันว่าถ้าเราเปิดเผยตัวเองแล้วมันจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ตอนแรกคิดไปในทางที่ดีด้วยซ้ำว่า เขาอาจจะยอมรับเรา เขาอาจจะให้เกียรติเรา แต่ตรงกันข้ามเลย” 

ตรงกันข้ามนั้นคือการละเมิดและการกลั่นแกล้งในค่ายทหารผ่านคำพูด การทำร้ายร่างกาย การกัดกร่อนลดค่าความเป็นมนุษย์ และการคุกคามทางเพศ พยายามข่มขืนที่เกิดขึ้นถึง 2 ครั้ง

ในช่วง 20 วันแรกค่ายที่กอล์ฟประจำการไม่อนุญาตให้ทหารใหม่ติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอก ช่วงนี้คือการปรับพื้นฐานร่างกายและระเบียบวินัยให้พลทหารคุ้นชินกับชีวิตในค่าย โชคร้ายที่ความคุ้นชินนั้นของกอล์ฟคือการถูกรุ่นพี่ทหาร 6 คนเข้ามาทักทายอย่างสนิทสนมในมุ้งนอนด้วยการสัมผัส เล้าโลม หยอกล้อกับจุดอ่อนไหวบนร่างกายจากหนึ่งคนในมุ้ง และการยื่นอวัยวะเพศของรุ่นพี่ทหารอีก 5 นายที่เหลือถูไถทักทายผ่านมุ้งบาง และพยายามยื่นเข้าปากราวกับหยอกเล่น ปิดท้ายการหลอกล้อด้วยการแกล้งทำท่าร่วมเพศทางทวาร โดยรุ่นพี่ทั้งหกสั่งให้กอล์ฟทำท่าโค้งตัวรับการล้อเล่นของรุ่นพี่เหล่านั้น

มุ้งนอนของกอล์ฟอยู่ท่ามกลางเพื่อนนับสิบที่นอนเรียงรายในเรือนนอน เสียงร้องไห้ของเขาอาจมีเพื่อนได้ยิน การละเล่นที่เป็นบาดแผลให้กอล์ฟอาจมีเพื่อนที่เห็น แต่ไม่มีใครพูดถึงมัน ไม่ไถ่ถามหรือฟ้องร้องใด ๆ อาจเป็นเพียงวิธีเล่นกับของเล่นใหม่ที่เรียกว่า “กะเทย” ในค่ายทหารที่เข้ามาและผ่านไปในทุก ๆ ปี

“ทำไมเราต้องตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ เราทำอะไรไม่ได้ สิ่งที่ทำได้คือหัวเราะแหะๆ ปกป้องความรู้สึกตัวเองว่า ไม่เป็นไรนะ เพื่อให้เขาคิดว่าเราไม่ได้ขัดขืน เรากลัวเขาลงโทษ เขาที่ทำคือคนที่มีอำนาจสั่งซ่อมเราได้  คืนนั้นฉันนอนร้องไห้ คิดว่าทำไมชีวิตฉันต้องมาตกอยู่ในสภาพแบบนี้ ทำไมต้องมาเจออะไรแบบนี้

ทุกคนคิดว่า ถ้าคุณเป็นเกย์ คุณเป็นตุ๊ด เขาจะมีความรู้สึกว่าเราต้องการทุกจู๋บนโลกนี้ และคิดว่าเรามีความต้องการทางเพศตลอดเวลา ดังนั้นมันเป็นสถานการณ์ที่กระอักกระอ่วนมาก ไม่ใช่แค่ครู เพื่อนบางคนที่เข้ามาปฏิบัติกับเราแบบนี้ มันอันตราย เราต้องโดนอะไรมากกว่านี้ถ้าเราไม่ทำอะไรสักอย่าง”

หลังเกิดเรื่องกอล์ฟวางแผนรับบทนาตาชาโทรศัพท์หาพี่สาวเพื่อร้องขอความช่วยเหลือ เรื่องราวถึงหูผู้บังคับบัญชาจึงเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่โดยเฉพาะการปฏิบัติกับทหารใหม่ ทุกคนในค่ายปฏิบัติกับเขาเหมือนกับปฏิบัติกับผู้ชายคนอื่น ซึ่งมันควรเกิดขึ้นตั้งแต่แรก กอล์ฟบอกกับฉันอย่างนั้น  

กะเทยบำเรอรับใช้ในเรือนนอน

ช่วงที่สองของชีวิตพลทหารใหม่คือการประจำการ โดยแบ่งพลทหารไปประจำหน้าที่ฝ่ายต่าง ๆ ที่ผู้บัญชาการเลือกให้ตามความถนัดและความเหมาะสมที่เล็งเห็นจากพลทหารแต่ละนาย ทั้งสองช่วงสร้างบาดแผลให้กอล์ฟต่างกัน การคุกคามทางเพศเกิดขึ้นในช่วงแรก การกัดกร่อนความเป็นมนุษย์เสริมย้ำในช่วงที่สองของการประจำการที่บ้านนาย

วันแรกของการย้ายไปทำงานฝ่ายทะเบียนเอกสาร กอล์ฟถูกเรียกไปที่เรือนนอน กอด หอม โดยมีพลทหารรุ่นพี่อยู่ด้วยในกลุ่มสังสรรค์​นั้น หน้าที่ที่ได้รับมอบหมายคือคอยนวด เปิดเพลง สร้างสีสัน​ให้ทุกคน

บรรยากาศคืนนั้นกอล์ฟรู้สึกถึงความไม่ปลอดภัยไม่สามารถปฏิเสธหรือพิทักษ์สิทธิ์ตัวเองได้ ความทรงจำของคืนในมุ้งกับรุ่นพี่ทั้ง 6 กลับมาอีกครั้ง วันรุ่งขึ้นเขาขอความช่วยเหลือจากพี่สาว วันถัดมาจึงมีรุ่นพี่มารับกอล์ฟออกจากค่ายไปบ้านนาย

ชีวิตในบ้านนายดำเนินไป พลทหารมีอิสระมากกว่าในค่ายตามคำบอกเล่าของกอล์ฟ เขามีห้องนอนส่วนตัว มีเวลาว่างเมื่อนายไม่อยู่ งานไม่หนักเพราะงานบ้านและการดูแลความสะดวกคืองานหลักของพลทหารประจำบ้านนาย ความรู้สึกไร้ค่าและตั้งคำถามกับสิ่งที่เป็นอยู่กัดกร่อนความเป็นคนในสภาพไร้อิสรภาพ ความสามารถ ความฝันและความทะเยอทะยานในวัยหนุ่มสาวหลังเรียนจบ โอกาสทางอาชีพช่วยเหลือเด็กและผู้ลี้ภัยถูกบังคับให้กลายเป็นพลทหารรับใช้นาย ไม่ใช่รับใช้ชาติอย่างที่กองทัพบอก

ก่อนหน้าเป็นพลทหารกอล์ฟเป็นนักสังคมสงเคราะห์ทำงานกับเด็กและผู้ลี้ภัยที่ได้รับผลกระทบ การทำงานด้านสิทธิมนุษยชนมีกรอบการดำเนินการตามกฎหมาย แต่การใช้ชีวิตในค่ายที่ต้องเผชิญกับการลดค่าความเป็นมนุษย์ การส่งเสียงโต้แย้งเป็นสิ่งต้องห้าม กอล์ฟในฐานะพลทหารทำอะไรไม่ได้

“พอไปอยู่ในนั้นน่ะ พูดอะไรไม่ได้เลย สิ่งที่เราพูดได้คือ ครับ แล้วก็ทำตามคำสั่ง”

I hated when they called me, Kateoy. 
ฉันเกลียดเวลาที่พวกเขาเรียกฉันว่ากะเทย

ข้อความตอนหนึ่งเขียนด้วยปากกาสีเข้มลายเส้นลากซ้ำย้ำความรู้สึก ในสมุดบันทึกประจำวันของพลทหารกอล์ฟ ไดอารี่เป็นตัวช่วยเยียวยาจิตใจให้ผ่านแต่ละวันในค่ายทหารมาได้ กอล์ฟเล่าว่าสมุดบันทึกเป็นสิ่งที่ครูฝึกสามารถขออ่านได้โดยอภิสิทธิ์ การเขียนระบายสะท้อนความคิด ความรู้สึกและปิดแผลความเจ็บปวดได้อย่างปลอดภัยคือการเขียนด้วยภาษาอังกฤษ เพราะคนที่มีอภิสิทธิ์อ่านความรู้สึกส่วนตัวของเขาอ่านไม่ออกแปลไม่ได้ว่าสิ่งที่เขียนนั้นคืออะไรเมื่อไม่ใช่ภาษาไทยที่พวกเขาคุ้นเคย

“นอกจากการขอความช่วยเหลือแล้ว เราใช้ไดอารี่เยียวยาตัวเอง เพราะเราไม่สามารถคุยกับใครได้เลย ต่อให้คุยกับเพื่อน เราก็ไม่แน่ใจว่าเพื่อนจะเข้าใจสิ่งที่เราเผชิญอยู่หรือเปล่า เพราะเพื่อนอาจจะรู้สึกว่าสิ่งที่เราเผชิญอยู่ คนอื่นเขาก็กำลังเผชิญอยู่เหมือนกัน ความลึกซึ้งและความเฉพาะของความรู้สึกที่เรามีเพศวิถีแบบนี้ คนอื่นอาจจะยากที่จะเข้าใจเรา วันๆ หนึ่งเราเขียนยาวมาก มันไม่ใช่แค่วันนี้เราทำอะไร แต่เราจะเขียนว่าเราทำสิ่งนี้แล้วเรารู้สึกยังไง เราคิดกับมันยังไง ไดอารี่ช่วยเราได้มาก”

“ยอมรับว่าเราเคยมีความคิดฆ่าตัวตายเหมือนกัน ช่วงนึงที่เราไปอยู่บ้านนาย เรารู้ว่าเราจะต้องอยู่เป็นทหาร 1 ปี แต่มีวันนึงนายบอกเราว่า มั่นใจเหรอว่าจะติด 1 ปี มัน 2 ปีนะ

โห นี่ขนาด 1 ปีเอง ทุกวันนี้เรามีชีวิตอยู่เพื่อให้ถึงวันสิ้นสุดของชีวิตทหาร ถ้า 2 ปี คือ ไม่ เราอยู่ไม่ได้แน่ๆ เราเห็นแล้วว่า คนไม่ได้ต้องการแค่มีอากาศ มีน้ำ มีอาหาร แต่อิสรภาพคือหนึ่งในปัจจัยการมีชีวิตของเรา

เราเพิ่งเข้าใจตัวเองและใครหลาย ๆ คนที่ทำไมถึงเลือกลี้ภัย เลือกจบชีวิตตัวเองที่ต้องอยู่ในสถานการณ์ที่มันแย่มาก ๆ เพราะเรารู้สึกว่า ยิ่งคุณรู้สึกรักตัวเลือกในชีวิตของคุณมากเท่าไหร่ คุณจะคิดว่าการฆ่าตัวตายจะเป็นทางเลือกที่คุณสามารถควบคุม กำหนดชีวิตของคุณได้ มันเป็นทางเลือกสุดท้ายที่คุณไม่อยากให้ใครมาบงการชีวิตของคุณอีกแล้ว เราเลยมีความรู้สึกว่าถ้ามันต้องอยู่ถึง 2 ปีจริงๆ เราจะขอเลือกชีวิตของเราเอง แต่ความคิดนั้นหยุดลงเมื่อรู้คำตอบว่าชีวิตการเป็นพลทหารของเราคือ 1 ปี มันเลยมีหมุดหมายว่าเราจะทนกับสภาวะแบบนี้ต่อไปถึงเท่าไหร่”

ถ้าไม่มี พ.ร.บ.การเกณฑ์ทหารแบบบังคับแบบนี้ ฉันก็จะไม่มาอยู่ตรงนี้ ฉันต้องมาอยู่ตรงนี้เพราะฉันถูกบังคับ

ทุกครั้งที่พยายามปลอบใจตัวเองจากการถูกทำร้าย คุกคาม และการทำให้ตัวเราไม่เป็นมนุษย์ มันก็จะมีคำนี้ผุดขึ้นมาตลอด เพราะถูกบังคับมา ทำให้เหตุผลอะไรก็ตามที่เราพยายามใช้กลไกป้องกันทางจิต (Defense Mechanism) มันใช้ไม่ได้ผล เพราะเรารู้มาตลอดว่า เราถูกบังคับมา และมันไม่ใช่ทางเลือกของเรา ถ้าเป็นตัวเลือกของเราจะยอมรับได้ว่า ทนไปเถอะ แต่นี่ไม่ใช่

หลังกอล์ฟเผยความรู้สึกอยากจบชีวิตจากสภาวะที่เป็นอยู่ที่เขาไม่ได้เลือกเอง การเข้ามาเป็นทหารกองประจำการโดยการสุ่มจับใบแดงใบดำเป็นทางเลือกสองทางในชีวิตของเพศชายวัย 21 ปีที่ไม่ได้รับการยกเว้น หรือเป็นกำลังพลสำรองจากการเรียนนักศึกษาวิทชาทหาร (นศท.) จากเหตุปัจจัยต่าง ๆ เช่น ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา หรือโอกาสอันก้าวไม่ถึงข้อยกเว้นเหล่านั้น การเป็นพลทหารโดยการเกณฑ์ที่กองทัพใช้คำว่า “การตรวจคัดเลือกทหารกองประจำการ” จึงเป็นทางเลือกที่ไม่ได้เลือกเองด้วยเจตจำนงค์เสรีของมนุษย์ชายไทยวัย 21 ปี

ขนาดเพื่อนเป็นตุ๊ด เพื่อนยังทำได้เลย

นอกจากเรื่องราวและบาดแผลที่กอล์ฟถูกกระทำ ชีวิตพลทหาร 1 ปียังมีมุมที่เขาประทับใจอยู่บ้างคือ ช่วงการฝึกใช้อาวุธและทักษะการต่อสู้ที่มักได้รับคำชมจากครูฝึกและเชิญให้ออกไปสาธิตให้เพื่อน ๆ คนอื่นดูบ่อยครั้ง

“เวลาเราฝึกท่าอาวุธเราจะทำได้ดีเพราะเราชอบเต้น เหมือนเต้น Cover พอเห็นเขาทำท่าเราก็จะทำได้ดี ครูฝึกจะให้กะเทยออกไปนำ สิ่งที่เราปวดหัวทุกครั้งคือ ครูจะพูดว่า “เนี่ยเห็นไหมขนาดเพื่อนเป็นตุ๊ด เพื่อนยังทำได้เลย”

เราเป็นตุ๊ดแล้วมันทำไม เราเป็นตุ๊ดกับความเป็นชายมันต่างกันยังไงเหรอ ขนาดเพื่อนเป็นตุ๊ด แต่เราเป็นผู้ชายทำไมเราทำไม่ได้ เขาคงจะสื่ออย่างนี้ กอล์ฟเล่าปนขำกับคำพูดของครูฝึก บทบาทความเป็นชายชาติทหารกับชายชาติตุ๊ดแตกต่างกันอย่างมีนัยยะสำคัญ เมื่อเพศเป็นตัวกำหนดบทบาทและการแสดงออกความเป็นตัวตนที่สังคมคาดหวัง การดำรงเพศที่ผิดจากเส้นบรรทัดชายหญิงจึงถูกตัดสินว่าผิดแปลก มุมมองต่อความหลากหลายในสังคมชายเป็นใหญ่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในค่ายทหาร กะเทยจึงถูกแยกออกไม่เป็นหนึ่งในชายชาติทหารตามนิยาม

หลังจบจากคุยกับกอล์ฟวันนั้น ฉันมีความหวังในส่วนลึกต่อทหารรุ่นใหม่ที่อยากเปลี่ยนแปลงเรื่องการเกณฑ์ทหาร ฉันมีโอกาสพูดคุยกับทหารรุ่นใหม่จบจากมหาวิทยาลัยการทหารจากต่างประเทศ และปัจจุบันเป็นฟันเฟืองหนึ่งในกองทัพที่มีมุมมองกว้างไกล ทั้งยังมีความหวังดีที่จะเปลี่ยนแปลงกองทัพอันเป็นองค์กรที่รักของเขาให้ดีขึ้น

เต้ย นามสมมติ ทหารรุ่นใหม่ผู้ไม่ประสงค์ออกนาม นักเรียนทหารทุนต่างประเทศเคยใช้ชีวิตกับกองทัพในต่างชาติมากกว่า 3 ปี คลุกคลีกับการรับทหารใหม่ การฝึกฝน และเห็นช่องว่างที่เป็นข้อเปรียบเทียบกับระบบการเกณฑ์ทหารของไทยที่ควรปรับ เขาย้ำว่ามีส่วนดีอยู่ในระบบการเกณฑ์ทหาร แต่การบังคับและโบยตีผ่านความรุนแรงไม่ใช่วิถีทางที่ดีที่จะสร้างกำลังพลที่มีประสิทธิภาพให้กองทัพไทย

เต้ยเปรียบเทียบกับการคัดเลือกทหารของกองทัพสหรัฐอเมริกา (U.S Army) กับกองทัพไทย (Royal Thai Army) ข้อแตกต่างแรกคือ สหรัฐฯ ใช้ระบบการสมัคร สอบวัดระดับ คัดเลือกและบรรจุ โดยได้รับเงินเดือนและสวัสดิการตามวุฒิการศึกษา ผู้มีสิทธิสอบต้องจบการศึกษาระดับมัธยมปลายหรือเทียบเท่าวุฒิม.6 ของไทย นอกจากนี้ ยังมีนักเรียนทหารจากโรงเรียนเตรียมทหารในรัฐต่าง ๆ ที่เป็นสายตรงสำหรับผู้ที่ต้องการเป็นทหารเหมือนกับ รร.เตรียมทหารของไทย

ระบบการรับสมัครทหารของอเมริกาทำให้ได้พลทหารมีที่ความต้องการ มีแรงจูงใจ และเป็นผู้เลือกเข้ารับอาชีพทหารด้วยตัวเอง ในขณะที่การคัดเลือกทหารของไทยใช้ระบบการเกณฑ์ มีลักษณะบังคับ หากไม่เข้าตรวจคัดเลือกจะได้รับโทษเพราะผิดกฎหมาย ผลลัพธ์ที่ได้คือพลทหารที่ไม่มีแรงจูงใจในอาชีพ เป็นบุคลากรในองค์กรที่ทำงานเพราะถูกบังคับ ส่งผลต่อผลลัพธ์ของการทำงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ วิธีการลงโทษและทำให้กลัวจึงถูกนำมาใช้เพื่อให้ทหารทำตามหน้าที่และถูกใช้มานานจนกลายเป็นวัฒนธรรม

เต้ยเล่าว่าสิ่งสำคัญที่ทำให้กองทัพสหรัฐฯ มีประสิทธิภาพเริ่มต้นตั้งแต่กระบวนการสอนครูฝึกทหาร การบอกสิทธิพึงมีของทหารใหม่ทุกคนที่ควรได้รับ ห้ามมีใครละเมิด และกระบวนการตรวจสอบการกระทำผิดโดยคณะกรรมการอิสระที่สามารถดำเนินการเอาผิดต่อผู้กระทำผิดได้อย่างมีประสิทธิภาพและเชื่อถือได้ เต้ยเรียกหลักสูตรที่มีในทุกกระบวนการฝึกทหารของสหรัฐนั้นว่า “Title IX”

“ครูฝึกและทหารใหม่ทุกคนต้องผ่านหลักสูตร Title IX ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการละเมิดทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการคุกคามทางเพศ (Sexual Harassment) หลักสูตรนี้ระบุสิ่งที่ทำได้และทำไม่ได้ครอบคลุมทั้งเรื่องเพศ สีผิว ความรุนแรง และสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ กองทัพจะทบทวนที่มา ศึกษาความผิดพลาดในอดีต เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำ ทำให้กองทัพเขาพัฒนาและไม่มีปัญหาเรื่องความรุนแรงด้านการลงโทษอย่างไม่สมเหตุสมผล ถ้ามีการกระทำที่ขัดกับหลักการนี้จะถูกลงโทษโดยคณะกรรมการ Coordinator of Title IX” 

Title IX เป็นหลักสูตรที่กองทัพอเมริกาให้ความสำคัญมาก เวลากว่า 50% ของการฝึกทุ่มเทไปกับช่วงการเรียนหลักสูตรนี้ เพื่อให้ครูฝึกรู้บทบาทหน้าที่และกรอบการปฏิบัติต่อทหารใหม่ และสิทธิที่ทหารใหม่ต้องรู้เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกละเมิดและทำร้ายผ่านคำพูดหรือการกระทำ หากมีการทำผิดหลัก Title IX ทั้งครูฝึกและทหารใหม่สามารถร้องเรียนต่อคณะกรรมการชื่อว่า Coordinator of Title IX แบบการปกปิดตัวตน ไม่ระบุชื่อหรือสิ่งที่สามารถสืบสาวถึงตัวผู้แจ้งเหตุได้

การร้องเรียนต่อ Coordinator of Title IX ทำได้ทั้งกรณีระหว่างครูฝึกกับทหารใหม่ ทหารใหม่กันเอง และบุคลากรทุกระดับในกองทัพสามารถร้องเรียนจนนำไปสู่กระบวนการตรวจสอบ ดำเนินการ และรับโทษอย่างมีประสิทธิภาพจึงไม่มีปัญหาเรื่องการคอรัปชั่นหรือลงโทษรุนแรงภายในกองทัพอเมริกา หรือหากมีผู้กระทำผิดย่อมได้รับโทษตามระเบียบ คณะกรรมการดังกล่าวเป็นตำแหน่งอิสระไม่ขึ้นต่อกองทัพ ซึ่งส่วนใหญ่คือนักกฎหมายเป็นผู้ดำเนินการเพื่อความเป็นธรรมโดยไม่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์และการใช้อำนาจอย่างที่เป็นข่าวเหมือนกองทัพไทย

เมื่อเปรียบเทียบกับเส้นทางการเป็นครูฝึกของไทย เต้ยกล่าวว่าส่วนใหญ่มักเป็นทหารเก่าที่มีความสามารถเฉพาะด้าน หรือรุ่นพี่ทหาร ที่ไม่ได้รับการศึกษาหลักสูตรด้านสิทธิมนุษยชน ครูฝึกทหารใหม่ส่วนใหญ่ของไทยเพียงแค่ทบทวนทักษะทางการทหารที่เคยมี ทบทวนวิธีการสอนก็เลื่อนขั้นเป็นครูฝึกได้ สำนึกเรื่องสิทธิมนุษยชนจึงไม่ได้รับการปลูกฝังเป็นวัฒนธรรมองค์กร เมื่อมีการใช้ความรุนแรงจึงมักถูกผลักให้เป็นปัญหาส่วนบุคคล เป็นการกระทำของปัจเจกไม่ใช่ปัญหาของกองทัพ

ระบบการร้องเรียนโดยระบุเป็นผู้ไม่ประสงค์ออกนาม หรือการดำเนินการโดยคณะกรรมการเมื่อพบการกระทำผิด เป็นกระบวนการยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพมากของกองทัพสหรัฐฯ ผู้กระทำผิดได้รับโทษ และผู้ร้องเรียนไม่ได้รับผลกระทบ

หากย้อนกลับมาที่กองทัพไทยหลังจากมีข่าวพลทหารกราดยิงจากสาเหตุการทุจริตเบี้ยเลี้ยง แม้ดำเนินการฟ้องร้องตามกระบวนการของทหารกลับไม่มีความคืบหน้าและถูกการใช้อำนาจจากผู้บังคับบัญชาในทางที่ผิด ภายหลังกองทัพได้ออกมาตรการให้มีการร้องเรียนและตรวจสอบภายในกองทัพ เปิดสายด่วนให้กำลังพลร้องเรียนถึง ผบ.ทบ. 02-018-7330 มีสโลแกนว่า “ทุกเรื่องคือความลับ ทุกเรื่องถึง ผบ.ทบ.ทั้งหมด”

“ปัญหาเรื่องการลงโทษเพราะไม่ทำตามคำสั่งมีน้อยมากในกองทัพสหรัฐฯ เพราะทุกคนเต็มใจและสมัครมา การแตะเนื้อต้องตัวเป็นเรื่องต้องห้าม หรือการใช้งานพลทหารทำงานไร้ประโยชน์ เช่น ตัดหญ้า ซักผ้า หรือใช้แรงงานนอกเวลางานเป็นเรื่องที่รับไม่ได้ ไม่มืออาชีพและถูกมองไม่ดี เพราะเขามองทหารทุกคนเป็นเพื่อนร่วมงาน คุณจะใช้เพื่อนร่วมงานไปทำงานที่ต่ำกว่าคุณไม่ได้สิ” เต้ยเล่าถึงการปฏิบัติและมุมมองต่อพลทหารในฐานะเพื่อนร่วมงานในกองทัพสหรัฐ

การมองพลทหารในฐานะเพื่อนร่วมงานเป็นสิ่งที่ควรเกิดขึ้นในกองทัพไทย คำท่องที่ว่าทหารไทยทุกคนเหมือนพี่น้อง เป็นครอบครัว ในทางปฏิบัติพบว่า บ่อยครั้งที่มีการลงโทษพี่น้องในครอบครัวตาย บ่อยครั้งที่พี่น้องทำร้ายลดทอนความเป็นคน หากเป็นพี่น้องหรือครอบครัวตามคำกล่าวนั้นคงเป็นพี่น้องแบบเลือดข้นคนจาง หรือเป็นน้องคนสุดท้องที่เขากดทับและไม่เห็นเพื่อนร่วมงาน

นอกจากการรับสมัครทหารกองประจำการแล้ว กองทัพอเมริกามีพลทหารสำรอง (Army Reserve) ที่สามารถเป็นทหารและทำงานประจำอื่นควบคู่ไปด้วย ชื่อเล่นพลทหารสำรองเรียกว่า ทหารพาร์ทไทม์ พลทหารเหล่านี้เป็นคนที่มีความเชี่ยวชาญในอาชีพนอกกองทัพที่ตนสนใจ ขณะเดียวกันในช่วงกำหนดฝึกของหน่วยก็ต้องเข้ารับการฝึกและปฏิบัติหน้าที่ในฐานะทหารนายหนึ่งของกองทัพด้วย ข้อดีของพลทหารประเภทนี้คือเป็นกองกำลังเสริมยามที่ต้องการจำนวนพลเพิ่ม อีกทั้งยังได้เพื่อนร่วมงานที่มีความสามารถเฉพาะด้านมาร่วมพัฒนากองทัพด้วย

เพื่อนคนหนึ่งของเต้ยเป็นพลทหารพาร์ทไทม์ งานประจำของเขาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี เมื่ออยู่ในบทบาททหารก็ประจำหน่วยด้านที่เขาถนัดและชำนาญ สร้างประโยชน์สูงสุดในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่ทำงานที่รักและรับใช้ชาติไปพร้อมกัน

หันกลับมาที่การเกณฑ์ทหารของไทยกลับทำให้คนหลายคนในวัยยี่สิบกว่าที่กำลังสร้างเนื้อสร้างตัว สนใจและหลงใหลในสิ่งที่ชอบต้องทิ้งสิ่งนั้นมาเป็นทหารโดยการบังคับ ซึ่งอาจหมายถึงการสูญเสียโอกาสด้านอาชีพ แต่มีอีกหลายคนที่พัฒนากลายเป็นคนที่มีจุดมุ่งหมายในชีวิต เห็นคุณค่าในตัวเองมากขึ้นเพราะการเป็นพลทหารจากการเกณฑ์ การปรับเปลี่ยนตามความสมัครใจยังมีโอกาสเป็นไปได้ถ้ากองทัพไทยเห็นความสำคัญ

“ตอนนี้กองทัพกำลังขยับไปข้างหน้าช้า ๆ นะ มีความเปลี่ยนแปลงอย่างช้า ๆ เกิดขึ้น” เต้ยบอกกับฉันอย่างมีความหวัง

ในปี 2563 พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก มีนโยบายสร้างแรงจูงใจให้ทหารกองประจำการรับราชการต่อโดยเปิดโอกาสให้ทหารกองประจำการที่ผ่านหลักสูตรส่งทางอากาศได้เข้าศึกษาต่อในหลักสูตรนายสิบเหล่าทหารราบ 1 ปี หลังจากนั้นจะได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการทหารในสังกัดกองทัพบกต่อไป นับเป็นการเปลี่ยนแปลงที่น่ายินดีสำหรับกองทัพที่พยายามปรับเปลี่ยนจูงใจให้พลทหารอยู่ต่อรับราชการ เพราะการพลทหารเหล่านี้มีทักษะจากการฝึกมาแล้วอย่างน้อย 1 ปี หากอยู่ต่อและพัฒนาอย่างต่อเนื่องจะได้บุคลากรที่มีคุณภาพต่อยอดศักยภาพให้กองทัพ ย่อมดีกว่าการบังคับเกณฑ์พลทหารใหม่ที่ไม่ยินดีในอาชีพในทุก ๆ ปี

คำถามสุดท้ายที่ฉันถามกับกอล์ฟในฐานะพลทหารที่มีความหลากหลายทางเพศผู้ได้รับบาดแผลจากการถูกบังคับในทางเลือก

ฉันถามว่าเขาได้อะไรบ้างจาก 1 ปีในค่ายทหาร การเห็นคุณค่าในอิสรภาพและเจตจำนงเสรีในการใช้ชีวิต คือคำตอบที่เขามอบให้  

“เรายังจำภาพที่เรานั่งอยู่ริมสนามฟุตบอล ตอนที่พวกนายร้อย นายสิบเล่นบอลกัน มีงานเลี้ยงริมสนาม มีพลทหารนั่งคอยรอเก็บ ชีวิตก่อนหน้านี้เราอาจเคยเป็นเพื่อนของลูกเขา แต่เพราะกฎหมายนี้ทำให้เราอยู่ในสถานะที่ต้องนั่งมองเขาเล่นฟุตบอล นั่งรอริมสนามเพื่อรอเก็บ รอการเป่าแตรเพื่อไปกินอาหารในโรงเลี้ยง เราจึงเชื่อในเจตจำนงเสรีของคนว่ามันสำคัญ การทำอะไรสักอย่างเพื่อเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของใคร เขาคนนั้นควรมีสิทธิ์เลือกที่จะใช้ชีวิตของเขา มันจึงสำคัญว่าทำไมเราจึงต้องผลักดันกฎหมายการเป็นทหารตามความสมัครใจ”

ทั้งสองคนมีความเหมือนคือความหวังต่อการเปลี่ยนแปลงกฎหมายเกณฑ์ทหาร หนึ่งคนที่ไม่เห็นด้วย โดนทำร้ายและมีบาดแผลจากการบังคับ โชคดีที่บาดแผลนั้นสมานและเยียวยาได้ ในขณะที่หลายชีวิตสูญเสียและสูญหายจากค่ายทหาร

.